Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
17h ·
[ ลุ้น! พรรคกรีนตั้งรัฐบาลผสม-ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ]
.
ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจากการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีเมื่อวานนี้ ปรากฎว่าพรรค SPD ได้คะแนนเสียงเอาชนะพรรค CDU (พรรคของอังเกลา แมร์เคิล) ไปเพียงเล็กน้อยที่ 25.7% และ 24.1% เท่านั้น ส่วนพรรคกรีน (GRÜNE) ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 คิดเป็น 14.8% ตามมาด้วยพรรค FDP ที่ 11.5%
.
เมื่อเปรียบเทียบจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2017 ถือว่าพรรคกรีนมีคะแนนนิยมเพิ่มสูงกว่าเดิมมาก และจากสถานการณ์ตอนนี้ เมื่อคำนวณตามสูตร MMP แบบเยอรมนี จำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) อาจจะมีถึง 735 ที่นั่ง ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องรวบรวมเสียงให้ได้ 367 เสียง ทำให้พรรคกรีนมีโอกาสได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่อย่างค่อนข้างแน่นอน
.
นักวิเคราะห์ยังบอกกันอีกว่าพรรคกรีนและพรรค FDP กลายเป็น “Kingmaker” หรือผู้มีอำนาจกำหนดตัวผู้บริหารของเยอรมนีในขณะนี้ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีเสียงจากทั้งสองพรรคนี้เท่านั้น เรียกได้ว่าไม่ว่าสูตรการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นแบบใด พรรคกรีนก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญในเกือบทุกสูตร
.
ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองไทย เพราะพรรคกรีนเป็นพรรคที่มีบทบาทในทางสาธารณะต่อสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงสองปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
.
ในเดือนตุลาคม 2562 ส.ส. จากพรรคกรีนเคยตั้งกระทู้ในสภาฯ ต่อ Heiko Mass รัฐมนตรีต่างประเทศ ถึงกรณีกษัตริย์ไทยประทับในเยอรมนี และข้อกังวลเรื่องการใช้พระราชอำนาจทางการเมือง จนทำให้เกิดคำถามเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่อมารัฐสภาเยอรมนีได้จัดทำรายงานกรณีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ในรายงานมีการไล่เรียงรายละเอียดข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และความละเอียดอ่อนทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งมีข้อเสนอทางออกต่อกรณีนี้อีกด้วย
.
นอกจากนี้ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา พรรคกรีนยังได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเคียงข้างเสรีภาพในการแสดงออกและประณามการใช้มาตรา 112 ต่อผู้ชุมนุมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี
.
ด้านพรรค FDP เองก็หันมาสนใจสถานการณ์การเมืองไทย โดยช่วงก่อนที่สภาฯ จะหมดวาระได้มีการยื่นกระทู้ถามถึงการละเมิดสิทธิมนุษยและการใช้มาตรา 112 ต่อผู้ชุมนุมด้วย
.
จากนี้ก็ต้องมาลุ้นกันว่าเยอรมนีจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร และพรรคใดจะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนต่อไป ในอดีตที่ผ่านมาพรรคที่ได้ตำแหน่งนี้มักจะเป็นพรรคอันดับสองในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าพรรคกรีนอาจจะได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
.
ถ้าผลการจัดตั้งรัฐบาลออกเป็นอย่างนั้นจริงก็จะมีนัยยะว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะอยู่ในความสนใจและถูกจับตามองจากรัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนีเป็นอย่างมาก
.
ทั้งนี้อยู่ที่การเจรจาระหว่างพรรคต่างๆ ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างไร ซึ่งกินเวลานานหลายเดือน (จากการเลือกตั้งครั้งก่อนใช้เวลาเจรจากว่า 5 เดือน) ไม่ใช่เพราะการต่อรองที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหรือแบ่งกระทรวงเกรดเอ เกรดบี แต่เนื่องจากเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในเยอรมนีต้องมีความเป็นทางการ มีการทำสัญญาระหว่างพรรค กำหนดกลุ่มนโยบายที่ชัดเจน โดยต้องตกลงนโยบายหลักๆ อาทิ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สหภาพยุโรป การจัดการภาษี แล้วให้แต่ละพรรคตั้งหัวหน้าผู้แทนเพื่อหารือว่าจะประนีประนอมการดำเนินนโยบายตามความต้องการของแต่ละพรรคให้สอดประสานกันได้อย่างไรด้วย
.
ย้อนชม #สนามกฎหมาย สภาเยอรมันออกรายงานศึกษากรณีกษัตริย์ไทยประทับเยอรมนี : https://youtu.be/8Ew8svF2Rb8
.
ส.ส. พรรคกรีนลุกถามกลางสภาว่าเหตุใดจึงปล่อยให้กษัตริย์ไทยใช้พระราชอำนาจทางการเมืองในดินแดนเยอรมนี : https://www.youtube.com/watch?v=tQW_yhccmuU
.
แถลงการณ์ของพรรคกรีน “การเรียกร้องประชาธิปไตยและการวิจารณ์การปกครองแบบอำนาจนิยมไม่ใช่อาชญากรรม” : https://prachatai.com/journal/2021/07/94091
.
คำถามต่อสภาจากพรรค FDP เรื่องการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม : https://tlhr2014.com/archives/34681
.....