วันอังคาร, มีนาคม 08, 2565

#โควิดในชุมชน ครอบครัวนี้ อยู่ด้วยกัน 4 รุ่นอายุ คนในบ้าน 8 คน ติดเชื้อโควิดทั้งหมด ปู่ ย่า กับหลาน 5 คน และเหลนอีก 1 คน เขาอยู่ใน “บ้าน” กันแบบไหน ?!?


Niwat Suwanphatthana
13h ·

“ทำไมโรงพยาบาลบอกให้เขากลับมารักษาตัวที่บ้าน”
เรา 3 คน (ประธาน อสม. เพื่อน และผม) ยืนอยู่หน้าเพิง 1 หลัง
ที่มีป้ายแขวนไว้ “ห้ามเข้า ระวังไก่ตื่น”
เรายืนตะโกนเรียกเจ้าบ้านอยู่นาน เดินกลับออกมาแล้ว
และย้อนกลับออกไปอีกครั้ง เมื่อได้รับการยืนยันว่า เจ้าบ้านอยู่ข้างใน
จุดมุ่งหมายคือ เยี่ยมเจ้าบ้าน
ที่เพิ่งรักษาตัวจากโควิดหายแล้ว แต่ยังคงมีอาการอ่อนเพลีย
เมื่อเดินเข้าไปข้างใน เด็กหญิงตัวน้อยเดินออกมามองเรา
และเราค่อยๆ เห็นชายสูงวัยพยุงตัวลุกขึ้นบนแคร่ไม้
เขานั่นเอง ที่ประธาน อสม.ตั้งใจพาเรามาเยี่ยม
ครอบครัวนี้ อยู่ด้วยกัน 4 รุ่นอายุ ตามผังที่วาดไว้
คนในบ้าน 8 คน ติดเชื้อโควิดทั้งหมด
ปู่ ย่า กับหลาน 5 คน และเหลนอีก 1 คน
..........................................
“ทำไมโรงพยาบาลเลือกไม่ดูแลเขาใกล้ชิด”
เขาเปลือยท่อนบน บอกว่าอากาศร้อนมาก
ต้องเอาน้ำมาลูบตัวบ่อยๆ แล้วเปิดพัดลมให้ลมพัดตัวตลอด
ตั้งแต่รักษาโควิดหาย ยังมีสภาพอ่อนเพลียมาก เดินไปไหนก็เหมือนจะล้ม
เขามีโรคประจำตัวหลายโรค และชูห่อยาที่ต้องกินเป็นประจำให้ดู
เบาหวาน ความดัน รวมอยู่ในนั้นหมด
ทักทายกันสักพัก
เด็กน้อยก็เดินเข้าไปในซอกด้านหลังขณะที่หญิงสาวคนหนึ่งเดินสวนออกมา
ซอกนั้นเป็นช่องขนาด 1 คนเดินได้
ผมมองตามและคิดว่าข้างในนั้นเป็นห้องพัก
ผนังก่อด้วยอิฐบล็อกยาแนวปูนแบบหยาบๆ ไว้
ผมอยากเดินเข้าไปขอดูจำนวนและสภาพห้อง
แต่ยั้งใจไว้ เพราะว่าจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเขาเกินไป
หญิงสาวคนนี้เป็นหลานของเขา บอกว่า
ทุกคนที่บ้านหลังรักษาโควิดหายแล้ว ไม่มีใครเป็นอะไร ยกเว้นปู่
เธอบอกว่า
“โรงพยาบาลรับทุกคนที่บ้านเข้าพักในโรงแรมเพื่อแยกกักตัว แต่ไม่รู้ทำไม ไม่รับตัวปู่ไปด้วย โรงพยาบาลบอกแต่ว่า ไม่มีคนคอยดูแล”
เป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกโกรธ แต่ก็ไม่แปลกใจมากนัก
เพราะก่อนหน้านี้ แกนนำของเรารายงานตลอดมาว่า โรงพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่งที่อยู่ในเครือข่าย HI และ CI ของระบบบริการในจังหวัดเชียงใหม่ มักแจ้งว่า
“ของดรับกลุ่ม 608 เพราะรับไว้เยอะแล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล”
(ขอรับผู้ป่วยรายที่ไม่ต้องการการดูแลอะไรมาก)
ซึ่งขัดแย้งกับแนวปฏิบัติการดูแลที่ต้องให้กลุ่ม 608 เข้ารับการดูแลใกล้ชิดในโรงพยาบาล)
จะว่าผมกล่าวหาก็ได้นะครับ และผมอยากได้ฟังคำอธิบายจากโรงพยาบาลเหล่านี้ด้วย
ผมบอกเขาและหลานสาวว่า ในนัดตรวจโรคประจำตัวครั้งถัดไป ให้แจ้งกับโรงพยาบาลว่า มีอาการแบบใดหลังรักษาโควิดหายแล้ว เพราะบางคนจะมีอาการที่เรียกว่า “ลองโควิด” หรือความเจ็บป่วยต่อเนื่องหลังรักษาตัวหายจากโควิดแล้ว
เราคุยกันเรื่องวัคซีน และพบว่า ส่วนใหญ่รวมทั้งรายอื่น ๆที่เราไปเยี่ยม จะรับวัคซีนเชื้อตาย หรือสูตรไขว้กันมา โดยเข็มสองอยู่ที่ราวตุลาคมปีที่แล้ว ...น่าเป็นห่วง
..............................................................................................................
เขาอยู่ใน “บ้าน” แบบไหน
“บ้าน” ของครอบครัวนี้ มีขนาดหน้าวกว้างราว 3 เมตร
เป็นช่องลึกเข้าไป 3 ส่วน โดยมีกำแพงปิด 3 ด้าน
แม้พอมีช่องลมผ่านได้บ้างแต่ก็มืดและอับ
ที่ตั้งของ “บ้าน” อยู่ในซอยถนนแห่งหนึ่ง ที่ได้รับชื่อเรียกว่า “โซนแดง”
“บ้าน” ในโซนแดง มีทั้งที่เป็น บ้าน หอพัก และห้องเช่า
ประธาน อสม. บอกว่า ชื่อนี้มาจาก ความแออัดของชุมชน
พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ว่าง ในขณะที่บางส่วนอยู่กันแออัดมาก
และบางแห่ง ดูแล้วไม่น่าจะเรียกว่าบ้าน
“บ้าน” แห่งนี้ อยู่ติดกับรั้วของโรงพยาบาลเอกชน และคอมเพล็กซ์หรูของโรงพยาบาลแห่งนี้
คนในนั้นผสมผสานกันเช่นเดียวกับคนในชุมชนเมือง(ชุมชนแออัด) แห่งอื่นๆ คือ มีคนพื้นเมืองเชียงใหม่ คนจากจังหวัดอื่น แรงงานข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นแรงงานรับจ้างอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน และที่อื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตามถนน 4 เส้นที่เป็นอาณาเขต มีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลเฉพาะทาง รวมทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่
ผมเข้าไปในชุมชนวันนี้ จึงได้เห็น “สภาพชุมชนเมือง” ที่อยู่ในนั้น
ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่ระบบ “เจอ จ่าย/แจก จบ”
และลือกันทั่วว่า จะกำหนดให้ โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
คนกำหนดนโยบาย คนดูแลระบบ เคยคิดถึง คนจนเมือง ในชุมชนแบบนี้บ้างหรือไม่
#โควิดในชุมชน
#CTN