วันเสาร์, ตุลาคม 12, 2567

ขายตรง หรือ แชร์ลูกโซ่ ? ดูเคสตัวอย่าง Herbalife ของเมกา - FTC ตั้งข้อกล่าวหาต่อ Herbalife ว่าบริษัททำการหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจว่า สามารถมีรายได้อย่างมหาศาลจากการเป็นตัวแทน และโมเดลธุรกิจของบริษัทซึ่งจูงใจให้คนที่เข้ามาในระบบไปชักชวนเกณฑ์ คนเข้ามาเพื่อจะได้ขึ้นไปตำแหน่งสูงขึ้น


นิทานไม่มีชื่อ
2 days ago
·
ขายตรง หรือ แชร์ลูกโซ่ ?
Herbalife สังเวียนรบ ระหว่าง 2 Hedge Fund ระดับโลก
ในโลกการเงิน ไม่มีใครไม่รู้จัก Bill Ackman แห่ง Pershing Square และ Carl Icahn แห่ง Icahn Enterprises ทั้งสองมีชื่อในฐานะนักลงทุน,เก็งกำไร ในสไตล์ Activist shareholders คือการเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท และเสนอเข้าไปเป็นกรรมการ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายบริหาร และทำกำไร
จริงๆทั้งสองก็มีสไตล์การลงทุนหลายรูปแบบ อย่าง Bill Ackman ก็โด่งดังมากในช่วงเกิดโควิด เพราะทำกำไรจากการซื้อ Option Credit default swap ไว้จนได้กำไรหลายพันล้าน (จริงๆเขาก็เอาไว้ Hedge กับพอร์ทลงทุนนะครับ) เอาเป็นว่าทั้งสองคือยอดฝีมือละกัน
นักลงทุนชื่อดังทั้ง 2 มีโอกาสได้มาปะทะกันในช่วงปี 2013 หลังจากที่ Ackman เข้า Short หุ้น Herbalife ตอนปี 2012 (Short คือการทำกำไรโดยยืมหุ้นมาจากคนอื่นขายที่ราคาปัจจุบัน โดยหวังว่าจะซื้อกลับไปคืนคนที่ยืมมาในราคาที่ต่ำกว่าราคาขาย)
สาเหตุที่ Ackman เข้า Short แล้วออกมาป่าวประกาศให้สาธารณชนทราบ ก็เพราะเขาเชื่อว่า Herbalife ซึ่งเป็นบริษัทขายอาหารเสริม วิตามินต่างๆ มีโมเดลธุรกิจในลักษณะของการเป็นแชร์ลูกโซ่ (Ponzi scheme) และเขาเชื่อว่าสุดท้ายบริษัทจะต้องพังลงไปจนมูลค่าเหลือ 0 แล้วเขาจะทำกำไรได้มหาศาลนั่นเอง
แต่ Carl Icahn มองต่างออกไป คือเชื่อว่า Herbalife ก็ทำธุรกิจปกตินะ แล้วก็บอก Bill Ackman ในการสัมภาษณ์สดว่า Ackman เป็นพวกโกหก เป็นเด็กขี้แย (Crybaby) ซึ่ง Icahnไม่แค่พูดเท่านั้น แต่ยังเข้าซื้อหุ้น Herbalife จนถือหุ้นเกิน 15% อีก เรียกว่าวัดกันไปเลย
จุดจบของศึกระหว่างทั้งสองคน คือ Ackman พ่ายแพ้เละเทะ และขาดทุนไปน่าจะประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะราคาหุ้น Herbalife ไม่ยอมลงมาเลย เป็นเวลาหลายปี แถมยังขึ้นเอาๆ คุณ Ackman เลยยอมมอบตัวปิด Position ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้
ยังไงก็ดี ไม่ใช่ว่าข้อกล่าวหาของ Bill Ackman จะเลื่อนลอยไปทั้งหมด เพราะในช่วงเวลาที่เกิดการกล่าวหา สำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC) ก็ไม่นิ่งนอนใจ และเข้าตรวจสอบเช่นกัน
จากการตรวจสอบ FTC ก็ตั้งข้อกล่าวหาต่อ Herbalife ว่าบริษัททำการหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจว่า สามารถมีรายได้อย่างมหาศาลจากการเป็นตัวแทน และโมเดลธุรกิจของบริษัทซึ่งจูงใจให้คนที่เข้ามาในระบบไปชักชวนเกณฑ์ (recruit) คนเข้ามาเพื่อจะได้ขึ้นไปตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งการเลื่อนชั้นนี้ไม่ได้เกิดจากการขายสินค้าให้กับคนที่มีความต้องการจริงๆ ถือเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามบัญญัติของ FTC
การตั้งข้อกล่าวหานำไปสู่บทสรุปคือ FTC ไม่ได้บอกว่า Herbalife เป็นบริษัทแชร์ลูกโซ่ แต่ถึงจะไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ ก็มีการปรับเงินบริษัทจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐอยู่ดี(Herbalife มีกำไรอยู่ราวๆ 300-350 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในช่วงก่อนจะโดนปรับ)
รวมทั้งมีคำสั่งให้ Herbalife จะต้องเลิกให้ผลตอบแทนโดยอิงกับการ recruit คนเข้ามาเพื่อสร้าง downline แล้วก็ให้คนเหล่านี้ซื้อเหมาสินค้าทีละเยอะๆ แล้วก็ไปทำซ้ำต่อลงไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ย้อนกลับมาที่คนข้างบน
โดยตามการปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้คำสั่งของ FTC บริษัทจะต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้เข้าร่วมโดยอิงจากหลักที่ว่ามีการ "ขาย" สินค้าให้ผู้ต้องการใช้จริงๆ ไม่ใช่ไปหาคนเข้ามา "ซื้อ" ของไปสะสมไว้ (รูปที่ผมแปะมาคือสรุปคร่าวๆจาก FTC นะครับ ลองอ่านได้)
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ Herbalife ก็ยังคงดำรงธุรกิจต่อมาเรื่อยๆ ภายใต้การตรวจสอบของ FTC ซึ่งภายใต้ช่วงเวลานี้ บริษัทก็สร้างรายได้ และกำไรได้จริง ช่วงโควิดก็กำไรค่อนข้างดี ก่อนจะตกลงมาอีกครั้งในปัจจุบัน (แต่ราคาหุ้นปัจจุบันก็ต่ำกว่าตอนที่ Ackman ปะทะกับ Icahn นะ)
จะเห็นว่าสิ่งสำคัญของคำสั่งของ FTC คือการทำให้เห็นว่า โมเดลธุรกิจแบบที่เน้นให้คนซื้อสะสมสินค้าหรือของจำนวนมาก ไปเกณฑ์คนเข้ามาเยอะๆ และพยายามทำให้คนที่ถูกเกณฑ์ไปทำซ้ำเช่นเดียวกัน ออกเงินไปก่อนเพื่อซื้อของสะสมไว้ แล้วไปสร้าง downline ต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ เป็นเรื่องผิด ถึงแม้บริษัทจะไม่ได้ถูกนิยามให้เป็นแชร์ลูกโซ่ก็ตาม
และเป็นสาเหตุให้มีการปรับเงิน 200 ล้าน ซึ่งสุดท้ายทาง FTC ก็ส่งคืนให้กับผู้เสียหายครับ
.....


link ของทาง FTC ครับ
https://www.ftc.gov/.../its-no-longer-business-usual...