วันเสาร์, กันยายน 17, 2565

ฟื้นวิกฤตศรัทธา ถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม


kovitw
@kovitw1
·14h
อูวส์ !
.....
รอยร้าวในกระบวนการยุติธรรมไทย

ถามคุณปารีณา มองกระบวนการยุติธรรมไทยในวันนี้ เห็น ‘ความไม่ยุติธรรม’ หรือการปฏิบัติที่ไม่ตรงตามกฎหมายและหลักวิชาอะไรบ้าง และควรจัดการอย่างไร

ปารีณา : จากปฏิกิริยาของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หลายท่านคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือเรื่องศรัทธาของสังคมที่มีต่อกฎหมายและหน่วยงานที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งก็สะท้อนออกมาผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายพื้นที่ เช่น ในทวิตเตอร์ มีทั้งที่วิจารณ์ด้วยเหตุผลและมีที่ใช้คำด่าทอ แต่เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นและความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมที่มีต่อความยุติธรรมว่าการใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมนั้นยุติธรรมจริงหรือไม่ มีหลายกรณีที่สังคมมีความสงสัย ไม่ชัดเจน และสังคมก็ยังไม่ได้ยินคำตอบ ไม่มีคำอธิบายพร้อมหลักฐานที่กระจ่างแจ้ง

เช่น การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีบอส อยู่วิทยา สังคมอาจจะมีคำถามที่ใหญ่กว่าว่าจะได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีต่อหรือไม่ เช่น คำถามว่ามีการแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมจริงหรือเปล่า มีความพยายามในการช่วยเหลือให้มีการหลบหนีไปต่างประเทศไหม มีการดำเนินการเป็นขบวนการเพื่อจัดฉากบีบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงคำให้การหรือพยานหลักฐานในสำนวนจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ประชาชนยังไม่มีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริง

สังคมอาจจะอยากรู้ว่า ถ้าไม่มีการแทรกแซงจริงก็ต้องบอกมาว่าอะไรที่เป็นหลักฐานว่าไม่มีการแทรกแซง แต่ถ้ามีการแทรกแซง สังคมก็อาจจะอยากรู้ต่อไปว่า แล้วรัฐบาลดำเนินการอะไรต่อจากนั้น การที่อยู่ดีๆ ก็เงียบไปทุกอย่าง สะท้อนถึงความไม่โปร่งใส แล้วยิ่งไม่โปร่งใสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นเท่านั้น

อีกเรื่องคือการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันในกรณีที่คล้ายคลึงกัน โดยหลักแล้ว ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันต้องตัดสินเหมือนกัน แต่ปัจจุบันยังมีเรื่องที่สังคมสังเกตเห็น เช่น การจับกุมแล้วนำไปไว้เรือนจำคนละที่ ทำไมบางคดีเอาไปไว้ที่เรือนจำพิเศษได้ แต่บางคดีเอาไปไว้ที่เรือนจำพิเศษไม่ได้ ทำไมบางคดีผู้ต้องหาได้พบทนาย แต่บางคดีไม่ได้พบ เหล่านี้คือคำถามที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงในความยุติธรรม สังคมต้องการคำตอบเหล่านั้น

คุณบอกว่าสองหลักสำคัญ คือ กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นอิสระ ต้องปราศจากการถูกแทรกแซง และกระบวนการยุติธรรมต้องมีมาตรฐานเดียว โดยในข้อเท็จจริงเดียวกัน ควรจะถูกตัดสินคล้ายๆ กัน ถ้าเราใช้หลักแบบนี้มาดูคดีการเมือง คุณมองเห็นอะไรในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและการดำเนินคดีจากมาตรา 112 บ้าง

ปารีณา : คดี 112 เป็นคดีที่อ่อนไหวมาก เพราะในมุมหนึ่ง คดี 112 อยู่ในคดีความมั่นคง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นคดีความมั่นคงแล้ว หนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาปล่อยหรือไม่ปล่อยตัวชั่วคราวคือการพิจารณาความหนักเบาของข้อหา ถึงแม้ว่าผู้ต้องหาจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม แต่กฎหมายให้อำนาจรัฐในการควบคุมผู้ต้องหาไว้ในกระบวนการยุติธรรมได้ เขาจึงจับคุมขังและไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว และเมื่อมีเกณฑ์การพิจารณาเรื่องความหนักเบาของข้อกล่าวหา เมื่อคดีความมั่นคงมีอัตราโทษจำคุกค่อนข้างสูง จึงกลายเป็นคดีที่มีข้อหาหนัก

เราจะสร้างสมดุลอย่างไรระหว่างความมั่นคงของรัฐกับเสรีภาพของบุคคล นักกฎหมายมองหลักการสร้างสมดุลตรงนี้อย่างไร

ปารีณา : คดีนี้ยาก เพราะแตกต่างจากอาชญากรรมร้ายแรงทั่วๆ ไป คือไม่ได้กระทบถึงชีวิตและอันตรายของบุคคล แต่เป็นคดีที่มีการแสดงความคิดเห็น คนที่ออกมาพูด เราก็มองว่าเขาปรารถนาดีต่อประเทศในทิศทางที่เขาเชื่อ จึงไม่ควรถูกตัดโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต การที่เขาออกมาพูดบนถนนแสดงว่าเขาไม่มีเวทีที่ปลอดภัยในการพูด เพราะฉะนั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการสร้างสมดุล

อีกหนึ่งเกณฑ์ที่เราต้องเอามาใช้คือเงื่อนไขสามข้อ จะหลบหนีไหม ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือเปล่า และไปก่อเหตุร้ายประการอื่นไหม ซึ่งคำว่า ‘ก่อเหตุร้ายประการอื่น’ ศาลอาจใช้ดุลพินิจว่าเป็นคดีความมั่นคง จึงตีความคำว่าก่อเหตุร้ายเป็นการกระทำผิดหรือกระทำซ้ำ

เรื่องนี้เป็นโจทย์ยาก แต่ถ้าถามว่าเด็กเหล่านี้ควรได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นไหม ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณากันว่าจะเปิดพื้นที่หรือไม่ และยิ่งถ้ามาเทียบกับคดีบอส อยู่วิทยา เป็นคดีที่กระทำโดยประมาททำให้คนตาย เมื่อถูกจับก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเขามีเงินวางประกันจนกระทั่งหนีไปต่างประเทศได้ เมื่อเทียบกับคดีบางกลอยที่ชาวบ้านมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่อยู่ที่ทำกิน ซึ่งไม่ได้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่เมื่อถูกจับกลับไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเขาไม่มีเงินประกัน ถูกคุมขังหนึ่งวันก่อนมีการให้ประกันโดยใช้นายประกัน

ดังนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวมีหลากหลายมากเลย เราต้องการคำอธิบายจากหน่วยงานที่ใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้ให้กระจ่างอยู่เหมือนกัน

ศาลเคยระบุในประเด็นเรื่องการประกันตัวของคดี 112 ว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้ง 4 อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน” ในการวิเคราะห์ทางวิชาการ เราจะทำความเข้าใจอย่างไรได้บ้าง เห็นข้อถกเถียงอะไรที่น่าสนใจในกรณีนี้

ปารีณา : ต้องเรียนว่าศาลใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวโดยอาศัยฐานของกฎหมาย ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 108/1 ซึ่งให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ เพราะฉะนั้นถ้าในแง่ของผู้ใช้ดุลพินิจเองก็แปลว่าให้ใช้การพิจารณาและวินิจฉัยตามที่เห็นสมควร ในเมื่อศาลเห็นสมควรเช่นนี้ ก็เป็นไปตามนั้น

อันนั้นคือมุมมองจากศาล แต่ส่วนที่จะมองต่อไปก็คือ ถ้ากรณีอื่นๆ ในกรณีใกล้เคียงกันก็ยังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แล้วการกระทำของเขาถ้าใช้คำว่าก่อเหตุร้าย แต่ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นภัยต่อชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลอื่นแล้ว ก็ไม่เข้าเงื่อนไขนี้ แล้วการนำเอาเงื่อนไขของความหนักเบาเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา น่าจะเป็นเกณฑ์ท้ายๆ ทีหลังการพิจารณาจากพฤติกรรมการหลบหนี การไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือการก่อเหตุร้ายของผู้ต้องหา

บทบาทที่เป็นอยู่จริง กับ บทบาทที่ควรจะเป็น
ของสถาบันยุติธรรม

แต่ละท่านประเมินช่องว่างความคาดหวังระหว่าง ‘บทบาทที่เป็นอยู่จริง’ กับ ‘บทบาทที่ควรจะเป็น’ ของสถาบันต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร

ปารีณา : คำถามนี้สะท้อนจากปัญหาในปัจจุบัน เมื่อมีความไม่เชื่อมั่นศรัทธาต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม มีช่องว่างระหว่างบทบาทที่สังคมคาดหวังกับบทบาทที่เป็นอยู่จริง ระบบกฎหมายอเมริกาพัฒนามาจากการเอาสิทธิเป็นตัวตั้ง แต่ไทยพัฒนามาจากการใช้อำนาจรัฐเป็นตัวตั้ง ป.วิ.อาญาเห็นได้ชัดมาก เพราะเป็นการบอกว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่และอำนาจต้องทำอะไรบ้าง กลายมาเป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานในภาครัฐ นี่คือรูปแบบปกติของกฎหมายไทย เกือบทุกฉบับพูดถึงแต่หน้าที่และอำนาจของรัฐและราชการ เรื่องสิทธิมีแต่ในรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายที่ชูเรื่องสิทธิเป็นหลักในกฎหมายนั้นแทบจะไม่มีเลย

หลักที่ดีคือการสร้างสมดุล กฎหมายอาญาต้องมีเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยความมั่นคงปลอดภัยของสังคม และเพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสังคม แต่เหมือนว่าหน้าที่การสร้างความสงบเรียบร้อยจะมีน้ำหนักมากกว่า มากไปกว่านั้นรัฐตีความคำว่า ‘ความมั่นคงปลอดภัย’ ว่าไม่ใช่ความมั่นคงของสาธารณะหรือประชาชน แต่คือความมั่นคงของรัฐบาลหรือไม่ ถ้าตีความเรื่องนี้ผิดจะทำให้ทิศทางการใช้กฎหมายบิดเบี้ยวไปตามมุมมองผู้ใช้กฎหมายได้

เราอาจต้องปรับมุมมองว่า ไม่มองเฉพาะเรื่องการใช้กฎหมาย แต่ต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิด้วย เมื่อไหร่ที่จะคุ้มครองสิทธิก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่อธิบายได้ ไม่ใช่ให้สิทธิพิเศษแก่บางคน เพราะจะทำให้สังคมเกิดความไม่เข้าใจ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นนี้ที่มีประสบการณ์แตกต่างจากคนรุ่นอื่น ถ้าใช้มุมมองของกฎหมายที่อยู่ในคนรุ่นหนึ่งไปบอกคนอีกรุ่นหนึ่งที่มีประสบการณ์คนละอย่าง จะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนที่กำลังใช้กฎหมายกับคนที่ถูกบังคับใช้กฎหมายซึ่งคิดว่าเขาควรมีสิทธิมีเสียง นี่คือช่องว่างสำคัญที่เราต้องทำให้แคบลง

เราต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยภายใต้กติกาที่ทุกคนยอมรับได้ ไม่มีการเสียดสีด่าทอ เด็กรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคต เขาจึงมาเรียกร้องบนถนน เสียงของเขาเล็กมากและไม่มีใครฟัง จึงต้องรวมกันเพื่อให้เสียงดังขึ้น ถ้าจะลดช่องว่างต้องฟังกันจริงๆ ไม่ใช่แค่เปิดเวทีแล้วเลือกตัวแทนที่มีความคิดแบบที่คนฟังสบายใจมาพูด อย่ามองว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นเราจะรับฟังไม่ได้ทั้งหมด ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น คนรุ่นใหม่ก็ต้องฟังคนรุ่นอื่นๆ เช่นกัน เราต้องเปิดให้สังคมรับฟังกัน ด้วยการเคารพความเห็นซึ่งกัน

พอบอกว่ากฎหมายมาจากฉันทานุมัตินั้น เป็นฉันทานุมัติจากประชาชนจริงไหม หรือเป็นแค่ตามรูปแบบ กฎหมายนั้นถูกถกเถียงอย่างรอบด้านในรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ มี พ.ร.บ. อีกเยอะที่ถูกส่งมาจากกระทรวงที่เป็นเจ้าภาพกฎหมาย แต่ผู้ได้รับผลกระทบมีโอกาสเข้าไปส่งเสียงน้อยมาก รัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีคือให้ประเมินผลกระทบของกฎหมาย ถ้าเราขยายการประเมินผลกระทบอย่างจริงจังได้จะทำให้เสียงของคนที่ถูกกระทบจากกฎหมายเกิดขึ้น แต่ต้องอดทนเพราะจะใช้เวลานานกว่าที่เป็นมา

ระบบการคานอำนาจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายมีตามพอสมควรแล้ว แต่ต้องบังคับใช้จริงจัง ส่วนที่ขาดไปคือความโปร่งใสที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม วิพากษ์วิจารณ์หรือเข้าถึงผลการพิจารณาได้ กระบวนการยุติธรรมต้องเปิดเผยอย่างจริงจังและพิจารณาถึงผลกระทบที่มีอยู่

โจทย์ท้าทายการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย

อะไรคือโจทย์ท้าทายของการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยไทย คณะนิติศาสตร์ควรปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและไทยอย่างไร

ปารีณา: ความท้าทายที่สุดคือการกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษามีทัศนะต่อกฎหมายในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมให้มากขึ้น เราพูดถึงความรู้ การใช้กฎหมาย แต่ยังไม่ได้สอนให้เขามองผลกระทบของกฎหมายหรือคำตัดสิน มองว่าถ้าเขาตัดสินคดีออกไปแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราอยากกระตุ้นให้เกิดการดีเบตมากขึ้น ทั้งในแวดวงวิชาการและในทุกๆ วงการ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาดูว่า คำตัดสินนั้นจะมีความสอดคล้องหรือส่งผลกับสังคมอย่างไร และถ้าส่งผลกระทบกับสังคมแล้ว ต้องทำอย่างไรจึงจะดี อันนี้เป็นความท้าทายที่เราอยากทำให้เกิดขึ้น มากกว่าการพัฒนาความรู้ทักษะซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว

ข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ข้อเสนอรูปธรรมของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยของท่านคืออะไร อะไรคือจุดคานงัดที่สำคัญที่สุด และทำอย่างไรให้มีโอกาสสำเร็จ

ปารีณา: ประการแรก อยากให้การเข้าถึงความยุติธรรมในฝั่งของผู้เสียหายง่ายกว่านี้ ตอนนี้ผู้เสียหายต้องมีหน้าที่รู้เองว่าจะไปแจ้งความ ดำเนินคดีที่ไหน เราควรทำให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เข้าไปที่ไหนก็ได้ ให้เป็นหน้าที่ของฝั่งพนักงานสอบสวนในการดำเนินการ นี่เป็นเรื่องเล็กๆ แต่เป็น pain point ของประชาชนทุกคน

ประการที่สอง อยากเห็นอัยการเข้ามามีบทบาทในการสอบสวนดำเนินคดี เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การวางรูปคดีร่วมกับตำรวจ ประเทศไทยยังคิดเรื่องการทำงานเป็นทีมน้อยไป แต่ถ้าแบ่งบทบาทกัน อัยการต้องเป็นคนตัดสินใจฟ้องคดีหรือไม่ฟ้องคดี เพราะเห็นชัดมากกว่า และจะรู้ว่าต้องวางรูปคดีอย่างไร ตำรวจก็ทำหน้าที่ในการเสาะสืบหาพยานหลักฐาน ถ้าสองหน่วยงานนี้ทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ น่าจะทำให้การสืบสวนคดีรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีความโปร่งใส

ประการที่สาม การใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์น่าจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ แต่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นต้องสามารถหักล้างได้ด้วยพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน

ประการที่สี่ คือเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวและหลักประกัน ตอนนี้เรามีกำไล EM แต่ยังใช้กันไม่เยอะ ยังดีที่ศาลมีโครงการปล่อยตัวชั่วคราววันหยุด โดยที่ไม่ต้องมีประกัน แต่การประกันตอนนี้ยังต้องมีหลักประกันเงินสดหรือนายประกัน แปลว่าต้องมีเงิน ไม่ก็คอนเน็กชัน สังคมไทยเรายึดถือกันอยู่สองเรื่องนี้หรือ ถ้าคนที่เขาไม่มีทั้งเงินและหานายประกันก็ไม่ได้จะทำอย่างไร

ประการที่ห้า ถ้ามีความจำเป็นต้องให้เขาอยู่ในความควบคุมของรัฐ การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการถูกคุมขังต้องแตกต่างจากกรณีของนักโทษ เป็นหน้าที่ของคนออกกฎหมายหรือรัฐบาลที่ต้องแยกคนเหล่านี้ออกจากกัน ต้องสะท้อนให้เห็นว่าเขาต้องไม่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นนักโทษ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ กระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่มีการปฏิรูปกระบวนการในการร่างกฎหมาย ตอนนี้กระบวนการร่างกฎหมายมาจากภาครัฐ แต่ถ้าเราไม่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม การปฏิรูปก็ไม่เกิดขึ้น การร่างกฎหมายก็จะมาจากมุมมองของคนที่อยู่ในฐานะภาครัฐ ดังนั้น อยากจะเห็นบทบาทของผู้แทนราษฎรหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มข้นกว่านี้ อยากเห็นบทบาทในการดึงประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนมากขึ้น