วันศุกร์, มีนาคม 11, 2565

คดี 'แตงโม' ตำรวจยังสอบไม่เสร็จ สว. 'แสวงการ' อยากไต่สวนบ้าง

ถึงวันนี้คดีการเสียชีวิตกลางแม่น้ำเจ้าพระยาของ แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ ได้หักมุมไปแล้วหลายขุมบนสื่อสังคม จากพลัดตกเพราะนั่งฉี่ท้ายเรือแล้วจมน้ำตาย มาถึงคลิปลางๆ คนผมยาวถูกผลักหรือตีตกข้างเรือ ขณะสปีดโบ๊ทนั้นแล่นหักมุมด้วยความเร็ว

ดราม่าจากการที่รูปคดีถูกสร้างโดยสื่อมาถึงจุดที่ตัวละครสังคมออนไลน์อย่าง ทนายนกเขานิติธร ล้ำเหลือ บุกไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยื่นข้อเรียกร้อง ๕ ข้อ ให้เปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวน ให้ชันสูตรศพใหม่ และอายัดพยานหลักฐานทั้งหมด เป็นอาทิ

แถมคนที่นำศพขึ้นจากน้ำ ไทด์ เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ เพิ่งมาเปิดเผยว่าสภาพศพใบหน้าและขอบตาสองข้างบวมไม่เท่ากัน แล้วยังฟันหัก น่าสงสัยเข้าไปอีก จน ส.ส.เต้ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ฟันธงว่าเป็นฆาตกรรม ร้องให้นายกฯ อายัดศพและชันสูตรใหม่

การตายของนักแสดงสาวกำลังจะกลายเป็นประเด็นสำคัญของความมั่นคงแห่งรัฐไปได้ง่ายๆ พอดีที่ Ponson Liengboonlertchai นักวิชาการกฎหมาย จุฬาฯ แสดงความเห็นเมื่อ “มีข่าวออกมาว่าทนายของแม่คุณแตงโม ไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม

...ต่อคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา (กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ) โดยมี ส.ว.สมชาย แสวงการ เป็นผู้รับหนังสือไว้” อจ.พรสันต์ติงว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยรัฐสภา “มีข้อพึงตระหนักและเตือนตนเอง” หลายอย่างให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๒๙ การให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือพยานหลักฐาน “จะต้องไม่มีลักษณะเป็นการเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากแต่เป็นเพียงการควบคุมตรวจสอบ” ในทางคู่ขนานเท่านั้น แล้วยังต้องระวังไม่ให้ก้าวก่ายเข้าไปถึงอำนาจศาลด้วย

ข้อสำคัญ อย่าให้ข้อมูลที่ได้มารั่วไหลออกสู่สาธารณะ แต่ก็ “อาจดำเนินการส่ง ติดตาม หรือแลกเปลี่ยนเสนอแนะข้อมูลต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ทั้งนี้โดยที่คดีของแตงโมนี่เป็นกรณีอาชญากรรมต่อบุคคล ซึ่งตำรวจเป็นฝ่ายรับผิดชอบโดยตรง

เว้นแต่บางกรณีในทางปกครองและ/หรือการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับราชการตำรวจซึ่งเป็นผู้ต้องให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการเสียเอง ดังที่ ส.ส.Amarat Chokepamitkul เล่าถึงการปฏิบัติงานของ #กรรมาธิการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน

“ตัวแทน ตร.นครบาล ๑, ๒ เข้ามาชี้แจงการออกหมาย พรก.ฉุกเฉิน #สมยศ พฤกษาเกษมสุข และพวก กรณีไปยื่นหนังสือที่ UN เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในวันที่ ๑๐ ธ.ค.๖๔ คณะกรรมาธิการให้กลับไปพิจารณาทบทวนหมายเรียก

ว่าออกโดยชอบหรือไม่เพราะกลุ่มนายสมยศไปที่ UN ไม่เกิน ๑๕ คน และไม่ได้ไปชุมนุมเพียงแค่ไปยื่นหนังสือแล้วเดินทางกลับ ใช้เวลาครึ่ง ชม. มีการใส่แม้สเรียบร้อย” ส.ส.เจี๊ยบบอกว่า “ให้ จนท.ทบทวนว่าเป็นการนำ กม.ความมั่นคงมารับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือไม่”

อีกเรื่องที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แจงผลงานของคณะกรรมาธิการฯ เป็นการ “เชิญรองอธิการและผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ เข้าชี้แจงต่อ กมธ.เรื่องตัดคะแนนความประพฤตินาย #เนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล) จนมีผลให้พ้นตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต

เรื่องนั้น เนเน่ถูกหักคะแนนเพราะจัดการนิเทศน์รับน้องใหม่แบบออนไลน์ แล้วเชิญ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ พริษฐ์ ชีวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนะกุล กล่าวปราศรัย จึงมีการร้องเรียนไปยังกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ทำการไต่สวน

การนั้นมี “ตัวแทนฝั่งนิสิต ๒ คนได้เข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหาร” กรรมาธิการสรุปว่า “ให้ผู้บริหารจุฬากลับไปทบทวน และทำความเข้าใจ ปรับแนวคิดจารีตให้รับกับความแตกต่างของยุคสมัย” เช่นนี้ถ้าทางมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยอย่างไรค่อยว่ากันใหม่

เช่นกันกับกรณีการออกหมายเรียกผู้ยื่นหนังสือต่อยูเอ็น หากทางตำรวจไม่ยอมแก้ไข ก็อาจมีการร้องให้ไต่สวนใหม่ ว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าขอบข่ายนิติรัฐและนิติธรรม อีกก็ได้ ไม่เหมือนคดีแตงโมที่กระบวนการพิจารณายังไม่เริ่ม

การไต่สวนของกรรมาธิการวุฒิสภา มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นละครการเมืองอีกฉาก ระหว่าง สว.กับตำรวจ ที่ผู้ชมจะได้เห็นบาดแผลของทั้งสองฝ่าย จากการสัประยุทธ์กันเลือดนองจอ ระทึกยิ่งกว่าหนังเน็ทฟลิคก็ได้

(https://www.facebook.com/amarat.chokepamitkul/posts/5093901474023892, https://www.facebook.com/pornson.liengboonlertchai/posts/10160190793675979, https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_6932642 และ https://khaothai.today/story/3597=IwAR0C)