วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 17, 2565

บางกอก กับ กรุงเทพมหานคร ชื่อไหนมาก่อน ความเป็นมาเป็นอย่างไร


จับเข่าเล่าประวัติศาสตร์
8h ·

...บางกอก...
ณ บัดนี้ทุกคนก็คงจะเข้าใจตรงกันแล้วว่า จะใช้คำว่า Krung Thep Maha Nakhon หรือ Bangkok ก็ได้ทั้งนั้นตามสะดวก เช่นเดียวกับจะเรียก ฮานอย ว่า ห่าโหน่ย ตามภาษาเวียดนาม ก็ได้
บางกอก นั้น เห็นจะเป็นนามสามัญของพื้นที่เมืองธนบุรีที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อมีการขุดคลองลัดระหว่างคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช และยกขึ้นเป็นเมืองในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในชื่อ "ทณบุรีศรีมหาสมุทร"
(ในหนังสือแบบเรียนภูมิศาสตร์ประเทศสยาม (พ.ศ.2468) อธิบายว่าทณบุรีแต่แรกตั้งนั้น อยู่ตรงวัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์) ทางเหนือของปากคลองด่านนั่นเอง เป็นด่านขนอนบนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ต่อมาเมื่อขุดคลองลัดนั้นแล้วจึงย้ายด่านขนอนไปยังปากคลองที่ขุดใหม่ แล้วภายหลังกลายเป็นเม่น้ำสายหลักไป)
บางกอกนั้นมีการสันนิษฐานที่มาอยู่หลายทาง เช่น
บาง (มะ) กอก เพราะมีวัดมะกอก (นอก) ภายหลังเป็นวัดอรุณราชวราราม
บางเกาะ เพราะความคดเคี้ยวของแม่น้ำที่ตีวงเป็นเกือกม้า และการขุดคลองลัด ทำให้เกิดสภาพเกาะขึ้น
รัตนา...
ว่ายังไง...
จะเชื่อทฤษฎีไหนก็ตามแต่เลย
แต่เอาเป็นว่า บางกอกกลายเป็นนามสามัญของพื้นที่นี้สืบมา โดยน่าจะใช้กันมาภายหลังการขุดคลองลัดสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เพราะในกำสรวลสมุทรที่เชื่อว่าแต่งก่อนหน้าสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชโดยแน่แท้ ไม่ได้กล่าวถึงบางกอกแต่อย่างใด ในขณะที่นามเมืองทางราชการ คือ "ธนบุรี"
เมืองดังกล่าวมีพัฒนาการสืบมา จนกลายเป็นเมืองป้อมปราการอันสำคัญที่สุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และถูกใช้เป็นราชธานีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลังเสียกรุงศรีอยุธยา
นามบางกอก ปรากฏในเอกสารครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตามบันทึกฝ่ายฮอลันดา และในเอกสารต่างชาติต่าง ๆ ก็เรียกที่นี่ด้วยการสะกดต่าง ๆ ที่แปลความได้ว่าเป็น "บางกอก" ทั้งสิ้น สืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งราชธานีใหม่ก็มิได้ขยับไปจากพื้นที่บางกอกแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระอักษรถึงฝรั่ง ก็ทรงใช้ว่า Bangkok ตามที่สังฆราชคาทอลิกฝรั่งเศสใช้มาแต่สมัยกรุงเก่า ทำให้คำว่า Bangkok เป็นคำที่ใช้เรียกเมืองหลวงของกรุงสยามสืบมา
---------------------------------------
บรรณานุกรม
ก่อร่างสร้างเมือง จากชุมชนบางกอกสู่กรุงรัตนโกสินทร์: ข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี
รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์
...

TK Park อุทยานการเรียนรู้
11h ·

ถ้าย้อนไทม์ไลน์ว่าชื่อไหนมาก่อนกันระหว่าง Bangkok (บางกอก) กับ Krung Thep Maha Nakhon (กรุงเทพมหานคร) ตอบได้เลยว่าบางกอกมาก่อนนานมากเป็นชื่อที่เรียกกรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับที่มามีผู้สันนิษฐานไว้หลายแบบ อย่างบริเวณฝั่งธนบุรีเดิมเป็นป่ามะกอก บ้างก็ว่ามาจากแม่น้ำเจ้าสายใหญ่ลัดเลาะคดโค้งทำให้พื้นที่เป็นเกาะ เป็นโคก เลยเรียกว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก" หรือมาจากชื่อเดิมของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ว่า “วัดมะกอก” ต่อมาเวลาผ่านไปกร่อนคำลงจึงเหลือเป็นคำว่า "บางกอก"
.
นอกจากนี้ในเอกสารและแผนที่ของชาวตะวันตกยังพบว่าสะกดคำว่าบางกอกในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปแต่การออกเสียงมีความคล้ายคลึงกันอย่าง Bancoc Bancok Bangok Bancocq Bancock ส่วนคำว่า “Bangkok” พบในรายงานที่ฝ่ายสังฆราชเขียนรายงานเหตุการณ์เกี่ยวกับธนบุรีศรีมหาสมุทรไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรส่งไปถึงฝรั่งเศสและสะกดคำว่า Bangkok ตามที่ฝ่ายสังฆราชฝรั่งเศสใช้ ต่อมาจึงนิยมสะกดแบบนี้เป็นมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน
.
ในหนังสือ A Physician at the Court of Siam หมอสมิธ มัลคอล์ม ได้พูดถึงกรุงเทพและบางกอกเอาไว้ว่า “เมื่องใหม่ได้รับการขนานนามว่า “กรุงเทพ” “เมืองแห่งเทวดา” มาจากชื่อเต็ม “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” “เมืองฟ้าอมรแห่งอัญมณ๊ล้ำค่าของพระอินทร์” ชื่อบางกอกมาจาก “บาง” หมู่บ้าน กับ “กอก” ลูกพลับป่าชนิดหนึ่ง ชาวยุโรปรู้จักกันดีแต่ชาวสยามไม่ค่อยใช้กันมากนัก ชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำเข้ามาในต้นศตวรรษที่ 16”
.
สำหรับ “กรุงเทพมหานคร” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า“กรุงรัตนโกสินทร์อินท์ อโยธยา” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า “บวร” เป็น “อมร” เปลี่ยนคำว่า “มหินทอยุธยา” โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น “มหินทรายุธยา” เปลี่ยนการสะกดคำ “สินท์” เป็น “สินทร์” และเติมสร้อยนามต่อ จึงมีชื่อเต็มว่า “กรุงเทพ มหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” โดยเป็นชื่อเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก
.
สำหรับคำว่า Bangkok และ Krung Thep Maha Nakhon ที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ตอนนี้มีจุดเริ่มต้นจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาโดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง จากประกาศราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ให้ถูกต้อง ชัดเจน และสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่ชื่อเปลี่ยนแปลงไปโดยให้แก้ไขจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon โดยเก็บชื่อเดิม (Bangkok) ไว้ในวงเล็บ และแจ้งใน Facebook Page สำนักงานราชบัณฑิตยสภาว่า "กรุงเทพมหานคร" ยังสามารถใช้ได้ทั้ง Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok
.
แม้ว่าการเขียนหรือการเรียกชื่อจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ความรู้สึก ความประทับใจที่มีต่อเมืองหลวงแห่งนี้ยังคงเดิม และพวกเราทุกคนจะยังคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว แขกบ้านแขกเมืองด้วยรอยยิ้มเสมอ แต่อยากแอบบอกว่า Bangkok เขียนง่ายกว่า สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องภาษาและประวัติศาสตร์ TK Park มีหนังสือหลากหลายพร้อมให้บริการทั้งที่ชั้น 8 CentralwOlrd และบนห้องสมุดออนไลน์ TK Park Online Library เข้าไปค้นหากันได้ทาง https://library.tkpark.or.th/ นะครับ
.
#Bangkok #KrungThepMahaNakhon #บางกอก #กรุงเทพมหานคร #TKPark
หนังสือ หมอฝรั่งในวังสยาม (A Physician at the Court of Siam) https://library.tkpark.or.th/catalog/BibItem.aspx...
https://library.stou.ac.th/odi/bang-kok/page-1_2.html
https://www.silpa-mag.com/history/article_38554
https://www.eventpop.me/blogs/460-bangkok-origin