วันเสาร์, สิงหาคม 20, 2565
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ชวนพวกเรา 'ตามหา(ย)บุคคลในภาพ'
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ชวน 'ตามหา(ย)บุคคลในภาพ'
2022-08-19
ประชาไท
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา นำภาพถ่ายมาเผยแพร่ พร้อมกับตามหาบุคคลในภาพก่อนที่จะสูญหายไปในชื่อ กิจกรรมตามหา(ย)บุคคลในภาพ รวมทั้งชวนสาธารณะส่งมอบเอกสารหลักฐานต่างๆ มายังโครงการ
19 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา- October 6 Museum Project นำภาพถ่ายเหล่านี้มาเผยแพร่พร้อมกับตามหาบุคคลในภาพก่อนที่จะสูญหายไปในชื่อ กิจกรรมตามหา(ย)บุคคลในภาพ และจะเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหานิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ (6 October: Facing Demons)”
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ระบุที่มาของกิจกรรมนี้ว่า 46 ปีผ่านไป พวกเขาและเธออยู่ที่ไหน ตอนนี้ยังสบายดีอยู่มั้ย เราอยากพบคุณ มาช่วยเล่าเรื่องราวในวันนั้น คืนวันที่ 5 ถึงเช้าวันที่ 6 ต.ค. 2519 ในกิจกรรมตามหา(ย)บุคคลในภาพ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ (6 October: Facing Demons) ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-30 ต.ค.65 ที่กินใจ คอนเทมโพรารี (Kinjai Contemporary) ซึ่งจะเป็นการนำภาพถ่ายจากช่างภาพไทยกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่มีการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะมาก่อนผ่านการคัดสรรและร้อยเรื่องราวจัดแสดง ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าไม่มีการเผยแพร่ภาพถ่ายเหล่านี้คงจะสูญหายไปจากความทรงจำหรือบันทึกประวัติศาสตร์ แม้ภาพถ่ายที่เพิ่งค้นพบไม่ได้บ่งชี้ถึงหลักฐานใหม่ แต่ให้รายละเอียดและข้อมูลใหม่ เช่น จุดที่มีนักศึกษา ประชาชนถูกยิงหรือทำร้ายเสียชีวิต ใบหน้าและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เหตุการณ์และบรรยากาศช่วงก่อนและหลังการล้อมปราบ
ภาพถ่ายคือหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่บันทึกความรุนแรงจากรัฐและมวลชนในวันดังกล่าว โดยที่ผ่านมากระจัดกระจายไปตามสำนักงานหนังสือพิมพ์ สำนักข่าวต่างประเทศ และบุคคล ภาพถ่ายส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดทำข้อมูล เช่น ระบุช่างภาพ สถานที่ หรือช่วงเวลา อีกทั้งภาพจำนวนมากยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะ
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ได้รับฟิล์มขาวดำจำนวน 14 ม้วนจากช่างภาพไทยกลุ่มหนึ่ง ภาพเหล่านี้ยังไม่มีการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ แม้ภาพที่เพิ่งค้นพบไม่ได้บ่งชี้ถึงหลักฐานใหม่ แต่ให้รายละเอียดและข้อมูลใหม่ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐและผู้คนที่เกี่ยวข้อง จุดที่มีนักศึกษาประชาชนถูกยิงหรือทำร้ายเสียชีวิต ใบหน้าและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เหตุการณ์และบรรยากาศช่วงก่อนและหลังการล้อมปราบ นอกจากนั้น โครงการได้สืบค้นภาพเพิ่มเติมจากศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจำนวน 750 ภาพ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ให้รายละเอียดใหม่และยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อน
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาวางแผนจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ” จำนวน 50-60 ภาพ ภายใต้ธีม “ปิศาจอยู่ในรายละเอียด” หรือ “The devil is in the detail” โดยจัดกลุ่มภาพออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ดังนี้ 1. สืบค้นข้อเท็จจริง (investigation) 2. อารมณ์ความรู้สึก (emotion)
โดยภาพที่นำเสนอพิจารณาจาก 1) เป็นภาพที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน 2) เป็นภาพที่อาจคุ้นเคย แต่ไม่เคยให้เห็นรายละเอียดของ “ปีศาจ” ที่ซ่อนอยู่ เช่น ภาพ “ตอกอก” ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งหากขยายจะเห็นยอดเจดีย์ของวัดพระแก้วอยู่ข้างหลัง และ 3) เป็นภาพที่อาจไม่เคยเห็นความเชื่อมโยง แต่เมื่อจัดกลุ่มเหตุการณ์ในภาพ จะเห็นความเชื่อมโยงของผู้คนและเหตุการณ์
นิทรรศการภาพถ่าย “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ” เชิญชวนสาธารณะสืบหา “ปิศาจ” ที่อยู่ในรายละเอียดภาพถ่าย 6 ตุลาที่เพิ่งค้นพบใหม่ และเชิญชวนสาธารณะส่งมอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มายังโครงการ ควบคู่กับนิทรรศการ โครงการฯ จะจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การตามหาผู้คนในภาพถ่าย ภาพยนตร์สารคดี และงานเสวนา
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเจาะลึกแบบขยายผลผ่านนิทรรศการภาพถ่ายจะกระตุ้นให้สาธารณะเห็นภาพกว้างของการเมืองไทยชัดเจนยิ่งขึ้น การมองลึกลงไปในภาพถ่าย 6 ตุลาจะทำให้เห็นการเมืองไทยในภาพใหญ่ และเกิดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมการเมืองต่อไป