วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 19, 2566

ในหลวงรัชกาลที่ 9 มองอย่างไรกับ เหตุการณ์ปล้นปืนและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนังสือ เกิดมาขบถของจรัล เล่าเรื่องนี้ไว้


Thanapol Eawsakul
4d
·
ในหลวงรัชกาลที่ 9 มองอย่างไรกับ เหตุการณ์ปล้นปืนและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
.....
เปิดหนังสือ เกิดมาขบถ ของจรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติ มีตอนหนึ่งที่น่าสนใจที่จรัลเล่าขณะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งตอนนั้นมีเหตุการณ์ "ปล้นปืน" 4 มกราคม 2547 ซึ่งถือเป็นปฐมบทของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างที่ทราบในที่สาธารณะว่ามุมมองของรัฐบาลในขณะนั้นคือทักษิณ ืชินวัตรในฐานะนายกรัฐมนตรี มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รวมทั้งเป็นการกระทำของโจรกระจอก มาตรการที่รัฐบาลทักษิณใช้คือมาตรการตาต่อตา ฟันต่อฟัน รวมทั้งการออกกฎหมายพิเศษมาใช้จนถึงปัจจุบัน
(ก่อนที่จะมีความพยายามเปลี่ยนนโยบายการเมืองนำการทหารในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมาจนถึงปัจจุบันนี้)
แต่สิ่งที่เราไม่ทราบก็คือมุมมองของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งราชสำนักคนอื่นๆว่ามีเช่นไร
คนที่ประกาศอย่างชัดเจนน่าจะเป็นราชินีสิริกิติ์ที่เคยเรียกร้องให้มีการติดอาวุธกับชาวบ้านเพื่อสู้กับ "โจรใต้"
ในหนังสือ เกิดมาขบถของจรัล ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหน้า 303 ว่า
(ภายหลังจากเกิดความรุนแรงในเดือนมกราคม 2547)
ผมกับคุณหญิงอัมพร มีศุข ลงไปสอบสวนกรณีโรงพัก ที่ตั้งตำรวจในปัตตานี ยะลาและนราธิวาสถูกโจมตีพร้อมกันมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายหลายสิบคน จนถึงกรณีมัสยิดกรือเซะ 28 เมษายน กรณีตากใบ 25 ตุลาคมและลงไปจัดสัมมนานักข่าว 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่หาดใหญ่ เรื่องจะรายงานสถานการณ์วิกฤตชายแดนใต้อย่างไร ตอนกล่าวปิดผมเรียกร้องนักข่าวราว 30 คนอย่างเดียวว่าอย่าพาดหัวหรือเรียกว่าโจรใต้ ปรากฏว่าไม่สำเร็จ
การลงไปชายแดนใต้และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งทำให้คนหาว่ากรรมการสิทธิเข้าข้างกลุ่มมุสลิมที่ปฏิบัติการ หมอประดิษฐ์ (เจริญไทยทวี --หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีความใกล้ชิดกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และเรียกกันติดปากว่าหมอหลวง )บอกผมว่า ไปเข้าเฝ้าในหลวงมา พระองค์ตรัสว่าในกรรมการของหมอมีเบอร์ซาตู คงหมายถึงจรัล ผมจึงไปพบพลากร สุวรรณรัฐองคมนตรีเพื่อพูดคุยเรื่องนี้
ผมพูดเรื่องนี้มาตลอด ถึงวันนี้ซึ่งผู้ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือนประชาชนรวมกันกว่า 50,000 คน * แม้จะมีกำลังทหารราว 3-40,000 คน จับกุมเข่นฆ่ากี่หมื่นศพ ตั้งกรรมการกี่ชุด และต่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลโลกไปรวมกันเหนือฟ้าชายแดนใต้ สถานการณ์สู้รบก็จะไม่ยุติ จนกว่าจะให้ปกครองตนเองหรือเป็นรัฐอิสระ
* ตัวเลขจากหน่วยงานเอกชนที่เก็บข้อมูลตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงกรกฎาคม 2566 ผู้เสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่ประชาชนรวมทั้งผู้ก่อการคือ 7,250 คน
.....
แต่ทัศนคติของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มองว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐคือพวก "เบอร์ซาตู" หรือพวกนิยมการแบ่งแยกดินแดน อันนี้น่าสนใจ
เพราะว่าทัศนะที่มองเรื่องดังกล่าวคือทัศนะของ "สายเหยี่ยว"
และน่าจะมีส่วนไม่น้อยกับทิศทางขอกองทัพในการจัดการปัญหาชายแดนภาคใต้