วันจันทร์, สิงหาคม 15, 2565

ปัญหาการห้ามหมิ่นศาสนา/กษัตริย์


สุรพศ ทวีศักดิ์
18h

ปัญหาการห้ามหมิ่นศาสนา/กษัตริย์
หนึ่ง การห้ามหมิ่นศาสนา/กษัตริย์ คือการห้ามสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะในเมื่อศาสนา/กษัตริย์มีอำนาจทางวัฒนธรรมและทางการเมืองมาก จึงเป็นไปได้เสมอที่จะมีคนตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์
สอง เมื่อมีการห้ามหมิ่น ย่อมทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่บรรดาคนที่รักและคลั่งคอยสอดส่องจับผิดใครก็ตามที่ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ หรือพูดถึงศาสนา/กษัตริย์ในทางตรงข้ามกับความเชื่อของพวกเขา หรือใช้คำพูด ท่าทีที่พวกเขาไม่พอใจ พวกเขาก็จะตีความว่าเป็นการ "หมิ่น" ได้ทั้งนั้น ความหมายของการหมิ่นศาสนา/กษัตริย์จึงถูกตีความได้ครอบจักรวาล
สาม เมื่อความหมายของการหมิ่น "ตีความได้ครอบจักรวาล" การสร้างความเชื่อหรือมีกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนา/กษัตริย์ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวจำเป็นต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย, ประโยชน์สุขส่วนรวม และความก้าวหน้าของมนุษย์มากกว่า ขณะที่การห้ามหมิ่นเป็นประโยชน์ต่อองค์การศาสนาและชนชั้นปกครองซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น
สี่ การสร้างความเชื่อและมีกฎหมายห้ามหมิ่นไม่ได้สร้างความสามัคคีได้จริง มีแต่เป็นเงื่อนไขให้พวกรัก พวกคลั่งใช้ความเชื่อและกฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงานคนที่คิดที่เชื่อต่างพวกตน หรือคู่แข่งทางการเมืองของพวกตน
ดังนั้น การสร้างความเชื่อและมีกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนาและกษัตริย์จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพ, ประชาธิปไตย ประโยชน์สุขส่วนรวม เป็นเงื่อนไขสร้างความแตกแยกและทำลายคนคิดต่างหรือคู่แข่งทางการเมือง โดยพวกรัก พวกคลั่งอาจใช้ทั้งวิธีนอกกฎหมายและใช้กฎหมายอย่างขัดหลักนิติรัฐทำร้ายคนคิดต่างได้เสมอ
การไม่มีกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนา/กษัตริย์ จะส่งเสริมวัฒนธรรมเคารพและอดกลั้นต่อความคิดความเชื่อที่แตกต่างมากกว่า เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยและความก้าวหน้าทางสติปัญญาของมนุษย์มากกว่า