วันเสาร์, สิงหาคม 20, 2565

ใครรัก ‘การอ่าน’ เชิญทางนี้


a day BULLETIN
August 17

[Good News - People]
เพราะ ‘การอ่าน’ ช่วยเพิ่มพูนความรู้ มากไปกว่านั้น ในบางพื้นที่ การอ่านยังช่วยชโลมจิตใจของผู้คนให้มีความสุขสงบ ท่ามกลางเปลวไฟแห่งสงคราม
.
เหมือนดังเช่นที่ประเทศซีเรีย มีชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ในเมือง Tartus เขามีชื่อว่า Mohamed Zaher ได้ตัดสินใจสร้าง ‘ตู้หนังสือ’ ไว้ใจกลางเมือง ภายในบรรจุหนังสือจำนวนมากมายกว่าสองพันเล่ม โดยเปิดให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา ได้เข้ามาอ่านแบบฟรีๆ
.
Mohamed ในวัย 32 ปี เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Wisdom Seller โครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมโยงชาวซีเรียเข้าสู่โลกแห่งการอ่านที่นับวันจะสูญหายไปในสังคม โดยเหตุที่ทำให้เขามีอุดมการณ์อย่างแรงกล้านี้ เป็นเพราะเคยต้องไปรับใช้ชาติ และต้องอยู่ท่ามกลางสงครามอันเลวร้าย แต่ในระยะเวลา 7 ปีนั้น การอ่านหนังสือเป็นทางออกเดียว ที่ช่วยทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด
.
“การพลิกหน้าหนังสือไปทีละหน้า ช่วยทำให้ผมผ่านพ้นไปในแต่ละวัน รวมทั้งก้าวออกจากความน่ากลัวของสงคราม ผมเชื่อว่าหนังสือสามารถลบภาพสงครามอันเลวร้ายของชาวซีเรียลงได้” Mohamed กล่าว
.
แม้จะอยากเผยแพร่ให้ผู้คนอ่านหนังสือให้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริง หนังสือกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำ นอกจากนี้โรงพิมพ์หลายแห่งยังถูกรื้อถอน ร้านหนังสือถูกปิดนับไม่ถ้วน ไม่นับการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่หันไปอ่านหนังสือในอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดทั้งมวล หนังสือจึงกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่ชาวซีเรียจะนึกถึง
.
แต่ถึงอย่างนั้น Mohamed ก็ไม่ท้อใจ เขาสร้างตู้ไม้ที่ภายในบรรจุหนังสือกว่าสองพันเล่ม โดยนำไปตั้งอยู่ใจกลางเมือง Tartus พร้อมกับเชิญชวนให้ผู้คนที่ผ่านไปมา ได้ทดลองหยิบหนังสือมานั่งอ่านบนโต๊ะและเก้าอี้ที่เตรียมเอาไว้ แถมว่าถ้าหากใครอ่านหนังสือได้เกิน 15 หน้าขึ้นไป จะได้รับกาแฟฟรีหนึ่งแก้วอีกด้วย
.
Ali Shaqra ชายวัย 35 ปี เป็นผู้หนึ่งที่ถูกใจตู้ไม้ของ Mohamed เป็นอย่างมาก ที่นี่กลายเป็นแหล่งความรู้ให้กับเขา แถมเขายังได้เจอกับ Loujain Al-Owair หญิงสาวที่รักการอ่านเหมือนกัน ทำให้ทั้งคู่ตกลงแต่งงานกันในเวลาต่อมา “มันเป็นสถานที่ที่ผมได้รับความรู้และพบปะผู้คนที่น่าสนใจ รวมทั้งได้พบกับภรรยาอีกด้วย”
.
Ghada Aizouqi สุภาพสตรีชาวเมือง Tartus วัย 45 ปี เป็นสมาชิกตัวยงของตู้ไม้แห่งนี้เช่นกัน เธอมักมาเลือกหาหนังสือและนั่งลงบนเก้าอี้เพื่ออ่านมันด้วยความสบายใจ
.
“การได้ถือหนังสืออยู่ในมือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะที่ผ่านมา ราคาของมันสูงขึ้นจนฉันต้องหันไปอ่านจากในอินเทอร์เน็ต แต่นับตั้งแต่มีโครงการของ Wisdom Seller ฉันก็มักจะมาที่นี่ทุกวัน และอ่านหนังสือไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงเป็นประจำ” Ghada Aizouqi บอก
.
นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการจนถึงปัจจุบัน มีผู้อ่านแวะเวียนมาใช้บริการที่นี่กว่าสองหมื่นคนแล้ว มากไปกว่านั้น ที่นี่ยังคละเคล้าไปด้วยผู้คนหลากหลายวัย ยกตัวอย่างเช่น Amr Ali แขกประจำวัย 12 ปี ที่แวะเวียนมาอ่านหนังสืออยู่ไม่ขาด
.
“ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อดื่มกาแฟ แต่มาเพื่อความสุขในการอ่าน” Amr บอกพร้อมรอยยิ้ม
.
แม้จะเป็นตู้ไม้ขนาดไม่ใหญ่โตอะไร แต่ Mohamed ก็สามารถหาวิธีการเพิ่มพูนหนังสือให้มีความแปลกใหม่ได้อยู่เสมอ “ผู้มาใช้บริการสามารถนำหนังสือกลับบ้านได้ หากพวกเขานำหนังสือเล่มอื่นมาแทนที่”
.
โครงการ Wisdom Seller ดำเนินไปด้วยดี แต่ถึงอย่างนั้น จำต้องแบกค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ไม่น้อย Mohamed บอกว่า เขาต้องหาเงินราว 200 ดอลลาร์ฯ (ประมาณ 7,000 บาท) เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเป็นความโชคดีที่มีผู้ที่มีฐานะดี หลายคนพอทราบข่าวของโครงการ ก็บริจาคเงินเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้โครงการได้ไปต่อ
.
Mohamed ตั้งใจว่าจะสานต่อโครงการต่อไปให้ยาวนานที่สุด และหวังที่จะขยายจำนวนนักอ่านให้เพิ่มมากขึ้น มันไม่ใช่แค่การได้จำนวนคนที่รักหนังสือมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้คนของสังคมนี้ ‘รอบรู้’ มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
__
#adayBULLETIN #ConversationsForAll #GoodNews