วันศุกร์, กันยายน 02, 2565

“สังคมที่เหลื่อมล้ำทำให้เรารักกันไม่เป็น” ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี



“สังคมที่เหลื่อมล้ำทำให้เรารักกันไม่เป็น” ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

โดย เพ็ญสินีธิติธรรมรักษา
ฉัตรมงคลรักราช ภาพ
29 ส.ค. 2022
Mappa Learning

  • “ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ คุณสามารถเลือกที่จะมีแฟน แต่งงาน หรือวันที่ไม่ได้รักกันแล้วก็สามารถแยกทาง เริ่มต้นชีวิตกับคนใหม่ หรืออยู่คนเดียวไปได้ ไม่มีใครตายจากการตัดสินใจของคุณ”
  • การใช้ชีวิตที่ยากลำบาก ก็ทำให้เราตัดสิ่งที่คิดว่าไม่จำเป็น ไม่ควรเสียเวลา อย่างเช่น ‘ความรัก’
  • สนทนากับรศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ถึงสังคมที่จะทำให้เรารักเป็นและทุกจังหวะในชีวิตไม่ต้องมีเรื่องเงินเกี่ยวข้อง

“เลือกเรียนคณะดีๆ นะลูก จบมาจะได้มีงานทำ”

“ตั้งใจเรียนนะลูก ชีวิตข้างหน้าจะได้สบาย”

ประโยคที่แสดงถึงความรักความห่วงใยที่พ่อแม่มีให้ลูก หากสังเกตอีกชั้นก็จะพบว่า ประโยคพวกนี้ต่างพ่วงด้วย ‘ความมั่นคงทางชีวิต’ ที่พ่อแม่มักคาดหวังว่าลูกจะต้องมี และตัวเองจะต้องเป็นคนให้สิ่งนี้กับลูก

“ในสังคมไทยหรือสังคมที่เหลื่อมล้ำ เราจะมีความเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องทำให้ลูกสามารถเติบโตมีชีวิตมั่งคั่ง ได้ทำงานที่ชอบ มีความสุข ทุกอย่างมันกดดันว่าเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ แต่ในสังคมที่มีความเสมอภาค นี่จะไม่ใช่หน้าที่ของพ่อแม่นะ หน้าที่ของพ่อแม่ คือ การให้ความรัก เทกแคร์ลูกในช่วงเวลาหนึ่ง”

ความคิดเห็นจากรศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บางคนอาจจะไม่คุ้นเคยว่าอาจารย์เป็นใคร แต่ถ้าลองหาคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ‘สวัสดิการ’ ‘ระบบทุนนิยม’ หรือประเด็นล่าสุดอย่าง ‘ล้างหนี้กยศ.’ น่าจะได้เห็นชื่อของอาจารย์ที่เป็นผู้ทำงานขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ปรากฎอยู่

เพราะเราจะมีชีวิตอย่างไร มีอนาคตแบบไหนรออยู่ หรือจะตกลงใช้ชีวิตคู่กับใคร ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ตัวเรา แต่สภาพสังคมก็มีส่วน ครอบครัวเราจะรักกันดีหรือตีกันตลอดเวลา ส่วนหนึ่งก็มาจากว่าชีวิตสมาชิกแต่ละคนต้องดิ้นรนเท่าไร เพราะการต้องคิดเรื่องปากท้องหรือใช้ชีวิตให้รอดในแต่ละวันก็สร้างความยากลำบาก จนเราไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น หรือส่งผลให้ความสัมพันธ์แย่

“สังคมที่เหลื่อมล้ำทำให้เราไม่สามารถที่จะรักกันเป็น เราแยกไม่ออกเลยว่าความรักกับการลงทุนต่างกันยังไง คุณไม่สามารถที่จะเลือกคนที่คุณรู้สึกว่ารักเขาจริงๆ”

mappa ชวนสนทนากับอาจารย์ษัษฐรัมย์กับเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่ไม่ต้องเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจหรือระบบสังคม เพราะเราก็ต่างเคยประสบสิ่งนี้ ชีวิตที่ขาดสวัสดิการพื้นฐาน ฝนตกน้ำท่วม รถติดไปทำงานสาย บีทีเอสเสีย ไม่สามารถคบกับคนนี้ได้เพราะชีวิตจะลำบาก ต้องตามหา passion ที่ทำให้ชีวิตรวย หรือพ่อแม่ต้องเป็นทุกข์ว่าจะเลี้ยงลูกยังไงให้เขาชีวิตประสบความสำเร็จไม่ต้องเป็นเหมือนเรา

เพราะการมีรัฐสวัสดิการ หรือสวัสดิการขั้นพื้นฐาน จะทำให้ชีวิตเราแต่ละคนไม่ว่าใคร เริ่มต้นเท่ากัน
 
คำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยมากในหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเป็นเรื่องที่บางคนรู้สึกไกลตัว เข้าใจยาก ในฐานะคนที่ศึกษาเรื่องนี้ อาจารย์พอจะให้คำอธิบายที่ทำให้เราคนทั่วไปเห็นภาพชัดๆ ได้ไหมว่า รัฐสวัสดิการเกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร ทำไมเราต้องสนใจเรื่องนี้

เวลาพูดถึงรัฐสวัสดิการ เรามักจะพูดถึงมันในมุมภาพใหญ่ เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างหรือนโยบาย หรือการเปลี่ยนแปลงระบบภาษี แต่จริงๆ รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประชาชนทุกคน และผมคิดว่าเราต่างมีความเจ็บปวดในเรื่องนี้นะ ไม่ว่าจะตอนใช้ขนส่งสาธารณะ หรือเราอาจมีเพื่อนที่ไม่ได้เรียนหนังสือต่อเพราะไม่มีเงิน หรือต้องไปกู้กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา)

ผมขอใช้คำว่า ‘คนไทยทุกคน’ ละกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะชนชั้นไหน น่าจะรู้สึกถึงความผิดปกติในประเทศนี้นะ ความผิดปกติที่เราไม่มีระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ดีพอ มันก็ส่งผลให้ชีวิต ความสัมพันธ์เราแย่นะ

การที่ประเทศมีรัฐสวัสดิการ ภาพสังคมจะแตกต่างออกไปอย่างไร การมีรัฐสวัสดิการช่วยให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง


การที่เราบอกว่าอยากให้เด็กมีคุณภาพ เติบโตไปเป็นมนุษย์ที่ดี สามารถทำงานหรืออยู่ในสายงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ได้เกิดขึ้นจากอัจฉริยะของเด็กคนนั้นอย่างเดียว แต่มันเกิดจากการสนับสนุนของรัฐ

ผมว่าเรื่องนี้ไม่ได้ซับซ้อน มันก็แค่การที่รัฐมีเงินเลี้ยงดูเด็ก เป็นเงินแบบ ‘สิทธิถ้วนหน้า’ ทำให้เด็กเกิดมา แล้วพ่อแม่ไม่ต้องกังวลว่า ฉันต้องทำโอทีมากขึ้นเพื่อมาเป็นค่านมลูก หรือไม่ต้องกังวลว่าในอนาคต ต้องไปกู้เงินเพื่อเป็นค่าเทอมลูก

พูดโดยสรุป คือ รัฐสวัสดิการทำให้ชีวิตเด็กถูกออกแบบไม่ให้ต้องอยู่ในสภาวะที่ติดลบ เงินที่รัฐอุดหนุนไม่ได้เป็นเงินที่มากมาย ไม่สามารถทำให้คุณนอนอยู่บ้านหรือว่ามั่งคั่งได้ แต่ว่ามันเพียงพอที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งจินตนาการถึงความเสมอภาค เพราะเมื่อท้องเขาอิ่ม เขาก็สามารถเข้าถึงสนามเด็กเล่นได้ เมื่อเขามีเวลาว่างที่จะอยู่กับพ่อแม่ และพ่อแม่ก็มีเวลาว่างให้ลูก นี่แหละครับ ผมคิดว่ารัฐสวัสดิการ คือ การสร้างตัวตนของเด็กในสังคมที่เท่าเทียม
 
ในงานที่อาจารย์ทำหรือการเห็นสภาพสังคมตอนนี้ ทำให้ความคิดเรื่องมีลูกสำหรับอาจารย์เป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ ผมอยากมีลูกนะ ส่วนตัวเป็นคนชอบเด็กอยู่แล้ว

แต่มีหลายคนไม่กล้ามีลูกหรือไม่มีความคิดเรื่องนี้เลย รัฐสวัสดิการเกี่ยวข้องด้วยไหม

ผมคิดว่าอาจจะ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาด เพราะประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดี เช่น สวีเดน เดนมาร์ก หรือฟินแลนด์ แนวโน้มคนมีลูกน้อยลงเหมือนกัน

เหตุผลที่คนตัดสินใจว่าจะมีหรือไม่มีลูกเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ความรัก หรือความพร้อม สำหรับประเทศไทย ผมมองปัจจัยในการตัดสินใจจะมีหรือไม่มีลูกของคนรุ่นใหม่ เรื่องเศรษฐกิจเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายต่อการมีลูกหนึ่งคนมันสูงมาก บวกกับการใช้ชีวิตที่มีแรงกดดันจากครอบครัว หรือการแข่งขันต่างๆ เรื่องพวกนี้ทำให้ครอบครัวของคนรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกช้าลง หรืออาจจะไม่มีเลย

การมีรัฐสวัสดิการจะช่วยให้การเติบโตของเด็กคนหนึ่งเป็นอย่างไร


ถ้าเราอยากให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ เรื่องพื้นฐานที่สุด คือ ทำให้พ่อแม่มีเวลา เงินที่ใช้เลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เอาเฉพาะในไทยนะครับ ถ้าประเมินแบบถูกที่สุด เลี้ยงลูก 18 ปี ใช้เงินประมาณ 1,200,000 บาท ถ้าเรามีสวัสดิการพื้นฐานที่จะช่วยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเลี้ยงดูเด็ก หรือเงินที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่างๆ มันก็จะทำให้พ่อแม่มีความเครียด ความกังวลน้อยลง แล้วก็สามารถใช้เวลากับลูกได้อย่างเต็มที่


ผมเคยทำวิจัยที่นอร์เวย์ ได้คุยกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ผมตั้งคำถามว่าโรงเรียนในนอร์เวย์ดูคล้ายกันหมดเลย ไม่มีห้อง EP (English Program) ห้อง Gifted หรือมีโรงเรียนสำหรับเด็กอัจฉริยะหรอ ไม่งั้นคุณจะไม่สามารถพัฒนาอัจฉริยะภาพของเด็กได้อย่างเต็มที่สิ

อาจารย์ชาวนอร์เวย์ท่านนั้นก็ขำผมนิดนึงแล้วบอกว่า จริงๆ พ่อแม่ทุกคนก็คิดว่าลูกตัวเองเป็นเด็กอัจฉริยะทั้งนั้นแหละ แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราอยากให้เด็กคนนึงพัฒนาตามความสามารถได้เต็มที่ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียน แต่ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลนอร์เวย์พยายามออกแบบ คือ ทำยังไงให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกให้ได้มากที่สุด หนึ่ง – เงินเลี้ยงดูลูกต้องเพียงพอ สอง – วันลาสำหรับไปเลี้ยงลูก มี 480 วันยืนพื้น แล้วสามารถสะสมใช้ได้จนลูกอายุ 9 ขวบ

การที่พ่อแม่มีเวลา สิ่งเหล่านี้สำคัญมากที่จะทำให้เด็กสามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพ ค้นหาความหมายในชีวิตของเขาได้อย่างเต็มที่ แล้วเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ จะเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่เขาเลย ทุกคนสามารถหาความหมายของชีวิตในมุมเขาเองได้
 
เวลาที่พ่อแม่มีเพิ่มขึ้นมันส่งผลอะไรบ้าง


การมีลูกไม่ได้หมายความว่าคุณต้องกลายเป็นมนุษย์แม่ – มนุษย์พ่อ 100% คุณต้องมีเวลาที่จะเติมเต็มความเป็นมนุษย์ของตัวคุณเอง คุณยังต้องการเวลาพบเพื่อน ต้องการเวลาที่จะไปคอนเสิร์ต ต้องการเวลาของตัวเองที่จะไม่มีลูกได้

เป็นเหตุผลที่รัฐบาลในบางประเทศ นอกจากจะออกแบบเรื่อง parental leave หรือว่าวันลาของพ่อแม่ที่จะได้อยู่กับลูก ยังออกแบบ Daycare ที่สามารถเอาลูกไปฝากได้ฟรีนะครับ ทำให้พ่อแม่กลับไปใช้ชีวิตของตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องผูกตัวเองกับการเป็นมนุษย์พ่อ – มนุษย์แม่ แบบที่เราคุ้นเคยกัน

ในสังคมแบบนั้น passion ยังจำเป็นอยู่ไหม เพราะทุกวันนี้เราถูกบอกว่าต้องมี passion เพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ

ผมสอนวิชาเศรษฐกิจการเมืองประเทศรัฐสวัสดิการ ก็คือสอนเรื่องรัฐสวัสดิการทั้งเทอมเลย มีคำถามที่ผมใช้ตอนเปิดคลาส ชวนนักศึกษาคุยกันว่าถ้าตอนนี้คุณอยู่บนก้อนเมฆ กำลังจะกระโดดลงมาเกิด มี 2 ประเทศให้เลือก ประเทศหนึ่งมีความเหลื่อมล้ำมากมายเลย แต่ถ้าคุณโชคดี คุณจะได้เกิดในมดลูกของพวก 1% เป็นตระกูลชนชั้นนำ ชีวิตของคุณก็จะสบายเป็นเทพเลย แต่ถ้าไม่ได้เกิดในตระกูลแบบนี้ คุณก็ใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาสามัญที่ทางเลือกในชีวิตไม่ได้มีเยอะ ต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องค้นหาความหมายของชีวิต

ส่วนอีกประเทศ เป็นประเทศที่ออกแบบให้คุณไม่รู้จักกับความจน มีรัฐสวัสดิการ แต่คุณอาจจะไม่ได้รวยล้นฟ้า ใช้ชีวิตอย่างเทพ หรือมีอำนาจเหนือคนอื่น แล้วพอมีรายได้ถึงจุดนึงก็จะถูกเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า (ภาษีที่ปรับตามรายได้ที่เราได้รับ)

ผมถามว่าเด็กอยากเกิดที่ประเทศไหน แน่นอนว่าเด็กส่วนมากบอกว่า ถ้าไม่รู้ว่ามีโอกาสแค่ไหนที่จะได้เกิดในตระกูล 1% ก็คงอยากเกิดในประเทศที่สองที่เท่าเทียมมากกว่า ผมถามต่อว่าแล้วชีวิตจะไม่น่าเบื่อเหรอ คุณไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองเลยนะ ไม่ต้องทำงานหนักๆ ทำงานใช้หนี้ กยศ. คำตอบจากเด็กน่าสนใจมากเลยนะ เขาบอกว่าถ้าใครอยากพิสูจน์ตัวเองก็ให้กระโดดอีกประเทศหนึ่งเลย (หัวเราะ) แต่เขาอยากกระโดดเกิดในประเทศนี้ ประเทศที่เขาไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองมาก เขาก็อยากตามหา passion ของเขาเอง ไม่ได้เป็น passion ที่ถูกกำหนดโดยชาติกำเนิด หรือผ่านความยากจนของเขา

เมื่อ passion ถูกให้นิยามแบบนี้ ทำให้เวลาลูกบอกว่าอยากเปลี่ยนคณะเรียน หรือไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบทำแล้ว กลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบางครอบครัว

ผมว่ามันเป็นโมเมนต์ที่เกิดขึ้นปกติในชีวิตคน เราไม่ได้เป็นไลฟ์โค้ชกันตลอดเวลา ไม่ต้องมี passion สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน เราสามารถเบื่อได้ เหนื่อยได้ รู้สึกหมด passion เป็นเรื่องปกติทั้งหมด ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ มันเป็นการยืนยันความเป็นมนุษย์ของเรา เราอาจจะแค่จะหมด passion เรื่องนี้ แล้วเราไปหาอย่างอื่นทำแทน ไปเจอสิ่งใหม่ๆ

แต่เรื่องน่าเศร้า คือ ในสังคมไทยการหา passion ใหม่ๆ มันถูกสงวนไว้กับคนที่มีอภิสิทธิ์มีต้นทุน คนธรรมดา ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้กลับไม่มีสิทธิเลือก passion ได้บ่อย พ่อแม่เลยเครียดมากว่าถ้าลูกจะเปลี่ยนสายเรียน เปลี่ยนความสนใจ หรือวันหนึ่งลูกเดินมาบอกว่า หมด passion ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปกติ แต่กลายเป็นความกลัวของพ่อแม่ทั้งหมด พ่อแม่จะกังวลว่าแล้วลูกจะมีความสุขไหม ลูกจะสามารถทำงานแล้วมั่งคั่งไหม เพราะสังคมนี้ไม่มีอะไรโอบอุ้มเราเลยนอกจากตัวเราเอง

ส่วนหนึ่งที่คำว่า passion ในสังคมตอนนี้ มักผูกกับการทำอาชีพ ความมั่นคงทางรายได้ เป็นผลพวงจากการที่สังคมเราไม่มีรัฐสวัสดิการไหม ทำให้ความหมายของคำว่า passion เปลี่ยนไป

ใช่ครับ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องนี้ด้วย แม้กระทั่งการเลือกคู่ครองหรือมีแฟน ก็ถูกกรองด้วยคุณสมบัติบางอย่างที่จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัย


เคยมีนักศึกษาทำวิจัยเรื่องนี้ เขาสรุปประมาณว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำทำให้เราไม่สามารถที่จะรักกันเป็น เราแยกไม่ออกเลยว่าความรักกับการลงทุนต่างกันยังไง คุณไม่สามารถที่จะเลือกคนที่คุณรู้สึกว่ารักเขาจริงๆ

ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ คุณสามารถเลือกที่จะมีแฟน แต่งงาน หรือวันที่ไม่ได้รักกันแล้วก็สามารถแยกทาง เริ่มต้นชีวิตกับคนใหม่ หรืออยู่คนเดียวไปได้ ไม่มีใครตายจากการตัดสินใจของคุณ หรือถึงจะมีลูกด้วยกัน คุณก็จะยังได้รับสวัสดิการเลี้ยงดูลูกที่เพียงพอ แล้วลูกก็สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่กัน ‘พ่อแม่ลูก’ แล้วก็ตาม

แต่บางคนรู้สึกว่าความรักมาคู่กับเรื่องเงินไม่ผิด อีกนัยหนึ่งอาจจะเป็นตัวที่ช่วยทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

จริงๆ ผมก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรักหรอกนะ (หัวเราะ) ความรักมีหลายมิติ หลายเลเยอร์ มีความรักแบบ Agape (ความรักที่มาจากพระเจ้า ปรากฎในศาสนาคริสต์) ความรักที่ไร้เหตุผล ความรักที่เกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ หรือความรักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ มันก็เป็นความรักอีกรูปแบบหนึ่ง

แต่ปัญหาคือในสังคมที่เหลื่อมล้ำ มันลดทอนมิติความรักอื่นๆ หมดเลย เหลือเพียงแค่ความรักที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ และความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องผิดปกติ คุณสามารถมีเรื่องผลประโยชน์ได้นะ แต่มันไม่ควรจะเป็นตัวกำหนดทุกอย่างในชีวิต


ถ้าเราออกแบบสังคมที่สามารถเก็บความรักไว้ได้ทุกแบบ ถ้าเราอยากจะรักแบบนี้ เราก็ควรมีสิทธิ์ทำได้ ไม่ใช่ว่าคุณเลือกที่จะรักคนนี้เพราะ ‘เรารักกัน’ แล้วคุณกลายเป็นคนโง่ คนไม่มีเหตุผล ถ้าเราอยู่ในสังคมที่มันโอบอุ้มเรามากกว่านี้ การที่เรารักเขาแล้ววันหนึ่งมันเป็นชีวิตที่ไม่ประสบความสำเร็จ เราสามารถเลิกรักเขาได้ แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยไม่ถูกตีตราหรือไม่ได้เสียโอกาสอะไรไป ผมคิดว่าสังคมเราควรจะเป็นแบบนี้


นอกจากเรื่องความรัก สภาพสังคมตอนนี้ทำให้พ่อแม่บางส่วนคิดว่า เป็นหน้าที่ตัวเองที่ต้องทำให้ชีวิตลูกมั่นคง ประสบความสำเร็จ


ในสังคมไทยหรือสังคมที่เหลื่อมล้ำ เราจะมีความเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องทำให้ลูกสามารถเติบโตมีชีวิตมั่งคั่ง ได้ทำงานที่ชอบ มีความสุข ทุกอย่างมันกดดันว่าเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ แต่ในสังคมที่มีความเสมอภาค นี่จะไม่ใช่หน้าที่ของพ่อแม่นะ หน้าที่ของพ่อแม่ คือ การให้ความรัก เทคแคร์ลูกในช่วงเวลาหนึ่ง

เพราะจะมี Daycare คนที่คอยดูแลลูกให้เราด้านหนึ่ง มีโรงเรียนที่มีคุณภาพ สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ห้องสมุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยแบ่งเบาความรับผิดชอบของพ่อแม่ ในอีกด้านหนึ่ง เขาจะช่วยกันให้ลูกของเราสามารถเติบโตไปหา passion ของตัวเองได้ มันจะไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่ที่ลูกไม่เจอ passion ถ้าลูกอยู่ในสังคมที่เสมอภาคและซัพพอร์ตมากเพียงพอ เขาจะเจอ passion ด้วยตัวเอง

ตอนที่อาจารย์เด็กๆ พ่อแม่มีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้บ้าง

ผมเกิดปี 1985 ยุค 80 ถ้าให้วิเคราะห์สภาพสังคมตอนนั้น มันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขาขึ้น ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมา ชนชั้นกลางเติบโตทั้งในระบบราชการและนอกระบบราชการ ผมคิดว่าพ่อแม่ผมก็น่าจะคล้ายๆ กับพ่อแม่ทั่วไปในยุคนั้น คือ คิดว่าอยากให้ลูกทำงานที่ชอบ รายได้ดี มั่นคง สามารถที่จะดูแลพ่อแม่ได้

คุณแม่ของผมเป็นแม่ full-time ผมไม่อยากใช้คำว่าเสียสละนะ ถึงพ่อผมจะเป็นผู้ชายที่ดีมาก แต่แม่ผมก็ถูกกดขี่จากระบบที่ไม่เป็นธรรม แม่ต้องทิ้งความฝัน สิ่งต่างๆ ไว้ ผมได้ยินเรื่องราวการต่อสู้ของคนที่ถูกกดขี่จากคุณแม่นะ เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในความเชื่อของผม

ทุกวันนี้ผมกลับไปคุยกับแม่ ผมก็ยังคุยกับแม่เหมือนตอนเด็กๆ “แม่ว่าคนที่ไม่อยากให้ล้างหนี้กยศ. ไม่อยากให้เรียนฟรี เขาคิดอะไรอยู่” แม่ก็บอกว่า “ง่ายๆ เขาไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน ถ้าเขาเชื่อว่าคนเท่ากัน เขาจะไม่คิดแบบนี้” ผมยังมีบทสนทนากับแม่แบบนี้เหมือนกับตอนเด็ก
 
‘สภาพแวดล้อมไม่ส่งผลเท่าความพยายามของคนคนนั้น’ อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับความคิดนี้

ผมว่าพูดแบบนี้ก็ถูกนะ ข้อโต้แย้งที่ว่าไม่เกี่ยวกับประเทศ ไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง เกี่ยวกับตัวเราเอง เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางทีเป็นฝาแฝดเติบโตมาในสังคมเดียวกัน ได้รับการเลี้ยงดูแบบเดียวกัน ยังมีความแตกต่างกันเลย

แต่ถ้าบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการเลย ผมว่าไม่ใช่นะ เพราะอย่างน้อยรัฐสวัสดิการทำให้เราเริ่มต้นเท่ากัน แล้วสามารถไปจุดหนึ่งได้โดยไม่มีอุปสรรค แต่ถ้าคุณอยากไปไกลกว่านั้น เช่น อยากเป็นนักฟุตบอลระดับโลก รัฐสวัสดิการซัพพอร์ตคุณได้ถึงจุดหนึ่ง แต่อีกจุดมันคือความพยายามของคุณที่จะไปต่อให้ถึงจุดหมายนั้น

เช่น ถ้าคุณอยากเป็นยูทูบเบอร์เดินทางไปทั่วโลก รัฐสวัสดิการซัพพอร์ตคุณได้จุดหนึ่ง สอนคุณทำคลิป ทำให้คุณมีเวลาว่างได้เริ่มฝึกสัมภาษณ์คน แต่พอถึงจุดหนึ่งถ้าคุณอยากไประดับโลก นั่นก็เป็น passion ส่วนตัวของคุณขึ้นเอง
 
แล้ว passion ของอาจารย์ในตอนนี้คืออะไร?

ผมต้องการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการให้มันไปสุดทางครับ นโยบายเรียนฟรีจริงๆ มีเงินเดือนแบบประเทศรัฐสวัสดิการอื่นๆ ให้เด็กเรียนฟรีมีเงินเดือนจนถึงปริญญาเอก แก้สิ่งที่เป็นชนักติดหลังของคนที่เกิดในยุคที่ไม่เรียนฟรีก็คือหนี้กยศ. ผมต้องการล้างให้หมด ทำให้คนสามารถวิ่งตามความฝันได้

ผมอยากอยู่ในสังคมที่มันเสมอภาคมากกว่านี้ สังคมที่ถึงวันนึงผมแก่ ผมป่วย หรือผมว่างงาน สังคมสามารถโอบอุ้มผมต่อไปได้