วันศุกร์, สิงหาคม 05, 2565

จีน มีนโยบายแข็งกร้าวในเรื่อง "จีนเดียว" แต่ทำไมในกีฬาโอลิมปิกหรือแม้แต่ฟุตบอล จึงยอมให้ ไต้หวัน ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันอย่างเป็นทางการ ในชื่อ "ไชนีส ไทเป"


วิเคราะห์บอลจริงจัง
Yesterday

ประเทศจีน มีนโยบายที่แข็งกร้าวในเรื่อง "จีนเดียว" พวกเขาเชื่อเสมอว่า ไต้หวัน คือส่วนหนึ่งของจีนเสมอมา และไม่สามารถแบ่งแยกเป็นประเทศอิสระเองได้
เมื่อแนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาสหรัฐฯ บินไปไต้หวันเมื่อวานนี้ จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ของโลก เพราะจีนเองก็ยอมไม่ได้ ที่สหรัฐฯ จะให้คุณค่ากับไต้หวันราวกับเป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสนใจคือ ในกีฬาโอลิมปิกหรือแม้แต่ฟุตบอล ไต้หวันกลับถูกรับรองให้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันอย่างเป็นทางการ ในชื่อ "ไชนีส ไทเป" โดยที่จีนเองกลับยอมประนีประนอมให้
คำถามคือทำไมเรื่องกีฬาจีนกลับยอมได้? วันนี้เราจะไปลำดับเรื่องราว ตาม Timeline กันแบบเข้าใจง่ายที่สุด
ต้องอธิบายก่อนว่า ในอดีต จีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะไต้หวัน เคยเป็นประเทศเดียวกัน และมีรัฐบาลร่วมกันมาก่อนจริงๆ ในช่วงปี 1945-1949 โดยชื่ออย่างเป็นทางการของจีน ณ เวลานั้นคือ Republic of China (ROC) โดยมีประธานาธิบดีคือ เจียง ไค เช็ก จากพรรคการเมืองชื่อ ก๊กมินตั๋ง
แต่หลังเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในปี 1949 กองทัพคอมมิวนิสต์นำโดยเหมา เจ๋อ ตุง ยึดอำนาจจากรัฐบาลได้สำเร็จ ทำให้เจียง ไค เช็คพร้อมด้วยประชาชนที่หวั่นกลัวคอมมิวนิสต์ รวมแล้ว 1.5 ล้านคน ได้ล่องเรือไปตั้งหลัก ที่เกาะไต้หวันทางทิศตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่ไปก่อนเป็นการชั่วคราว
โดยเจียง ไค เช็ค ประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่เกาะไต้หวัน และยังใช้ชื่อ Republic Of China ต่อไป เพื่อรอสักวันที่แข็งแกร่งพอ แล้วอาจจะได้ยึดจีนแผ่นดินใหญ่คืน
ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่นั้น โดนปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์นำโดยเหมา เจ๋อ ตุง เขาตัดสินใจก่อตั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน - People's Republic of China (PRC) ขึ้นมา โดยใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์
ความเปลี่ยนแปลงในประเทศจีนที่เกิดขึ้น ทำให้ในวงการกีฬามีความสับสนอย่างมาก เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ใน 1 ประเทศ จะมีคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (NOC) ได้แค่ 1 แห่งเท่านั้น
และปัญหาสำคัญคือตอนที่อพยพย้ายหนีมาไต้หวัน เจียง ไค เช็ก เอา NOC ของจีนมาอยู่กับไต้หวันด้วย นั่นแปลว่าจีนแผ่นดินใหญ่ของเหมา เจ๋อ ตุง ไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันได้ ในโอลิมปิกปี 1952 ที่ฟินแลนด์ (เพราะไม่มี NOC เป็นของตัวเอง)
ทาง IOC หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล คิดถึงในแง่กีฬาก่อนการเมือง คือถ้าเป็นแบบนี้ ฝั่งไต้หวัน ก็อาจจะกีดกันสิทธิ์ของนักกีฬาจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ ไม่ให้ไปเข้าร่วมโอลิมปิกได้ และอาจมีการบีบบังคับให้นักกีฬาย้ายข้ามฟากมาอยู่กับไต้หวันแทน จึงจะอนุญาตให้ร่วมเข้าแข่งขันได้
เมื่อรูปการณ์เป็นแบบนั้น IOC จึงอนุมัติ ให้ จีนแผ่นดินใหญ่ (PRC) เข้าร่วมแข่งขันได้ ในโอลิมปิกปี 1952 ที่เฮลซิงกิ ฟินแลนด์
เท่ากับว่าตอนนี้ ใน IOC มี "สองจีน" คือ เกาะไต้หวัน (ROC) และ จีนแผ่นดินใหญ่ (PRC) คือทั้งสองประเทศ สามารถส่งนักกีฬามาแข่งขันได้เลย แยกกันไปให้ชัดเจน
ดราม่าในสเต็ปต่อไปเกิดขึ้น เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ มองว่าไต้หวันไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น และไม่มีสิทธิ์จะมายืนอยู่เท่ากันบนเวทีโลก
ดังนั้นในโอลิมปิก 1956 ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย เมื่อนักกีฬาจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปถึงหมู่บ้านนักกีฬา เจอนักกีฬาจากไต้หวัน ทำให้พวกเขาโมโหตัดสินใจถอนตัว ไม่ร่วมแข่งขันทันที
ยิ่งในหนังสือสูจิบัตรของการแข่งขัน เวลาเรียกจีนแผ่นดินใหญ่ ในชื่อย่อว่า Beijing-China (จีนปักกิ่ง) ส่วนเวลาเรียกไต้หวันใช้ชื่อย่อว่า Formosa-China (จีนไต้หวัน) ยิ่งทำให้ฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่โกรธมาก เพราะมองว่าทาง IOC ไม่ให้เกียรติกัน ที่ยกไต้หวันไปเสมอกับจีน
ตง โจวยี่ คณะกรรมการโอลิมปิกของจีนแผ่นดินใหญ่ ส่งจดหมายไปด่าเอเวอรี่ บรันเดจ ประธานกิตติมศักดิ์ของ IOC ว่า "ท่านประธาน พวกกบฎของชาติเราหนีไปอยู่ไต้หวัน และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น คนไต้หวันคือคนจีน เราเชื่อได้เลยว่าคุณมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ แถมได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาอีก เพื่อจงใจแบ่งแยกประเทศจีนเดียว ออกเป็นสองจีน"
ในเวลาต่อมาจีนมีนโยบายชัดเจนคือ One China Policy อธิบายคือองค์กรใด หรือประเทศใด หากจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ต้องเลือกจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเดียว ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ควบไปกับไต้หวัน (ROC) ได้
เมื่อ IOC ไม่ยอมเดินไปในแนวทาง One China Policy และไปให้การยอมรับตัวตนของไต้หวัน ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่เข้าร่วมลงแข่งขันโอลิมปิก เพื่อประท้วงแนวทางของ IOC ที่สนับสนุนระบบสองจีน ไม่ใช่จีนเดียว
ในช่วงแรก IOC ก็ไม่ได้แคร์ ถ้าจีนไม่แข่งก็ไม่แข่ง คนอื่นเขาก็แข่งกันได้ ทุกอย่างเลยบานปลายมาเรื่อยๆ และจีนก็ไม่เข้าร่วมโอลิมปิกถึง 20 ปีติดต่อกัน (1956-1976)
เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า IOC เองก็ไม่มีความสุข เพราะการที่จีนแบนตัวเองแบบนี้ เป็นการตัดโอกาสทางการกีฬาของผู้เล่นหลายๆ คน แทนที่พวกเขาจะได้มาแข่งขันในระดับโลก สุดท้ายก็ได้แต่เก่งอยู่ในประเทศตัวเอง ขณะที่เรื่องธุรกิจก็สำคัญ จีนคือตลาดใหญ่ เมื่อไม่มีจีนเข้าร่วมโอลิมปิก ก็มีแนวโน้มที่ทาง IOC จะสูญเสียรายได้ไปอย่างมหาศาล
ในปี 1971 มีจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อ สหประชาชาติ (UN) มีมติรับรองจีนแผ่นดินใหญ่ ให้เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของจีน และไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศอีก มันส่งผลถึงแนวทางในโอลิมปิกเช่นกัน
เข้าสู่โอลิมปิกปี 1976 ที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา เจ้าภาพจัดการแข่งขันไปแจ้งกับไต้หวันว่า เมื่อสหประชาชาติรับรองจีนไปแล้ว แคนาดาก็ต้อง Take Side จีน คือบอกไต้หวันว่า คุณสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันได้นะ แต่คุณไม่สามารถใช้ชื่อ Republic of China ได้แล้ว
พอแคนาดาพูดแบบนั้น นั่นทำให้นักกีฬา 48 คนของไต้หวัน ตัดสินใจวอล์กเอาต์ในโอลิมปิกครั้งนั้น เหมือนเป็นการโดนหมิ่นเกียรติ
เดี๋ยวคนนี้วอล์กเอาต์ คนนั้นวอล์กเอาต์ ทำให้ทาง IOC ก็มีความไม่สบายใจเช่นกัน เพราะเหมือนโอลิมปิกถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นการเมือง
ดังนั้น IOC ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการอะไรสักอย่าง พวกเขาคิดคำนวณหลายรูปแบบ เช่น สมมุติถ้ารับรองจีนประเทศเดียวแบบที่สหประชาชาติทำ แล้วแบบนี้นักกีฬาจากไต้หวัน จะถูกกีดกันโอกาสทางกีฬาหรือเปล่า ที่สำคัญถ้าไปแทรกแซงขนาดนั้น มันเหมือนว่า IOC ไปยุ่งเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมากเกินไปด้วย ดังนั้นจึงพยายามหาทางออก เพื่อให้ลงตัวที่สุดกับทุกฝ่าย
จนมาถึงในปี 1979 ทาง IOC ได้ไอเดียใหม่ และทำการต่อรองว่า จากนี้ไปอยากให้ทั้งจีน และ ไต้หวัน มีสองคณะกรรมการโอลิมปิกเป็นของตัวเองไปเลย
จีนแผ่นดินใหญ่ จะมีคณะกรรมการโอลิมปิกของตัวเอง ชื่อ Chinese Olympic Committee และใช้ชื่อในการแข่งขันว่า "China"
ส่วนไต้หวัน จะมีคณะกรรมการโอลิมปิกแยกออกมา ชื่อ Chinese Taipei Olympic Committee ไม่สามารถใช้ชื่อเดิมคือ Republic of China ได้อีก แต่ต้องใช้ชื่อ "Chinese Taipei" แทน ขณะที่ธงในการแข่งโอลิมปิก ก็ไม่สามารถใช้ธงแดง-น้ำเงินได้ แต่ให้โละทิ้งแล้วใช้ธงใหม่ไปเลย นั่นคือธงสีขาว มีดอกบ๊วยซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติไต้หวันอยู่ตรงกลาง
เอาเป็นว่า ต่างคน ก็ต่างรับผิดชอบการกีฬาของตัวเองไป ไม่ต้องข้องเกี่ยวกันอีก
ถ้ามองจากมุมของคนกลาง นี่เป็นการตัดสินใจที่ดีต่อทุกฝ่าย ทาง IOC จัดการโหวตขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 1979 ที่โลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถามสมาชิกว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าจะมาแนวทางนี้ และคำตอบคือเมมเบอร์ 62 คนจาก 81 คนเห็นด้วย จึงเหลือแค่ว่าสองชาติจะตกลงร่วมแข่งขันในเงื่อนไขนี้ไหม
ในมุมของจีน พวกเขาจะแบนโอลิมปิกต่อไปก็ทำได้ แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำ ณ เวลานั้น นโยบายของจีนคือ Open Door Policy เริ่มมีการเปิดประเทศมากขึ้น แทนที่อยู่กันเอง ใช้ผลิตภัณฑ์กันเองในประเทศ จีนนำเข้าและส่งออก สินค้าและวัฒนธรรมของตัวเองออกไปให้ชาวโลก ดังนั้นถ้าหากพวกเขายังดื้อแพ่งไม่ร่วมแข่งขันโอลิมปิกซึ่งเป็นกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอยู่ประเทศเดียว ก็ไม่เป็นผลดีต่อนโยบายในองค์รวม
นอกจากนั้นเงื่อนไขที่ไต้หวันใช้ชื่อ "ไชนีส ไทเป" ลงแข่งขัน มันก็มีคำว่าจีนติดอยู่ด้วย ถือว่าอยู่ในวิสัยที่รับได้ เพราะแสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายยังเป็นส่วนหนึ่งของจีน คือถ้าใช้ชื่อไต้หวันไปเลย มันอาจดูเป็นประเทศเอกราชเกินไปหน่อย
ส่วนไต้หวันนั้น ด้วยความที่จีนก็เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการรับรองจากสหประชาชาติแล้ว ส่วนไต้หวันไม่ถูกยอมรับ ซึ่งถ้าปล่อยไว้แบบนี้ สักวันไต้หวันอาจจะถูกกลืนกินก็ได้ ดังนั้นถ้าได้สเตตัสความเป็นสมาชิกของ IOC อย่างเหนียวแน่น สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกได้อย่างอิสระ ก็ย่อมเป็นผลดีต่อมูฟเมนท์ประชาธิปไตยมากกว่า แม้จะใช้ชื่อไชนีส ไทเป มันก็ช่วยไม่ได้
เอ็ดเวิร์ด หลิง-เหวิน เทา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำเมืองบริสเบน กล่าวกับสำนักข่าวเอบีซีว่า "คนจำนวนมากในไต้หวันเชื่อว่า เราควรลงแข่งขันในชื่อทางการของประเทศเรา หรือจะใช้แค่ชื่อไต้หวันก็ได้ เราไม่พอใจ แต่มันคือความจริงในขณะนี้"
เมื่อสองฝ่ายยอมกันได้ในจุดตรงกลาง ทำให้นับจากโอลิมปิก 1984 ที่ลอสแองเจลิส ทั้ง จีน และ ไต้หวัน (ในชื่อไชนีส ไทเป) จึงแข่งขันโอลิมปิกพร้อมกัน ก่อนจะแข่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยต่างฝ่ายก็ต่างมี คณะกรรมการโอลิมปิกเป็นของตัวเองไม่ข้องเกี่ยวใดๆ กันอีก
เรื่องราวในโลกกีฬาของจีน กับ ไต้หวัน ก็จบลงตรงนี้ ต่างคนต่างใช้ชีวิตกันไป
แต่เมื่อออกไปจากโลกกีฬา มันไม่สามารถประนีประนอมกันได้ในลักษณะนี้ เพราะจีนยังคงยึดมั่นนโยบายจีนเดียว แต่ไต้หวันก็ต้องการอิสระในการบริหารประเทศ เรียกได้ว่ายังหาหนทางออกสวยๆ แบบ Happy Ending ไม่ได้จริงๆ