Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
September 15
[ผู้ที่หยุดการใช้ 112 ผิดเพี้ยนได้ คือ นักการเมือง]
.
“กฎหมาย” สัมพันธ์กับ “การเมือง”
.
“การเมือง” เป็นอย่างไร ก็สะท้อนการใช้ “กฎหมาย” อย่างนั้น
.
“กฎหมาย” เป็นเพียงตัวอักษรเปื้อนหมึกบนกระดาษ จะมีพลังได้ ก็ต่อเมื่อมีองค์กรผู้มีอำนาจตามระบบกฎหมายนำบทบัญญัติกฎหมายมาตราต่างๆไปใช้และตีความ
.
กฎหมายที่เลวร้ายที่สุด อยุติธรรมที่สุด หากไม่ถูกนำมาใช้เลย ไม่มีองค์กรเจ้าหน้าที่ใดนำมาใช้ให้เป็นผลร้ายแก่ประชาชนเลย ต่อให้กฎหมายนั้นยังไม่ถูกยกเลิก ก็เสมือนกับเป็นกฎหมายที่ตายไปแล้ว
.
ตรงกันข้าม กฎหมายเขียนให้รัดกุมอย่างไร คุ้มครองสิทธิอย่างไร หากมีองค์กรเจ้าหน้าที่ในการยุติธรรม ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เลวร้าย ไร้ซึ่งยุติธรรมและมนุษยธรรม กฎหมายเหล่านั้นก็อาจแปลงร่างกลายเป็นอาวุธลงทัณฑ์ผู้คน
.
กฎหมายจึงมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวเอกเทศ แต่สัมพันธ์กับระบบอำนาจ
.
ความสัมพันธ์ทางอำนาจเป็นตัวชี้ขาดกำหนดกฎหมาย ทั้งการตรากฎหมายเป็นตัวอักษร ทั้งการนำตัวอักษรเหล่านั้นไปใช้และตีความ
.
ในระบบแห่งอำนาจทางกฎหมาย ประกอบไปด้วยบรรดาองค์กรของรัฐทั้งหลายที่เป็นผู้สร้าง ใช้ และประกันให้มีสภาพบังคับ ตั้งแต่ รัฐสภา รัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ศาล ราชทัณฑ์
.
หากมาตรา 112 คงอยู่ รัฐสภาไม่ยกเลิก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ไม่นำ 112 มาใช้อย่างบิดเบือน
.
112 ก็แผลงฤทธิ์ได้น้อย
.
หากมาตรา 112 คงอยู่ รัฐสภาไม่ยกเลิก แต่ศาลนำ 112 มาตัดสินคดีโดยไม่ขยายความเกินกว่าตัวบท มุ่งหมายคุ้มครองสิทธิของประชาชน
.
112 ก็แผลงฤทธิ์ได้น้อย
.
ตรงกันข้าม
.
หากมาตรา 112 คงอยู่ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายนำมาใช้อย่างขยายความ เกินขอบเขต ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน
.
112 ก็แผลงฤทธิ์ได้มาก
.
และในบางกรณี อาจแผลงฤทธิ์ได้มากจนเกินกว่าตัวอักษรในมาตรา 112 ก็มี ตีความคำว่า “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย” จนผิดเพี้ยนไปหมด
.
.
การยุติหรือบรรเทาการใช้ 112 ผิดเพี้ยนได้ จำเป็นต้องใช้ “อำนาจหยุดยั้งอำนาจ” ก็ในเมื่อองค์กรของรัฐหนึ่ง (พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล) ใช้อำนาจตามแดนของตนเองขยาย 112 ออกไปเช่นนี้ ก็ต้องมีองค์กรของรัฐอีกหนึ่ง (รัฐสภา) ใช้อำนาจตอบโต้กลับไป
.
เมื่ออำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อ้างว่า ตนใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112
.
หากต้องการหยุดการใช้ 112 ของพวกเขา ก็ต้องให้อำนาจนิติบัญญัติ ตรากฎหมายยกเลิกมาตรา 112 หรือตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดี 112 นั้นเสีย
.
นี่คือการตอบโต้กันระหว่างอำนาจในระบบ เป็นเรื่องปกติของหลักการแบ่งแยกอำนาจ
.
การยุติ 112 ได้ จึงไม่อาจอาศัยการรณรงค์เรียกร้อง การชุมนุม การเข้าชื่อ การยื่นหนังสือร้องเรียน ได้แต่เพียงอย่างเดียว
.
ผู้ที่จะทำให้ 112 ยุติได้อย่างแท้จริง บังเกิดผลในทางกฎหมาย ก็คือ รัฐสภา
.
ภายใต้สถานการณ์การใช้ 112 ผิดเพี้ยนกันอย่างกว้างขวางเช่นนี้ บรรดานักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง จึงต้องรับภารกิจเข้าไปเป็นเสียงข้างมาก ดำเนินการตรากฎหมายยกเลิก 112
.
การแก้ไขกฎหมายแบบ “เลาะตะเข็บ ชายขอบ” เฉพาะแค่สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว ไม่ยอมพูดถึง 112 โดยตรง คือ การแก้ไขปัญหาที่ไม่แก้ไขปัญหา เป็นเพียงการเล่นละครตบตา เพื่อโฆษณาให้รู้ว่า “ฉันก็ทำนะ” แต่จริงๆแล้วไม่ได้ทำ
.
เช่นกัน… การแก้ไข 112 แต่เพียงเล็กน้อย คือ การแก้ไขปัญหาที่ไม่เพียงพอ ในท้ายที่สุด “อสุรกาย 112” ก็พร้อมคืนชีพได้เสมอ
.
ประชาชนผู้รณรงค์เรียกร้องการยกเลิก 112 มาอย่างอดทนเหน็ดเหนื่อยมากกว่าทศวรรษ จำเป็นต้องพุ่งตรงกดดันไปที่นักการเมือง พรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะ พวกเขาเหล่านี้มีอำนาจรัฐในการทำให้เกิดขึ้นจริงในระบบกฎหมาย
.
เรียกร้องกดดันให้หนักไปที่พรรคการเมือง
.
และหากพรรคการเมืองใดที่ทำเรื่องนี้จริง แล้วประสบเหตุเภทภัย จนทำให้ไม่สำเร็จ ประชาชนก็จะเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ให้
.
แน่ล่ะ… หากพรรคการเมืองหริอ ส.ส.เดินหน้ายกเลิก 112 ก็อาจถูกกลไกรัฐของระบอบนี้เข้าสกัดขัดขวาง
.
ตั้งแต่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายล้าหลัง สมาชิกวุฒิสภากาฝาก ศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการประกาศใช้กฎหมาย
.
แต่นั่นมิใช่เหตุผลข้ออ้างในการไม่ทำอะไรเลย
.
หากนักการเมืองคาดการณ์ว่าอาจถูกสกัดขัดขวาง จึงไม่ทำ ผลลัพธ์ก็คือ ประชาชนไม่ได้อะไร นอกจากมีนักการเมืองเป็น “พะนะท่าน” ชูคอในสภา ในรัฐบาล เพิ่มขึ้นๆ ต่อไปๆ
.
ตรงกันข้าม ถ้าลงมือทำ แล้วเกิดสำเร็จ ผลดีก็จะเกิดอย่างถ้วนทั่ว แต่หากถูกสกัดขัดขวาง มันก็กลายเป็นโอกาสในการยกระดับการต่อสู้
.
ทุกอย่างอยู่ที่ “เจตจำนง”