วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 20, 2565

ขอแสดงความนับถือ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ทำข่าวชีวิตชาวโรฮิงญาท่ามกลางเสียงวิจารณ์ - ประเทศไทยยังต้องการตำรวจที่กล้าหาญ นักการเมืองที่กล้าหาญ สื่อที่กล้าหาญ และประชาชนที่กล้าหาญอีกมาก !


The MATTER
9h ·

BRIEF: “เคยท้อและคิดจะเลิกเป็นนักข่าว” เปิดใจ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ทำข่าวชีวิตชาวโรฮิงญาท่ามกลางเสียงวิจารณ์
.
“พี่เจอคนผอมแห้งอยู่ใต้ท้องเรือ นอนในสภาพที่เหลือแต่โครงกระดูก เด็กตัวเล็กๆ ร้องไห้ระงม มีคนตายไปสิบกว่าคนแล้วเพราะไม่มีอาหาร นายหน้าทิ้งเรือเอาเครื่องยนต์ออก ไม่มีอาหารกิน พวกเขากำลังจะตาย แต่พอเราลงไปในเรือแล้ว พบว่าคนเหล่านี้เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์แน่นอน”
.
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เล่าให้ The MATTER ฟังถึงความรู้สึกที่เธอได้เห็นความจริงที่โหดร้าย บนเรือซึ่งบรรทุกชาวโรฮิงญาจำนวนมากบนทะเล นี่คือความจริงที่เธอได้สัมผัสกับตัวเองในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ.2558
.
แม้ว่าผ่านไป แต่ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ยังอยู่กับเธอจนถึงวันนี้ที่ข่าวกรณีการค้ามนุษย์ และชีวิตของชาวโรฮิงญาถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากการอภิปรายในสภาของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล และการเปิดเผยข้อมูลจาก พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าทีมสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
.
หนึ่งในนักข่าวที่เกาะติดข่าวนี้คือ ฐปณีย์ ที่เราต่อสายคุยกับเธอในวันนี้
.
ฐปณีย์ เล่าย้อนไปว่า วันที่ 14 พฤษภาคมปี 2558 หลังจากเธอได้รับทราบข่าวสาร ว่าตอนนี้กำลังมีเรือที่มีชาวโรฮิงญาอยู่บนนั้นกำลังแล่นเข้ามาบนน่านน้ำของไทย เธอและนักข่าว รวมถึงเจ้าหน้าที่ได้ออกเรือเพื่อไปยังเรือลำนั้น
.
“มีคนเจอเรือกลางทะเล เรารู้มาว่าขบวนการค้ามนุษย์ใช้วิธีการเอาเรือชาวประมงไทยมาดัดแปลงในลักษณะที่มีชั้นใต้ท้องเรือ” แม้เธอจะเคยได้ยินเรื่องราวทำนองนี้มา แต่ก็ยอมรับว่า ความจริงตรงหน้านั้นดูโหดร้ายกว่าหลายเท่านัก เธอใช้เวลาอยู่หลายชั่วโมงในการพูดคุย และเก็บข้อมูลจากผู้คนบนนั้น เพื่อรายงานข่าวออกไปให้สังคมไทยได้รับรู้
.
“ช่างภาพบอกว่ากล้องแบตหมดแล้ว พี่เลยต้องใช้มือถือตัวเองถ่ายเซลฟี่รายงาน” ฐปนีย์ พูดถึงคลิปที่เธอเปิดหน้ารายงาน โดยมีหญิงชาวโรฮิงญาร้องไห้ และยื่นมือขอความช่วยเหลือ ก่อนที่คลิปนี้ถูกสังคมพูดถึงอย่างกว้างขวาง
.
“พี่ถูกวิจารณ์ว่าเห็นอกเห็นใจคนเหล่านี้” เธอเล่า “คนเหล่านี้แม้จำยอมที่จะถูกผลักดันออกไปจากน่านน้ำไทย แต่ในใจพวกเขาก็หวาดกลัวว่า เรือที่ออกไปโดยคนขับเรือที่ไม่เชี่ยวชาญพอว่ามันจะถึงฝั่งไหม”
.
“พี่ไม่สามารถปฏิเสธความจริงตรงนั้นได้ ในความเป็นมนุษย์ พวกเขากำลังขอความช่วยเหลือ แต่เราช่วยไม่ได้”
.
หลังจากการายงานของของฐปณีย์ถูกเผยแพร่ออกไป เธอถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง บ้างก็หาว่าเธอปั่นกระแส สร้างดราม่า บ้างก็ไม่ไกลถึงขั้นว่าเธอรายงานสิ่งที่ทำร้ายประเทศไทย รวมถึงไม่รักชาติก็มี
.
ความเห็นเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อนักข่าวคนนี้โดยตรง เธอจมกับความรู้สึกนี้จนตั้งคำถามกับอนาคตของตัวเอง “พี่ถูกกล่าวหา เสียใจมาก ถูกพูดกระทั่งว่าให้ออกนอกประเทศเลยนะ คนขายชาติ พี่ร้องไห้เก็บตัวอยู่หลายวันเหมือนกัน แล้วก็คิดว่าเราจะเป็นนักข่าวต่อไปดีไหม”
.
“ตอนแรกพี่ก็เสียใจว่า พวกเขาคิดแบบนี้จริงๆ หรอ แต่พอเวลาผ่านไป ก็พบว่าถ้อยคำต่างๆ โจมตีพี่ ส่วนหนึ่งไม่น่าจะมาจากคนทั่วไป น่าจะมีกระบวนการ IO มากกว่าที่ปลุกปั่นให้คนเกลียดโรฮิงญา หรือพวกเขาไม่ต้องการให้เรื่องนี้มันถูกสาวไปถึงใครรึเปล่า”
.
“ตอนนั้นพี่เริ่มท้อ พี่ก็คิดว่าจะไม่เป็นนักข่าวเลยไหม แต่พอเราเริ่มเห็นกระบวนการต่างๆ ที่ทำกับเรา ยิ่งทำให้สังคมไทยเกลียดชังโรฮิงญา พี่ก็คิดได้ว่า แทนที่พี่จะหายไปจากอาชีพนี้ พี่ลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ให้คนเข้าใจมากขึ้นดีกว่าไหม”
.
เมื่อตั้งหลักได้ว่าจะไม่ยอมแพ้กับการเสนอความจริง ฐปณีย์ตัดสินใจเดินทางไป เมียนมาร์ เพื่อทำข่าวสืบสวนหาต้นตอขบวนการค้ามนุษย์ที่เธอได้เจอมา “ตอนนั้นพี่กิตติ (กิตติ สิงหาปัด-รายการข่าวสามมิติ) ก็กลัวว่าพี่จะถูกโจมตี แต่สุดท้ายก็ยอม แล้วพี่ก็ขออนุญาตจากทางการเมียนมาร์อย่างถูกต้อง
.
“พี่ยืนยันว่า พี่จะรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเอง” ฐปณีย์ ระบุ
.
การเดินทางไปเมียนมาร์ ทำให้เธอพบข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในแง่ตัวบุคคลและขบวนการค้ามนุษย์ในภาพที่ใหญ่ขึ้น ข้อมูลจากการลงพื้นที่ของเธอถูกส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ไทยและเมียนมาร์ เพื่อดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์
.
แต่ความทรงจำที่ยังฝังแน่นกับฐปณีย์ที่สุด คือการพบเจอกับหญิงชาวโรฮิงญาคนหนึ่งซึ่งลูกชายของเธอก็อยู่ในเรือลำที่ฐปณีย์ไปรายงานข่าว
.
“การเดินทางไปถึงหมู่บ้านที่รัฐยะไข่ พี่ไปเจอครอบครัวโรฮิงญาครอบครัวหนึ่ง พวกเค้ารีบมาคุย แล้วก็พาไปคุยกับแม่ของเด็กผู้ชายที่อยู่ในเรือลำนั้น เขาเอารูปที่อยู่ในมือถือ แล้วเค้าชี้ให้ดูว่านี่คือรูปลูกชายเขานะ”
.
รูปที่หญิงชาวโรฮิงญาคนนั้นเอามาให้ฐปณีย์ดู คือรูปที่ฐปณีย์เป็นคนถ่ายด้วยตัวเอง รูปนั้นถูกส่งต่อในกลุ่มชาวโรฮิงญาหลายต่อหลายคน มันคือรูปที่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ลูกชายคนหญิงคนนี้ยังมีชีวิตอยู่
.
“เขาบอกว่าขอบคุณมาก ตอนที่เขาเห็นข่าวนี้ หัวใจเขาแทบสลาย เขาคิดว่าลูกเขาตายแล้ว แต่พอเรือลำนั้นไปถึงฝั่งอาเจะห์ ลูกเขาก็โทรศัพท์กลับมาหาแม่ เขาก็ดีใจและร้องไห้ออกมา”
.
“ในความรู้สึกของพี่คือ ณ เวลานั้น ต่อให้ยังไม่มีใครเข้าใจพี่ แต่พี่ดีใจที่สิ่งที่พี่ทำ ได้ช่วยให้แม่คนหนึ่งมีความสุขที่ทำให้ลูกเค้าปลอดภัย งานของเรามันมีคุณค่านะ มันช่วยให้แม่คนหนึ่งมีความหวังในชีวิตขึ้นมา สิ่งเหล่านี้มันมีคุณค่าอย่างมากต่อการทำงานของพี่”
.
ฐปณีย์ เป็นหนึ่งในนักข่าวไทยที่ติดตามและขุดค้นปัญหาการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญามาอย่างต่อเนื่อง เธอเคยเดินทางไปพบแคมป์สวนยางที่อำเภอ สะเดา จังหวัดสงขลา ตลอดจนแคมป์ที่จังหวัดสตูล ทำให้เธอเห็นว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกให้เข้ามาในไทย พร้อมกับกักขัง รวมถึงปล่อยทิ้งไว้ให้เสียชีวิต ในสภาพที่ไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
.
ตลอดเวลาที่ฐปณีย์ และสื่อไทยรายงานข่าวการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ความจริงได้ถูกเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถสาวไปถึงคนที่อยู่เบื้องหลังในหลากหลายวงการ ทั้งนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ ตำรวจ และทหาร ที่ได้ผลประโยชน์จากชีวิตของผู้คน
.
“มันมากกว่าความเป็นนักข่าว แต่มันคือความเป็นมนุษย์” ฐปณีย์ บอกกับ The MATTER ไว้อย่างนั้น
.
อ่านบทเว็บไซต์ได้ที่ : https://thematter.co/.../interview-thapanee.../168286


Tanakorn Wongpanya
7h ·

พี่แยม บอกว่า เกือบจะไม่ได้ออกอากาศ กรณีข่าว #โรฮิงญา ในเวลานั้น
เพราะมีการขอมา สั่งมา แต่พี่แยมก็สู้ต่อ
คุณกิตติ และผู้บริหารช่องสาม เวลานั้น เข้าใจในเหตุผลคำอธิบาย
เพราะมีชีวิตของผู้คนเป็นเดิมพัน
ข่าววันนั้น กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ในคดีโรฮิงญา
วันที่พี่แยมบุกขึ้นไปเรือโรฮิงญา แล้วโดนด่า โดนต่อว่า
เธอเดินทางเข้าพื้นที่เมียนมา
ได้พบกับแม่ของคนบนเรือ ที่เอาภาพถ่ายให้ดูว่านี่ลูกเขา ซึ่งเป็นภาพที่พี่แยมถ่าย
การได้รู้ว่าลูกตัวเองยังมีชีวิตอยู่มันยิ่งใหญ่มากๆ
ชีวิตของคนทำงานข่าวสิทธิมนุษยชน เหมือนหนังหน้าไฟ เราต้องพูดแทนคนที่ถูกกดขี่เสมอ / อย่ามั่นใจจนเกินไป / เรารับฟังคำติชม คำด่าว่าเรา เราเอามาคิดทบทวน / พี่แยมยังเป็นนักข่าวที่ถูกตั้งค่าหัวด้วย
แม่ก็คือแม่ Thapanee Eadsrichai
ขอบคุณที่ชวนเข้าไปคุยครับ #TheReporters
...