.....
เมื่อขิงสหรัฐฯก็รา ข่าจีนก็แรง
-
แน่นอนว่าขณะนี้ทุกสายตาของโลกกำลังจับอยู่ที่สถานการณ์ความขัดแย้งที่ช่องแคบไต้หวันอย่างไม่กระพริบสืบเนื่องจากการเยือนไต้หวันของนาง Nancy Pelosi ประธานสภาฯของสหรัฐฯ เมื่อคืนวานที่ผ่านมา ที่ได้สร้างความกังวลกับทุกฝ่ายว่าจะทำให้กลายเป็นชนวนเกิดความรุนแรงในระดับต่างๆตามมาอีก
-
ก่อนจะไปถึงการวิเคราะห์ว่าอะไรคือสาเหตุเบื้องหลังและเหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ผมขอเสนอข้อสังเกตและข้อเท็จจริงอีกบางมุมที่ได้อ่านมาและที่หลายฝ่ายอาจไม่เข้าใจหรือหลงลืมไปนะครับ
ประการแรก หลายฝ่ายคิดว่าสิ่งนี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีไบเดน ที่เหมือนต้องการประกาศศักดิดาของสหรัฐฯ เพื่อแสดงว่าไม่เกรงกลัวจีน ฯลฯ แน่นอน
แต่จริงๆแล้วมันอาจไม่ใช่ดังนั้นก็ได้ เพราะแม้คุณ Pelosi จะถือเป็นนักการเมืองที่อาวุโสและสำคัญยิ่ง แต่เธอก็ไม่ใช่บุคคลในฝ่ายบริหารหรือมีตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐบาลของสหรัฐฯ
นาง Pelosi เคยพูดถึงเรื่องการไปเยือนไต้หวันมาพักใหญ่แล้ว ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Pentagon) ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วย และมองว่านี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม และแม้แต่ทางทำเนียบขาวเองก็ไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนการเยือนนี้ และพยายามจะชี้แจงว่าการเยือนดังกล่าวเป็นการตัดสินใจของนาง Pelosi เอง
แต่ปัญหาคือไม่มีใครในโลกที่เชื่อหรือฟังคำชี้แจงนี้ ทั้งๆที่ตามความเป็นจริงประธานาธิบดีไบเดนจะไปสั่งคุณ Pelosi ให้หันซ้ายหันขวาไม่ได้ ไม่ว่าจะในแง่กฎหมายหรือในทางปฏิบัติที่คุณ Pelosi เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่งของพรรค Democrat ที่ไบเดนสังกัด
และในความเป็นจริง ในสหรัฐฯนั้น ฟากรัฐบาลกับพรรคก็มีความขัดแย้งแตกต่างช่วงชิงบทบาทกันเองด้วย ไม่ใช่ว่าแนบแน่นสนิทเป็นเนื้อเดียวกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ
การเยือนไต้หวันครั้งนี้จึงเป็นปัญหาอันปวดหัวสำหรับทางทำเนียบขาวเองด้วยเช่นกัน เพราะไม่สามารถห้ามได้ และต้องตกอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
-
โดยส่วนตัวผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการเยือนไต้หวันครั้งนี้ของคุณ Pelosi แม้ว่าในหลักการจะไม่ขัดข้องและเห็นว่าเป็นสิทธิของเธอที่จะทำได้ รวมทั้งเป็นสิทธิของไต้หวันที่เขาจะให้การต้อนรับใคร แต่เห็นด้วยว่านี่มันไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมนัก เพราะจะยิ่งสร้างความตึงเครียดให้กับโลกมากขึ้นไปอีก เพียงเพื่อต้องการพิสูจน์ความเชื่อและหลักการของตนเอง (ซึ่งเธอมีท่าทีต่อต้านจีนมาตลอด) โดยไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านภายในด้วยกันเอง
ซึ่งในแง่นี้ผมเห็นว่าขิงสหรัฐฯที่รา ก็คือตัวคุณ Pelosi นั่นเอง
-
มาดูทางข่าจีนบ้าง แน่นอนว่าสิ่งนี้ย่อมสร้างความโกรธเคืองให้ฝ่ายจีนมาก และได้ออกมาประนามรวมทั้งมีท่าทีต่อต้านอย่างรุนแรง ทั้งก่อนหน้าการเยือนและในขณะนี้ ซึ่งผมเองมีข้อสังเกตว่าการที่จีนออกมาเตือนสหรัฐฯก่อนหน้านี้ว่าอย่าเล่นกับไฟ นั้น ผมคิดว่าในทางการทูตมันไม่น่าได้ผลที่ดีนัก
ผมคิดว่าหากจีนใช้คำประเภทเรียกร้องให้สหรัฐฯทบทวนเท่านั้น โดยไม่ต้องไปแสดงท่าทีข่มขู่น่าจะดีกว่า
เพราะเมื่อไปมีท่าทีข่มขู่ แบบนั้น มันก็ยิ่งทำให้ยากที่ฝ่ายสหรัฐฯจะยอมถอย (back down) ให้เสียศักดิ์ศรีในฐานะประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก รวมทั้งคะแนนความนิยมในบ้านตนเอง
-
และผมมองว่ามันไม่ได้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของจีนนัก เพราะเหมือนทำตัวเป็นนักเลงโต bully ชาวบ้าน ซึ่งในปัจจุบันจีนเองก็มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์นี้เช่นกัน และสิ่งนี้ก็ยิ่งตอกย้ำเพิ่มเติม
และที่สำคัญเมื่อไปขู่เขาแล้ว พอเขาไม่ฟังแล้วจะทำอย่างไรต่อ? เพราะการมีท่าทีที่แข็งกร้าวมาก มันเหมือนกับการปิดทางถอยของตนเองอย่างหนึ่ง ซึ่งในทางการทูตมันไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก
แต่จีนในปัจจุบันก็อาจคิดว่าเขาไม่ต้องแคร์ใคร
-
ปฏิกิริยาฟาดงวงฟาดงาของจีนในขณะนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และเห็นด้วยว่าจีนก็ต้องทำแบบนี้ เพียงแต่หวังว่าข่าจีนจะไม่แรงไปกว่านี้จนเกิดสิ่งที่ไม่มีใครอยากเห็น หวังว่าทางจีนคงจะคำนึงได้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น ไม่ได้ใหญ่โตมีอำนาจเหมือนประธานาธิบดีจีน ที่จะชี้นิ้วสั่งใครๆในประเทศตนได้หมด
-
และว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว การเยือนไต้หวันของนาง Pelosi แทบไม่เปลี่ยนอะไรในแง่สถานะสภาพการณ์ในพื้นที่ situation on the ground เลย พอกลับแล้วก็หวนเข้าสู่สถานะภาพก่อนหน้า จะมีแต่ก็ชาวไต้หวันที่พออุ่นใจขึ้นบ้างในแง่จิตใจ แต่ก็แค่นั้น
-
จึงหวังว่าทางจีนจะฟาดงวงงาในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้สถานการณ์ทรุดหนักไปกว่านี้ ซึ่งผมเชื่อว่าระดับผู้นำจีนฉลาดพอ
-
ถ้าจะมีอะไรที่ผมกังวลก็คือ หากเกิดความผลิกผันไม่คาดฝันเกิดขึ้น บรรดาคนในรัฐบาลของลุงยามแถวนี้ ดูแล้วไร้ซึ่งฝีมือความรู้ความสามารถเพียงพอที่ระดับมือกับวิกฤติการณ์ของโลกในระดับนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
นี่แหละครับ ที่ผมห่วง .....