อิสราเอล: แผนที่พรมแดนของรัฐยิวจากอดีตจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
23 กันยายน 2020
บีบีซีไทย
อิสราเอลก่อตั้งประเทศมานานกว่า 70 ปีแล้ว แต่พรมแดนทั้งหมดของอิสราเอลก็ยังไม่มีความชัดเจน การทำสงคราม การลงนามในข้อตกลงต่าง ๆ และการยึดครอง ทำให้พรมแดนของรัฐยิวเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา และหลายพื้นที่ของรัฐยิวก็ยังไม่ได้มีการกำหนดเขตแดนที่แน่ชัด
นี่คือแผนที่ที่ช่วยอธิบายพรมแดนของอิสราเอลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อิสราเอลก่อตั้งประเทศมานานกว่า 70 ปีแล้ว แต่พรมแดนทั้งหมดของอิสราเอลก็ยังไม่มีความชัดเจน การทำสงคราม การลงนามในข้อตกลงต่าง ๆ และการยึดครอง ทำให้พรมแดนของรัฐยิวเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา และหลายพื้นที่ของรัฐยิวก็ยังไม่ได้มีการกำหนดเขตแดนที่แน่ชัด
นี่คือแผนที่ที่ช่วยอธิบายพรมแดนของอิสราเอลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ดินแดนที่กลายมาเป็นอิสราเอลในปัจจุบันนี้ครั้งหนึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน (Ottoman Empire) มานานหลายร้อยปี หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีชัยชนะในสงครามได้กำหนดให้อังกฤษเข้ามาปกครองดินแดนที่ชื่อว่า ปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ขณะที่ชาวยิวเรียกดินแดนนี้ว่า แผ่นดินอิสราเอล (ต่อมาไม่นานก็ได้รับการรับรองจากองค์การสันนิบาตชาติ)
เงื่อนไขในการให้อังกฤษเข้ามาปกครองปาเลสไตน์และสถาปนา "บ้านแห่งชาติของคนยิว" (a national home for the Jewish people) ขึ้นในปาเลสไตน์ กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อสิทธิทางศาสนาและพลเมืองของชุมชนที่ไม่ใช่ชาวยิวที่อยู่ที่นั่น
ลัทธิชาตินิยมอาหรับของชาวปาเลสไตน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรชาวยิวที่มีจำนวนน้อยกว่า โดยเฉพาะหลังจากที่มีการอพยพหนีลัทธินาซีเข้ามาในช่วงทศวรรษ 1930 ทำให้ความรุนแรงระหว่างอาหรับและยิวในปาเลสไตน์เพิ่มสูงขึ้น อังกฤษได้ส่งมอบปัญหานี้ให้สหประชาชาติ ซึ่งได้เสนอให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นสองรัฐคือ รัฐยิว และรัฐอาหรับ ในปี 1947 โดยมีพื้นที่เยรูซาเลม-เบธเลเฮม เป็นเมืองนานาชาติ แผนการนี้ได้รับการยอมรับจากผู้นำชาวยิวในปาเลสไตน์ แต่เหล่าผู้นำชาติอาหรับปฏิเสธ
ผู้นำยิวในปาเลสไตน์ประกาศก่อตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นเมื่อ 14 พ.ค. 1948 ซึ่งเป็นช่วงที่การปกครองของอังกฤษสิ้นสุดลง แต่ไม่มีการประกาศพรมแดนที่แน่ชัดของตัวเอง วันต่อมา 5 ชาติอาหรับที่เป็นศัตรูกับอิสราเอลได้บุกโจมตีอิสราเอล เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเอกราชอิสราเอล การสู้รบสิ้นสุดลงในปี 1949 โดยมีการหยุดยิงกันหลายครั้ง ทำให้มีการสร้างเส้นแบ่งเขตตามความตกลงสงบศึกชั่วคราวตามแนวพรมแดนอิสราเอลกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีการสร้างพรมแดนของพื้นที่ที่รู้จักกันในชื่อ ฉนวนกาซา (อียิปต์ยึดครอง)เยรูซาเลมตะวันออก และเขตเวสต์แบงก์ (จอร์แดนยึดครอง) ประเทศอาหรับที่อยู่ติดกับอิสราเอลไม่ยอมรับอิสราเอล ทำให้พรมแดนของอิสราเอลยังคงถือว่าไม่ได้มีการกำหนด
การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดต่อพรมแดนของอิสราเอลเกิดขึ้นในปี 1967 ซึ่งเกิดการปะทะกันที่รู้จักกันในชื่อ สงคราม 6 วัน (Six Day War) ทำให้อิสราเอลได้ยึดครองแหลมไซนาย, ฉนวนกาซา, เขตเวสต์แบงก์, เยรูซาเลมตะวันออก และพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกลันของซีเรีย ส่งผลให้พื้นที่ของดินแดนภายใต้การควบคุมของอิสราเอลเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว อิสราเอลได้ผนวกรวมเยรูซาเลมตะวันออก และได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือเมืองเยรูซาเลมทั้งเมืองให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และผนวกรวมที่ราบสูงโกลัน การกระทำเช่นนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก จนกระทั่งสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ในสมัยของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นชาติมหาอำนาจชาติแรกที่ยอมรับ ขณะที่ประชาคมโลกยังคงเห็นว่า เยรูซาเลมตะวันออกและที่ราบสูงโกลัน เป็นดินแดนที่ถูกยึดครองอยู่
พรมแดนด้านหนึ่งของอิสราเอลถูกยอมรับอย่างทางการเป็นครั้งแรกในปี 1979 เมื่ออียิปต์กลายเป็นชาติอาหรับชาติแรกที่ยอมรับรัฐยิว โดยทั้งสองชาติตกลงกันว่า ให้มีการกำหนดพรมแดนของอิสราเอลที่ติดกับอียิปต์แลกกับการให้อิสราเอลถอนกำลังทั้งหมดและผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมไซนายออกไปทั้งหมด โดยกระบวนการนี้แล้วเสร็จในปี 1982 ทำให้อิสราเอลยังคงยึดครองอยู่เพียงฉนวนกาซา, เยรูซาเลมตะวันออก และที่ราบสูงโกลัน ขณะที่พรมแดนของอิสราเอล (ยกเว้นส่วนที่ติดกับอียิปต์) ยังคงยึดตามแนวเส้นแบ่งเขตตามความตกลงสงบศึกชั่วคราวปี 1949
ปี 1994 จอร์แดนกลายเป็นชาติอาหรับชาติที่ 2 ที่ยอมรับอิสราเอล ทำให้พรมแดนของอิสราเอลที่ติดกับจอร์แดนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ขณะที่ยังไม่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลและเลบานอน เส้นแบ่งเขตตามความตกลงสงบศึกชั่วคราวปี 1949 ของทั้งสองประเทศ จึงถือเป็นเส้นพรมแดนทางเหนือในทางพฤตินัยของอิสราเอล ขณะที่พรมแดนของอิสราเอลที่ติดกับซีเรียยังไม่มีการตกลงกัน
ในทำนองเดียวกัน อิสราเอลมีพรมแดนในทางพฤตินัยกับกาซา นับตั้งแต่อิสราเอลได้ถอนทหารและผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานออกมาในปี 2005 แต่องค์การสหประชาชาติถือว่ากาซาและเขตเวสต์แบงก์เป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง และยังไม่มีการกำหนดพรมแดนอย่างเป็นทางการขึ้นมา สถานะสุดท้ายและเค้าโครงของเขตเวสต์แบงก์, กาซา และเยรูซาเลมตะวันออก ขึ้นอยู่กับการเจรจากันระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ที่นั่นภายใต้การยึดครองของอิสราเอล แต่การเจรจาที่ไม่ต่อเนื่องนานหลายสิบปีทำให้จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป