วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 07, 2565

ปิดอาคเนย์ เกมเศรษฐี ถ้าไม่ใช่ “เจ้าสัว” ทำไม่ได้



ปรากฏการณ์เขย่าวงการธุรกิจ ที่ยักษ์ใหญ่อย่าง “อาคเนย์ประกันภัย” ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศ “เลิกกิจการ” ด้วยผลกระทบจากประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะ “เจอจ่ายจบ” ที่บริษัทจ่ายเคลมไปแล้ว 9,900 ล้านบาท และหากต้องแบก “ความเสี่ยง” จากกรมธรรม์โควิดไปจนครบสัญญา มิ.ย. 2565 จะต้องใส่เงินเพิ่มทุนอีก 2 หมื่นล้านบาท

ดังนั้นเพื่อ “หยุด” ความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ เจ้าสัวเจริญจึงเดินเกม 2 ทาง

ด้านหนึ่งเปิดเกม “ยื่นฟ้อง” เลขาธิการและสำนักงาน คปภ. กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 (ห้ามบริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์เจอจ่ายจบ) “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” โดยขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว พร้อมเรียกค่าเสียหายเลขาธิการ คปภ. 8,000 ล้านบาท

อีกด้าน บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) ในฐานะบริษัทแม่ ลงมติขอใช้สิทธิ “เลิกกิจการ” โดยสมัครใจ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

อาคเนย์ชี้แจงว่า บริษัทยังมีสินทรัพย์สุทธิมากกว่าหนี้สิน 1,800 ล้านบาท และมีเงินกองทุนตามกฎหมายอยู่ที่ระดับ 170% เพียงพอต่อการคืนเบี้ยลูกค้าทุกราย (10.48 ล้านราย) รวมทั้งยืนยันว่าคู่ค้าจะได้รับเงินครบถ้วน รวมถึงการดูแลพนักงาน 1,396 คน

เบื้องหลังการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ทราบเป็นเช่นไร แต่ล่าสุดเมื่อ 1 ก.พ. 2565 คปภ.แจ้งว่าอาคเนย์ฯได้ถอนฟ้อง คปภ.แล้ว ขณะที่อาคเนย์ฯก็แจ้งว่า ได้รับอนุมัติจาก คปภ.ให้เดินหน้าเจรจา 31 บริษัทประกันเพื่อโอนกรมธรรม์ “น็อนโควิด” กว่า 8 ล้านราย เพื่อเดินหน้าสู่การยกเลิกกิจการ

ขณะที่ผู้ถือกรมธรรม์โควิด 1.85 ล้านราย ทางอาคเนย์ฯเสนอคืนเบี้ยโควิดเต็มจำนวน โดยให้ลูกค้าลงทะเบียนรับสิทธิตั้งแต่ 1-7 ก.พ.นี้ เม็ดเงินที่ต้องจ่ายคืนเบี้ยอยู่ที่ราว 800 ล้านบาท แต่ถ้าต้องรับความเสี่ยงต่อไปจนกรมธรรม์หมดอายุอีก 5 เดือน บริษัทอาจต้องจ่ายเคลมอีกราว 1 หมื่นล้าน

ถ้าไม่ใช่ “เจ้าสัว” คงไม่สามารถเล่นเกม (เศรษฐี) “ตัดเนื้อร้าย” แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นนี้ได้

แต่ครั้งนี้ก็ถือเป็นบาดแผลธุรกิจครั้งใหญ่ของเจ้าสัวเจริญ และทำให้แผนปั้นพอร์ตธุรกิจการเงินต้องสะดุด

โดยที่ผ่านมากลุ่มอาคเนย์ฯได้ไล่ซื้อบริษัทประกันภัย ตั้งแต่การเข้าไปเทกโอเวอร์ บมจ.ไทยประกันภัย เมื่อปี 2561 พร้อมแต่งตัว บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) backdoor เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแทน และต้นปี 2563 ก็เข้าเทกโอเวอร์ บมจ.อินทรประกันภัย เข้ามาเติมในพอร์ต

แต่โรคระบาด “โควิด-19” ทำให้เจ้าสัวต้องล้มกระดานธุรกิจประกันภัย

อย่างไรก็ดีกรณี “เจอจ่ายจบ” มีการตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจที่ทำประกันความเสี่ยงให้ลูกค้า ทำไมถึงไม่มีการประกันความเสี่ยงให้กับธุรกิจของตัวเอง เทหมดหน้าตัก กับการขายประกันโควิด เดิมพันกับ “โรคระบาด” แบบที่ไม่มีประเทศไหนทำ

ไม่รู้ว่าใครคือผู้คิดค้นรูปแบบผลิตภัณฑ์นี้ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือสำนักงาน คปภ.อนุมัติแบบประกันดังกล่าว และในครั้งนั้น “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ คปภ. ยังออกมากล่าวด้วยความยินดีว่า “เจอจ่ายจบ” ถือเป็นโปรดักต์แรกของโลก

ในปี 2563 บริษัทประกันฟันกำไรจากกรมธรรม์โควิด-19 ถ้วนหน้า ทำให้บริษัทประกันต่าง ๆ แห่ขายโปรดักต์เจอจ่ายจบมากขึ้น

จาก “โอกาส” สู่ “วิกฤต”

โรคระบาดรุนแรงระลอก 2-3 ปี 2564 ประชาชนแห่ซื้อประกัน “เจอจ่ายจบ” ราว 40 ล้านกรมธรรม์ จากกำไรกลายเป็นขาดทุน ทำให้มีบริษัทประกันหลายรายขาดสภาพคล่องหนัก จนต้องถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว 2 ราย (เอเชียประกันภัย และเดอะวัน ประกันภัย)

เรื่องนี้คงไม่ใช่แค่ความผิดพลาดของเอกชนเท่านั้น แต่ “หน่วยงานกำกับดูแล” อย่าง คปภ. ถือว่ามีส่วนด้วย

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็น “บทเรียน”ครั้งใหญ่นำไปสู่การยกเครื่องการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นผู้รับภาระเช่นวันนี้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

“อาคเนย์” ชงผู้ถือหุ้นเลิกกิจการ โอนพอร์ตให้ “อินทรประกันภัย”
อาคเนย์ ฟ้อง เลขา คปภ. คดีพิพาท ยกเลิกเจอจ่ายจ
ประธานบอร์ด คปภ. ไม่ขัดข้อง “อาคเนย์ฯ-ไทยประกันภัย” ขอเลิกกิจการ
“อาคเนย์-ไทยประกันภัย” ดึง 31 บริษัทรับโอนกรมธรรม์น็อนโควิด ดูแลต่อ
TGH ล้มกระดานธุรกิจประกันภัย ลูกค้า 10 ล้านรายป่วนหวั่นลอยแพ
เปิดรายชื่อบอร์ด คปภ. วงการธุรกิจการเงิน 13 คน ชี้ขาดเลิกกิจการ อาคเนย์