วันอังคาร, สิงหาคม 16, 2565

สภาล่มตามคาด กลับไปใช้สูตรหาร 100 (ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน)


iLaw
15h

ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ได้ข้อยุติ! กลับไปใช้สูตรหาร 100 (ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน)
.
15 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. แต่หลังการเริ่มประชุมเพียงไม่นาน พบว่า จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมรัฐสภามีเพียง 353 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม สุดท้าย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาจึงสั่งปิดการประชุม
.
อย่างไรก็ดี วันที่ 15 สิงหาคม 2565 เป็นวันสุดท้ายที่รัฐสภาต้องพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากพิจารณาไม่ทัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ประกอบข้อบังคับการประชุมข้อที่ 101 ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่เป็นร่างหลักในการพิจารณวาระสอง กล่าวคือ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.)
.
โดยสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับ ครม. คือ การใช้สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบ “สูตรหารร้อย” หรือ ระบบ Mixed Member Majoritarian หรือ MMM หรือระบบที่คนนิยมเรียกว่า "ระบบคู่ขนาน" (Parallel System) เนื่องจากเป็นระบบการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบแยกขาดออกจากกัน ผ่านบัตรเลือกตั้งสองใบ
.
โดยรายละเอียดของระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานมีดังนี้
.
1) บัตรเลือกตั้งใบที่หนึ่ง เลือก "ส.ส. เขต" ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดได้เป็น ส.ส.
.
ตามร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้มี ส.ส.เขต จำนวน 400 คน จาก 400 คน (หนึ่งเขต-หนึ่งคน) โดยผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขต คือผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้น และมีคะแนนมากกว่าคะแนนเสียงของผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน โดยประชาชนทุกคนจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้เพียงหนึ่งคะแนน
.
ยกตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้ง A มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 3 คน ได้แก่ นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. โดยผลการเลือกตั้งปรากฎว่า
.
๐ นาย ก. ได้ 35 คะแนน
๐ นาย ข. ได้ 25 คะแนน
๐ นาย ค. ได้ 40 คะแนน
.
แปลว่า นาย ค. จะเป็นผู้ชนะและได้รับเลือกเป็น ส.ส. ของเขต A
.
สำหรับวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง มีขั้นตอนดังนี้
.
1) เอาจำนวนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ส.ส. มาเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยจำนวน ส.ส. เขต (400 คน)
2) นำค่าเฉลี่ยที่ได้ ตามข้อ (1) มาหารจำนวนราษฎรในแต่ละจังหวัด เพื่อหาจำนวน ส.ส.เขตที่แต่ละจังหวัดพึงมี
3) ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส. เขต 1 คน
4) ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) ให้เพิ่ม ส.ส. เขต 1 คน ในทุกๆ จำนวนราษฎรที่ครบตามค่าเฉลี่ย
5) ในกรณีที่ยังได้ ส.ส. เขต ไม่ครบ 400 คน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด มี ส.ส. เขต เพิ่ม 1 คน จนกว่าจะครบจำนวน
.
ยกตัวอย่างเช่น
.
ถ้าจำนวนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ส.ส.เขต เท่ากับ 60,000,000 คน และ ส.ส.เขต มีทั้งหมด 400 คน ดังนั้น ค่าเฉลี่ยระหว่าง "จำนวนราษฎร" กับ "ส.ส. เขต" ให้คำนวณจากการนำ 60,000,000 มาหารด้วย 400 เท่ากับ 150,000 จากนั้นให้นำตัวเลข 150,000 ดังกล่าวไปหารกับจำนวนราษฎรในแต่ละจังหวัด
.
ถ้าจังหวัด A มีราษฎร 140,000 คน หมายความว่า มีจำนวนราษฎรน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยระหว่างจำนวนราษฎรกับจำนวน ส.ส. เขต (150,000) ดังนั้น จังหวัด A จึงมี ส.ส. เขต 1 คน
.
ถ้าจังหวัด B มีราษฎร 600,000 คน จังหวัด B จะมี ส.ส. เขต 4 คน เพราะจังหวัด B มีจำนวนราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างจำนวนราษฎรกับจำนวน ส.ส. เขต (150,000) เป็น 4 เท่า จึงทำให้จังหวัด B มี ส.ส. เขต 2 คน
.
ถ้าจังหวัด C มีราษฎร 290,000 คน จังหวัด C จะมี ส.ส. เขต 1 คน เพราะแม้จังหวัด C จะมีจำนวนราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างจำนวนราษฎรกับจำนวน ส.ส. เขต (150,000) แต่เมื่อนำค่าเฉลี่ยไปหารกับจำนวนราษฎรในจังหวัด C แล้ว ได้แค่ 1 พร้อมกับเหลือเศษ ดังนั้น จึงให้มี ส.ส.เขต เพียงแค่ 1 คน แต่จังหวัด C ก็ยังมีโอกาสที่จะมี ส.ส.เขต เพิ่มอีก 1 คน ในกรณีที่ยังจัดสรรจำนวน ส.ส.เขต ทั่วประเทศ ไม่ครบ 400 คน และจังหวัด C ต้องมีเศษเหลือจากการคำนวนที่นั่ง ส.ส.เขต มากที่สุด
.
2) บัตรใบที่สอง เลือก "พรรคการเมือง" ใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
.
ตามร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้วิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาจากการคำนวณตามสัดส่วนคะแนนที่พรรคได้รับ โดยมีวิธีการคำนวณ ดังนี้
.
1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหารด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ (100)
2) นำผลลัพธ์ตาม ข้อ 1. ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของแต่ละพรรคการเมืองเพื่อหาจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะมีได้
.
หรือถ้าแปลงเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ คือ คะแนนเสียงของพรรค ÷ คะแนนเสียงรวม x จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ = จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
.
ยกตัวอย่างเช่น
.
พรรค ก. ได้คะแนน 20 ล้านเสียง
พรรค ข. ได้คะแนน 10 ล้านเสียง
พรรค ค. ได้คะแนน 5 ล้านเสียง
พรรค ง. ได้คะแนน 5 ล้านเสียง
.
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก. = 20,000,000 ÷ 40,000,000 x 100 = 50 คน
.
สำหรับข้อเด่นของระบบเลือกคั้งแบบคู่ขนาน พอจะสรุปได้ดังนี้
.
๐ ระบบเลือกตั้งแบบเขตส่งเสริมให้ผู้แทนกับประชาชนในท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย
๐ ทำให้ประชาชนไม่ต้องชั่งใจเลือกระหว่าง ส.ส.เขต หรือพรรคการเมือง
๐ พรรคการเมืองให้ความสำคัญในการนำนโยบายระดับชาติมาเป็นยุทธศาสตร์ในหาเสียงเลือกตั้ง
๐ รัฐบาลมีเสถียรภาพ
๐ ส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง
๐ เข้าใจง่าย ใช้สิทธิได้อย่างไม่ซับซ้อน
.
ส่วนข้อด้อยของระบบเลือกคั้งแบบคู่ขนาน พอจะสรุปได้ดังนี้
.
๐ ทำให้พรรคขนาดเล็กและขนาดกลางมีน้อยลง
๐ พรรคการที่มีนโยบายสะท้อนความต้องการของกลุ่มตนอาจเข้าสภาได้ยากทำให้สภาขาดความหลากหลาย ไม่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนได้
๐ ความไม่เป็นสัดส่วนระหว่างเสียงกับที่นั่ง ก่อให้เกิดปัญหาพรรคขนาดใหญ่ได้รับจำนวนที่นั่งมากกว่าความจริง
อ่านสรุประบบเลือกตั้งเปรียบเทียบระหว่างสูตรหารร้อยและหารห้าร้อย ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6190
อ่านสรุปเปรียบเทียบระบบเลือกตั้ง MMM MMP MMA ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5886