ขนาด ‘นิด้าโพล’ ยังต้องยอมรับว่าไม่ไหว ประยุทธ์ควรไป สถานการณ์สุกงอมถึงเวลายุบสภา ผู้ตอบคำถามเกือบ ๕๙% บอกควรให้เร็วที่สุดไม่ต้องรอปีหน้า แต่จำนวนมากกว่า (๖๘%) กลับเห็นว่าเมินเสียเถอะ ประยุทธ์ไม่มีทางทำ
เสียงวิจารณ์ตอนนี้พุ่งเป้าไปที่ ‘มือที่มักอยู่ไกล’ ยังไม่อยากเปลี่ยนม้ากลางคัน เมื่อสถานการณ์เข้าเนื้อไม่เว้นแต่ละวัน ล่าสุดเรื่องเก่าคดีโรฮิงญากลับมาเป็นหนามยอกถึงความอำมหิต จนฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อชักจะหมดมุขสร้างภาพเสียแล้ว
ความอึดอัดจากแรงกดดันหลายด้าน ทำให้ประยุทธ์โพล่งตอบโต้ฝ่ายค้านในการอภิปราย ม.๑๕๒ ว่าตนต้องพยายาม ‘อดทนอดกลั้น’ เต็มที่ “ให้เกียรติซึ่งกันและกันบ้าง อย่าพูดในทำนองดูถูกเหยียดหยาม” แม้นว่าบ่อยครั้งคำพูดของประยุทธ์เองที่ชวนให้ด่า
ความสุกงอมพร้อมเลือกตั้งใหม่ ปรากฏให้เห็นถี่ขึ้นด้วยปฏิกิริยาภายในพรรคร่วมหนุนรัฐบาล มีการปรับกระบวน ย้ายพรรคบ้าง ลาออกบ้าง รวมทั้งแก่งแย่งช่วงชิงจุดออกวิ่งในลู่กันอลหม่าน ดูได้จากการฟัดเหวี่ยงระหว่างบ้านใหญ่กับคนดังสนามเมืองชล
เมื่อรัฐมนตรีแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่นฟัดเหวี่ยงอยู่กับบ้านใหญ่ ‘คุณปลื้ม’ ขณะนี้ จากการที่สุชาติซึ่งใกล้ชิดประยุทธ์ไปขอพรรคพลังประชารัฐจัดทีมลงแข่งสนามชลบุรีเองทั้ง ๑๐ เขต ร้อนถึง สนธยา ทายาทกำนันเป๊าะคัดง้างเต็มที่ ไม่ยอมแม้แต่แบ่งครึ่งคนละ ๕ เขต
“การตอบโต้กันไปมาผ่านหน้าเฟซบุ๊กของคนชลบุรี ด้วยกันระหว่างสนธยาและสุชาติ กลายเป็นรอยร้าวระหว่างบ้านใหญ่และผู้ที่เคยอาศัยร่มเงาของบ้านนี้เติบโต แน่นอนว่าการเมืองชลบุรีนับจากนี้ได้แบ่งขั้วอย่างชัดเจนแล้ว” เดอะสแตนดาร์ดฟันธง
การอภิปรายการทำงานของรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติหนนี้ ทำให้ฝ่ายค้านฮึกเหิม ตั้งหน้ารอการอภิปรายไม่ไว้วางใจกันอีกทีในกลางเดือนพฤษภาคม อีกไม่ถึงสามเดือนที่จะถึงนี้ ทำให้แวดวงการเมืองลุ้นกันหนักให้มีการยุบสภาเมื่อการอภิปรายสิ้นสุด
และความวาดหวังอย่างหนึ่งตามเค้าลางของสถานการณ์อยู่ที่ “ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ คงไม่กอดศพหมาตายชื่อประยุทธ์ จนวันสุดท้าย” Thanapol Eawsakul ระบุด้วยว่าเงื่อนเวลาของการอภิปรายห่างจากการหมดวาระประชุมสภาชุดนี้แค่ ๑๐ เดือน
หากจะยุบสภา “ต้องยุบก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ประยุทธ์จะมั่นใจในเสียง ส.ส.ที่สนับสนุนตนเพื่อให้ความไว้วางใจ ว่ามีมากแค่ไหน “ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าถึงที่สุดแล้ว เสียงส่วนใหญ่ในสภา อาจจะไม่ต้องการยุบสภาก็ได้”
ท่าทีของกลุ่ม ธรรมนัส พรหมเผ่า ในอีกไม่ถึงสามเดือนก่อนกำหนดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเป็นตัวชี้ว่าประยุทธ์จะลงจากหลังเสือไปขี่ช้างเลียบค่ายหรือไม่ “ถ้่ากลุ่มธรรมนัสจะล้มประยุทธ์ได้จริง ‘อนุทิน’ อาจจะเป็นทางเลือก
นำไปสู่การเปลี่ยนขั้วการเมือง เพื่อให้อนุทินได้เป็นนายกฯ จนถึงการเลือกตั้งใหม่” ภาษากายของ อนุทิน ชาญวีรกูล ในช่วงนี้ดูแปลกไปอีกอย่าง เขาตอบข้อซักถามของสื่อระหว่างที่มีการอภิปรายโดยฝ่ายค้านวันที่สอง ว่า
“ฝ่ายรัฐบาลเองจะไปว่าฝ่ายค้านหาเรื่องหรือกลั่นแกล้งก็ไม่ได้ เราต้องฟังและเรามีที่ให้ฟังคือที่สภา...ไม่ว่าการชี้แจงของฝ่ายค้านจะดุเด็ดเผ็ดมันรุนแรงขนาดไหน เราก็มีหน้าที่ฟัง ในฐานะที่เขาเป็นตัวแทนประชาชน เราไม่มีทางเลือกอื่น”
ส่วนการอภิปรายครั้งต่อไป โดยมีลงมติ ในเดือน พ.ค.๖๕ อนุทินว่า “เราเจอของจริงมาตลอด ฝ่ายค้านมีของปลอมที่ไหนมีแต่ของจริงทั้งนั้น แต่ละดอกโชคดีที่ยังไม่นับ ๘″ ก่อนหน้านี้เจอคำถามในเรื่องที่ ‘โทนี่’ เตือนประยุทธ์ “ระวังถูกไฮแจ็คเก้าอี้นายกฯ”
เขารีบออกตัวทันที “ท่านเป็นอดีตผู้บังคับบัญชา มีบุญคุณกับผมมาก จึงไม่ขอกล่าวถึง แต่เคารพท่านตลอด” บทวิเคราะห์ของว้อยซ์ทีวีก็เอ่ยถึงอนุทินไว้เป๊ะทีเดียว ว่า “เป็น ‘นักปฏิบัติ’ มากกว่า ‘นักอุดมการณ์’ เพื่อขายผลงานแลกคะแนนเสียง”
และ “หากมองให้ลึกการที่อนุทินถูกโฟกัสในเก้าอี้นายกฯ อย่างมาก เพราะเป็นชื่อที่ฝ่ายอำมาตย์-กลุ่มทุนยอมรับได้” มิหนำซ้ำ “อนุทินนำ ภท. ตุนสรรพกำลังไว้สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าเต็มสูบ...มี ส.ส.–บิ๊กเนมไหลเข้าพรรคภูมิใจไทย...
ในเวลานี้เรียกได้ว่า ภท.หัวกระไดไม่แห้ง” บทความของว้อยซ์คอนเฟิร์ม อย่างนี้รัฐบาลหน้าถ้าเปลี่ยนขั้วละก็ จะได้รัฐบาลที่รวมเสียงแล้ว ‘แลนด์สไล้ด์’ สมมาตรปรารถนา
(https://www.voicetv.co.th/read/TsgR3Ft42, https://www.matichon.co.th/politics/news_3190010 และ https://www.facebook.com/thestandardth/posts/2972813093011563)