วันอังคาร, มีนาคม 08, 2565
แก้แค้นไม่แก้ไข สมชัยรู้ ทำไมผู้อยู่บนหลังเสือทั้งหลายไม่คิดจะลงจากอำนาจ เพราะกลัวการขุดค้นจากฝ่ายตรงข้ามเมื่อสิ้นอำนาจ
จาก กรณีที่ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาพยานหลักฐาน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไต่สวน ได้พิพากษาจำคุก นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยยืนคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตัดสินให้จำคุกนายวัฒนา 99 ปี พร้อมสั่งชดใช้เงิน 89 ล้านบาท
ล่าสุด (5 มี.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่ข้อเขียน เรื่อง “กรณีวัฒนา เมืองสุข คือ บทเรียนการเมืองต้นทุนสูง” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้
4 กุมภาพันธ์ 2565 วันที่ผมรับปากวัฒนา เพื่อนสมัยมัธยมที่รู้จักกันกว่า 50 ปี ว่าจะไปให้กำลังใจในวันตัดสินสุดท้ายของศาลฎีกา
ก่อนหน้าหนึ่งวัน ผมโทรหาเขาเพื่อขอรายละเอียด สถานที่และเวลา เขาบอกว่าศาลฎีกาสนามหลวง ให้มาถึงก่อนสักหนึ่ง ชม. เพื่อมีการตรวจ ATK ผมสะอึกเล็กน้อย เพราะไม่ชอบให้ใครมาแยงจมูก ทั้ง ๆ ก็เคยโดนมาหลายรอบ แต่ช่างมัน แยงก็แยง
บ่ายโมง หลังจากเสร็จภารกิจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมข้ามฟากมาที่ศาลฎีกา เจอกับวัฒนา ที่บริเวณห้องอาหารของศาล เขายังดูสนุกสนานร่าเริง มั่นใจ และบอกว่าไม่หนีไม่ไหน ในขณะที่คนใกล้ชิดและญาติ สีหน้าดูกังวลไม่น้อย
บ่ายสอง เจ้าหน้าที่ศาลบอกให้คณะผู้ติดตามและผู้สื่อข่าวเข้าไปฟังคำพิพากษาได้ แต่ด้วยมาตรการป้องกันโควิด ให้แยกคนละห้องกับจำเลย มีทีวีวงจรปิดจอใหญ่หลายเครื่องถ่ายทอดมาให้เห็นบรรยากาศในห้องตัดสิน
14.45 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์ ใช้เวลาอ่านคลี่ทีละประเด็นอย่างยาวนานเกือบสองชั่วโมง จากคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวอะไร ค่อยๆ เห็นตัวละครต่าง ๆ โผล่ขึ้นมามากมาย และ การเชื่อมโยงจุดต่างๆ เข้าด้วยกันในมุมมองของคณะผู้พิพากษาที่มีองค์คณะถึง 9 คน และ สรุปในตอนท้ายเกือบทุกประเด็นว่าความเห็นเป็นเอกฉันท์
ผมนั่งฟังอย่างมีสติและตั้งใจ คนอื่นคิดอย่างไรไม่ทราบ แต่ผมชมในใจว่า เขามีกระบวนการสอบสวน ไต่สวน และหาข้อยุติได้ดีกว่าศาลรัฐธรรมนูญในหลายกรณีที่ใช้ตรรกะในตัดสิน
สิ่งที่ทราบจากคำพิพากษา คือ โครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะนับแสนยูนิต มีนายหน้าคนหนึ่ง อ้างว่าเป็นที่ปรึกษา(จำเลยที่สี่) และผู้หญิงคนหนึ่งอ้างว่าเป็นเลขาฯของจำเลยที่สี่ (จำเลยที่ห้า) เรียกเงินทอนจากผู้รับเหมา ยูนิตละประมาณ 10,000 บาท และมีการจ่ายเงินจริงนับร้อยล้าน เพื่อให้ได้โครงการก่อสร้าง ส่วนการเชื่อมโยงถึงจำเลยที่หนึ่ง (วัฒนา) อาศัยคำบอกกล่าว และหลักฐานการส่งเอกสารต่างๆ ของการเคหะไปยังจำเลยที่สี่ ว่ามีสถานะเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่หนึ่ง แต่ไม่มีหลักฐานเส้นทางทางการเงินที่กลับมายังจำเลยที่หนึ่ง
คำตัดสินจบลงด้วยการจำคุก 50 ปี และยึดทรัพย์ 89 ล้านที่ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด แต่หากเหล่าจำเลยยังไม่นำมาใช้ ก็มีดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อย ๆ
หลังจากปิดคดี ผมมองว่า นี่คืออุทาหรณ์ของฝ่ายการเมืองที่มีต้นทุนสูงยิ่ง
เมื่อพรรคการเมืองมีอำนาจรัฐ ย่อมต้องแสวงหาหนทางให้อำนาจตนเองมีความมั่นคง และใช้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อตอบแทนให้คนยังจงรักภักดี
นายหน้าทางการเมือง จึงเกิดขึ้น หากินกับโครงการรัฐในอำนาจของฝ่ายการเมืองและแบ่งกลับให้กับฝ่ายการเมือง โดยจะเป็นระดับต่ำกว่าเจ้ากระทรวง เป็นเจ้ากระทรวงเอง หรือ ผู้เหนือกว่า เจ้ากระทรวงนั้นเราไม่อาจทราบได้
เมื่อสิ้นอำนาจ การขุดค้นจากฝ่ายตรงข้ามย่อมเกิดขึ้น จะกี่ปีผ่านไปก็ยังเป็นคดีความ
สิ่งนี้ยังคงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย หากยังทำการเมืองแบบใช้เงินซื้อเสียง ให้เงินเดือนเพื่อเลี้ยงคนในคุ้มของตน ต้องแจกกล้วยเพื่อคะแนนเสียงในการลงมติ เป็นการเมืองต้นทุนสูง จึงต้องคืนกลับด้วยแหล่งรายได้เช่นนี้
และเป็นคำตอบว่า ทำไมผู้อยู่บนหลังเสือทั้งหลายไม่คิดจะลงจากอำนาจ
เพราะท้ายสุดต้นทุนที่สูงลิ่ว ยังแลกด้วยอิสรภาพของนักการเมืองด้วยครับ”
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์