วันอาทิตย์, มีนาคม 20, 2565

‘ห่าลง’ คฤหาสน์ริมบึงใน ราบ ๑ รอ. เมื่อพบว่าค่าไฟไทยแพงเพราะ ผลิตไฟฟ้าได้มากมายเกินพอใช้

“ตู่ห่วงน้ำมันแพง แนะประชาชนประหยัดพลังงาน ให้เปิดแอร์ 27 องศา เปิดพัดลมตั้งพื้นควบคู่ เลี่ยงใช้ดรายเออร์เป่าผมกับเตารีด ร่วมลดภาระเพื่อชาติ” (Sirote Klampaiboon@sirotek Mar 17)

ข่าวอย่างนี้หนีไม่พ้นทำให้ ห่าลง คฤหาสน์ริมบึงบนเนื้อที่ ๒ ไร่ ภายใน ราบ ๑ รอ. ของประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นทั้ง “บ้านพัก ห้องประชุมใหญ่ ห้องประชุมลับ ห้องรับรอง ห้องจัดเลี้ยง วอร์รูม และ เซฟเฮ้าส์” พร้อมสรรพอุปกรณ์ทันสมัย

เพราะสิ่งต่างๆ ที่ประยุทธ์แนะให้ทำนั้นเป็นพันธกิจชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเครื่องเป่าผมและเตารีด ส่วนแอร์กับพัดลมนั้นไม่ใช่ทุกคนมีใช้ทั้งสองอย่าง และการตั้งค่าเครื่องทำความเย็นไว้ที่อุณหภูมิสูง ไม่ทำให้ความสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าลดลงได้มากนัก

แทนที่จะสักแต่พูดอวดฤทธิ์เดช ถ้าประยุทธ์จะรู้จักเสริมสติปัญญาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหา ให้มากกว่าระดับประถมสักนิดก็จะรู้ว่า ในระดับผู้บริหารประเทศมีช่องทางแก้ไข ไม่ต้องผลักไสภาระเดือดร้อนไปที่ประชาชนถ่ายเดียวได้

สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ ‘Thailand Consumer Council’ เจอต้นเหตุค่าไฟแพง ว่ามาจากหน่วยงานกำกับกิจการพลังงานของรัฐบาลนี่เอง จากการที่ กกพ. “มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Float Time) หรือค่า เอฟทีในอัตรา ๑.๓๙ สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับเดือนพฤษภาคม สิงหาคม ๒๕๖๕ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าจากเดิม ๓.๗๖ บาทต่อหน่วย เป็น ๔ บาทต่อหน่วย โดยอ้างผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน และความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี : LNG)

ต้นเหตุลึกลงไปกว่านั้นอีก เชื่อไหมว่า กกพ.ต้องขึ้นค่าไฟเพราะมีพลังงานสำรองมากเกินไป อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคบอกว่า การวางแผนผลิตไฟฟ้าปัจจุบันทำให้มีโรงงานผลิตไฟฟ้าเอกชนในระบบจำนวนมาก (เกินไป)

เป็นผลให้ไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความพอเพียงถึง ๔๐-๖๐% พลังงานส่วนเกินนี้ถูกแปลงเป็นค่าเอฟที แล้วนำไปบวกรวมกับบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนผู้บริโภค ขณะที่วิกฤตโรคระบาดโควิดทำให้ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจก็ลดไป

ขณะที่โรงงานผลิตไฟฟ้าบางส่วนยับยั้งการผลิตไปบ้าง แต่รัฐก็ยังต้องจ่าย ค่าความพร้อมให้แก่โรงงานเหล่านั้นต่อไปตามสัญญา ภาระนี้ถูกผลักต่อไปให้กับประชาชนด้วย สำหรับโรงงานผลิตที่ยังดำเนินการกันอยู่ ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานผลิต

เมื่อน้ำมันและก๊าซราคายิ่งสูงขึ้นเช่นนี้ กระทรวงพลังงานและ กฟผ.ซึ่งซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายย่อย ย่อมต้องจ่ายค่าไฟในราคาส่งที่สูงถึง ๔ บาท เมื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคราคาจึงสูงตาม ด้วยว่าการจำหน่ายไฟฟ้าของไทยเป็นระบบผูกขาด

ซึ่งก็คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งผลิตต่างๆ มาจัดสรรจำหน่ายต่อแก่การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จากนั้นจึงต่อไปยังบ้านเรือนชาวบ้าน โดย “ประชาชนไม่มีอำนาจในการต่อรองราคาได้เลย” รองเลขาฯ ชี้

นายอิฐบูรณ์แนะว่ารัฐบาลควรนำเอาระบบพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ “ประชาชนสามารถเปลี่ยนจากการเป็นผู้บริโภคหรือผู้ซื้อไฟฟ้าที่ไม่มีอำนาจต่อรอง มาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย” เขาว่า

อันนี้เป็นทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ในแคลิฟอร์เนียภาคใต้ สหรัฐอเมริกา การไฟฟ้าที่นั่นมีโครงการลดค่าไฟฟ้าผ่านระบบ ‘Rebate’ หรือจ่ายคืนบางส่วนให้แก่ครัวเรือนที่ติดตั้งโซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้าเสริม หรือถ้าสามารถแปลงไฟฟ้าได้มาก ก็ขายส่วนเหลือใช้ให้กับการไฟฟ้าได้

อีกประเด็นที่ทำให้พลังงานไฟฟ้าในไทยมีมากเกินไปจนกลายเป็นภาระ อยู่ที่ไม่เพียงมีโรงงานผลิตน้อยใหญ่ล้นหลาม เหมือนของเล่นเด็กเอาแต่ใจ (spoiled) แล้วยังดันต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (น่าจะเพราะผู้ลากมากดีไทยไปเป็นนายทุนดำเนินการ)

มิหนำซ้าปรากฏว่าราคาไฟฟ้าจากนอกประเทศที่เราซื้อ สูงกว่าราคาจากโรงงานผลิตในประเทศเสียอีก ถึงขนาด “ราคาเกินกว่าค่าไฟฟ้าฐานของระบบขายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ราคา ๒.๕๗ สตางค์ต่อหน่วย” โอแม่จ้าว นี่แหละ ตอแหลแลนด์

(https://www.tcc.or.th/electronicbill/_campaign=ElectronicBill_news และ https://www.thairath.co.th/news/politic/198974)