วันอาทิตย์, กันยายน 18, 2565

เป็นนิมิตหมายอันดี ส.ส.สองพรรคฝ่ายค้านเสนอทำประชามติ สร้างรัฐธรรมนูญใหม่จาก สสร. มี ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเอาด้วย


ปิยบุตร แสงกนกกุล เพิ่งเสนอไว้เมื่อวันก่อน ว่ากฎหมายอำมหิตย์ ม.๑๑๒ ไม่มีทางได้แก้ไขให้เป็นมนุษย์มนา ตราบเท่าที่ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ศาล ราชทัณฑ์” ยังตีความบังคับใช้เพื่ออาญาสิทธิ์ของอำนาจแห่งรัฐเท่านั้น

เขาว่าการชุมนุมประท้วงหรือเรียกร้องอย่างไร ผู้กุมอำนาจกฎหมายเหล่านั้นไม่มีวันสำเหนียก ว่าการปฏิบัติเคร่งครัดตามกฎหมายที่ออกแบบมาใช้ข่มเหงฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เป็นการคล้อยตามดิรัจฉานวิชา หนทางเดียวจะทำได้ต้องผ่านสภาที่ประชาชนเลือกตั้ง

คือ “เรียกร้องกดดันให้หนักไปที่พรรคการเมือง และหากพรรคการเมืองใดที่ทำเรื่องนี้จริง แล้วประสบเหตุเภทภัย จนทำให้ไม่สำเร็จ ประชาชนก็จะเป็น ผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ เฉกเช่นเดียวกันกับการปฏิรูปแก้ไขกฎหมายอื่น เช่น รธน.เป็นอาทิ

เป็นนิมิตหมายอันดี เมื่อสองสามวันก่อน หลากหลายสมาชิกรัฐสภานำโดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ช่วยกันหนุนมาตรการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้ตอบสนองต่อประชาชน และสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยเรื่องสิทธิเสียงแห่งปัจเจกชน

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พรรคก้าวไกล กับจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ ครม.จัดทำประชามติ “สอบถามความคิดเห็นของประชาชน...ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ”

อันที่จริงนี่เป็นมติเก่าจากรัฐสภาเห็นชอบพ้องกันมาตั้งแต่ปลายปี ๖๓ หากแต่เป็นมาไม่ตลอดรอดฝั่งเมื่อเกิดอาการยึกยักจาก สว. (สมชาย แสวงการ) และ ส.ส.รัฐบาล (ไพบูลย์ นิติตะวัน) ว่าต้องฟังเสียงองค์กรจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเสียก่อน

เต่าเลี้ยง คสช.ทั้งสองแย้งให้ส่งร่างที่เกิดจากมติของตัวแทนประชากร ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าจะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่จากสภาร่าง รธน.ที่มาจากการเลือกตั้งได้ไหม ตลก.รธน.ก็ใจป้ำสั่งลงมาว่าได้สิ แต่ต้องผ่านประชามติก่อนนะ

กลางมีนา ๖๔ ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะได้ออกไปสู่ประชามติ การออกเสียงในรัฐสภาวาระสาม ก็คว่ำร่างฯ นั้นเสียจนหกคะเมนเท้งเต้ง แม้มีสมาชิกไม่เห็นชอบแค่ ๔ เสียง เห็นชอบ ๒๐๘ เสียง แต่งดออกเสียงกับไม่ประสงค์ลงคะแนนมีมากกว่า (๙๔+๑๓๖)

ก็เลยยืดเยื้อมาถึงตอนนี้ ซึ่งสองพรรคฝ่ายค้านเสนอให้เริ่มกระบวนการใหม่ด้วยประชามติ ว่าประชาชนจะเห็นชอบให้ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน”

การนี้มี ส.ส.สังกัดอื่นๆ ร่วมอภิปรายเห็นชอบ ได้แก่ วีระกร คำประกอบ พรรคพลังประชารัฐ บอกว่าต้องการเปลี่ยนเพราะ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลเท่านั้น พรรคอื่นทำไม่ได้...ไม่แฟร์...ไม่มีความยุติธรรม”

อีกคน บัญญัติ บรรทัดฐาน พรรคประชาธิปัตย์ “ขอสนับสนุนทุกข้อ ทุกอย่าง ทุกประการ” ด้วยเห็นว่าถ้าได้รัฐธรรมนูญใหม่จาก สสร.ละก็ “อธิบายได้อย่างเต็มปากเต็มคำ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดองในประเทศนี้”

ด้าน ฐิตินันท์ แสงนาค พรรคภูมิใจไทย บอกว่าไม่เห็นด้วยกับ รธน.๖๐ มาตั้งแต่ขั้นตอน ประชามติที่ห้ามวิจารณ์คัดค้าน (โดนจับขังคุกไปหลายราย) ท้ายสุดโบ้ยว่าผ่านๆ ไปก่อนน่า แล้วค่อยไปแก้ทีหลัง “ตนสมัครมาเป็น ส.ส.เพื่อมาแก้รัฐธรรมนูญ” นี้

เสียท่าที่แม้ได้รับเลือกตั้ง ก็ไปอยู่ผิดพรรค ที่ไม่สนอะไรอื่นทั้งสิ้น นอกจากพี้ (ยึดกระทรวงสาสุข) และรับเหมาก่อสร้าง (นั่ง ก.คมนาคม)

(https://ilaw.or.th/node/5847 และ https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/pfbid0dR2jH)