วันเสาร์, ตุลาคม 07, 2566

6 อาวุธ ที่รัฐยังคงใช้กับประชาชน จาก 6 ตุลา 19 ถึง 6 ตุลา 66



6 อาวุธ ที่รัฐยังคงใช้กับประชาชน จาก 6 ตุลา 19 ถึง 6 ตุลา 66

5 ต.ค. 66
Thairath Plus

Summary
  • 6 ตุลาคม 2519 โศกนาฏกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในไทย ที่รัฐปิดล้อมนักศึกษาธรรมศาสตร์ ผ่านมาแล้ว 47 ปี ปัจจุบัน ความรุนแรงจากรัฐเปลี่ยนไปแล้วหรือยัง
  • อาวุธ 6 ประเภทในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม จนถึงการอนุญาตให้ฆ่า 1. โจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร 2. สร้างมวลชนฝ่ายขวา 3. ใช้กำลังและอาวุธ 4. ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ 5. จบที่การรัฐประหาร และ 6. สร้างความชอบธรรม ไม่รับผิด ไม่ขอโทษ
เหตุการณ์ล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณสนามหลวง เริ่มขึ้นตั้งเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นับเป็นความพ่ายแพ้ของนักศึกษา และเป็นประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดที่รัฐไทยเลือกจะไม่จดจำ

หลัง 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการประชาชนและนักศึกษาคล้ายว่าจะได้ชัยชนะจากการขับไล่กลุ่มนายทหารเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

ปี 2519 มีข่าวว่า จอมพลถนอมมีแผนเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยการบวชเป็นสามเณร และหลายคนเชื่อว่าจอมพลถนอมกำลังพยายามกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง จึงพากันออกมาประท้วงต่อต้านการกลับมาของผู้นำที่ถูกขนานนามว่า ‘ทรราช’


เมื่อขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหว ฝ่ายตรงข้ามที่ยังซุ่มปฏิบัติการต่อเนื่องตั้งแต่หลัง 14 ตุลา ก็เริ่มลงมือก่อเหตุจริงจัง เช่น 24 กันยายน พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถูกฆ่าแขวนคอไว้ที่ประตูรั้วสีแดง จังหวัดนครปฐม ขณะออกไปปิดใบประกาศประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม

เนื่องจากเป็นช่วงสอบของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ทำให้เกิดการประท้วงไม่เข้าสอบ และมีการจัดแสดงละครในวันที่ 4 ตุลาคม เนื่องจากนักศึกษาต้องการสื่อถึงการฆาตกรรมแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่นครปฐม

แต่มีสื่อมวลชน 2 ฉบับ คือ ดาวสยาม และ บางกอกโพสต์ บิดเบือนปล่อยข่าวในวันรุ่งขึ้นว่า นักศึกษาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีการนำเสนอภาพคล้ายองค์รัชทายาทในขณะนั้น นำไปสู่การปลุกระดมว่านักศึกษาล้มเจ้า นำไปสู่การล้อมปราบปรามนักศึกษาในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม
 


จากการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักศึกษา และประชาชนเสียชีวิต 40 ศพ เจ้าหน้าที่รัฐ 5 ศพ ผู้บาดเจ็บ 145 คน ผู้ถูกจับกุม 3,094 คน ประชาชนตกเป็นจำเลย 18 คน และไม่มีผู้ก่อการล้อมปราบ ก่อความรุนแรง และกระทำการสังหารถูกดำเนินคดี

เย็นวันที่ 6 ตุลา พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ประกาศยึดอำนาจจาก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในนาม ‘คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ต่อมาได้แต่งตั้งให้ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่’

ปี 2520 รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ให้กับทุกฝ่ายในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วง 4-6 ตุลาคม 2519 ทำให้ทั้งนักศึกษาไม่มีความผิด และผู้ลงมือล้อมปราบฆาตกรรมก็ไม่มีมลทินใดๆ ติดตัว

ภาพความรุนแรงวันที่ 6 ตุลา คือ ‘ที่สุด’ ของความอำมิตในประวัติศาตร์ไทยยุคหลัง แต่ความโหดเหี้ยม การลงมือสังหาร และการหยิบยื่นความตายนั้นมีที่มา ประกอบด้วยปัจจัยที่ถูกใช้เป็น ‘อาวุธ’ และอาวุธเหล่านี้ บางอย่างยังคงอยู่ในปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปบ้าง แต่ความสามารถของอาวุธอย่างน้อย 6 ประเภท ในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ป้ายสี ใส่ร้าย ตอกย้ำความแตกแยก จนถึงการอนุญาตให้ฆ่า ผ่าน 6 ตุลา มา 47 ปี อาจไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลย

1. โจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร

การโฆษณาชวนเชื่อ หรือ propaganda เป็นการใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมือ ทั้งข่าวจริงและปลอม เป็นปฏิบัติการที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก

เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงมีความพยายามใช้ข้อความโฆษณาให้เห็นถึงความเลวร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ว่าเป็นปิศาจ กินคน ปล้นทรัพย์สิน จนถึงวาทะของกิตติวุฑโฒที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ก็ยังถูกพูดถึงบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยข่าวลืออีกหลายเรื่อง เช่น มีพวกญวณแฝงตัวอยู่ในธรรมศาสตร์ นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ มีอุโมงค์ลับซ่อนอาวุธใต้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ภาพของนักศึกษาที่เคยเป็นผู้นำชัยชนะยุค 14 ตุลา 16 เปลี่ยนไปเป็นผู้ร้าย

วิทยุคืออีกหนึ่งช่องทางในการปล่อยข้อความปลุกระดม โดยสื่อสำคัญขณะนั้นคือ วิทยุยานเกราะ ศูนย์กลางทหารม้า ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญของกลุ่มนวพล-กระทิงแดง โดยมีผู้จัดรายการคือ ทมยันตี นักเขียนชื่อดังผู้ล่วงลับ
 

หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับ วันที่ 6 ตุลาคม 2519

ละครแขวนคอ คือข่าวสารที่จับต้องได้ เมื่อมีสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ปล่อยข่าวที่มีการตกแต่งภาพ ว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องการล้มเจ้า ล้มถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากโกรธแค้น ในวันรุ่งขึ้นว่า นักศึกษาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีการนำเสนอภาพคล้ายองค์รัชทายาทในขณะนั้น นำไปสู่การปลุกระดมว่านักศึกษาล้มเจ้า นำไปสู่การล้อมปราบปรามนักศึกษาในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม


สงครามข้อมูลข่าวสารในอดีตยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน หากย้อนไปปี 2551-2553 รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็สร้างผังล้มเจ้าขึ้นมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม และมีความพยายามสร้างภาพชายชุดดำว่าเป็นผู้ก่อการร้ายช่วงสลายการชุมนุม


ส่วนในปัจจุบัน มีขบวนการ io ที่พยายามสร้างข่าวปลอมเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม แม้จะเคยมีการกล่าวหาว่า กองทัพเป็นผู้ควบคุม io แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน


และในโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันไลน์ ก็ยังมีการใช้ข้อมูลปลอม เพื่อสร้างความแตกแยก เกลียดชัง โดยมีจุดประสงค์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง อาวุธที่เผยแพร่ผ่านคำพูดและตัวอักษร จึงถือว่ายังทรงประสิทธิภาพมาทุกยุคทุกสมัย

2. สร้างมวลชนฝ่ายขวา

มวลชนฝ่ายขวา เดิมทีก็มาจากความพยายามป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์ของรัฐไทยเช่นกัน และเมื่อรัฐมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยความมั่นคง เป็นพวกล้มเจ้า ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของไทย เมื่อนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นักศึกษาจึงติดร่างแหเป็นภัยความั่นคงไปด้วย

พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย เคยเสนอคำว่า ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ไว้ในปีก่อนหน้า เพื่อเรียกร้องให้มวลชนฝ่ายขวาลุกขึ้นพิฆาตฝ่ายซ้าย คือ ขบวนการนักศึกษา ที่เป็นคอมมิวนิสต์

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา มวลชนฝ่ายขวาที่ปรากฏชื่อชัด เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ที่มาร่วมปิดล้อมปราบนักศึกษาธรรมศาสตร์ แต่งตั้งเมื่อปี 2514 ที่จังหวัดเลย เป็นกิจการในพระบรมราชานุเคราะห์ ของในหลวงรัชการลที่ 9 จุดมุ่งหมายเริ่มแรกคือ การสร้างความสามัคคีในหมู่ข้าราชการและประชาชน เพื่อให้ประชาชนช่วยส่งข่าวและรวบรวมข้อมูลให้กับทางราชการเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ การใช้ความรุนแรงของลูกเสือชาวบ้านจึงมีจุดประสงค์ทั้งปราบคอมมิวนิสต์และแสดงความจงรักภักดี
 


นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มมวลชนฝ่ายขวาที่มีอุดมการณ์ปราบปรามคอมมิวนิสต์ คือ นวพล - กระทิงแดง โดยกลุ่มกระทิงแดงจัดตั้งโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาอาชีวะ และมี พลตรีสุดสาย หัสดิน เป็นหัวหน้า

หากมองว่า ภารกิจหนึ่งของ กอ.รมน. คือป้องกันภัยคอมมิวนิสต์และปกป้องสถาบันฯ กอ.รมน. ก็ยังทำหน้าที่นั้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่คำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ เปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นกลุ่มการเมืองที่ไม่เป็นที่นิยมชมชอบของชนชั้นนำ

ปัจจุบัน กอ.รมน.รับผิดชอบโครงการอบรมประชาชนให้ครอบคลุม 83,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมักมีข่าวพัวพันกับการจัดตั้งมวลชนหลายกลุ่ม

และมวลชนของ กอ.รมน. ก็ยังมีจำนวนมากพอที่จะส่งผลต่อการเมืองได้ เช่น ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผู้บริหาร กอ.รมน. แถลงว่า ตนสามารถระดมมวลชนราว 500,000 คน ให้เข้าร่วมรณรงค์ให้ประชาชนออกมาแสดงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.

3. ใช้กำลังและอาวุธ

เมื่อนักศึกษาถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นภัยคุกคามความมั่นคง เติมเชื้อความโกรธแค้นด้วยข้อหาจ้องล้มล้างสถาบัน หมิ่นองค์รัชทายาท ด้วยการประโคมข่าวของหนังสือพิมพ์ ความโกรธแค้นนั้นจึงพัฒนาไปสู่การลงมือใช้กำลัง

ก่อนแสงตะวันแรกของวันที่ 6 ตุลา จะปรากฏลูกระเบิดจากปืน M79 ถูกยิงจากด้านนอก ตกลงกลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ทำให้นักศึกษาและประชาชน 9 คน เสียชีวิต ตามมาด้วยการยิงจากอาวุธนานาชนิดจากทางด้านหน้าหอประชุมใหญ่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

เจ้าหน้าที่ผู้เข้าปฏิบัติการล้อมปราบราว 400 คน ส่วนใหญ่ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นตำรวจจากทุกหน่วย ตั้งแต่นครบาล สันติบาล กองปราบปราม โดยมีสองหน่วยที่เป็นกำลังหลักคือ ตำรวจปราบจลาจลภายใต้การนำของ พลตำรวจเอกสล้าง บุนนาค และตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน ใช้อาวุธทั้งปืนพก และอาวุธสงครามอย่างปืนต่อสู้รถถัง ปืนยิงระเบิด ระเบิดมือ โดยมี พลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้อนุญาตให้ยิงตั้งแต่ช่วงเช้า ตามมาด้วยสถานการณ์ที่ราวกับว่าใบอนุญาตให้ฆ่าถูกอนุมัติ



นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีกลุ่มนอกเครื่องแบบ เช่น ลูกเสือชาวบ้านที่สวมผ้าพันคอพระราชทาน และกลุ่มกระทิงแดง รวมถึงมวลชนฝ่ายขวาที่ถูกปลุกระดม นำไปสู่เหตุการณ์โหดเหี้ยมบริเวณสนามหลวง การเผาทั้งเป็น ตอกลิ่ม ทำลายศพ แขวนศพ ฟาดด้วยเก้าอี้ เป็นต้น ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะเปิดฉากใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธก่อน จากนั้นกลุ่มมวลชนนอกเครื่องแบบจะเป็นแนวร่วมแถวสองที่เข้าทำร้ายและเข่นฆ่าผู้ที่อยู่ในธรรมศาสตร์และพยายามหนี่ออกมา

การใช้กำลังอาวุธของเจ้าหน้าที่ยังคงถูกมองว่าเป็นความชอบธรรมของรัฐเรื่อยมาหลังจากนั้น การชุมพฤษภา 35 ก็มีการใช้กำลังทหารปราบผู้ชุมนุมพร้อมกระสุนจริง หรือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งตากใบและกรือเซะ ก็ยังไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากนั้น ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

การสลายการชุมชุมนุมในชื่อ ‘ขอคืนพื้นที่’ ทั้งเมษายนและพฤษภาคม 2553 การใช้ความรุนแรงของรัฐถูกตั้งคำถามถึงความโหดเหี้ยมอีกครั้ง โดยเฉพาะการล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดง นปช. กลางกรุง ด้วยอาวุธสงครามและพลแม่นปืน แม้มีข้อมูลออกมาแล้วว่า ผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งทหาร แต่ยังไม่มีใครรับผิดชอบ

มาถึงยุค พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐในรูปแบบทางการลดความรุนแรงลง โดยเฉพาะการชุมนุม ที่มีหน่วยงานอย่างตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยตั้งแต่ระลอกการชุมนุมใหญ่ 2563 เป็นต้นมา มีการดำเนินการจากเบาไปหนัก โดยพยายามอ้างอิงหลักสากล เนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนไม่มีอาวุธ คือใช้โล่ดัน ใช้กระบอง รถฉีดน้ำจีโน่ ทั้งน้ำและน้ำผสมสารเคมีใช้แก๊สน้ำตา ใช้กระสุนยาง ยังไม่มีรายงานการใช้กระสุนจริงจากเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการ แต่การสลายการชุมนุมหลายครั้ง มีผู้บาดเจ็บสาหัส จากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ที่อาจเข้าข่ายใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และไม่ยึดตามหลักสากล

4. ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้ความรุนแรงในวันนั้นจะดูเหมือนเป็นความป่าเถื่อน ไร้กฎเกณฑ์ เหมือนฉากอำมหิตที่เกิดขึ้นในดินแดนไร้ขื่อแป ทั้งข่าวลือป้ายสีที่ยังไม่ได้ถูกตั้งข้อหา และการเข่นฆ่ามนุษย์ทั้งที่ไม่ใช่เหตุสงคราม แต่ภายหลังเกิดเหตุ ก็มีการนำกฎหมายมาใช้กับนักศึกษาและผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์

ข้อมูลระบุว่า มีประชาชนถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เฉพาะในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จำนวน 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน และหญิง 662 คน

จากผู้ถูกจับกุมทั้งหมด มีคนตกเป็นผู้ต้องหาทั้งสิ้น 106 คน อัยการสั่งฟ้อง 18 คน โดยจำเลยคดี 6 ตุลา จำนวน 18 คน ประกอบด้วย สุธรรม แสงประทุม, อนุพงศ์ พงศ์สุวรรณ, อภินันท์ บัวหภักดี, สุรชาติ บำรุงสุข, ประพนธ์ วังศิริพิทักษ, วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม, อารมณ์ พงศ์พงัน, ประยูร อัครบวร, สุชีลา ตันชัยนันท์, อรรถการ อุปอัมภากุล, สุชาติ พัชรสรวุฒิ, ธงชัย วินิจจะกูล, คงศักดิ์ อาษาภักดิ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, โอริสสา ไอราวัณวัฒน์, เสงี่ยม แจ่มดวง และ เสรี ศิรินุพงศ์

หลังรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก็ได้มีการเพิ่มโทษให้กับกฎหมายหลายมาตรา หนึ่งในนั้นคือมาตรา 112 ให้ต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี เนื่องจากนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีเจตนาที่จะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์

วันที่ 25 สิงหาคม 2520 อัยการศาลทหาร กรุงเทพฯ ได้ยื่นฟ้องจำเลย 18 คน ใน 10 ข้อหา ได้แก่

1. ร่วมกันมีการกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

2. ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

3. ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น

4. ร่วมกันสะสมกำลังพล หรืออาวุธเพื่อเป็นกบฏ

5. ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเป็นหนังสือและวิธีอื่นใดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

6. ร่วมมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง ประทุษร้ายโดยมีอาวุธ และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่ยอมเลิก

7. ร่วมมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นซ่องโจรเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิต และร่างกายผู้อื่น

8. ร่วมกันบุกรุกเข้าไป หรือซ่อนตัวอยู่ในสำนักงานสถานที่ราชการ โดยไม่มีเหตุอันควร โดยมีอาวุธและร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และทำให้เสียทรัพย์

9. ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย

10. ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดชนิดธรรมดาและชนิดที่ใช้แต่เฉพาะในการสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต



ปัจจุบัน มาตรา 112 ซึ่งเป็นมรดก 6 ตุลา ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่อง หลังพักการใช้ไปช่วงต้นปี 2561 ก่อนกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดหลังการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ในปี 2563 เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม

จนถึงวันนี้ ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 25 คน เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 10 คน คือ อานนท์ นำภา, วีรภาพ วงษ์สมาน, สมบัติ ทองย้อย, อุดม (สงวนนามสกุล), เก็ท - โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, วัฒน์ (นามสมมติ), น้ำ - วารุณี, ทีปกร, เวหา แสนชนชนะศึก และ วุฒิ (นามสมมติ)

นอกจากนี้ ยังมีการใช้กฎหมายพิเศษลักษณะคล้ายคลึงกันกับสถานการณ์อื่นๆ เช่น การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมทางการเมือง การใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการจัดการมากขึ้น ซึ่งกฎหมายพิเศษเหล่านี้มักนำไปสู่ความรุนแรงที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้

5. จบที่การรัฐประหาร



เย็นวันที่ 6 ตุลา พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ประกาศยึดอำนาจจาก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในนาม ‘คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน’ ซึ่งการรัฐประหารครั้งนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการปิดประตูสถานการณ์เลวร้ายไม่ให้บานปลาย แต่อีกด้านหนึ่ง การรัฐประหารก็เป็นการปิดประตูขังความจริงหลายๆ ชุดไว้ไม่ให้ใครทำความรู้จัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรัฐประหารทุกครั้งคือการใช้กำลังทหารแทรกแซงการบริหารประเทศ ฉวยโอกาสล้มรัฐบาลพลเรือน โดยมักมีข้อครหาว่า มีชนชั้นนำอยู่เบื้องหลัง โดยเหตุผลที่พลเรือเอกสงัดใช้ในการล้มรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ คือ เพื่อรักษาความสงบอันสืบเนื่องจากการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ และนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศ รวมทั้งรัฐมนตรีบางคน นักการเมืองและสื่อมวลชนให้การสนับสนุนเหตุการณ์ร้าย รัฐสภามีความแตกแยก โดยในคำประกาศส่วนหนึ่งบอกว่า

เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00-04.30 น.

การรัฐประหารหลัง 6 ตุลา จึงเป็นการปิดฉากประชาธิปไตยที่เคยเบ่งบานและคล้ายว่าได้ชัยชนะจากวันที่ 14 ตุลา 16 อย่างหมดจดราบคาบ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยยังมีการแทรกของกองทัพในนามรัฐประหารอีก 4 ครั้ง ดังนี้
  • 20 ตุลาคม 2520 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจ ธานินทร์ กรัยวิเชียร
  • 23 กุมภาพันธ์ 2534 พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
  • 19 กันยายน 2549 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจ ทักษิณ ชินวัตร
  • 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ข้อสังเกตคือ การรัฐประหารทุกครั้ง เป็นการล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน คือ ความบกพร่องในการบริหารงานของรัฐบาล การคอร์รัปชัน การชุมนุม ความรุนแรง สถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงและกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ

6. สร้างความชอบธรรม ไม่รับผิด ไม่ขอโทษ



การพิจารณาคดี 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นในปี 2520 ภายใต้การนำรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นำไปสู่ ‘พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521’ ซึ่งนอกจากจะเป็นการปล่อยตัวจำเลยทั้ง 18 คน ยังมีใจความสำคัญ คือ

“มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

รวมทั้งหมายเหตุที่ระบุว่า

“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว และมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน

ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้น ก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น

และเมื่อคำนึงถึงว่า การชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริง เพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ

จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ และผู้ที่หลบหนีไป ได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร และกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์ และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"

เมื่อการนิรโทษกรรมทำให้การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทำให้การนิรโทษกรรมครั้งนั้นก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ก่อเหตุความรุนแรงกับกลุ่มนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ด้วยเช่นกัน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ลงมืออย่างโหดเหี้ยมฝ่ายอื่นๆ จึงไม่มีใครมีความผิดและถูกนำตัวมาลงโทษ

การนิรโทษกรรมอันเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงเป็นหมุดหมายของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และความไม่ต้องรับผิดชอบครั้งสำคัญของรัฐ

การนิรโทษกรรมของประเทศไทยถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองทั้งหมด 23 ครั้ง เป็นการนิรโทษกรรมให้การรัฐประหารถึง 12 ครั้ง เพื่อทำให้ผู้ล้มล้างอำนาจรัฐไม่มีความผิด แม้ผู้พยายามทำรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ ก็ได้รับนิรโทษกรรมเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายกรณี รัฐมีความชอบในการใช้อาวุธ ในการสลายการชุมนุม รัฐจึงเป็นเสมือนผู้ผูกขาดความรุนแรง และหากเกิดการนิรโทษให้ทุกฝ่าย ผลพลอยได้ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ลงมือเกินกว่าเหตุปราศจากความผิดไปด้วย และมักไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบใดๆ กับการบาดเจ็บล้มตายหรือพิการของประชาชน


ภาพสลายการชุมนุม ราษฎรหยุด APEC 2022

การสลายการชุมนุมครั้งหลังสุดเมื่อปลายปี 2565 จากความพยายามเคลื่อนขบวนของ ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ ตำรวจ คฝ. ใช้กระบองตอบโต้ประชาชนที่ขว้างปาสิ่งของ ใช้ไม้ตี และผลักดันโล่ พยายามเคลื่อนย้ายรถตำรวจ และยังใช้ปืนยิงกระสุนยางหลายนัดในระยะประชิด และยิงแนวราบ ไม่ได้ยิงไปที่ร่างกายส่วนล่าง จนมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน และมีสื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนสัญลักษณ์ของสื่อมวลชนชัดเจน ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 2 คน และมีผู้ถูกจับกุมจากพื้นที่ชุมนุมรวมกันประมาณ 25 คน

ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บหนักคือ พายุ ดาวดิน นักกิจกรรมทางการเมืองภาคอีสาน ที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง และสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ ยังมีช่างภาพและผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา

และที่ปรากฏเป็นกระแสในโลกออนไลน์คือ ผู้สื่อข่าวของ The Matter ที่ถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้กระบองฟาดและเตะศีรษะ พร้อมพูดว่า “พวกกูเนี่ย ของจริง” แม้จะสวมปลอกแขนผู้สื่อข่าวก็ตาม

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ไผ่-จตุภัทร์ และกลุ่มทะลุฟ้า เดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้อง คือ

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบ และขอโทษกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องชดใช้ค่าเสียหายและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย

3. ต้องเปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน และก่อให้เกิดความรุนแรง

ทางตำรวจชี้แจงว่า ไม่ได้มีใครอยากให้เกิดความสูญเสีย และทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็มีผู้บาดเจ็บเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจได้รับข้อร้องเรียนไป แต่ก็ย้ำว่า อาจต้องใช้ระยะเวลานานในการพิจารณา เพราะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนรับผิดชอบ เท่ากับว่า 47 ปีผ่านไป วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ก็ยังคงดำรงอยู่ โดยไม่มีทีท่าว่าจะสูญสลายไปเมื่อใด