วันพฤหัสบดี, กันยายน 02, 2564

Brain Drain คนไม่ใช่ต้นไม้ ถ้าหมามันเยี่ยวรด ไม่เตะหมา ก็ย้ายที่ยืน - ทีมนักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงชาวอัฟกันหนีตาลีบันเพื่อสานฝันด้านวิทยาศาสตร์



Jitsiri Sukomorn
ดีแล้วค่ะ อย่าอยู่ให้พวกล้าหลังแบบตาลีบันกดขี่เลย หวังว่าจะได้เห็นนักวิทยาศาสตร์หญิง ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆให้มนุษยชาติในอนาคต ออกมาดีกว่าอยู่ในประเทศที่ปกครองโดยพวกล้าหลังที่ไม่รู้จักคุณค่าของเพศแม่ พวกนี้ไม่สมควรได้รับความก้าวหน้าอะไรทั้งนั้น

Watchara Russamekhare
คนไม่ใช่ต้นไม้ ถ้าหมามันเยี่ยวรด ไม่เตะหมา ก็ย้ายที่ยืน

ทีมนักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิง "อัฟกันดรีมเมอร์" ได้รับสิทธิให้ลี้ภัยในเม็กซิโกหลังหลบหนีออกจากอัฟกานิสถาน

ครั้งหนึ่งทีมนักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงล้วนที่มีชื่อว่า "อัฟกันดรีมเมอร์" (Afghan Dreamers) หรือ "นักฝันแห่งอัฟกัน" เคยเป็นดั่งประทีปแห่งความหวังสำหรับผู้หญิงในอัฟกานิสถาน

พวกเธอเป็นกลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุ 13-18 ปี จำนวน 20 คนที่รวมตัวกันก่อตั้งทีมนักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงทีมแรกของประเทศ ที่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ไม่เคยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก และยิ่งน้อยลงไปอีกสำหรับผู้หญิง

ทว่าการกลับเข้ายึดอำนาจของกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ก็ทำให้ความก้าวหน้าที่พวกเธอทุ่มเททำมาต้องตกอยู่ในอันตราย เพราะตาลีบันได้เคยจำกัดสิทธิของสตรีในการทำงานและการเรียนหนังสือเมื่อครั้งที่กลุ่มเคยปกครองอัฟกานิสถาน ในช่วงทศวรรษที่ 1990

เยาวชนหญิงอัฟกานิสถานสร้างเครื่องช่วยหายใจต้นทุนต่ำเพื่อผู้ป่วยโควิด-19
ตาลีบันสั่งให้ผู้หญิงที่มีงานทำอยู่บ้านชั่วคราว รอเตรียมความพร้อมใช้กฎระเบียบใหม่
ตาลีบันลั่นเคารพสิทธิสตรี ภายในกรอบกฎหมายอิสลาม

หลังจากตาลีบันเข้ายึดอำนาจในอัฟกานิสถานครั้งล่าสุด นักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงเหล่านี้จึงตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อขอลี้ภัยในต่างแดน เช่นเดียวกันชาวอัฟกันนับพันนับหมื่นคนที่หวาดกลัวการถูกกดขี่และการล้างแค้นของกลุ่มตาลีบัน

หลังจากเดินทางผ่าน 6 ประเทศและผ่านขั้นตอนทางราชการต่าง ๆ ในที่สุด สมาชิก 5 คนของกลุ่ม ได้แก่ ฟาตีมา กาเดอเรียน, ลิดา อาซิซี, คอว์ซาร์ โรชาน, มาเรียม โรชาน และซาการ์ ซาเลฮี ก็ได้สิทธิลี้ภัยชั่วคราวในประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา

โลกแห่งความเสมอภาคทางเพศ

เด็กสาวกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันที่จะเดินทางถึงเม็กซิโก และชาติลาตินอเมริกาอื่น ๆ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

นายมาร์เซโล เอ็บราร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า "พวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของทีมหุ่นยนต์อัฟกานิสถาน และพวกเธอยืนหยัดเพื่อความฝันที่โลกจะมีความเสมอภาคทางเพศ ยินดีต้อนรับ"

รัฐบาลเม็กซิโกระบุว่า เด็กสาวกลุ่มนี้ได้รับวีซ่าด้านมนุษยธรรม ซึ่งจะอนุญาตให้สามารถพำนักในประเทศได้อย่างน้อย 6 เดือน และมีสิทธิขอขยายเวลาออกไปได้

พวกเธอยังจะได้ที่พักและอาหารฟรี จากความช่วยเหลือขององค์กรต่าง ๆ

แม้รัฐบาลเม็กซิโกจะได้รับเสียงชื่นชมในเรื่องนี้ แต่กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างวิจารณ์รัฐบาลที่ให้การต้อนรับเด็กสาวชาวอัฟกันกลุ่มนี้อย่างอบอุ่น ต่างจากการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้อพยพที่พรมแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลเม็กซิโกมักส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศต้นทาง และหลายคนรายงานว่าตกเป็นเยื่อการล่วงละเมิด การทารุณ และความรุนแรง

เด็กสาวกลุ่มนี้คือใคร

อัฟกันดรีมเมอร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน โดย โรยา มาห์บูบ นักธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ทำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร "ดิจิทัล ซิติเซน ฟันด์" (Digital Citizen Fund) ที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ

องค์กรนี้ ให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงและผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงเทคโนโลยี และให้การอบรมความรู้ในสาขาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, คณิตศาสตร์ และวิทยาการ


"อัฟกันดรีมเมอร์" ก่อตั้งขึ้นในปี 2017

ในอัฟกานิสถาน โครงการนี้ตั้งอยู่ในเมืองเฮรัต เพื่อส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และส่งเสริมความสำเร็จของเด็กหญิงในประเทศนี้ที่บทบาทของผู้หญิงเคยถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้านในยุคที่ตาลีบันเรืองอำนาจ (ช่วง ค.ศ. 1996-2001)

หลังจากกลุ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2017 ได้ไม่นาน เด็กสาวกลุ่มนี้ก็ได้รับความสนใจจากทั่วโลก จากการชนะรางวัลพิเศษในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติที่กรุงวอชิงตัน ดีซี

การคว้ารางวัลดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้หลายคน เพราะไม่เพียงพวกเธอจะเป็นวัยรุ่นหญิงจากประเทศที่ผู้หญิงและเด็กหญิงแทบจะไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ยังเป็นเพราะพวกเธอต้องเอาชนะอุปสรรคนานัปการเพื่อเดินทางไปยังสหรัฐฯ

โดยหลังจากได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นชาวอัฟกันกลุ่มแรกที่ทำได้ พวกเธอก็เดินทางกว่า 800 กม.จากบ้านเกิดในเมืองเฮรัตไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงคาบูล


พวกเธอได้รับความสนใจจากทั่วโลก จากการชนะรางวัลพิเศษในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อปี 2017

ทว่าเมื่อไปถึงที่นั่น สถานทูตกลับปฏิเสธการออกวีซ่าให้ พวกเธอพยายามยื่นเรื่องอีกครั้งแต่ก็ถูกปฏิเสธอีก จนกระทั่งได้รับการอนุมัติให้เดินทางเข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำในขณะนั้น

แต่อุปสรรคของพวกเธอยังไม่จบเพียงเท่านี้

เพราะก่อนหน้าการเดินทางสู่กรุงวอชิงตัน ดีซี เพียงไม่นาน รัฐบาลอัฟกานิสถานได้สั่งยึดวัสดุที่พวกเธอวางแผนจะใช้ในการแข่งขัน

แต่ในท้ายที่สุด ทีมนักประดิษฐ์กลุ่มนี้ก็เดินทางถึงสหรัฐฯ สำเร็จ และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอเมริกันที่ได้ทราบเรื่องราวการเดินทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคของพวกเธอ

ต่อสู้โควิด-19

หลังการแข่งขันที่สร้างชื่อในครั้งนั้น ทีมนักประดิษฐ์หญิงล้วนกลุ่มนี้ก็ได้รับความนิยมในอัฟกานิสถาน

ตอนที่โควิด-19 แพร่ระบาดเข้าไปในอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้ว พวกเธอได้ร่วมงานกับกลุ่มแพทย์ วิศวกร และนักวิชาการเพื่อหาทางออกในวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นเมืองเฮรัตกำลังเผชิญปัญหาขาดลนเครื่องช่วยหายใจ


เยาวชนหญิงอัฟกานิสถานสร้างเครื่องช่วยหายใจต้นทุนต่ำเพื่อผู้ป่วยโควิด-19

ทีมอัฟกันดรีมเมอร์ เสนอโครงการสร้างเครื่องช่วยหายใจโดยใช้ต้นแบบจากเครื่องช่วยหายใจของวิศวกรสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (MIT) และใช้ชิ้นส่วนจากรถยนต์ในการผลิต

หลังจากได้รับอนุญาตจากผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันให้ใช้ต้นแบบดังกล่าวได้ พวกเธอก็เริ่มการผลิต ตอนนั้นเด็กสาวหลายคนต้องทำงานโดยที่อดอาหาร เพราะตรงกับช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิมพอดี

นอกจากนี้ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันโควิดก็ทำให้พวกเธอต้องแยกกันทำงาน และพบกันเฉพาะตอนที่ต้องนำชิ้นส่วนที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาประกอบกัน ช่วงนั้นเองสมาชิกทีมหลายคนได้ล้มป่วยด้วยโควิด

การหลบหนี

ในขณะที่อัฟกันดรีมเมอร์เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับนานาชาติและภายในประเทศ กลุ่มก็เริ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วย ในจำนวนนี้รวมถึงสมาชิกที่เกิดหลังจากปี 2001 ซึ่งกลุ่มตาลีบันถูกกองทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรโค่นลงจากอำนาจหลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11


นักประดิษฐ์หญิงกลุ่มนี้บอกว่า ภายใต้กฎหมายอิสลามที่ตีความโดยตาลีบัน จะเป็นเรื่องยากมากที่พวกเธอจะสามารถทุ่มเทชีวิตเพื่อวิทยาศาสตร์ได้ต่อไป

การที่กลุ่มอิสลามสายแข็งกร้าวอย่างตาลีบันกลับขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง ทำให้เด็กสาวกลุ่มนี้หวาดกลัวว่าจะถูกตามล้างแค้น

หลังพยายามหลบหนีออกนอกประเทศแต่ต้องล้มเหลวหลายครั้ง ในที่สุดพวกเธอก็สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังประเทศกาตาร์ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรดิจิทัล ซิติเซน ฟันด์

ตอนนั้นเองที่พวกเธอได้ทราบว่าเม็กซิโกได้อนุมัติคำร้องขอลี้ภัย

"พวกเขา [ทางการเม็กซิโก] ไม่ได้แค่ช่วยชีวิตเรา แต่ยังช่วยความฝันของพวกเรา ความฝันที่เรากำลังพยายามทำให้เป็นจริง" เด็กสาวกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเดินทางถึงกรุงเม็กซิโกซิตี

"เรื่องราวของพวกเราจะไม่มีจุดจบที่น่าเศร้า"

เด็กสาวกลุ่มนี้อธิบายว่า นับแต่ตาลีบันยึดอำนาจ สถานการณ์ก็ไม่ "เข้าข้างพวกเรา"

"ภายใต้การปกครองนี้ เด็กผู้หญิงแบบพวกเราต้องเผชิญความยากลำบากต่าง ๆ...นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรารู้สึกซาบซึ้งใจที่ได้มาอยู่ที่นี่"

พวกเธออธิบายต่อว่า ภายใต้กฎหมายอิสลามที่ตีความโดยตาลีบัน จะเป็นเรื่องยากมากที่พวกเธอจะสามารถทุ่มเทชีวิตเพื่อวิทยาศาสตร์ได้ต่อไป

"เรื่องราวของพวกเราจะไม่มีจุดจบที่น่าเศร้าเพราะตาลีบัน" นักประดิษฐ์หุ่นยนต์กลุ่มนี้กล่าว

สื่อหลายสำนักรายงานว่า ปัจจุบันเด็กสาวกลุ่มนี้ต่างได้รับการเสนอทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ

ที่มา บีบีซีไทย
https://www.bbc.com/thai/international-58392633