“ช่วงนี้บรรดานักธุรกิจใหญ่ นายธนาคาร ออกมาพูดเรื่อง ‘อาการป่วยเรื้อรัง’ ของ ศก.ไทยถี่ขึ้น สมัยก่อนไม่ค่อยมีใครกล้าพูด” ‘Mek Suwit’ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค ผู้เขียนประจำคอลัมน์ ‘เศรษฐศาสตร์นอกขนบ’ ของ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ เอ่ยไว้เมื่อวาน
เขาพาดพิงบทความใน ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ซึ่งสัมภาษณ์ อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCBX ธ.ไทยพาณิชย์ ที่บอกว่าการรักษาอาการป่วย ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่เรื่อง “รายได้ครัวเรือนที่โตไม่ทันรายจ่ายจนเป็นหนี้สินรุงรัง”
เขาบอกอีกด้วยว่า “คนส่วนใหญ่คาดหวังเรื่องปากท้องจากรัฐบาล ว่าจากนี้รัฐบาลต้องทำเรื่องเศรษฐกิจให้กลับมาดี แต่คนเหล่านั้นและรัฐบาลเองก็ทราบดีว่า ฐานะและสุขภาพทางเศรษฐกิจเรานั้นไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว เราแก่มากขึ้น เรามีหนี้มากขึ้น”
ตัวเลข ‘หนี้’ ที่รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทิ้งไว้จากการออก พรบ.กู้เงิน ๒ ฉบับ “พอกพูนหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นทะลุ ๑๐.๗ ล้านล้านบาท จนต้องขยายเพด้านหนี้สาธาณะจากร้อยละ ๖๐ เป็น ๗๐ ของ GDP แต่เศรษฐกิจกลับเติบโตต่ำ เฉลี่ยเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น”
เขาชี้ว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยจากปี ๒๕๕๔ มาถึงปี ๒๕๖๖ แม้จะยืนตามโครงร่างเดิมของนโยบาย ‘ดีๆ’ ที่หลายอย่าง “ไม่ได้ทำ” เพราะคณะรัฐประหารหยุดยั้ง ปีนี้มีโอกาสได้สานต่อจากการได้เป็นรัฐบาล ‘ส้มหล่น’ (คำของเราเอง)
พรรคเพื่อไทยหันไปเน้นวิธีการ ‘กระตุ้น’ ต่างๆ หรือ ‘Stimuli’ กับใช้ “Soft Power เศรษฐกิจและการจ้างงานมูลค่าเพิ่มสูง” ทั้งยังคงต้องรับไว้ต่อเนื่องด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructures ซึ่งรัฐบาลที่แล้วพยา ยาม ทำอย่างไม่ได้ผล
เขามีความหวังว่า กรณีดีที่สุด (best case scenario) นโยบายของเพื่อไทยอาจใช้เวลาครึ่งเดียวของ ๑๑ ปีที่ผ่านมา สร้าง ‘จีดีพี’ ขนาดใหญ่ ๗ ล้านล้านบาทให้เกิดขึ้นได้ ด้วย “การใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น แรงงานทักษะสูงขึ้น” และเครื่องมือกระตุ้นดีขึ้น
ทว่าจากภาพลักษณ์เศรษฐกิจในแบบจำลองที่นำเสนอไว้ว่าอะไรหลายๆ อย่างจะดีขึ้นกว่าเก่า (ปี ๕๔) ในอีก๔ ปีข้างหน้า (ถึงปี ๗๐) จีดีพีปีนี้จะถึง ๑๘.๒๘ ล้านล้าน ปี ๗๐ ถึง ๒๓.๖๔ ล้านล้าน รายได้ต่อหัว ๗,๘๗๓ ดอลลาร์ต่อปี ไปเป็น ๑๐,๓๗๗ ดอลลาร์
แต่หนี้สาธารณะยังคงตัวที่ ๖๒ เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ซึ่งมากกว่าปี ๕๔ เกือบเท่าตัว หนี้ครัวเรือนจะดีขึ้นเล็กน้อยในปี ๗๐ คือ “แค่” ๘๔.๗๗% เทียบกับ ๙๐.๖๐% ของปีนี้ ซึ่งเพิ่มจากเมื่อปี ๕๓ เกือบ ๓๐% ขณะที่การขาดดุลงบประมาณยังต่อเนื่อง ปีนี้เกือบ ๓% ปีหน้าเกิน ๓%
ภาพลักษณ์ในทางมหภาคของเศรษฐกิจไทยดูจะน้ำหนักลดลงเรื่อยๆ เมื่อดูที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศพบว่าจากมี ๘.๖๗ เท่าของเงินเข้ารายเดือน ลดลงไปเป็น ๗.๗๔ ในปีนี้ และ ๖.๑๒ ในปี ๗๐
สรุปแล้วเหมือนบอกว่าได้กินมากขึ้นแต่ยังไม่อ้วน มีเวลา ๔ ปี จะแก้ปมนี้ยังไงดี
(https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/economics-analyze/571502)