วันพุธ, กันยายน 29, 2564

Minor Threat


Uninspired by current events
14h ·
Minor Threat


Komluck Chaiya
Yesterday at 3:42 PM ·

แล้วก็เป็นตามที่คาด ว่าต้องมีพวกสลิ่มอนุรักษ์นิยมเอามาเป็นประเด็นโจมตี นิทานชุดราษฎรนี้ เพราะคนเหล่านี้ย่อมไม่เชื่อว่าเด็กๆ และพ่อแม่ในครัวเรือนไทยย่อมสามารถเลือกสรร ซึมรับโลกได้อย่างมีเหตุผล
เด็กๆ เขามีสมองที่จะตัดสินเองได้ ตามที่เขาคิดจินตนาการ ในกระบวนการอ่านพ่อแม่ก็ดูแลอยู่ใกล้ชิด เสริมเติมไป และตราบที่เนื้อหามันส่งเสริม "คุณค่าความเป็นคน" ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หนังสือย่อมไม่ทำร้ายใครและมีคุณค่าเสมอ ทั้ง 8 เล่มนี้ สำหรับลูกสาวผม ก็ไม่ใช่เขาจะเปิดอ่านทุกเล่ม จะมี 2 เล่มที่เขาไม่ยอมเปิดอ่านเลย แต่เอาไปเก็บไว้ห่างๆ หลังจากที่สกรีนครั้งแรกแล้ว เพราะเขาไม่ชอบรูปภาพ คือ เรื่องแค็ก แค็กมังกร (หนูใจไม่ถูกโรคกับปกหนังสือรูปมังกรบางเล่ม เช่น เรื่อง "มังกรไฟไม่เรียนหนังสือ" ของคุณประภาสที่ออกมาหลายปีก่อน ดีมาก ตอนแรกๆ ก็ไม่กล้าเปิดอ่าน) อีกเรื่องที่ยังไม่เปิดอ่าน คือ "ตัวไหนไม่มีหัว" ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมน่าจะชอบมากที่สุดในชุดนี้ เรื่องราวของพยัญชนะ ที่บลูลี่ตัว ก.ไก่ กับธ.ธง ว่า "ไม่มีหัว" เหมือนกับตัวอื่นๆ แต่สุดท้ายทั้งหมดก็ได้เรียนรู้และยอมรับคุณค่าของพยัญชนะทุกตัวว่ามีคุณค่าเท่าเทียมกัน (ขอบอกว่าเรื่องนี้ดีมาก แต่งดีมาก แต่เด็กที่จะเข้าใจประเด็นได้ดี อาจจะต้องเรียนรู้เรื่องพยัญชนะก่อน ตัวพยัญชนะที่มีหัวกับไม่มีหัว)
เรื่อง "เด็กๆ มีความฝัน" นี่ดีงามทั้งภาพและเรื่องราว มีการเล่นกับภาพ โดยแต่ละหน้าจะให้เด็กๆ ตามหาว่า "มะนาว" กับ "ข้าวปุ้น" ตัวละครเด็กหญิง/ชายอยู่ตรงไหนในแต่ละภาพ เนื้อหาเรื่องนี้เป็นนามธรรมลึกซึ้งหน่อย แต่อ่านได้หลายระดับ จริงๆ ผมอ่านแล้วนึกถึง "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ปฏิทินแห่งความหวังของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องราวล้อกันถึงสังคมที่ดีงาม เข้าใจว่าพี่สองขาได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีของคุณวัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งเขียนเอาไว้ในปกในก่อนจะเริ่มเรื่องด้วย ในการอ่านนี้ พ่อแม่จะเล่นสัมพันธ์ก้บลูกในการช่วยกันหามะนาวกับข้าวปุ้นให้เจอในแต่ละหน้า ถ้าจะมีอะไรที่ต้องปรับปรุง ผมคิดว่าภาพมันเล็กไป สำหรับผม พ่อแม่อายุขึ้นเลขสี่ เวลาไม่ใส่แว่นตาแล้ว ต้องมาหาภาพเล็กๆกับลูกมันปวดลูกกะตากว่าจะหาเจอ 555 ส่วนลูกสาวก็เด็กน้อย ภาพตัวละครมันเล็กก็มองหายาก (ดูที่ผ้าผูกแขนข้าวปุ้น) จะมีบางหน้าที่มะนาวกับข้าวปุ้นตัวใหญ่หน่อย หนูใจก็จะหาได้ด้วยตัวเองเลย
เรื่อง "เสียงร้องของผองนก" และ "เป็ดน้อย" เรื่องราวร้อยเรียงด้วยคำกลอนก็อ่านง่าย คำคลอนใช้คำสัมผัส และง่ายสำหรับเด็ก ภาพน่ารัก อ่านได้สบาย ยิ่งถ้าเด็กห้าปีขึ้น นี่ยิ่งไม่ยากเลย นามธรรมพวกเสรีภาพ พวกนี้จะต่างอะไร กับนามธรรมเชิงศีลธรรมธรรมะที่นิทานคุณธรรมชอบใส่มาในนิทาน มันเพียงแค่ขยายนามธรรมของสังคมเข้าไป ซึ่งเด็กๆ จะเข้าใจในระดับของเขา แต่เมื่อโตขึ้นเขาจะคิดและขยายความซับซ้อนลึกซึ้งเข้าไปได้เอง
เรื่องอื่นๆ ผมยังไม่ได้อ่านกับลูกสาว เพราะเขาจะอ่านนิทานอื่นๆ ที่มีอยู่ในบ้านเล่มที่เขาชอบซ้ำๆ บ่อยๆ ด้วย แต่ผมเปิดดูแล้ว ทุกเล่มภาพสวย เล่มสิบราษฎรนี่ออกแนวคอมมิกแบบเด็กโตหน่อย อารมณ์มันคล้ายคอมมิกมาร์เวล มีแต่ภาพเล่าเรื่องเป็นส่วนใหญ่ มังกรแค่กๆ นี่พี่หนูริ่งเอาประสบการณ์งานอาสาสมัครดับไฟมาเล่าในรูปแบบนิทาน เสริมสร้างความเข้าใจสามัคคีภราดรภาพในชุมชน เรื่อง "จิตร" นี่ก็ย่อยประวัติจิตร ภูมิศักดิ์ ด้วยคำกลอนอ่านง่าย ๆ ภาพสวยๆ เด็กโต/ผู้ใหญ่น่าจะเป็นประโยชน์ในการรู้จักชีวประวัติ ประชาชนนักปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย "แม่หมิมไปไหน" นี่เล่าโดยทราย เจริญปุระ ในรูปแบบความเรียง แต่สองขาก็เขียนกลอนกำกับไว้ด้วย เล่าผ่านสายความสัมพันธ์ของเจ้าหมิม แมวเหมียวกับแม่ทราย อันนี้ผมยังไม่ได้อ่านละเอียด
แต่โดยรวมทุกเล่มภาพสวยงาม ยกย่องคุณค่าสากล คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ถ้าหนังสือพวกนี้จะผิดก็คือ ผิดต่อความคิดแบบอนุรักษ์นิยมล้าหลังนั่นแหละ สำหรับเด็กแล้ว มันเป็นตัวบทของโลกเริ่มต้นก่อนที่่พวกเขาจะเติบโตและเรียนรู้ว่าโลกนี้ มีกระแสความคิดมากมาย ไม่ใช่เพียงเรื่องศีลธรรมฉาบฉวย และคุณธรรมแบบรัฐชาติพยายามสั่งสอนยัดเยียดตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเท่านั้น
หนังสือจะดีแค่ไหน หากการอ่านนั้นไม่รอบด้านมากพอ ก็ทำให้โลกทัศน์คับแคบอยู่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐชอบกระทำการโดยการยัดเยียดเรื่องที่มีคุณค่าต่อรัฐแก่ผู้เรียนเสมอ ตรงข้ามกันเด็กจะฉลาดต้องอ่านมันให้รอบทุกอย่าง เปิดพื้นที่สำหรับความหลากหลายของเรื่องราวให้เด็กๆ ได้เรียนรู้โลกในประตูที่เปิดกว้างไว้ย่อมเหมาะสมกว่าการชี้นิ้วสั่งให้คุณค่าจากบนลงล่างถ่ายเดียว
ป.ล. วันนี้ไปซื้อของที่ห้างฯ หนูใจก็เข้าร้านหนังสือหยิบนิทานบนชั้นมาเปิดนั่งอ่านตามที่ชอบทำปกติ พ่อก็เสียเงินซื้อนิทานให้อีกตามระเบียบ เขาชอบปลาสวยๆ เลยได้ปลาสายรุ้งกลับบ้านมาด้วย