วันศุกร์, กันยายน 16, 2565

กฤษฎางค์ นุตจรัส: ไม่มีคำว่า ‘ล้อเลียน’ ในมาตรา 112 และการเลียนแบบก็ไม่ใช่การอาฆาต



ขึ้นชื่อว่า ‘นักโทษ 112’ เมื่อไม่เจอกับตัว ก็อาจยากจะจินตนาการถึงชะตากรรมเมื่อใครคนหนึ่งถูกกล่าวหา ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อองค์พระมหากษัตริย์

ที่แน่ๆ ชีวิตของคนเหล่านั้น ล้วนเผชิญความลำบากสาหัส ลำพังภาระผูกพันจากการต่อสู้คดีก็ว่ายากแล้ว ทว่าในบางสังคม คนผู้นั้นอาจถูกมองเป็นแม่มดในหมู่นักบุญ เป็นบาปที่ต้องเบือนหน้าหนี หรืออาจถึงขั้นเป็นผู้เนรคุณแผ่นดินจนมิอาจมีฐานะเทียมเท่ามนุษย์ในสังคมนั้นๆ

‘นิว จตุพร’ ก็เช่นกัน เขาถูกไล่ออกจากงานตั้งแต่ตัดสินใจมาร่วมม็อบครั้งแรก และหลังถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุเพราะแต่งชุดไทยสีชมพูไปร่วมในกิจกรรม ‘รันเวย์ของประชาชน’ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 บริเวณหน้าวัดแขก บนถนนสีลม …การต่อสู้คดีความและภาระค่าใช้จ่ายที่ผูกพันสำหรับผู้ที่หาเช้ากินค่ำเช่นเขา นับว่ายากลำบากเอาการ

ในวันนั้น ภาพและวิดิโอของ ‘นิว’ ปรากฏตัวบนพรมแดง ในชุดไทยสีชมพูที่รายล้อมด้วยผู้คน ถูกนำมาเป็นข้อกล่าวหาว่า แต่งกายเลียนแบบพระราชินี เป็นการล้อเลียน จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์และราชินี ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

นิว และทีมทนายความต่อสู้สุดตัว เป็นเวลาเกือบ 1 ปี กระทั่งคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ปรากฏต่อสายตาสาธาณะ ใจความโดยย่อว่า

‘จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี อย่างไรก็ดีจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา’

“การแต่งกายเลียนแบบ ไม่ใช่การ ‘อาฆาตมาดร้าย’ แน่นอน ถามว่าเป็นการ ‘หมิ่นประมาท’ ไหม ก็ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ส่วนคำว่า ‘ดูหมิ่น’ นี่ไม่ต้องพูดเลย เพราะคำคำนี้ กฎหมายบอกว่าต้องดูหมิ่นกันซึ่งหน้า ดังนั้น ตีความยังไงก็ไม่เป็นการดูหมิ่นตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

“มันจึงเป็นข้อสงสัยว่า เราลงโทษนิวในฐานอะไร อาฆาตมาดร้ายไหม? ถ้าไม่ใช่ คุณจะเอามาลงมาตรา 112 นี้ไม่ได้”

นี่คือความคิดเห็นของ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้ติดตามสำนวนคดีของ ‘นิว’ จตุพร แซ่อึง มาตั้งแต่แแรกเริ่ม คำตัดสินเช่นนี้มิอาจยอมรับได้ นิวและทีมทนายของตนจึงทำการยื่นของประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี การต่อสู้นี้จะยังดำเนินต่อไป

ในบทสัมภาษณ์นี้ WAY สนทนากับ กฤษฎางค์ นุตจรัส จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่ที่ข้องแวะอยู่กับคดีความทางการเมืองมามากกว่า 40 ปี ความเห็นของเขาตลอดการสนทนา ครอบคลุมหลายแง่มุม ทั้งหลักการทางนิติศาสตร์ หลักการทางนิติปรัชญา หลักกฎหมายอาญา และหลักการแปลความตามมาตรา 112 ไปจนถึงที่อยู่ที่ยืนของระบบยุติธรรมในสถานการณ์ทางการเมืองและสภาพการปกครองที่เป็นอยู่
 
บทบาทของคุณในคดีของคุณ ‘นิว จตุพร’

เป็นคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรับว่าความให้ ผมไม่ใช่ทนายว่าความประจำในคดีนี้ เพียงแต่ติดตามข้อมูลของคดี และดูสำนวนนี้มาตั้งแต่แรก ส่วนทนายที่รับผิดชอบคดีนี้คือทนายวีรนันท์ ฮวดศรี

คดีนี้ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ลดโทษให้ในฐานะที่คำให้การของเขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เพราะเขาไม่ได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้แต่งตัวชุดไทย มันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาซึ่งศาลก็ให้ลดโทษลง 1 ใน 3 เหลือ 2 ปี แต่ไม่รอลงอาญา

วันที่ 12 กันยายน ทนายความจึงยื่นขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ (ศาลชั้นอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวแล้วในที่ 14 กันยายน 2565) เพราะเราไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้
 
การที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ สั่งจำคุกสองปีโดยไม่รอลงอาญา ‘นิว’ จตุพร จำเลยคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่น คุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 นั้น ความผิดมันมีองค์ประกอบทางกฎหมายอาญาอยู่ 3 ประเด็น คือผู้ใด ‘ดูหมิ่น’ เราก็ต้องไปดูว่าคำว่าดูหมิ่นแปลว่าอะไร ‘หมิ่นประมาท’ ซึ่งก็เหมือนกฎหมายทั่วไป คือไปทำให้คนอื่นเขาเสียหาย หรือ ‘อาฆาตมาดร้าย’ ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ 4 คนเท่านั้นเองที่จะต้องถูกองค์ประกอบมาตรา 112 ซึ่งเราก็ต้องไปดูว่า มันเป็นการดูหมิ่นไหม หมิ่นประมาทไหม อาฆาตมาดร้ายไหม แล้วคนที่ถูกกระทำนั้น เป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ หรือไม่

เกี่ยวกับมาตรา 112 นั้น มีองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายอาญาอยู่ 3 ประเด็น คือ ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย’ ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ดังนั้น เราก็มาดูว่ามันเข้าองค์ประกอบความผิดไหม ดูหมิ่นไหม หมิ่นประมาทไหม อาฆาตมาดร้ายไหม แล้วคนที่ถูกกระทำนั้น เป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ หรือไม่

ถ้าถามความเห็นผม เราก็ต้องไปดูจากคำพิพากษา ที่พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด โดยศาลเห็นว่า มันเป็นกรณีที่มีการแต่งกายชุดไทย แล้วมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น มีคนถือร่ม มีคนมาจับขาว่าพระราชินีสวย แล้วมีคำพูดในคลิปที่มีคนอื่นซึ่งไม่ใช่นิว เขาตะโกนว่าทรงพระเจริญ ซึ่งในความเห็นของศาลตามคำพิพากษาซึ่งเรายังไม่ได้คัดฉบับสมบูรณ์นะ เพียงแต่จดจากที่ศาลอ่านมา ประมาณว่า เป็นกรณีที่เหมือนกับล้อเลียน ดูให้ขบขันเป็นเรื่องตลก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการดูหมิ่นล้อเลียน ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสื่อมเสียต่อพระราชินี จึงเป็นความผิด เขาใช้คำว่า ‘ล้อเลียน’ นะ

ในกรณีของนิว เรามีความเห็นร่วมกันตั้งแต่แรกว่ามันไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย เราก็สู้กันไปตามแนวทางนี้ จากนั้นก็มีการสืบพยานฝั่งโจทย์และจำเลยประมาณเกือบปี และพิจารณาคดีเสร็จเมื่อปลายเดือนที่แล้ว กระทั่งการนัดอ่านคำพิพากษา 12 กันยายน 2565
 


คำฟ้องระบุว่า “ใส่ชุดไทยสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง” ล้อเลียนราชินี ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ถูกตีความว่า การล้อเลียน ถือเป็นการ “ดูหมิ่น” คำถามคือ การแต่งกายชุดไทยกลายเป็นการ ‘ล้อเลียน’ ได้อย่างไร กระทั่งถูกตีความโดยศาลว่าเป็นการดูหมิ่นที่หมายถึงการเหยียดหยามได้

ผมไม่ได้พูดในฐานะของทนายจำเลย หรือมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐ ผมมีความเห็นอย่างนี้ว่า ทุกโรงเรียนกฎหมายในโลกนี้ การตีความตามตัวบทกฎหมายอาญาซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือประชาชนนั้น จะต้องตีความโดยเคร่งครัด เพราะโดยหลักของมนุษยชาติ โดยหลักนิติปรัชญาแล้วนั้น ผู้คนล้วนมีเสรีภาพ การจะจำกัดเสรีภาพนั้นได้ก็โดยตัวบทกฎหมายที่เป็นธรรม และการตีความนั้น ต้องตีความในลักษณะที่เคร่งครัด ไม่ขยายความทางกฎหมาย เพราะเป็นการไปเพิ่มอำนาจให้รัฐในการที่จะกดขี่หรือไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

คดีของ นิว จตุพร ในความเห็นของผมนะ จากคำวินิจฉัยเท่าที่เห็นจากข้อมูล เพราะเรายังไม่เห็นคำพิพากษาฉบับเต็ม ผมมองว่า กรณีที่วินิจฉัยว่าการล้อเลียนพระราชินีคือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ ผมรู้สึกว่าเป็นการตีความตัวบทกฎหมายเกินเลยกว่าความเป็นจริง เพราะมาตรา 112 เป็นกฎหมายพิเศษ กฎหมายทั่วไปก็มีอยู่แล้วในเรื่องการหมิ่นประมาทหรือการดูหมิ่นซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ การอาฆาตมาดร้ายก็เป็นประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้วทั้งสามัญ แต่ที่ต้องเอามาทำเป็นกฎหมายพิเศษเพราะว่า ประมุข หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับประมุขของประเทศไทยในความเห็นผู้ร่างกฎหมายนั้น เห็นว่า น่าจะมีกฎหมายพิเศษคุ้มครอง เพระฉะนั้น ศาลจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด

การแต่งกายเลียนแบบ ไม่ใช่การอาฆาตมาดร้ายแน่นอน หากถามว่าเป็นการหมิ่นประมาทไหม ก็ไม่ใช่การหมิ่นประมาท แล้วถ้าถามว่าดูหมิ่นไหม ตีความยังไงก็ไม่เป็นการดูหมิ่นตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา แต่ศาลก็ใช้คำว่า เป็นการ ‘ล้อเลียนเสียดสี’ ก่อให้เกิดความตลกขบขัน เป็นการไม่แสดงความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นกระทำที่ไม่บังควร

ซึ่งคำว่า ‘ล้อเลียน’ ก็เป็นการตีความกฎหมายเพิ่มเติมอีก เพราะถ้ามาตรา 112 มีความประสงค์ที่จะไม่ให้ใครล้อเลียนบุคคลทั้ง 4 ฐานะ คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ เช่นนั้นแล้ว ก็ต้องบัญญัติเพิ่มเติมคำว่า ‘ล้อเลียน’ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขียนไว้เลยว่า ‘ล้อเลียน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย’ เมื่อไม่ได้เขียนก็จะกลายเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยคนหนึ่งของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ตีความตัวบทกฎหมายจากกรณีที่รัฐกล่าวหา หรืออัยการโจทก์ฟ้องประชาชน เป็นการตีความเกินกว่าที่กฎหมายมีอยู่ นี่คือความเห็นของผม

ผมรู้สึกว่าคดีนี้น่าจะให้ศาลสูง ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีนี้ มีความเหมาะสมแล้วชอบด้วยหลักรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายหรือเปล่า

ความเห็นของฝั่งคู่ความมองว่า ลำพังการแต่งชุดไทยเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่มีความเห็นว่าการกระทำในคดีนี้น่าจะเป็นความผิดเป็นเพราะนำกิริยาท่าทางและบริบทแวดล้อมอื่นๆ ในการเดินแฟชั่นของตัวจำเลยมาประกอบ เช่น การจับข้อเท้าและการกล่าวว่า “พระราชินีสวยมาก” คำถามคือ บริบทดังกล่าวสำคัญอย่างไรในการตัดสินคดี

เนื่องจากผมไม่ได้เป็นทนายความในคดีนี้ในการสืบพยาน ผมขอตอบคำถามอย่างนี้

ถ้าสมมุติว่าเป็นเรื่องจริง เช่น มีคนไปจับข้อเท้าของนิว มีคำตะโกนบอกว่าพระราชินีสวยจริง สมมุตินะครับ ยังไม่ยืนยันว่ามีจริงหรือไม่ แต่หากสมมุติว่ามีจริง ซึ่งศาลเขาก็เขียนไปในคำพิพากษาอยู่แล้วว่า มีจริง คำถามคือ มันเป็นความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายหรือไม่

ศาลเองก็มองว่า การกระทำนี้มีการวางแผนกัน สมมุติว่าเป็นจริงนะ ศาลยังใช้คำว่า ‘ล้อเลียน’ เพราะฉะนั้น คำว่าล้อเลียนเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายไหม?

คำว่าดูหมิ่นนี่ไม่ต้องพูดเลย เพราะคำๆ นี้ กฎหมายบอกว่าต้องดูหมิ่นกันตัวต่อตัว ตะโกนด่ากันซึ่งหน้า อะไรแบบนี้ มันจึงเป็นข้อสงสัยว่า เราลงโทษนิวในฐานอะไร อาฆาตมาดร้ายไหม? ถ้าไม่ใช่ คุณจะเอามาลงมาตรานี้ไม่ได้
 
การพิพากษาของศาลโดยเฉพาะในคดีอาญา แง่หนึ่งถือเป็นการสื่อสารของรัฐต่อประชาชนว่าการกระทำใดที่เข้าองค์ประกอบของความผิดและต้องห้ามตามกฎหมาย การให้เหตุผลจึงต้องชัดเจน กระจ่างแจ้ง สมเหตุสมผล และน่าเชื่อถือ หาไม่แล้วความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาลจะสั่นคลอนและพังทลาย และเกิดวิกฤตต่อความมั่นคงของชาติได้ คุณมองในเรื่องนี้อย่างไร แล้วมันส่งผลกระทบอย่างไร

ศาลทั่วไปที่พิพากษาหรือวินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเข้าข้างคนใดคนหนึ่ง ก็จะถูกลดความเชื่อถือและอาจมีความผิดตามกฎหมายเนื่องว่า หน้าที่ของเจ้าพนักงานในความยุติธรรมที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น การรับใช้อคติ หรืออะไรต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วว่า ผู้พิพากษามีอิสระในการวินิจฉัยพิพากษาคดี ตามมาตรา 188 ของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องวินิจฉัยอย่างเป็นธรรม รวดเร็ว ปราศจากอคติทั้งปวง และเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น คุณต้องตัดสินคดีไปตามกฎหมาย แล้วถ้าประชาชนเขาสงสัยในสิ่งที่คุณวินิจฉัย ความนับถือก็ไม่มีอยู่แล้ว ถึงแม้คุณจะเป็นผู้พิพากษาต่อไปก็อาจจะไม่ได้รับความนิยมยกย่อง หรืออาจมีความผิดด้วยซ้ำไป

ส่วนผลกระทบต่อรัฐและประชาชนมันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกรณีที่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง เช่น สถาบันตุลาการ สถาบันสภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิกฯ หรือตัวรัฐมนตรีก็ดี คุณเป็นตัวแทนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการใช้อำนาจ เมื่อคุณทำให้เกิดความเสื่อมเสียโดยการใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น รัฐมนตรีไปกินสินบาทคาดสินบน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปใช้อิทธิพลเกินกว่าอำนาจมีอยู่ หรือผู้พิพากษา ตุลาการ ใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือตัดสินคดีโดยมีอคติ มันคือกรณีที่คุณได้ทำลายองค์ใหญ่ คือองค์ประกอบของสถาบันรัฐในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ยกตัวอย่างคดีของนิวก็ได้ คดีนี้เป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐ รัฐซึ่งก็คืออัยการโจทก์ ตำรวจ อัยการฟ้อง ส่วนศาลเป็นกลางตัดสินระหว่างรัฐกับประชาชนว่าใครผิด แต่ผู้เสียหายคือรัฐนะ ส่วนตัวละครที่เขาเอาร่วมด้วยคือพระราชินี ว่าทำให้พระราชินีเสื่อมเสีย ซึ่งในการตัดสินนั้น ถ้าเป็นการตัดสินที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันไม่ชอบด้วยกฎหมาย คนก็อาจจะนึกไปถึงเรื่องว่า มีการใช้อำนาจให้ศาลตัดสินแบบไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นคำว่า ‘พึงเคร่งครัด’ จึงสำคัญ​ ไม่เช่นนั้นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องมีแต่ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย กรณีอย่างนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ศาลไทย’ ที่เขาใช้คำว่าในปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ต้องพึงใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการตัดสินคดีที่มีพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าผลเสียมีมาก มากจนผมรู้สึกว่าเป็นอันตราย

ผมยกตัวอย่างว่า สมมุติมีใครสักคนไปขโมยของในพระราชวังซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ โจรคนนั้นก็ต้องถูกฟ้องในข้อหาลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ไม่ได้ถูกฟ้องในมาตรา 112 เพราะกฎหมายมันมีขั้นตอนของมันในการรักษาสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา และสิทธิที่จะรักษาผลประโยชน์ของผู้เสียหาย มันเป็นไปไม่ได้ที่คนลักขโมยของ 1 ชิ้น คุณจะเอาเขาไปตัดสินจำคุก 15 ปี มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันมีโทษที่เป็นขั้นตอนอยู่

เพราะฉะนั้น กรณีของนิวก็เหมือนกัน การที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ใช้คำว่า ‘ล้อเลียน’ แล้วเอาไปเข้ามาตรา 112 ผมเห็นว่ายังไงมันก็ไปไม่ถึง ผมรับไม่ได้ ผมก็แนะนำให้ นิว-จตุพร เขาอุทธรณ์คดีไปเลย เรามีสิทธิ์ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะคำพิพากษาของศาลๆ หนึ่งนั้น มันไม่ได้ผูกพันเฉพาะโจทก์ จำเลย หรือผู้ฟ้องคดีกับจำเลยเท่านั้น แต่อาจสร้างบาดแผลให้กับระบบยุติธรรม แล้วทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบยุติธรรมในกระบวนการศาลสูญหายไป เมื่อคนไม่นับถือในระบบยุติธรรมมากเท่าไหร่ คนก็ไปแสวงหาการต่อสู้และจัดการชีวิตเขาด้วยวิธีอื่น
 
ช่วงที่เริ่มมีการฟ้องร้อง คุณมองว่าคดีนี้จะมาถึงจุดนี้ไหม จุดที่มีการตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา

ในสถานการณ์การเมืองและสภาพของกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบัน เหตุการณ์นี้ไม่เกินไปกว่าที่ผมคิดไว้ ว่ามันจะมีการลงโทษคดีนี้ เพียงแต่ผมคิดว่า จะหาเหตุผลอะไรมาลงโทษจำเลย
 
กรณีการแต่งกายเลียนแบบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือนักแสดงที่แต่งตัวล้อเลียนพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ถ้าเปรียบเทียบกรณีแบบนี้ เราเห็นอะไร

บังเอิญก่อนหน้านี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต แล้วสื่อก็เอาประวัติต่างๆ มาเผยแพร่ รวมทั้งเรื่องของการแต่งตัวล้อเลียนพระราชินีแห่งเดนมาร์ก และอีกหลายๆ ประเทศ ทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเดนมาร์กก็ดี แถบสแกนดิเนเวียที่มีพระมหากษัตริย์ก็ดี หรืออังกฤษที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ยาวนานกว่าเรามาก ก็มีกฎหมายปกป้องพระมหากษัตริย์เหมือนกัน เขามีเหมือนเรา แต่ก็มีกรณีที่นักแสดงแต่งตัวล้อเลียนพระราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งประเทศเดนมาร์ก พอวันที่นักแสดงคนนั้นแสดงครั้งสุดท้ายก่อนเกษียณ พระราชินีแห่งเดนมาร์กก็ยังเสด็จมาเซอร์ไพรส์ชื่นชมบนเวที

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว องค์พระมหากษัตริย์กับประชาชนในระบอบประชาธิปไตยหลังปี 2475 เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ท่านเป็นประมุข เราก็เคารพนับถือ แต่หาได้ว่ามีความแตกต่างกัน เพราะท่านเป็นผู้นำทางจิตใจ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกๆ จนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นเพียงประมุขของประเทศ ซึ่งเราต้องเคารพนับถือ แต่อำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจอนาคตของประเทศ เป็นของประชาชน เพราะฉะนั้น สิ่งที่กระบวนการยุติธรรมทำวันนี้ ผมว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เสียหายเยอะ
 


ถ้าเราเทียบเคียงกับกรณีของ ‘มัมดิวไดอารี่’ คุณคิดว่ามีความเหมือนหรือต่างอย่างไร

ความรู้สึกของผมในฐานะผู้อ่านข่าวและเป็นนักกฎหมาย รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่คล้ายคลึงกัน และอาจจะจบแบบเดียกวันบนเวทีของศาลยุติธรรมไทย

เพราะถ้าล้อเลียนถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ก็โดนหมด ถ้าใครมีอายุเยอะๆ อย่างผมนะ สมัยก่อนเวลาดูเขาเล่นลิเก เล่นตลก ซึ่งคนรุ่นอายุ 60-70 อาจจะรู้จัก คือสมัยนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อหม่อมชั้น พวงวัน (ดาราดาวตลกชื่อดังของหนังไทยยุค 16 ม.ม.) แกเป็นราษฎรธรรมดานี่แหละ รุ่นเดียวกับ ล้อต็อก (จ่าอากาศตรี สวง ทรัพย์สำรวย) แกชอบแต่งตัวเป็นราชินีใส่ชุดไทย แล้วก็เล่นตลก แกก็ไม่ได้เป็น ‘หม่อม’ หรอก แต่แกใช้ชื่อว่าหม่อมชั้น (ชื่อจริงคือ ชั้น พวงวัน และมีชื่อเล่นว่า หม่อม) ในความหมายว่า หม่อมชั้นค่ะ อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)

แกเล่นตลกจนได้เป็นศิลปินมีชื่อเสียงเยอะแยะ ผมไม่เคยเห็นคนสมัยก่อนเขาเดือดร้อนอะไรเลย ถ้าตอนนั้นมีคนไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ หม่อมชั้นคงติดคุกยังไม่ได้ออกหรอกมั้งป่านนี้ แต่ตอนนี้แกเสียชีวิตไปแล้ว

ก่อนหน้าคดีของ นิว จตุพร เคยมีคดีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นบ้างไหม

ยังไม่มีนะ ยังไม่เห็น แต่สมัยก่อนตอนผมอายุประมาณเกือบ 20 มันมีคดีหนึ่งของคุณ ประเดิม ดำรงเจริญ ประมาณร่วม 50 ปีแล้วมั้ง แกเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วันหนึ่งแกก็ไปเขียนบทความเขียนกลอนสมัยรัชกาลก่อน ก็โดนหาว่าไปเขียนล้อเลียนกระทบกระเทียบ ในปีนั้นศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ใช่เรื่องการแต่งกายนะ แต่เป็นกรณีถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

สมัยก่อนมีไม่เยอะ 10 ปีจะมีสักคดีสองคดีครับ เพราะสมัยก่อนเราเคร่งครัดมากเรื่องนี้ เราก็คงดูอย่างอังกฤษ​ดูอย่างประเทศที่เขาเจริญแล้วว่าเราปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามฐานานุรูป ซึ่งถ้าไม่มีการกระทำที่มีเจตนาหรือมีลักษณะที่ชัดเจน ก็ไม่ได้เอากล่าวหากันทางการเมือง แต่เห็นได้ว่า คดี 112 นั้น ผู้กล่าวหา 90 เปอร์เซ็นต์คือราษฎรที่อยู่ฝ่ายต่อต้านเยาวชน ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นพวกตำรวจอะไรพวกนี้

หากการตัดสินคดีความทั่วไป และคดีความทางการเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายให้ ประชาชนเอาผิดศาลได้ไหม

ในคดีทั่วไปนั้น การใช้สิทธิ์ตัดสินวินิจฉัยของศาลเป็นอิสระ แต่ความผิดถ้าจะมีนั้น ต้องเป็นความผิดอื่น เช่น ทุจริต รับเงินจากคู่คดีแล้วตัดสินผิด หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ไปละลาบละล้วง ใช้อิทธิพล เพื่อให้คดีออกมาตามที่ตัวเองประสงค์ นี่ไม่ได้พูดถึงคดีนิวนะ ขีดเส้นใต้ 20 เส้น เพียงแต่จะบอกให้ฟังว่า ผู้พิพากษาก็เหมือนเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรม หากกระทำอะไรที่เป็นความผิดตามที่ประมวลกฎหมายอาญาเขียนไว้ ก็จะถูกลงโทษ​ มีผู้พิพากษาสมัยก่อนเยอะแยะที่ถูกให้ออก หรือโดนคดี

ส่วนในคดีทางการเมือง คำตัดสินที่มันขัดต่อความรู้สึกหรือข้อกฎหมายนั้น มันก็จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และตัวของผู้พิพากษาเอง เพราะผู้พิพากษามีอำนาจที่จะตัดสินคดีในฐานะตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่จะใช้สิทธิ์ทางศาล เท่ากับว่าพวกเราเลือกคุณ ถึงแม้จะไม่ได้เลือกตั้ง แต่เราเลือกคุณให้ไปตัดสินคดีหากมีข้อพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกัน หรือประชาชนกับรัฐ หรือรัฐกับประชาชน เพราะฉะนั้น คุณต้องตัดสินให้ดีนะ เพราะคุณคือตัวแทนของฉัน รัฐธรรมนูญเขียนอย่างนั้น แล้วก็มีข้อบังคับตามมาตรา 188 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนว่า ‘ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษา แต่จะต้องใช้อำนาจนั้นวินิจฉัยไปตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายเขาว่ายังไง คุณต้องว่าอย่างนั้น แล้วคุณจะต้องตัดสินโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และที่สำคัญปราศจากอคติทั้งปวง’

มันชัดเจนว่าคุณมีอำนาจ คุณมีหน้าที่ และมีข้อกำหนดว่าคุณต้องทำแบบไหน เพราะฉะนั้นก็ต้องมาดูองค์ประกอบในการตัดสินคดีความว่า ศาลหรือผู้พิพากษา ได้ใช้วิจารณญาณตามที่กฎหมายกำหนดหรือเปล่า เพราะผู้พิพากษาไม่ใช่เทวดา ผู้พิพากษาเป็นคนๆ หนึ่ง ที่ผ่านกระบวนการมาสู่การเป็นตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจตุลาการ เราเรียนมาแต่ไหนแต่ไรว่า ประชาชนใช้อำนาจตุลาการทางศาล มันชัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากผู้พิพากษาทำผิด ก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ เช่น สมมุติว่ารู้อยู่แล้วว่าคดีนี้ตนไม่มีอำนาจที่จะไปทำคดี แต่ไปรับมาทำ แล้วไปตัดสินเกินกว่ากฎหมายเขียนไว้ หรือมีหลักฐานว่ารับเงินรับทอง หรือใช้อคติทั้งปวง ก็ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

การแปลความตามมาตรา 112 นอกจากจะต้องทำตามถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ศาลต้องตีความให้มาตราดังกล่าวไปในทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในการแสดงออกโดยสุจริตของประชาชน คำถามคือหากศาลไม่ได้ทำเช่นนั้น เอาผิดได้หรือไม่

ถ้าใช้ดุลยพินิจโดยสุจริต ก็เป็นอำนาจที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจโดยสุจริตได้ โดยไม่มีความผิดฐานที่ว่าไปกลั่นแกล้งเขา แต่ก็จะเป็นบาดแผลในการตัดสินของผู้พิพากษาคนนั้น ขณะเดียวกัน ศาลสูงก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยในการตัดสิน เพราะมันมีกระบวนการที่จะคัดค้านคำพิพากษาโดยวิธีอื่น แต่ถ้ามันชัดเจนว่าไม่สุจริต ก็อาจจะมีตั้งแต่ทางคณะกรรมการตุลาการที่ดูแลผู้พิพากษาอยู่ เขาก็อาจจะบอกว่า เฮ้ย ทำไมคนนี้ตัดสินแบบนี้ ซึ่งมันไม่เป็นไปตามกฎหมาย สมมุติอย่างคำว่า ‘ล้อเลียน’ มันไม่มีเขียนไว้ในกฎหมายนี่ คุณไปลงโทษเขาได้ยังไง ก็อาจจะพิจารณาถึงขีดความสามารถที่จะแต่งตั้งให้ไปทำงานครับ แต่ถ้ามันไม่ชัดเจน ก็จะถือเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยสุจริต

เหมือนผู้พิพากษาทั่วไปนั่นแหละ สมมุติคดีนี้ฆ่าคนตาย ผู้พิพากษาคนนี้เชื่อว่าจำเลยยิง แม้พยานจะบอกว่าไฟมันดับ มันมืด แต่ผู้พิพากษาบอกว่า มันมีแสงไฟรถสาดเขามาพอดี ฉันเชื่อว่าน่าจะเห็น อะไรอย่างนี้ ซึ่งศาลสูงก็อาจจะบอกว่า ไฟรถผ่านไปแว็บเดียว ไม่น่าจะเห็นได้นะ มันเป็นดุลยพินิจซึ่งผมคิดว่าต้องเคารพ

ผู้พิพากษาคดีของคุณนิว ท่านอาจจะเชื่อจริงๆ ก็ได้จากที่เรียนมาว่า ‘ล้อเลียน’ คือการดูหมิ่น ท่านอาจจะเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ซึ่งมันก็เป็นการพิสูจน์ความสามารถในการตีความกฎหมายและวิจารณญาณของตัวเอง ถ้าปราศจากอคตินะ ดังนั้น หากใช้วิจารณญาณที่ประชาชนไม่เห็นด้วยบ่อยๆ เข้า มันก็เป็นการทำลายทั้งตัวเองและระบบของตัวเอง
 
เวลาเราพูดถึงดุลยพินิจของศาล โดยหลักการแล้วต้องยึดโยงกับอะไรบ้าง แล้วปัจจุบัน ในทางปฏิบัติศาลกำลังใช้ดุลยพินิจไปในทิศทางไหนโดยเฉพาะคดีทางการเมือง

ถ้าเข้าประเด็นคดีทางการเมือง ผมว่าเป็นเรื่องหนักอยู่เหมือนกัน เพราะว่าคดีทางการเมืองนั้น มันเป็นเรื่องความคิดที่แตกต่างกัน มีเสื้อเหลือง มีเสื้อแดง ผู้พิพากษาที่ผมใกล้ชิดหรือเจอกันบ่อยก็จะพูดเสมอว่า ผมไม่ได้สนใจนะว่าใครเสื้อสีไหน ผมตัดสินไปตามรูปคดี ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็โอเค แต่มันเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น มีผู้พิพากษาท่านหนึ่งพูดในห้องว่า “อ้าว คุณใส่เสื้อดำมาวันที่มีการรับเสด็จ แสดงว่าคุณมีเจตนาอย่างนี้แล้ว” คือคำพูดนี้มันแสดงให้เห็นอะไรหลายอย่างนะ ซึ่งผู้พิพากษาคนนั้นแกก็ยังอุตส่าห์ขยายความนะว่า “คุณใส่เสื้อดำ คุณไปงานแต่งงานได้ไหม ใครเขาจะให้คุณใส่เสื้อดำไปงานแต่งงาน” คือ… มันคนละเรื่องเดียวกันหรือเปล่า การใส่เสื้อดำมันไม่ได้แปลว่าอะไรเลย

ผมเห็นนักเตะลิเวอร์พูลกับแมนยูที่ไปยืนเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ครั้งที่มาเตะบอลที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน แล้วนักเตะหลายเขาใส่ชุดดำนะ อย่างนี้ไม่โดนกันหมดหรือ?
 


คือวิจารณญาณทางการเมืองผมเจอมามากมาย นอกจากนั้นมันยังแผ่ขยายอิทธิพลไปถึงขนาดว่า มีการสั่งการกันมา เช่น ผู้พิพากษาขอไปปรึกษาคดีกับผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหาร ซึ่งคุณปรึกษาได้ แต่ไม่ใช่ให้เขามาสั่ง รัฐธรรมนูญของศาลบอกว่า ปรึกษาได้ มีอำนาจให้คำปรึกษา แต่ปรึกษาหรือสั่งนั้น ไม่มีใครรู้หรอก แต่บางครั้งเราเจอด้วยตัวเอง

เช่นในคดีการเมืองคดีหนึ่ง ผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนสั่งคดีพิจารณาไปแล้วแบบหนึ่ง ผู้พิพากษาระดับรองอธิบดีมาสั่งอีกแบบหนึ่ง โดยยกเลิกคำสั่งเก่า อย่างนี้ผิดชัดเจน เพราะว่าผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาคดี อิสระจากการบีบบังคับของคนรอบข้าง จากประชาชน จากผู้เสียหาย จากโจทก์ และจากเจ้านายของตัวเองด้วย เพราะศาลเป็นข้าราชการที่ไม่เหมือนข้าราชการอื่น คุณเป็นหัวหน้าศาลแล้วจะมาสั่งซ้ายหันขวาหัน หรือสั่งให้ตัดสินแบบนี้ไม่ได้นะ แต่ความจริงมันมี ใครทนได้ก็ทนไป ใครทนไม่ได้ก็ฆ่าตัวตายเหมือนผู้พิพากษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผมอาจจะพูดเลอะเทอะไปหน่อย แต่เพราะต้องการให้เห็นว่าโดยระบบแล้ว มันควรจะปราศจากอคติทั้งปวง แต่มันเป็นไปไม่ได้ ยากครับ นอกจากเราจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา คัดกรองคน แล้วสอนกันใหม่ ไม่ให้มีอำนาจพิเศษแฝงเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมครับ

ที่มา Way Magazine
15 SEP 2022
เรื่อง อรสา ศรีดาวเรือง
ภาพ ศรัณย์ แสงน้ำเพชร