วันจันทร์, สิงหาคม 15, 2565

เห็นภาพข้างล่างแล้ว ต้องกลับไปอ่าน อจ. Katherine Bowie บรรยายเรื่องครูบาศรีวิชัย มธ. 3 สิงหาคม แล้วจะเข้าใจการสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทย และภาพอย่างที่เห็น

.....
way magazine
August 11

“เราจะไม่เข้าใจการสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทยเลย หากไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของครูบาศรีวิชัย”
ประโยคข้างต้นเป็นข้อเสนอที่ แคเธอรีน บาววี (Katherine A. Bowie) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา กล่าวเปิดการบรรยายหัวข้อ ‘ครูบาศรีวิชัยกับการเมืองสมัยใหม่ในล้านนา’ ณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
บาววีเป็นนักมานุษยวิทยาที่คร่ำหวอดเรื่องเมืองไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ (ล้านนาเดิม) เนื่องจากทำการศึกษาภาคสนามมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในหลากหลายประเด็น อาทิ ลูกเสือชาวบ้านกับบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือการเทศน์มหาชาติในท้องถิ่นภาคเหนือ
ประเด็นล่าสุดที่บาววีสนใจคือ ชีวิตของครูบาศรีวิชัย ซึ่งเธอเชื่อว่าหากศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งจะเผยให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของล้านนาในอดีตที่มีการต่อต้าน ขัดขืน และไม่สยบยอมต่อการผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ
“ถ้าถามว่าประเทศไทยเป็น nation-state (รัฐชาติสมัยใหม่) เมื่อไหร่ คนทั่วไปมักจะตอบว่า ในช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อมณฑลพายัพถูกผนวกรวมเข้ากับอาณาจักรสยามในปี 2443 แต่ที่จริงแล้วในขณะนั้น ราษฎรในท้องถิ่นยังไม่มีจิตสำนึกว่าเขาเป็นพลเมืองที่ขึ้นต่อสยามหรอก ดิฉันจะขอเสนอว่า ประเทศไทยเป็น nation-state ในวันที่ 21 เมษายน 2479 เพราะเป็นวันที่ครูบาศรีวิชัยถูกบังคับให้สยบยอมต่อคณะสงฆ์จากกรุงเทพฯ”
แม้จะเคยเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของชายขอบต่ออำนาจของส่วนกลาง แต่ปัจจุบันภาพจำของครูบาศรีวิชัยได้แปรเปลี่ยนไปเป็นเพียงหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่มีอำนาจดลบันดาลเงินทองและสุขภาพแก่ผู้สักการะ
บาววีเห็นว่า นี่คือความพยายามในการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ทับลงไปบนความแปลกแยกและเป็นอื่นจากความเป็นไทย เพื่อให้เรื่องราวของครูบาศรีวิชัยและคนล้านนาในอดีตที่เคยแข็งขืน สอดรับกับพล็อตเรื่องแบบ happy nation-state ในปัจจุบันได้
ชีวิตของครูบาศรีวิชัยสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ ศาสนา และการเมืองในห้วงเวลานั้น (และ ณ ขณะนี้) ได้อย่างไรบ้าง WAY ได้สรุปรวบยอดการบรรยายของ แคเธอรี บาววี มาให้ท่านผู้มีจิตศรัทธาแล้ว ณ ที่แห่งนี้
--
อ่านฉบับเต็ม:
https://waymagazine.org/khruba-srivichai/
text: ปิยนันท์ จินา
illustration: พิชชาพร อรินทร์


[บีบบังคับให้สยบยอม]
จากพระสงฆ์ผู้เป็นศูนย์รวมศรัทธาแห่งดินแดนล้านนา ถูกอำนาจรัฐส่วนกลางควบคุม เปลี่ยนภาพจำของครูบาศรีวิชัยให้กลายเป็นเพียงเกจิอาจารย์ขมังเวทย์

“ถ้าถามว่าประเทศไทยเป็น nation-state (รัฐชาติสมัยใหม่) เมื่อไหร่ คนทั่วไปมักจะตอบว่า ในช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อมณฑลพายัพถูกผนวกรวมเข้ากับอาณาจักรสยามในปี 2443 แต่ดิฉันจะขอเสนอว่า ประเทศไทยเป็น nation-state ในวันที่ 21 เมษายน 2479 เพราะเป็นวันที่ครูบาศรีวิชัยถูกบังคับให้สยบยอมต่อคณะสงฆ์จากกรุงเทพฯ”

- แคเธอรีน บาววี (Katherine A. Bowie)

[ข้อกล่าวหาครั้งแรก]
- ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหาว่าเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน บวชให้ชาวบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของคณะสงฆ์ส่วนกลาง ตาม พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445)

- เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้จับกุมในข้อหาขัดคำสั่ง ตั้งตนเป็นผีบุญ อวดอ้างอิทธิฤทธิ์เกินจริง ก่อนถูกคุมขังและส่งต่อให้สมเด็จพระสังฆราชตัดสินคดีความ


[ข้อกล่าวหาเป็นโมฆะ]
คณะสงฆ์กรุงเทพฯ เห็นว่าคณะสงฆ์ทางเหนือลงโทษครูบาศรีวิชัยหนักเกินไป และข้อกล่าวหาหลายข้อไม่เป็นความจริง เช่น การอวดอ้างอิทธิฤทธิ์ การไม่จัดงานเฉลิมฉลองตกแต่งวัดเพื่อแสดงความจงรักภักดีในงานขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 ฯลฯ จึงส่งตัวกลับภาคเหนือพร้อมแถมค่าโดยสารรถไฟ

[สั่งสมบารมี]
ครูบาศรีวิชัยกลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและริเริ่มฟื้นฟูบูรณะศาสนสถานทั่วภาคเหนือกว่า 100 แห่ง อาทิ วัดพระสิงห์ วัดสวนดอก และมีผลงานสำคัญคือการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งระดมพลังราษฎรผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากมาช่วยสร้างโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย


[ข้อกล่าวหาครั้งที่ 2]
ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมตัวไปสอบสวนอีกครั้งในปี 2478 (ยุครัฐบาลคณะราษฎร) ซึ่งครั้งนี้กินระยะเวลานานเกือบ 1 ปี

ข้อกล่าวหาจากรัฐ
1. จัดอุปสมบทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะ
2. ตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เอง (เถื่อน)
3. ออกใบสุทธิและหนังสือตราตั้งคณะตนเอง
4. ก่อสร้างบูรณะโดยไม่ขออนุญาตกรมศิลป์ ไม่อนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิม
5. ยุยงให้พระสงฆ์ออกจากการปกครองของรัฐ

[รัฐไทยกลืนกลาย สลายอำนาจท้องถิ่น]
ปัญหาที่แท้จริงมิใช่ความขัดแย้งระหว่างคณะสงฆ์ส่วนกลางกับท้องถิ่น หากเป็นกระบวนการสร้างชาติของรัฐไทยสมัยใหม่ที่พยายามรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย (homogenization) ครูบาศรีวิชัยในฐานะผู้นำจิตวิญญาณแห่งมณฑลพายัพ จึงเป็นหนามยอกอกที่รัฐไทยยอมให้มีอิทธิพลต่อไปไม่ได้ ต้องสยบให้สิ้นอำนาจลง


[เบื้องหลังข้อกล่าวหาครูบาศรีวิชัย]
- ครั้งแรก (2463) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อรัฐไทยพยายามขยายกองพลทหารและกองกำลังเสือป่าของรัชกาลที่ 6 ไปตั้งที่เชียงใหม่ แต่ชาวบ้านไม่ต้องการถูกเกณฑ์ทหาร จึงเลือกไปบวชกับครูบาศรีวิชัย

- ครั้งที่ 2 (2478) จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามสร้างชาติไทยให้เป็นหนึ่งเดียวในทางวัฒนธรรม (cultural homogenization) ผ่านการแต่งตัวหรือผ่านการศึกษา แต่มุมมองของชาวล้านนาต้องการให้บุตรหลานบวชเรียน จึงเกิดกรณีการเผาโรงเรียนของรัฐ


[ศึกแย่งชิงมวลชน สยาม-ล้านนา]
เหตุที่ครูบาศรีวิชัยถูกรัฐไทยจับตามอง เนื่องจากในปี 2476 จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรก คณะราษฎรยังคลางแคลงใจในจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนล้านนาว่า จะสนับสนุนฝ่ายตนหรือฝ่ายเจ้ากันแน่ ทำให้เกิดการแย่งชิงมวลชนอย่างเข้มข้น


[ประวัติศาสตร์ที่ถูกกลืน]
ปัจจุบันผู้นำจิตวิญญาณล้านนาอย่างครูบาศรีวิชัย กลายเป็นที่เคารพบูชาในฐานะพระเกจิผู้ดลบันดาลโชคลาภ ขณะที่แนวทางการปฏิบัติศาสนกิจแบบชาวล้านนาก็ค่อยๆ สูญสลายไป

“คนล้านนารุ่นใหม่จะรับรู้แค่ว่ามีรูปปั้นอยู่ตีนดอยสุเทพ ไปขอลูก ขอหวย แค่นั้น”

- แคเธอรีน บาววี (Katherine A. Bowie)