วันจันทร์, พฤษภาคม 23, 2565
#8ปีคสช คดีจากการแสดงออกของประชาชน มีแต่พุ่งสูงขึ้น
Yingcheep Atchanont
19h
#8ปีคสช
.
วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันครบรอบการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเคยแต่งเพลงที่มีเนื้อหาว่า "ขอเวลาอีกไม่นาน" แต่ในความเป็นจริงก็ยังนั่งครองตำแหน่งนายรัฐมนตรีต่อเนื่องมายาวนานจนเข้าวันครบรอบครั้งที่ 8 ในปี 2565
.
"การปิดกั้น" เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนโดยอาศัยเครื่องมือทางกฎหมาย เป็นโลโก้สำคัญประจำยุคสมัยของ คสช. การเรียกรายงานตัวและส่งคนติดตามไปคุกคามประชาชนที่บ้าน (https://freedom.ilaw.or.th/node/1063) การสั่งห้ามทำกิจกรรมเข้าขัดขวางการจัดกิจกรรม การควบคุมการชุมนุมสาธารณะและใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม (https://freedom.ilaw.or.th/node/1060) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 8 ปี และเครื่องมือที่โดดเด่นเมื่อยังมีประชาชนไม่เชื่อฟัง ก็คือ "การตั้งข้อหา" ดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ
.
แม้จะมีการจัดเลือกตั้งในปี 2562 แต่ก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้กฎกติกา และการควบคุมทั้งหมดของ คสช. https://ilaw.or.th/node/4973 ซึ่งส่งให้ประยุทธ์และผองเพื่อนยังคงอยู่ในอำนาจต่อ https://ilaw.or.th/node/5331 ภายใต้รัฐบาล คสช. 2 ที่มีหน้าตาคล้ายเดิม สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกไม่ได้มีแนวโน้มผ่อนคลายขึ้น เมื่อรัฐบาล คสช.2 ต้องเผชิญกับการต่อต้านของประชาชนที่รุนแรงมากขึ้น การตอบโต้ก็จึงเข้มข้นขึ้น และกลายเป็นว่าสถิติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับประชาชน มีแต่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในทางตัวเลข และในทางการตีความที่มุ่งเอาผิดปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
________
มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ https://freedom.ilaw.or.th/freedom-of-expression-101/QA-112 เป็นข้อหาที่มีโทษสูง และเมื่อนำมาใช้ดำเนินคดีกับใครก็ให้ผลรุนแรงที่สุด เป็นข้อหาทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนต้องเข้าเรือนจำสูงที่สุด มาตรานี้ถูกใช้อย่างหนักในช่วงปี 2557-2558 หลังการรัฐประหาร และใช้กว้างขวางอีกครั้งหลังเหตุการณ์สวรรคคของรัชกาลที่ 9
.
ตลอดเวลาของ คสช.1 https://freedom.ilaw.or.th/changein112 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 98 คน จาก 72 คดี ซึ่งเคยคาดหมายว่าเป็นยุคสมัยที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางที่สุดแล้ว แต่ในยุคของ คสช.2 เมื่อข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ดังขึ้น มาตรา 112 กลับมาอีกครั้งชนิดที่รุนแรงกว่าเดิม ตีความกว้างขวางกว่าเดิม พบปรากฏการณ์ไม่ปกติในกระบวนการยุติธรรมมากกว่าเดิม https://freedom.ilaw.or.th/node/1054 มีคนถูกดำเนินคดีนับถึงวันครบรอบ 8 ปี คสช. อย่างน้อย 194 คน จาก 209 คดี
________
มาตรา 116 หรือความผิดฐาน "ยุยงปลุกปั่น" https://freedom.ilaw.or.th/blog/116NCPO เป็นข้อหาที่ใช้เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ แต่ถูกตีความกว้างขวางใช้กับการแสดงออกที่ต่อต้านรัฐบาล วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือบุคคลสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งใช้กับการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากด้วย https://freedom.ilaw.or.th/node/532 มาตรานี้ถูกใช้อย่างหนักในช่วงปี 2557-2558 หลังการรัฐประหาร ตลอดเวลาของ คสช.1 มีคนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 118 คน จาก 42 คดี ต่อมาในยุคของ คสช.2 ช่วงต้นการดำเนินคดีใหม่ๆ ตามมาตรานี้ยังเกิดขึ้นน้อย มีเพียงการดำเนินคดีย้อนหลังกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักการเมืองฝ่ายค้านที่โดดเด่น https://freedom.ilaw.or.th/th/case/873 แต่เมื่อการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับความไม่มั่นคงของรัฐบาลนี้ สถิติการดำเนินคดีกับประชาชนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 128 คน จาก 42 คดี
________
การ "ชุมนุมทางการเมือง" เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานและไม่ควรเป็นความผิด แต่ในยุค คสช.1 มีการออกทั้งประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เอาผิดกับการ "ชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป" ซึ่งเป็นข้อห้ามค่อนข้างเด็ดขาดที่ไม่อยากให้มีการแสดงออกทางการเมืองเลย ผู้ที่ทำกิจกรรมทางการเมืองตรงข้ามกับ คสช. ยุคแรกถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 421 คน ใน 52 คดี ต่อมาเมื่อใกล้ช่วงเลือกตั้ง หัวหน้า คสช. ก็ยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง ทำให้บรรยากาศควรจะกลับมาเป็นปกติ
.
แต่ก็อยู่ได้เพียงปีเศษเมื่อมีสถานการณ์โควิด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ https://ilaw.or.th/node/6093 และออกข้อกำหนดอย่างน้อย 14 ฉบับ สั่งห้ามการชุมนุม https://ilaw.or.th/node/6101 มีทั้งที่กำหนดจำนวนคนไม่เกินห้าคน หรือมากกว่า และใช้ต่อเนื่องยาวนานกว่าสองปี ท่ามกลางการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกว่า 2,300 ครั้ง https://blog.mobdatathailand.org/ ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1,451 คน จาก 630 คดี https://freedom.ilaw.or.th/node/976
________
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 https://ilaw.or.th/node/4733 เป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ส่งออกไปได้ลำบาก แต่เมื่อเริ่มบังคับใช้ก็ใช้ไปพร้อมกับประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่ห้ามชุมนุม ทำให้การดำเนินคดีแต่ละครั้งผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีหลายข้อหาพร้อมกัน มีข้อหาตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเป็นข้อหาที่โทษเบากว่า
.
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในยุคของ คสช.1 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 245 คน เมื่อเข้าสู่ยุค คสช.2 กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือหลักในช่วงแรก และเมื่อใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยกเว้นไม่ให้ใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แม้ระยะเวลาการบังคับใช้จะนับรวมได้ไม่ถึงสองปีเต็ม แต่ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 131 คน จาก 93 คดี
________
การพยายามดำเนินคดีต่อประชาชนด้วยข้อหามาตรา 112 เป็นข้อหาที่ส่งผลกระทบหนักที่สุด เพราะผู้ต้องหาหลายคนไม่ได้ประกันตัว และหลายคดีศาลพิพากษาลงโทษหนัก https://freedom.ilaw.or.th/blog/112Punishment ก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในสังคม แต่คดีในข้อหาอื่นๆ ในยุค คสช.1 ไม่ได้นำไปสู่การลงโทษมากนัก ส่วนใหญ่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีหรือศาลตัดสินยกฟ้อง หรือข้อหาตามคำสั่งห้ามชุมนุมก็ยกเลิกไปก่อนที่ศาลจะตัดสิน ทำให้คดีความจบไปโดยไม่ทราบผล https://freedom.ilaw.or.th/node/657
.
แต่ความพิเศษของคดีในยุค คสช.1 คือ การกำหนดให้คดีเกี่ยวกับความมั่นคงและคดีฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของ คสช. ต้อง "ขึ้นศาลทหาร" https://freedom.ilaw.or.th/blog/militarycourtfact เพิ่มภาระและเพิ่มความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่ใช้เสรีภาพการแสดงออกขึ้นไปอีก
.
สำหรับคดีในยุค คสช.2 ก็มีลักษณะคล้ายกัน คดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนมากยังไม่มีความคืบหน้า ส่วนที่มีการดำเนินคดีไปแล้วอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง หรือในชั้นศาลก็จะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง https://freedom.ilaw.or.th/node/1011 มีเพียงข้อหามาตรา 112 ที่เด่นชัดว่า มีคำพิพากษาให้ผู้ที่แสดงออกต้องเข้าเรือนจำ หรือมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว หรือตามมาด้วยเงื่อนไขการประกันตัวที่จำกัดเสรีภาพอย่างกว้างขวาง และเป็นช่วงเวลาที่มาตรานี้ถูกใช้อย่างหนักท่ีสุดในประวัติศาสตร์ https://tlhr2014.com/archives/23983
.
นอกจากนี้ยังมีการนำเอากฎหมายอื่นๆ มาใช้ดำเนินคดีกับการแสดงออกอีกมาก เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินคดีคู่กับข้อหาด้านความมั่นคง ข้อหาอั้งยี่หรือซ่องโจร https://freedom.ilaw.or.th/node/598 ข้อหาชุมนุมมั่วสุม ตามมาตรา 215-216 รวมทั้งการนำข้อหาที่มีความผิดเล็กๆ น้อยๆ มาดำเนินคดีเพื่อเพิ่มภาระต่อผู้ชุมนุม เช่น ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือข้อหาตามพ.ร.บ.การรักษาความสะอาดฯ
.
จึงเห็นได้ว่า การดำเนินคดีต่อประชาชนในยุคของ คสช.1 และ คสช.2 มีลักษณะปิดกั้นไม่ต่างกัน ไม่ได้มีความพยายามผ่อนคลายเพื่อคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน ปริมาณคดีความมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นๆ ตามบรรยากาศทางการเมืองที่มีคนต่อต้านการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลนี้มากขึ้น
ดูข้อมูลการดำเนินคดีในยุค คสช.1 ได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/politically-Charged