วันศุกร์, กันยายน 02, 2565

“อาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่จีนกระทำ...มันถือว่าร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เกิดขึ้นในโลก” ผู้ถูกคุมขังเผชิญกับ "การล่วงละเมิดทางเพศ" "การทารุณกรรมอย่างเป็นระบบ" และ "บังคับคุมกำเนิด" ขณะที่บีบีซีเคยตรวจสอบพบว่า เกิดการ "ข่มขืนหมู่" ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยในซินเจียงด้วย


สหประชาชาติเผย จีนอาจก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในซินเจียง

สถานกักกันที่มีอยู่หลายแห่งในซินเจียงอุยกูร์

1 กันยายน 2022
BBC Thai

องค์การสหประชาชาติกล่าวหาจีนว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” ในรายงานการตรวจสอบกรณีการทารุณกรรมชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

รัฐบาลจีนเรียกร้องสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาโดยตลอดไม่ให้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ โดยมองว่าเป็น “การจัดฉาก” ของมหาอำนาจตะวันตก

รายงานฉบับนี้ซึ่งอนุมัติให้ตรวจสอบโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ประเมินข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ แม้ว่าจีนจะปฏิเสธ

แต่ผู้ตรวจสอบระบุว่า ได้ค้นพบ “หลักฐานที่น่าเชื่อถือ” ว่ามีการทรมาน และอาจเข้าข่าย “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

ผู้ตรวจสอบชี้ว่า จีนใช้การตีความในกฎหมายความมั่นคงเพื่อจำกัดสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ และจัดตั้ง “ระบบการกักขังโดยมิชอบ” นอกจากนี้ยังระบุว่า “ผู้ถูกกักขัง” ต้องเผชิญกับ “การทารุณกรรมอย่างเป็นระบบ” ซึ่งรวมถึง “ความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ”


หลักฐานอื่น ๆ ยังบ่งชี้ว่า ผู้ถูกกักขังในค่ายกักกันลักษณะนี้ ถูกบังคับให้เข้ารับการรักษาทางการแพทย์โดยเจ้าตัวไม่ยินยอม รวมถึง “การบังคับใช้นโยบายการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิดอย่างเลือกปฏิบัติ”
อุยกูร์ : แฟ้มลับตำรวจซินเจียงเผยตัวตนและเรื่องราวชาวอุยกูร์ที่ถูกคุมขังในซินเจียง
อุยกูร์ : ฝ้าย “ที่แปดเปื้อน” ของซินเจียง หลักฐานใหม่ชี้มีการบังคับใช้แรงงานในใจกลางอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก
นักข่าวหญิงที่ริเริ่มการเคลื่อนไหว #MeToo ในจีน ถูกปิดปากเงียบ


แม้สหประชาชาติไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีคนถูกกักกันโดยรัฐบาลจีนเท่าไหร่ แต่กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่าอาจมีมากกว่า 1 ล้านคนตามค่ายกักกันในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

รัฐบาลจีนได้รับทราบถึงรายงานฉบับนี้ล่วงหน้าแล้ว แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาการทารุณกรรม และโต้แย้งว่าค่ายกักกันเหล่านี้เป็นอุปกรณ์เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย

ทำไมรายงานถึงล่าช้า ?

รายงานที่หลายฝ่ายรอคอยมานานฉบับนี้เผยแพร่ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของ มิเชล บาเชเล หลังดำรงตำแหน่งมานาน 4 ปี ซึ่งตลอดวาระการทำงานของเธอ กรณีการทารุณกรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยในซินเจียง ถือเป็นหัวข้อสำคัญที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถูกเพ่งเล็งให้เร่งตรวจสอบ


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเปิดเผยเมื่อกว่า 1 ปีที่แล้ว ว่า อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่การเผยแพร่หลายงานถูกเลื่อนและต้องล่าช้ามาหลายครั้ง ทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งกล่าวหาว่า รัฐบาลจีนพยายามโน้มน้าวให้นางบาเชเลไม่เปิดเผยรายงานฉบับนี้ ที่จะทำลายภาพลักษณ์ของจีน


รายงานฉบับนี้เผยแพร่ในวันสุดท้ายของการทำหน้าที่ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของ มิเชล บาเชเล

และเป็นความจริงว่า แม้จะเข้าสู่ชั่วโมงสุดท้ายในตำแหน่งของนางบาเชเล จีนก็พยายามกดดันเธอไม่ให้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ นางบาเชเลยอมรับในการแถลงข่าววันนี้ (1 ก.ย.) ว่า ”เผชิญแรงกดดันมหาศาลว่าจะเผยแพร่หรือไม่เผยแพร่รายงานฉบับนี้”

นางบาเชเลยังให้เหตุผลต่อความล่าช้าว่า ต้องพยายามขอความเห็นและหารือกับรัฐบาลจีนก่อน พร้อมยืนกรานว่า ไม่ได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ต่อเนื้อหาของรายงานฉบับนี้

ด้าน โซฟี ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศจีน ระบุว่า ผลการตรวจสอบในรายงานแสดงให้เห็นว่า “ทำไมรัฐบาลจีนถึงพยายามสู้เต็มที่เพื่อยับยั้งไม่ให้มีการเผยแพร่รายงานออกมา”

“คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติควรใช้รายงานนี้ เพื่อเริ่มกระบวนการตรวจสอบเชิงลึกต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่รัฐบาลจีนกระทำต่อชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ...และลงโทษจีนอย่างสาสม”

ด้าน อักเนส คัลลามาร์ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประณาม “ความล่าช้าอย่างไม่มีเหตุผล” ต่อการเผยแพร่ผลการตรวจสอบในรายงานฉบับนี้

“รัฐบาลจีนต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมถึงต้องพิสูจน์ตัวผู้ก่อเหตุ และดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยแต่ละคนต่อกรณีนี้”

แฟ้มตำรวจซินเจียง


ปัจจุบัน มีชาวอุยกูร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ อย่างไรก็ดีสหประชาชาติระบุว่า ประชาชนที่ไม่ได้เป็นชาวมุสลิม อาจได้รับผลกระทบต่อการทารุณกรรมและละเมิดสิทธิที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ด้วย


ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บีบีซีได้รับข้อมูลในเอกสารรายงานฉบับนี้ที่รั่วไหลออกมา ซึ่งเปิดเผยถึงการข่มขืนหมู่อย่างเป็นระบบ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ และทรมานชาวมุสลิมอุยกูร์ ในค่ายกักกันหลายแห่ง



ข้อมูลชุดนี้เรียกว่า "แฟ้มตำรวจซินเจียง" (Xinjiang Police Files) โดยเปิดเผยสิ่งต่าง ๆ ในเชิงลึกมากกว่าที่เคยมีมา "ค่ายปรับทัศนคติ" และเรือนจำของจีนถูกใช้แยกกันแต่ก็เป็นระบบที่เชื่อมโยงกันในการกักขังชาวอุยกูร์ ซึ่งนำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยอย่างยิ่งต่อสิ่งที่รัฐบาลจีนเปิดเผยต่อสาธารณะ

รัฐบาลอ้างว่า "ค่ายอบรมให้การศึกษาใหม่" (re-education camps) ที่สร้างขึ้นทั่วซินเจียง ตั้งแต่ปี 2017 ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า "โรงเรียน" แต่นี่เป็นเรื่องตรงกันข้ามจากที่เห็นในคำสั่งตำรวจ เวรรักษาความปลอดภัย และรูปถ่ายของผู้ถูกคุมขังที่ไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อน

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อหาก่อการร้ายอย่างแพร่หลายทำให้คนหลายพันคนถูกส่งเข้าเรือนจำ แฟ้มข้อมูลนี้เผยให้เห็นว่ามันถูกใช้เป็นวิธีการคู่ขนานไปกับค่ายกักกันผู้คน โดยตำรวจตั้งข้อหารุนแรงและใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ข้อมูลเหล่านี้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นที่สุดเท่าที่เคยมีมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายที่มุ่งเป้าไปที่การแสดงออกถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์ หรือการนับถือศาสนาอิสลาม และมีการบัญชาการไล่ลงมาเป็นทอด ๆ จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน



จีนว่าอย่างไร ?

แน่นอนว่ารัฐบาลจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ถึงการเผยแพร่ “แฟ้มตำรวจซินเจียง” ว่า “เป็นตัวอย่างล่าสุดของกระแสต่อต้านจีน เพื่อพยายามสร้างมลทินให้จีน”


กระแสต้านจีน ถูกปลุกโดยชาติตะวันตกจริงหรือ ?

เขายังระบุว่า ประชาชนในซินเจียงมีชีวิตสุขสบายดี มีชีวิตที่มั่นคงและมั่งคั่ง ส่วนการปราบปรามใด ๆ ในซินเจียงนั้น ทำไปเพื่อยับยั้งการก่อการร้าย และกำราบแนวคิดหัวรุนแรงของชาวมุสลิม โดยค่ายกักกันเหล่านี้ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้ผล เพื่อปรับทัศนคตินักโทษ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังยืนกรานว่า กลุ่มติดอาวุธชาวอุยกูร์ กำลังก่อเหตุรุนแรง เพื่อหวังจัดตั้งรัฐเอกราช ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนก่อเหตุวางระเบิด ทำลายทรัพย์สิน และก่อความไม่สงบ ในขณะที่จีนเองก็เผชิญข้อกล่าวหาว่า ใช้ภัยคุกคามเหล่านี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการปราบปรามชาวอุยกูร์

จีนยังปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า พยายามลดประชากรชาวอุยกูร์ด้วยการทำหมันหมู่ พร้อมระบุว่า ข้อกล่าวหาการใช้แรงงานทาส เป็น “เรื่องที่ถูกกุขึ้น”