ถนอมในฐานะผู้สืบทอดอำนาจต่อจากสฤษดิ์ มีลักษณะแตกต่างกับสฤษดิ์ที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากจอมพล ป. อย่างไร
ถนอมเป็นผู้สืบทอด ‘ระบอบอำนาจ’ ที่สฤษดิ์สถาปนา ได้ใช้สิ่งที่สฤษดิ์ตั้งไว้คือมาตรา 17 และใช้อำนาจนี้ปกครองเบ็ดเสร็จมาอีก 5 ปี รวมกับสฤษดิ์ก็ถือว่ายาวนานมากที่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้อำนาจมาตรา 17 นี่คือการสืบทอดอำนาจ
ในอีกด้านหนึ่ง ตอนที่สฤษดิ์ขึ้นเป็นนายกฯ เพราะต้องการทำลายจอมพล ป. เพราะตอนนั้นจอมพล ป. กำลังหันมาหาความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะสามารถอยู่ต่อได้อีก 5 ปี (สภามีวาระ 5 ปี) คุณคิดว่าสฤษดิ์จะปล่อยให้จอมพล ป. อยู่ในอำนาจอันชอบธรรมผ่านการเลือกตั้งได้อีก 5 ปีเลยเหรอ สู้ยึดเลยดีกว่า เปลี่ยนมันเลยดีกว่า เพราะการเลือกตั้งคือความชอบธรรม จึงต้องหาทางทำลายความชอบธรรม
พอสฤษดิ์จะขึ้นมา สฤษดิ์ก็ต้องหาทางทำลายความชอบธรรมของจอมพล ป. พอถนอมจะขึ้นมา ก็ต้องหาทางทำลายความชอบธรรมของสฤษดิ์ อย่างเรื่องคอร์รัปชันของสฤษดิ์ ถนอมก็ให้ทีมงานสร้างวาทกรรมขึ้นมาชุดหนึ่งว่า คณะรัฐประหารเป็นคณะที่ยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่าจอมพลสฤษดิ์จะมีพฤติกรรมที่ไม่ดี นั่นเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์ตายได้ แต่คณะรัฐประหารอยู่สืบเนื่องต่อไป ไม่เกี่ยวกัน คนละเรื่องกัน จอมพลสฤษดิ์อาจเป็นบุคคลที่ทำความดีก็ได้ ทำความเลวก็ได้ แต่เป็นเรื่องของบุคคล แต่คณะรัฐประหารยังต้องสร้างประเทศตามแนวทางของคณะรัฐประหาร
นี่เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น คำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ก็ถูกสร้างโดยจอมพลถนอมนะ ในทางวิชาการเราอาจจะบอกว่าจอมพลสฤษดิ์สร้างประชาธิปไตยแบบไทย แต่จริงๆ มันเกิดขึ้นเพื่อถีบสฤษดิ์ออกจากคณะรัฐประหาร จากการที่สฤษดิ์คอร์รัปชัน มีเมียน้อยต่างๆ เป็นความเลวร้ายของตัวบุคคล ส่วนคณะรัฐประหารยังต้องรักษาระบอบนี้ต่อไป
ประชาธิปไตยแบบไทยคืออะไร ก็คือประชาธิปไตยที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หมายความว่า ตอนนี้คุณต้องอยู่กับเผด็จการแบบเราไง ประชาธิปไตยแปลว่าเผด็จการแท้ๆ เลย เพียงแต่เขาสร้างคำนี้ขึ้นมาให้รู้สึกว่านี่เป็นยุคประชาธิปไตยแบบไทย คือประชาธิปไตยที่มีทหารเป็นผู้นำ มีกฎอัยการศึก มีมาตรา 17 ทำไมจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้ ก็เผื่อว่าเราจะได้สร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เราจะร่างรัฐธรรมนูญที่ดีขึ้น เราจะทำให้มีการเลือกตั้งที่เพอร์เฟคท์ เป็นเหมือนทางผ่านที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยเลิศหรู แต่ช่วงนี้อยู่กับเราไปก่อนนะ
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ระบอบถนอมเสื่อมถอยลง
พอมาถึงยุคจอมพลถนอม มันก็จะมีความขัดแย้งแบบใหม่ขึ้นมา ความขัดแย้งที่สำคัญคือความขัดแย้งระหว่างระบอบประชาธิปไตยแบบไทยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันอาจดูเหมือนๆ กัน แต่ในรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2492 สืบเนื่องมาจากรัฐประหาร 2490 พยายามที่จะฟื้นพระราชอำนาจขึ้นมา แต่แล้วฝ่ายทหารก็สามารถระงับยับยั้งไว้ได้ ด้วยการรัฐประหาร 2494 ในยุคสมัยสฤษดิ์ กับยุคสมัยถนอม
สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ มันทำให้เกิดคนชั้นกลางรุ่นใหม่ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว มีธุรกิจการค้า ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจมาบวกกับการเติบโตของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ประชากรเกิดล้น จนกระทั่งไม่มีที่เรียนหนังสือ จนต้องไปเปิด ม.รามคำแหง ขึ้นมา ประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นเบบี้บูมเมอร์ยุคนั้นก็หลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพฯ กลุ่มเด็กๆ รุ่นเจนเบบี้บูมเมอร์ คือคนจำนวนมากทั้งแผ่นดินที่เกิดมาพร้อมกับยุคจอมพล ป. มาเป็นจอมพลสฤษดิ์ และอยู่กับจอมพลถนอม ยาวนาน 25 ปีเลยนะ คนเจนต่อมาจึงรู้สึกว่า เราจะอยู่กับ 3 จอมพลนี่เหรอ แล้วจะมีจอมพลที่ 4 อีกไหม
ฉะนั้น แนวทางของการแสวงหาประชาธิปไตยที่เป็นพลังอำนาจของประชาชนจึงปรากฏมากขึ้น เป็นแนวทางใหม่ของโลก ตอนนั้นโลกกำลังผันผวนเพราะเกิดการต่อต้านสงครามเวียดนาม ทั้งในยุโรปและอเมริกา นำมาสู่เสียงเพลงแบบใหม่ คำตอบอยู่ในสายลม จะไปเป็นทหารกันทำไม พวกเด็กๆ ไม่สมัครเป็นทหาร ถูกจับ ต่อต้าน เป็นคนยุคฮิปปี้ ร้องเพลงอะไรก็ไม่รู้ มันเป็นกระแสของคนรุ่นใหม่ต่อต้านรัฐทหาร มันเลยเกิดความเปลี่ยนแปลง
พอสงครามเวียดนามกำลังจะยุติ เพราะประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ที่ขึ้นมาตอนปี 2512 ประกาศนโยบาย stop vietnam war เท่านั้นแหละ รัฐบาลจอมพลถนอมก็ตกใจทันทีเลย เพราะรัฐบาลจอมพลถนอมฉีดยาต่อต้านคอมมิวนิสต์เข้าสู่เส้นเลือดไทย เราฉีดมาตลอดเลยนะ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ บอกว่าศัตรูของชาติคือคอมมิวนิสต์ที่จะทำลายสถาบันอันสำคัญของชาติ เขาฉีดยาแบบนี้อยู่ทุกวัน แล้ววันหนึ่งอเมริกาบอกว่าพอ เราหยุดแล้ว เราจะไปดีกับปักกิ่ง ดีกับ เหมา เจ๋อตง แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นอะไร เราก็จะจับมือด้วย แม้กระทั่งรัฐบาลจอมพลถนอมเองก็อยากจะไปจับมือกับจีน แต่เพราะปลุกให้คนเกลียดคอมมิวนิสต์มาตลอด จะเปลี่ยนนโยบายก็ไม่ได้
พอนิกสันไปจับมือกับเหมา เจ๋อตง ที่ปักกิ่ง โลกช็อก แต่ทหารไทยช็อกยิ่งกว่า เพราะการหยุดทำสงครามเวียดนามจะนำมาซึ่งการถอนตัวออกจากสมรภูมิ ตอนนั้นมีทหารอเมริกันในสมรภูมิ 500,000 คน มีทหารอเมริกันในประเทศไทย 50,000 คน อยู่ที่สนามบินสัตหีบ สนามบินนครสวรรค์ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุดร แต่ละโซนก็จะกลายเป็นที่ท่องเที่ยวตอนกลางคืน มีนักดนตรีหน้าใหม่ คนเข้ามาทำมาหากิน พอถอนตัวจะเกิดอะไรขึ้น ทหารอเมริกันปักหลักที่นี้ตั้งแต่ปี 2507 สร้างสนามบินให้เต็มไปหมด สนามบินที่เรากำลังใช้ รวมทั้งสัตหีบ ใช้สำหรับเครื่องบิน B-52 เป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ลองนึกถึงโบอิ้งใหญ่ๆ บรรทุกระเบิดได้เที่ยวละ 300 ตัน เพื่อบินไปถล่มกัมพูชา เวียดนาม ลาว เคยมีเครื่องบินลำหนึ่งบินไปจนถึงร้อยเอ็ด ตรงอำเภออาจสามารถ แล้วเครื่องบินก็ระเบิดตัวเอง คนที่นั่นก็ตกใจ เทวดากำลังทำอะไรอยู่บนฟ้า คือมันปกปิดเรื่องราวจนกระทั่งชาวบ้านไม่สามารถจะเข้าถึงได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าอเมริกาไม่ปกปิดแล้ว ข่าวสารสงครามเวียดนาม มันก็เลยแพร่ระบาด
แล้วนโยบายการถอนตัวของอเมริกามันเป็นจริงเป็นจัง พอถอนตัวเนี่ย ค่าเช่าสนามบินมันก็ต้องลดลงใช่ไหม ก็จะต้องลดเงินช่วยเหลือรัฐบาลไทย ลดเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ลดเงินช่วยเหลือทุกอย่าง ประเทศไทยที่เดินหน้ามาได้ในยุคของจอมพลถนอม เพราะเงินช่วยเหลือของอเมริกาจำนวนมาก เช่น ถนนมิตรภาพ จากสระบุรีไปโคราช พุ่งไปหนองคาย เงินอเมริกาทั้งนั้น อเมริกาทำให้ด้วยความปรารถนาดีใช่ไหม ไม่ อเมริกาต้องการยกกองทัพทหารเข้าไปจ่อที่เวียงจันทร์ให้ได้เร็วที่สุด ถนนคือเส้นทางหลัก แม้แต่ทางรถไฟที่ยังไม่ถึงหนองคายดี อเมริกาบอกว่าผมสร้างให้ดีกว่า จะได้เสร็จๆ สักที นี่คือการต่อสู้และปราบปรามคอมมิวนิสต์ในโซนอินโดจีน มันทำให้เกิดการพัฒนาภาคอีสานและภาคเหนืออย่างมโหฬาร
ตอนนี้ก็เท่ากับว่ากองทัพไทยซึ่งเคยเติบโต ไม่ใช่เติบโตเพราะความต้องการภายในประเทศนะ แต่กองทัพขยายตัวเพราะตัวเองต้องส่งกองทหารไปรบในเวียดนามตามที่ประธานาธิบดีอเมริกาได้ขอไว้ คือคุณได้เงินเขา คุณก็ต้องแลกกับเขา หน่วยจงอางศึก กับอีกหน่วยหนึ่งที่ถูกส่งไปหมื่นคน เป็นการเรียกร้องจากประธานาธิบดีอเมริกาตามข้อตกลง แต่ทหารไทยจะมีความทรงจำว่าตัวเองเคยไปรบตรงนั้นตรงนี้ ในฐานะทหารอาสา ไม่ใช่เป็นทหารที่ถูกส่งไป มันเป็นสองระนาบ ด้านหนึ่งบอกว่าไม่ ด้านหนึ่งบอกว่าส่ง นี่ก็เป็นกลายเป็นปัญหาทันที หน่วยทหารที่กลับมาจากเวียดนามจะทำยังไง เลยต้องตั้งกองพลแห่งหนึ่งที่กาญจนบุรี เพื่อเอาทหารเหล่านี้ไปอยู่ตรงนั้น
กองทัพไทยขยายตัวได้เพราะสงครามเวียดนาม ได้เงินจากอเมริกา แต่พอเขาจะถอนตัวเท่านั้นแหละ จอมพลถนอมสั่งให้ศึกษาทันทีว่าจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจของประเทศบ้าง เมื่อเงินมันหาย เป็นเรื่องใหญ่
ปัจจัยที่อเมริกาเปลี่ยนนโยบายสงครามเวียดนามและถอนทหารออกจากสงครามนี้ เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะอเมริกาจะไม่แคร์แล้วว่าจะต้องเป็นรัฐบาลที่คุยกับอเมริกาได้ จะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่คุณแล้ว แสดงว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจอมพลถนอมที่อยู่ได้เพราะการสนับสนุนจากอเมริกา แต่สุดท้ายถูกทิ้งเฉยเลย นี่คือปัจจัยหนึ่ง
ส่วนปัจจัยภายใน เมื่อคุณอยู่นาน เวลาเรามอง เราคงไม่ได้มองถนอมคนเดียว แต่มองไปถึงจอมพลสฤษดิ์และจอมพล ป. เห็น 3 จอมพลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นักศึกษาที่เกิดในยุคนี้จึงถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ทหารมีบทบาทอยู่ในการเมืองไทยที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย แล้วการเรียนแบบวิชาการมันเริ่มต้นขึ้นในมหาวิทยาลัย ในช่วงสมัยจอมพลถนอม มหาวิทยาลัยในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านได้สร้างอาจารย์ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มาเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ป๋วยก็เลือกนักศึกษาที่ได้เกียรตินิยมและส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ และกลับมาเป็นอาจารย์ อาจารย์พวกนี้จะกลับมาพร้อมกับการเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ข้าราชการประจำ นักวิชาการก็พยายามมองหาว่า มีทางเลือกของประเทศกี่ทาง เราจะเดินไปทางไหน มีแนวคิดของสังคมในการดำเนินการเศรษฐกิจการเมืองอย่างไร อาจารย์รัฐศาสตร์ก็มา อาจารย์ประวัติศาสตร์ก็มา อาจารย์ใหม่ๆ จากต่างประเทศก็มา มันทำให้เกิดภาวะโลกวิชาการที่เข้มข้น
ในยุคเผด็จการถนอมพยายามจะบล็อกสื่อทีวี ควบคุมหนังสือพิมพ์ ไม่ให้เล่าเรื่องการประท้วงที่ต่างประเทศ ไม่ให้มีการถ่ายทอดสดการประท้วงในอเมริกาใดๆ เลย เพื่อทำให้โลกมันดูสงบ เพราะถ้าเราไม่รับรู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลง เราก็คงเข้าใจว่าโลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ แต่พอมีอาจารย์ใหม่ๆ เข้ามา พร้อมกับการบอกเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นในต่างประเทศ อาจารย์จึงเป็นทั้งสื่อและสารที่มาบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงของโลก เอาหนังสือใหม่ๆ มาเล่าให้ฟัง นักศึกษาในยุคนั้นก็จะเห็นโลกที่เปลี่ยนแปลง
ในอีกด้านหนึ่ง นักศึกษาก็ถูกส่งเสริมให้ไปลงชนบท เพราะชนบทมีความยากจน และเมืองกรุงเทพฯ มันก็เริ่มเติบโต มีคนในชนบทเข้ามาในกรุงเทพฯ มากมายจนเกิดเป็นสลัมตามที่ต่างๆ แล้วคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดสลัม เพราะปัญหาที่ชนบท รัฐบาลเลยส่งเสริมให้นักศึกษาไปที่ชนบท นักศึกษาเป็นชนกลุ่มน้อยนะ ในยุคจอมพลถนอมจะมีนักศึกษาอยู่แค่ประมาณสัก 10,000-20,000 คนเท่านั้น จากคน 30-40 ล้าน เขาถึงเรียกว่าหัวกระทิ พอมีรามคำแหง ก่อน 14 ตุลา จึงมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นแสนคนทั้งประเทศ
พอนักศึกษาได้ไปชนบท สิ่งที่ตามมาคือ ความคิดที่ว่าทำไมชนบทถึงยากจน ทำไมข้าวราคาถูก ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร จากคำถามและการวิเคราะห์จึงย้อนกลับไปชี้ว่าเพราะรัฐบาลเป็นเผด็จการ ทำไมเมืองมันโตเดี่ยว ทำไมเมืองอื่นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เพราะรัฐบาลรวมศูนย์ การที่จะแก้ไขปัญเหล่านี้ คือต้องเป็นประชาธิปไตยและกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น
ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีเครือข่ายความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มต้นขึ้น เครือข่ายนี้ด้านหนึ่งก็เป็นบทบาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงต้องการพัฒนาชนบท ดูแลหน่วยนั้นหน่วยนี้ พระองค์ก็เสด็จไปดูแลเรื่องน้ำ ดูแลเรื่องต่างๆ ทำให้พระองค์ได้กลุ่มข้าราชการ ได้กลุ่มผู้ว่าฯ ได้กลุ่มชลประทาน ได้กลุ่มแพทย์ เข้ามาเป็นเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานเพื่อสังคม ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทำแบบนี้บ้าง
อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายเหล่านี้ก็เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย อาจารย์เหล่านี้เริ่มถกเถียงกันว่าเราจะออกจากความเป็นเผด็จการทหารของจอมพลถนอมได้อย่างไร ก็มองว่าด้านหนึ่ง มันจะต้องมีพลังที่ทำการชนตัวนี้ และพลังอะไรที่จะชนตัวนี้ได้ ตอนนั้นนักวิชาการ เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และอาจารย์อีกหลายท่านก็นำเสนอว่ามันต้องเป็นแบบ ‘ราชประชาสมาสัย’ คือด้านหนึ่งมีพระมหากษัตริย์ อีกด้านหนึ่งมีประชาชนเป็นส่วนร่วม ทำการผนึกกัน ล้มระบอบเผด็จการทหาร เป็นแนวคิดค่อยๆ ที่สร้างขึ้นมาในช่วง 5 ปีก่อนนั้น และค่อยๆ ทวีความเข้มข้นขึ้น
ปลายปี 2514 พอถนอมรัฐประหารตัวเอง ถนอมอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 13 เดือน 13 เดือน มีความหมายว่า เวลาคณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจ คณะรัฐประหารจะบริหารประเทศโดยคำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร หรือประกาศของคณะรัฐประหาร โดยไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระราชบัญญัติ เพราะพระราชบัญญัติจะต้องออกมาจากสภา และก่อนประกาศใช้จะต้องลงพระปรมาภิไธย แต่คณะรัฐประหารชุดนี้อยู่ในอำนาจ 13 เดือน ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยใดๆ มันเลยกลายเป็นปัญหาของ 2 ระบอบทันที คือระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ก็คือเผด็จการของจอมพลถนอม กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันปะทะกัน นี่เป็นสิ่งที่ผมค้นพบในปรากฏการณ์นั้น
ด้วยเหตุนี้ ตอนที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ทำรัฐประหาร ตอนแรกพลเอกประยุทธ์บอกว่าจะขออยู่ในอำนาจแบบเบ็ดเสร็จยาว แต่ด้วยปัจจัยอะไรก็ไม่ทราบ อยู่ได้แค่ 3 เดือน ก็ต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อแต่งตั้ง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และมีกระบวนการออกพระราชบัญญัติ พูดง่ายๆ ว่า ต่อให้มีการรัฐประหารครั้งหน้าก็จะไม่สามารถยู่ได้ยาวไปกว่านี้ เพราะการอยู่ยาว อำนาจสูงสุดจะอยู่ที่คณะรัฐประหาร มันก็จะเกิดความขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
พลังตรงนี้ ‘ราชประชาสมาสัย’ มันเลยเป็นพลังที่เคลื่อนและไม่กลัวรัฐประหารของจอมพลถนอม นักศึกษาก็เคลื่อน นักการเมืองก็ฟ้อง เช่น คุณอุทัย พิมพ์ใจชน กับเพื่อน สส. รวม 3 คน ฟ้องถนอมว่าเป็นกบฏฉีกรัฐธรรมนูญ ถนอมก็เลยสั่งติดคุกซะ ด้วยการใช้มาตรา 17 อุทัยติดคุกกับเพื่อนไป 2 ปี เพราะพยายามจะใช้กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งปรากฏว่าศาลไปรับรองอำนาจมาตรา 17 อีก ซึ่งตอนนี้กลายเป็นปัญหาประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบันว่าศาลไปรับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร ทำให้เราไม่สามารถรักษาสถานะความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนไว้ได้ เห็นไหม เรื่องมันดูเหมือนไกลกันนะ แต่มันเป็นมรดกของเราเลยล่ะในวันนี้
ที่มา Way Magazine
ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ :
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์: เนื้อในระบอบถนอม แผนการขึ้นสู่อำนาจแบบไม่ส้มหล่น