วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 18, 2565

ทำไมการยกเลิกหนี้การศึกษาถึงยุติธรรมกับทุกคน


ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ
April 5

ทำไมการยกเลิกหนี้การศึกษาถึงยุติธรรมกับทุกคน
.
โดย วริษา สุขกำเนิด
.
ข้อโต้แย้งหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับการเรียกร้องยกเลิกหนี้กยศ. คือ การยกเลิกหนี้กยศ.สำหรับผู้ที่กำลังเป็นหนี้ในปัจจุบัน จะสร้างความไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ชำระค่าหนี้ของตนเองสำเร็จแล้ว ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอยกข้อโต้แย้งของ Ben Burgis อาจารย์คณะปรัชญา มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ ว่าการยกเลิกหนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นธรรมกับทุกคนเท่านั้น แต่เรายังควรทำให้สถานศึกษาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย
การเรียกร้องให้ยกเลิกหนี้กยศ.ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเพียงที่เดียว ในสหรัฐอเมริกากระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกหนี้การศึกษาก็เกิดขึ้นเช่นกัน ช่วงก่อนเลือกตั้งประธานธิบดีปี 2020 เบอร์นี แซนเดอร์ หนึ่งในผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตได้รณรงค์นโยบายยกเลิกหนี้การศึกษาทั้งหมด เหตุผลของเขาคือการศึกษาไม่ควรจะต้องทำกำไร และไม่ควรมีใครติดหนี้จากการบริการของภาครัฐที่มาจากภาษีของประชาชน
ภายหลังการยกเลิกแคมเปญของแซนเดอร์ และต่อมาโจ ไบเดนผู้สมัครจากพรรคเดียวกันได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี นายชัค ชูเมอร์ หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภานิวยอร์คก็ได้เสนอให้ไบเดนยกเลิกหนี้การศึกษา 50,000 ดอลล่าร์แรกของนักศึกษาผู้กู้ทุกคนผ่านคำสั่งบริหาร ทว่าไบเดนได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และมาพร้อมกับข้อเสนอที่ว่า เขาจะยกเลิกหนี้การศึกษา เฉพาะหนี้ที่มาจากเอกชน และไม่ได้มาจากรัฐ ไม่เกิน 10,000 ดอลล่าร์ สำหรับนักศึกษาที่ “มีความขาดแคลนทางการเงิน” เท่านั้น
แม้ว่าข้อเสนอการยกเลิกหนี้การศึกษาจะถูกปัดตกไป แต่การถกเถียงว่าด้วยการยกเลิกหนี้นั้นยังคงอยู่ หนึ่งในนั้นคือการยกเลิกหนี้กยศ.จะสร้างความไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ชำระค่าหนี้ของตนเองสำเร็จแล้ว Ben Burgis ได้โต้แย้งข้อโต้แย้งดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
การยกเลิกหนี้การศึกษายุติธรรมกับทุกคน
ในข้อโต้แย้งที่ว่า “การยกเลิกหนี้กยศ.จะสร้างความไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ชำระค่าหนี้ของตนเองสำเร็จแล้ว” Burgis ก็โต้กลับว่า หากเป็นเช่นนั้น การดำเนินการอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตของคนในปัจจุบันดีขึ้นก็ล้วนแต่ไม่ยุติธรรมกับคนในอดีตเช่นกัน
Burgis ได้ยกตัวอย่างทางความคิดมา 3 ข้อ
A: พรบ. ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้คนไม่ต้องจ่ายประกันสุขภาพเอกชนราคาแพง จ่ายร่วม หรือไม่มีเงินรักษา จะเป็นการไม่ยุติธรรมกับคนที่เคยจ่ายค่ารักษาเองหรือไม่
B: การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย จะสร้างความไม่ยุติธรรมกับผู้ที่เคยจากค่าปรับหรือติดคุกเพราะกัญชาหรือไม่ - แน่นอนว่า การให้พวกเขาเหล่านั้นติดคุกหลังจากการทำให้กัญชาถูกกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะหยุดการทำให้กัญชาถูกกฎหมายเพียงเพราะจะรักษความยุติธรรมให้กับผู้ติดคุก
C: หากสัตว์ประหลาดที่อาศัยอยู่มุมเมืองคอยแทะเล็มอวัยวะคนที่เดินผ่านไปผ่านมา และหลังจากนั้น 1 ปีเมืองจึงจะหานักล่าสัตว์ประหลาดมาฆ่ามันได้ ในกรณีนี้ถือว่าคนที่โดนสัตว์ประหลาดกัดนิ้วขาดไม่ได้รับความยุติธรรมหรือไม่ - ในด้านหนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้รับความยุติธรรม ด้วยเหตุที่ว่าเมืองใช้เวลานานเกินไปกว่าจะหาคนมาฆ่าสัตว์ประหลาดได้ จนเขานิ้วขาดไปแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ยุติธรรมที่จะจบปัญหาด้วยการฆ่าสัตว์ประหลาด ในกรณีนี้รัฐสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้กับเหยื่อ เพื่อทดแทนที่รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้เป็นระยะเวลานาน
จาก 3 ตัวอย่างความคิดข้างต้น Burgis สรุปว่า หากมีปัญหาในสังคมสั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน แล้วเราต้องการดำเนินการเพื่อแก้ไขมัน แน่นอนว่ามันต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามาก่อนหน้า สิ่งที่เราควรทำคือ (1) แก้ไขปัญหานั้นเพื่อไม่ให้คนได้รับผลกระทบจากมัน หือไม่ให้คนอื่นๆได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น (2) ชดเชยหรือเยียวยาให้กับคนที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว
ดังนั้น สำหรับข้อโต้แย้งนี้เขาจึงมีคำตอบว่า การยกเลิกหนี้ไม่ได้สร้างความอยุติธรรมให้กับผู้ที่จ่ายหนี้ไปแล้ว เพราะหนี้ต่างหากคือความอยุติธรรม เราควรทำคือ (1) หยุดปัญหาหนี้ที่ทุกคนได้รับผลกระทบจากมัน (2) ชดเชยให้กับคนที่เคยจ่ายหนี้ (หากเป็นไปได้)
2. นอกจากยกเลิกหนี้แล้ว ค่าเล่าเรียนควรจะฟรีด้วย
Burgis กล่าวว่า ข้อกังขาว่าด้วยความไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ชำระหนี้สำเร็จแล้วอาจจะมาพร้อมกับข้อโต้แย้งต่อการยกเลิกหนี้การศึกษาอีกสองข้อที่เกิดขึ้นคือ (1) ในกรณีของสหรัฐอเมริกา การยกเลิกหนี้เท่ากับการเอื้อประโยชน์ให้กับนักศึกษา ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลางหรือสูงที่สามารถเข้าถึงอภิสิทธิ์ต่างๆได้อยู่แล้ว (Regressiveness) และ (2) มันจะนำมาซึ่ง สภาวะภัยด้านศีลธรรม (​Moral Hazard) ได้
ในข้อกังขาแรก ว่าด้วยการยกเลิกหนี้เท่ากับการเอื้อประโยชน์ให้กับนักศึกษา ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลางหรือสูงที่สามารถเข้าถึงอภิสิทธิ์ต่างๆได้อยู่แล้ว Burgis ตอบว่า จริงอยู่ที่ในอเมริกา คนที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้คือผู้ที่มีทุนในชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย แต่ปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ (1) นักศึกษาลูกหนี้ที่มีทุนน้อยกว่าลูกหนี้คนอื่นๆ ต่างประสบปัญหาในการชำระหนี้มากกว่าลูกหนี้คนอื่นๆ และ (2) ผู้ที่มีทุนน้อยไม่อยากส่งลูกหลานตัวเองเข้ามหาวิทยาลัย เพราะมีราคาแพงเกินไป
ส่วนข้อกังขาที่สอง ว่าด้วยสภาวะภัยด้านศีลธรรม เขาตอบว่า จริงอยู่ที่การยกเลิกหนี้ ณ ขณะนั้นจะทำให้นักศึกษาที่เคยเพิ่งพาเงินกู้ยืมต้องรับภาระทางการเงินด้วยตัวเอง และหาเงินจากทางอื่นมากู้ยืม ดังนั้น การยกเลิกหนี้โดยไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมทางการศึกษาที่ซ่อนอยู่อาจทำให้ปัญหาย้อนกลับมาที่เดิมได้
อย่างไรก็ดี เขาได้โต้แย้งว่าข้อกังขาสองข้อนั้นไม่เพียงพอต่อการคัดค้านการยกเลิกหนี้ ในทางกลับกัน มันกลับเป็นเหตุผลที่สร้างระบบการศึกษาสถาบันการศึกษาขั้นสูงอย่างมหาวิทยาลัย และสถานศึกษาเฉพาะทางสามารถเข้าถึงได้ฟรี ซึ่งหากเรียนฟรีเกิดขึ้นได้จริงแล้ว นักศึกษาก็ไม่ต้องกู้ยืมและติดหนี้การศึกษาอีกต่อไป
ดังนั้น การยกเลิกหนี้การศึกษาจะทำได้ หากสถานศึกษาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและถ้วนหน้า
อ้างอิง
Ben Burgis. (2020). It’s Not That Complicated. Cancelling Student Debt Is Good. Retrieved on March 15th, 2022 from https://jacobinmag.com/.../11/cancel-student-loan-debt-biden