วันจันทร์, กันยายน 27, 2564

ชวนอ่านความทรงจำของมิตรสหาย ก่อนจะถึง 6ตุลา 2519 - "History is not the past, it is the present. We carry our history with us. We are our history"


ภาณุมาศ ภูมิถาวร
September 18 at 11:28 PM ·

ขอนำความทรงจำของมิตรสหายที่เคารพนับถือท่านหนึ่งที่ส่งมาให้อ่าน ขออนุญาตเผยแพร่ต่อ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศก่อนเดือนตุลา บางคนถามว่ารื้อฟื้นให้เกิดความขัดแย้งทำไม แต่หลายคนทั้งที่ได้รับความสูญเสียโดยตรงและผู้รักความเป็นธรรมคงตอบว่า ตราบเท่าที่ประวัติศาสตร์ไม่ถูกชำระอย่างถูกต้อง เหตุการณ์6ตุลาจะถูกรื้อฟื้นเตือนความจำเสมอไป..จากรุ่นสู่รุ่น
ก่อนจะถึง 6ตุลา 2519
….
มีข่าวว่า การจัดงานรำลึก 6 ตุลาคมปีนี้จะเป็นการจัดงานแบบออนไลน์ คงไม่ได้มีโอกาสไปแสดงความไว้อาลัยกับผู้ที่จากไป และไปพบหน้าผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการรำลึกถึงมิตรสหายจึงขอนำ เรื่องราวที่เป็นบันทึก ประวัติการเคลื่อนไหวต่อสู้ ของพวกเราเมื่อครั้งเป็นนักเรียนนักศึกษา มาทบทวนวีรกรรมอีกครั้ง ที่
จริงแล้วเรื่องเต็มๆเขียนไว้ยาวมาก แต่ขอตัดตอนมา พอให้ได้รำลึกถึงประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของพวกเรา ที่ต้องสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งใช้ทั้งความรุนแรงและกฎหมาย เพื่อแสวงหาอำนาจ แม้ผ่านไป 40 กว่าปีก็ยังเหมือนเดิม
วันในอดีต เราก็อายุเท่ากับเด็กที่เคลื่อนไหวในปัจจุบันพวกนี้นี่แหละ
นี่ไม่ใช่นิยาย แต่เป็นเรื่องที่เกิดตาม วัน เวลา จริงตามท้องเรื่อง แต่ชื่อบุคคลส่วนใหญ่ถูกตัดออก ส่วนที่เผยแพร่นี้ยังไม่ตีพิมพ์
ขอเริ่มจากกลางเรื่อง .. ช่วงที่จอมพลประภาสเดินทางกลับมาเมืองไทยก็แล้วกัน..
ชุติมา พญาไฟ
ตอนที่1
แผนรัฐประหารเดือนสิงหา
15 สิงหาคม2519 ดอนเมือง
หกโมงเย็นแล้ว ที่นี่ฝนตกหนักพอสมควร แต่นักบินไชน่าแอร์ไลน์ เที่ยวบิน CI. 819 ก็สามารถนำเครื่องลงสู่สนามดอนเมืองได้อย่างเรียบร้อย เที่ยวบินนี้ดูเหมือนมีแขกพิเศษ เพราะมีรถเก๋งคันหนึ่งวิ่งเข้าไปรับถึงลานจอด แขกพิเศษรูปร่างท้วม เดินลงจากบันได ร่มสีดำคันใหญ่ถูกกางกันฝนและกั้นสายตาคนอื่น รถเก๋งสีดำคันใหญ่แล่นปราดเข้าเทียบบันไดเครื่องบิน แขกพิเศษและผู้ติดตามเข้าไปในรถอย่างรวดเร็ว แล้วรถเก๋งคันนั้นแล่นหายไปท่ามกลางสายฝนกระหน่ำหนัก พนักงานบริการสองคนที่ยืนอยู่ตรงบันไดหันมาซุบซิบกัน
“เมื่อกี้ผมตาฝาดไปหรือเปล่าครับ” คนหนึ่งเอ่ยเบา ๆ
“ไม่หรอก รีบบอกเจ้านายเร็วเข้า” อีกฝ่ายพยักหน้าให้คนถาม สีหน้ากังวลเล็กน้อย
คนรับคำสั่งตรงไปหอบังคับการบิน เข้ารายงานผู้บังคับบัญชาให้รับทราบทันที
“คุณแน่ใจหรือ” ผู้บังคับบัญชาเลิกคิ้ว
“ครับ ผมมั่นใจเป็นจอมพลประภาสแน่นอน มีรถเก๋งมารับไปแล้วครับ”
“งั้นเดี๋ยวผมจะไปขอดูรายชื่อผู้โดยสาร” เจ้านายขยับลุกขึ้นอย่างร้อนใจ
. มีคนลงจากเครื่องบินเกือบร้อยคน มีชื่อ พี . จารุเสถียรหนึ่งคนจริง ๆ
ข่าวการกลับมาของจอมพลประภาส มิได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของประชาชน เพียงชั่วข้ามคืน ข่าวลือ ก็แพร่สะพัดไปทั่ว เป็นเครื่องพิสูจน์ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนได้อย่างชัดเจน ปฏิกิริยาเชิงต่อต้านแสดงออกมาจากทุกกลุ่ม พวกเขาไม่กลัวเงามืดของเผด็จการ และพร้อมจะรวมตัวกันสู้ เมื่อเกิดการต่อสู้ก็ย่อมมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์เสียประโยชน์ ในสถานการณ์แบบนี้ กระแสรัฐประหารก็แรงขึ้น แต่ประชาชนสู้ไม่ถอยแน่นอน พวกฝ่ายก้าวหน้าจะทำอย่างไร จะสู้อย่างไร จึงจะชนะและอยู่รอดต่อไปได้ การโค่นเผด็จการมิใช่เรื่องง่าย ๆ ระบบอุปถัมภ์ที่สั่งสมกันมานับร้อยปีในประเทศไทยได้สะสมอิทธิพลของผู้มีอำนาจกระจายไปทั่ว และมีลักษณะซึมลึกอยู่ในกลุ่มข้าราชการจำนวนมาก แม้กลุ่มเก่าหมดอำนาจไป กลุ่มใหม่ก็อยากเข้ามาปกครองกดขี่ประชาชนชั้นล่างเพื่อเสวยสุขต่อไป
16 สิงหาคม
วุ่นแล้ว...วุ่นวายกันใหญ่ นายกเสนีย์เรียกประชุม รมต.กลาโหม พลเอกทวิช , พล.ต.ต ศรีสุข อธิบดีกรมตำรวจ,พลเอกบุญชัย ผบ.ทบ.และฝ่ายการเมือง พอสองทุ่มก็เรียกประชุมครม.ทั้งคณะ ผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ และอธิบดีกรมประมวลข่าวกลาง จากนั้นก็แถลงข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 มีใจความโดยสรุปว่า
“รัฐบาลได้รับฟังข้อเท็จจริงต่าง ๆ และสรุปว่า สายการบินไชน่าแอร์ไลน์ นำผู้โดยสารจากไทเปเข้ามาในประเทศไทยเมื่อเย็นวันที่ 15 จำนวน 98 คน ในจำนวนนั้นมีคนชื่อ พี .จารุเสถียร อยู่ด้วย เป็นไปได้ว่าจอมพลประภาสอาจจะเข้ามาจริง หากมีหลักฐานจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด จึงขอแจ้งไปยังบุคคลใด ๆก็ตาม ที่เตรียมกระทำการให้เกิดความยุ่งยากทางการเมือง โดยอาศัยเหตุการณ์นี้ อย่าได้ทำเป็นอันขาด เพราะรัฐบาลจะดำเนินการโดยเด็ดขาดเช่นกัน”
“แถลงการณ์รัฐบาลฟังแล้ว เหมือนขู่คนที่จะทำรัฐประหาร อีกด้านก็เหมือนขู่พวกเราด้วย แต่ประภาสอยู่ไหนยังไม่รู้เลย จะไปสู้อะไรกับเค้า พวกเรางานเข้าอีกแล้ว” สิ้นเสียงบ่น สุธรรม เลขาศนท.ก็เรียกประชุมกรรมการศูนย์ ฯพร้อมตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆทันที
ปฏิกิริยาของฝ่ายต่าง ๆออกมาแนวเดียวกันหมด ฝ่ายนักศึกษาเปรียบเทียบว่า เหมือนเงามืดของเผด็จการที่จะเข้ามาครอบงำประเทศอีกครั้ง พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจับตัวมาลงโทษ
นายไพศาล ธวัชไชยนันท์ ประธานสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย แถลงว่าจะเรียกประชุมสภาแรงงานและประธานสหภาพต่าง ๆ ทั้งยืนยันว่าจะต่อสู้กับเผด็จการจนถึงที่สุด
17 สิงหาคม
ขณะที่รัฐบาลแถลงอย่างลังเลว่าจอมพลประภาสมาจริงหรือไม่ ฝ่ายนักศึกษาได้ก้าวนำหน้าออกไปแล้ว เช้ามืดวันนั้นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ มีรูปจอมพลประภาส แบล็คกราวด์เป็นภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา เขียนข้อความว่า
“จับตาย..ฆาตกรโหด”
พร้อมนัดหมายการชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลประภาส เวลา16.00 น.ที่ท้องสนามหลวง ก็ถูกนำมาปิดทั่วกรุงเทพ ฯ
เจ็ดโมงเศษ ๆ นักรบนิรนามทั้งชายและหญิง ทยอยกลับรามคำแหงในสภาพเนื้อตัวมอมแมม อิดโรย หิ้วถังกาวแป้งเปียกที่เหลือติดก้นถัง พอมาถึงก็แยกย้ายกัน ไปที่ชมรมต่อต้านยาเสพย์ติด ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มสลัม บางคนก็กลับที่ทำการพรรคสัจจธรรม ต่างพาล้มตัวลงนอนเหยียดยาวกันเป็นแถว แม้หัวใจจะสู้เต็มร้อย แต่ร่างกายอุทธรณ์ว่าต้องการพักผ่อน เพราะอดนอนมาทั้งคืนแล้ว เพื่อเร่งทำงานสำคัญชิ้นหนึ่ง ฝีมือการทำงานของพวกเขาเร็วกว่ารัฐบาลหลายก้าว
เที่ยงครึ่ง นักศึกษาธรรมศาสตร์ราวสามร้อยคนเริ่มรวมตัวชุมนุมกันที่ลานโพธิ์ แต่รองอธิการบดีฝ่ายนักศึกษาสั่งห้าม อ้างว่าเรื่องนี้เป็นเพียงแค่ข่าวลือ อมธ.ไม่ต้องการขัดแย้งกับฝ่ายบริหาร จึงยอมยุติการชุมนุม ธงชัย รองนายกแจ้งกับนักศึกษาว่า
“เดี๋ยวตอนเย็นออกไปร่วมชุมนุมกับศูนย์นิสิตที่สนามหลวงดีกว่า”
ตกบ่ายนายกเสนีย์แถลงว่า กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันยืนยันมาแล้วว่าจอมพลประภาสเดินทางมาเยี่ยมมารดาที่ป่วยหนักในประเทศไทยจริง
รามคำแหงออกข่าวเสียงตามสาย เรื่องนายกเสนีย์ยืนยันว่าจอมพลประภาสกลับเข้ามาในไทยจริง ใครอยากร่วมชุมนุมให้ไปขึ้นรถตอนสี่โมงเย็น
ห้าโมงเย็น สนามหลวง
มีคนเข้าร่วมชุมนุมประมาณหนึ่งหมื่นคนแล้ว ชิงชัยมาถึงก่อนขบวนรถจากราม ประจวบรีบรายงานให้รู้สภาพทันที
มีกลุ่มผู้รักชาติสองร้อยกว่าคน ตั้งเวทีอยู่ท้ายสนามหลวงด้านวัดพระแก้ว อภิปรายโจมตีรัฐมนตรีพิชัยกับรัฐมนตรีสุรินทร์ มาศดิตถ์ คนพูดอ้างว่าเป็นทหารยศร้อยเอกด้วย บอกว่าขับไล่ประภาสไม่สำคัญ ขับไล่ญวนสำคัญกว่า วันนี้ตำรวจมาหลายร้อย อธิบดีมาเองเลย ผบ.ชน.ก็มา มีรถดับเพลิง มีรถส่องไฟแสงสว่างจอดอยู่ล้อมรอบ
ขบวนรถจากรามวันนี้มีรถตำรวจนำหน้า อำนวยความสะดวกให้อย่างดี กำลังวิ่งเลี้ยวผ่านโรงแรมรัตนโกสินทร์ พอรถวิ่งมาได้ห้าหกคัน คนในสนามหลวงก็โห่ร้องต้อนรับเสียงดังสนั่น
รามฯ มากัน สี่สิบห้าคันรถ อัดกันแน่นทุกคัน เด็กอยากมากันมาก เลยต้องให้ขึ้นหลังคา และอาจจะตามมาอีกสักสิบคัน
การชุมนุมจะยุติลงในเวลาประมาณห้าทุ่ม ตอน สี่ทุ่ม สุธรรมเลขาศนท.และตัวแทน กลับเข้ามาในที่ชุมนุม ทันทีที่มาถึงเขาก็ประชุมปรึกษาหารือกับกลุ่มต่าง ๆ พอได้ข้อสรุปก็ขึ้นเวทีปราศรัยกับประชาชนทันที
“พวกเราได้ไปพบทั้งนายกเสนีย์ คุณชวนและคุณสุรินทร์ พวกเขายอมรับว่าจอมพลประภาสเข้ามาในประเทศไทยแล้ว แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน คุณภาพของงานข่าวกรอง ประเทศเราทำได้แค่นี้เอง สี่สิบแปดชั่วโมงไม่รู้อยู่ที่ไหน ? ทำไมปล่อยให้ออกจากดอนเมืองโดยไม่ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง ? วันนี้พวกเขากำลังเล่นซ่อนหากันอย่างสนุกสนาน แต่เราไม่สนุกกับเกมเล่นซ่อนหาของคนแก่(คนดูฮากันครืน) ที่ประชุมของพวกเราปรึกษากันแล้วว่า ควรยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลปฏิบัติดังนี้
หนึ่ง รัฐบาลต้องจับกุมตัวจอมพลประภาสมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ภายในสี่สิบแปดชั่วโมง สอง ต้องสอบสวนลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนรู้เห็นและยอมให้จอมพลประภาสเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย
เราจะกลับมาชุมนุมฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 19 สิงหา เวลาสี่โมงเย็นที่สนามหลวงแห่งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ ทางศูนย์และแนวร่วมกลุ่มต่าง ๆจะมีมาตรการตอบโต้ตามความเหมาะสม”
สุธรรมทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงหนัก
วันที่ 18 สิงหาคม
มีกลุ่มองค์กรต่าง ๆต่อต้านการกลับมาของจอมพลประภาสมากขึ้นทุกที แม้แต่กลุ่มอาชีวะก็เรียกร้องให้จับกุมจอมพลประภาสมาดำเนินคดี
พรรคกิจสังคมซึ่งเป็นฝ่ายค้านยื่นญัตติด่วน ซักฟอกรัฐบาลและกล่าวหารัฐบาลว่าไร้สมรรถภาพ ทุกพรรคการเมืองต่างเรียกร้องให้หาตัวจอมพลประภาสให้พบ เพื่อจับกุมตัวมาลงโทษ
20.00น รัฐบาลออกแถลงการณ์ยอมรับว่าจอมพลประภาสเข้ามาในประเทศแล้ว แต่ยังหาตัวไม่พบ การลอบเข้ามาครั้งนี้เข้าใจว่าเป็นการวางแผนของกลุ่มบุคคล ซึ่งต้องการสร้างความระส่ำระสายให้บ้านเมือง โดยใช้จอมพลประภาสเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายรัฐบาล ขอให้ทุกคนแก้ปัญหาด้วยความรอบคอบ ใครมีเบาะแสให้แจ้งรัฐบาลโดยด่วน
24.00 น. หลังจากรัฐบาลส่งผู้แทนไปพบกับจอมพลประภาส ซึ่งกว่าจะได้พบก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก และผลก็ออกมาตามแถลงการณ์ฉบับที่สอง ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า
รัฐบาลได้ทราบที่พำนักของจอมพลประภาสแล้ว ว่าได้อาศัยอยู่ที่บ้านเอกชนหลังหนึ่งใกล้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี จึงได้ส่งผู้แทนสี่ท่านคือพลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ พลเอกทวิช เสนีย์วงศ์ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ และนายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ไปพบ จอมพลประภาสได้แจ้งให้ผู้แทนรัฐบาลทราบว่าจำเป็นต้องเดินทางเข้ามารักษาตัว เพราะป่วยเป็นโรคต้อหินที่ตา และโรคหัวใจโต รักษาที่กรุงไทเปแล้วแต่ไม่หาย อาการทรุดลงเรื่อย ๆ จึงขอกลับมารักษากับแพทย์ประจำตัว อีกทั้งต้องการกลับมาพิสูจน์เรื่องที่ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคมด้วย
รัฐมนตรีกลาโหมจึงได้สั่งให้ควบคุมตัวจอมพลประภาสไว้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะหาแนวทางในการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ รัฐบาลจะแจ้งให้ทราบต่อไป
รามคำแหง เวลาเที่ยงคืนเศษ
หลังจากทุกคนฟังแถลงการณ์ทางวิทยุ ก็มีโห่ฮาแสดงความไม่พอใจ จากผปง.นับร้อยที่รวมตัวกันอยู่
“หยั่งงี้ ก็เท่ากับมันเอาลูกน้องเก่า มาคุ้มครองตัวมันไว้ในบ้านสวนพุดตานนี่หว่า” มีเสียงแสดงความไม่พอใจและรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมดังขึ้น
“ไม่ต้องเสียใจ โปสเตอร์มาแล้ว” ฝ่ายโฆษณาไปรับโปสเตอร์มาพอดี “ประเดี๋ยวพวกเราไปแปะโปสเตอร์ทั่วกรุงเทพ ฯระบายอารมณ์กันดีกว่า” ฝ่ายโฆษณาวางโปสเตอร์ปึกใหญ่ลง มีคนเข้ามาช่วยกันแกะห่อออกอย่างกระตือรือร้น
“วันนี้แบ่งโซนเรียบร้อยแล้ว ถิ่นใครถิ่นมัน พวกจุฬา ธรรมศาสตร์ติดในเมือง ของเราติดนอกเมือง เขตกว้างหน่อย ใช้รถสองแถวห้าคัน ดูแนวเขตตามแผนที่ให้ดีด้วยนะพวกเรา เทคโนกับเกษตรเค้าก็รับติดแถวเค้า” เสียงสาวที่รับผิดชอบชี้แจง
น้องใหม่ที่เข้ามาในพรรคได้ไม่เกินสองเดือน บางคนเพียงอาทิตย์เดียว ก็ได้เป็นผปง.ของงานนี้แล้ว น้องใหม่ของกลุ่มแนวร่วมก็มากันเยอะมาก เช่นชมรมยาเสพติด ชมรมอนุรักษ์ ทั้งโปสเตอร์และแป้งเปียกถูกขนขึ้นรถ มีเสียงตะโกนสั่งตามหลังว่า
“ให้ติดตามสี่แยกที่มีคนเยอะ ๆนะ”
“วันก่อนสองหมื่น พรุ่งนี้ต้องห้าหมื่นแน่”
“พรุ่งนี้ไม่ต้องระดมคนมาก เดี๋ยวรถจะไม่พอ”
“ด่วนราม.. เตรียมรถไว้ให้สักห้าสิบคัน ถ้าใครอยากไปมากกว่านั้นก็ต้องไปเอง”
ขั้นตอนวิธีปฏิบัติถูกนำมาถกเถียงกัน จนมั่นใจการประชุมปฏิบัติการจึงจบลง ผปง.ฝ่ายโฆษณายังคงวาดการ์ตูนล้อเลียน โปสเตอร์คำขวัญอยู่อย่างขะมักเขม้น หลายคนแยกย้ายกันไปนอน หยิบเอาหนังสือพิมพ์มาห่ม แล้วหลับแทบจะทันที ไม่สนใจว่าด้านศีรษะของเขามีปลายเท้าหันมาตรงพอดี มีอีกหลายคนนอนหลับกันอยู่ระเกะระกะ หลังจากสู้งานมาตลอดวัน หรือบางคนอาจจะไม่ได้นอนมาตลอดคืนแล้ว ฝ่ายศิลป์ผู้ทรหดยังนั่งเขียนโปสเตอร์ ขณะที่มีเสียงเพลงเพื่อชีวิตคลอเบา ๆ เสียงเพลงแว่วมา
***ด่วนราม ..กระทรวงคมนาคมของรามคำแหง
หลายคนอาจเข้าใจว่า ด่วนรามเป็นธุรกิจของกลุ่มอิทธิพล ที่จริงแล้วไม่ใช่ นักศึกษารุ่นแรกจำเป็นต้องคิดทำขึ้นเองเพื่อแก้ปัญหา มหา’ลัย และรัฐบาลก็ไม่ได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้เลย ในปี 2514 มีรถเมล์ไม่กี่คันที่วิ่งผ่านหน้าราม ขณะที่นักศึกษามาเรียนวันละหลายหมื่น
เมื่อพรรคสัจจธรรมเข้ามาบริหารอศมร. ปี2518 จึงจำเป็นต้องมารับงานต่อ ถึงไม่มีระเบียบให้อศมร.ทำงานนี้แต่ก็ไม่มีข้อห้าม เพราะจำเป็นต้องให้บริการกับนักศึกษา ที่สำคัญคือ ถ้าเราไม่ทำพวกแก๊งก็จะมาแย่งกัน แย่งรถแย่งผู้โดยสาร คงจะยิงกันทุกวัน ถ้าจัดระบบไม่ได้จะเกิดปัญหาในการเดินทางของนักศึกษาเป็นหมื่น ๆคน เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด
โดยจัดรถให้เพียงพอ ให้บริการจัดตารางเดินรถให้เหมาะกับตารางเรียนนักศึกษา
ค่าโดยสารเหมาะสม ทั้งผู้ประกอบการก็อยู่ได้และราคาไม่แพงสำหรับนักศึกษา
จัดเส้นทางวิ่งรถไปตามจุดที่เป็นทิศทางหลัก ให้นักศึกษาใช้บริการและต่อรถได้สะดวกคือ ปากคลองตลาด, อนุสาวรีย์ชัย ฯ, เทเวศ, เกษตร,ประตูน้ำ และพระโขนง (ภายหลัง ขสมก. ก็นำไปใช้ทุกเส้นทาง โดยไม่ต้องทดลอง)
เรื่องเส้นทางใช้วิธีเจรจา ผู้ใหญ่ในกรมการขนส่งทางบกโดยให้เหตุผลว่าเป็นการบริการนักศึกษา เหมือนรถรับส่งนักเรียน ไม่จอดรับส่งตามป้าย และเก็บค่าโดยสารแพงกว่ารถเมล์เล็กน้อย เพื่อไม่ให้ไปตัดราคาเขา ส่วนตำรวจหลายท้องที่ก็ดีมากเข้าใจเรา เลยไม่ต้องไปชี้แจงทำความเข้าใจอะไร เพียงแต่มีน้ำใจช่วยซื้อบัตรการกุศลบ้างตามโอกาส”
“รถคันแรกต้องออกจากปากคลองตลาดตั้งแต่ตีห้า เราต้องเอารถไปจอดใกล้ ๆบริเวณนั้นตั้งแต่กลางคืน แต่ไม่ต้องกลัวรถหาย”
ฝากเจ้าถิ่นชื่อ เปี๊ยก อินทรีย์ ดูแลให้ รถจะปลอดภัยแน่นอนยิ่งกว่าเราเฝ้าเองเสียอีก เจ้าของรถสบายใจได้ แค่จ่ายค่าดูแลให้เปี๊ยกคืนละยี่สิบบาทเท่านั้น
“แถมด่วนรามยังจ่ายให้พนักงานทำความสะอาดห้องน้ำ ที่ศาลเจ้าพ่อหอกลองให้เป็นพิเศษด้วยนะ ถือเป็นการกระจายรายได้ คนขับรถก็มีห้องน้ำสะอาดใช้ด้วย พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย”
“ระบบเหล่านี้ดูเหมือนง่ายแต่ต้องใช้เวลา ให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่องไม่ให้ติดขัด เพื่อบริการนักศึกษานับหมื่นในแต่ละวัน ไม่เพียงใช้สมองคิดสร้างระบบเท่านั้น” “แต่ ต้องใช้เงินและกำลัง ”
“คนดูแลรถด่วน มีอาชีพเสริมพิเศษคือ รับบริการจัดทัวร์ให้นักศึกษาราม เพราะมีรถอยู่ในความดูแลจำนวนมาก กลุ่ม ชมรมต่าง ๆมักใช้บริการทัวร์ของด่วนรามเมื่อต้องการออกไปทัศนะศึกษาต่างจังหวัดด้วย”
งานที่ต้องช่วยส่วนรวม คือ ส่งนักศึกษาที่ต้องการร่วมชุมนุม เพราะรามฯอยู่ไกลมาก
19 สิงหาคม
มีประชาชนที่เคยร่วมต่อสู้ และญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา มารวมตัวกันประมาณ 100 คน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีความรู้เรื่องกฎหมายดี นำญาติวีรชนเดินเท้าไปที่สถานีตำรวจชนะสงคราม โดยญาติวีรชน 5 คนได้เข้าแจ้งความให้จับกุมจอมพลประภาส มาดำเนินคดี ในสองข้อหา
หนึ่ง มีเจตนาฆ่าคนตายโดยใช้ผู้อื่น
สอง กระทำผิดต่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้โมหะจริต
โดย พ.ต.ท ธีรชัย ผู้รับแจ้ง ได้แยกสอบสวนผู้แทนที่มาแจ้งความเป็นรายคน และรับแจ้งความไว้ดำเนินคดีต่อไป
“เรื่องนี้จะได้เสนอผู้บังคับบัญชาต่อไป คิดว่าภายในวันนี้จะเสนอเรื่องจะถึงอธิบดีกรมตำรวจ พร้อมจะรวบรวมสำนวนที่เคยมีผู้แจ้งความไว้เดิมด้วย ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต้องรอฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา” พ.ต.ท.ธีรชัยให้สัมภาษณ์
ด้านการประชุมสภาผู้แทน เริ่มตั้งแต่เช้า มีผู้ยื่นญัติด่วน ถึงสี่รายเรื่องการกลับเข้ามาของจอมพลประภาส ผู้อภิปรายจากสี่พรรคการเมืองใช้เวลานานสามชั่วโมง นายกเสนีย์ยอมรับว่าท่าทีของจอมพลประภาสแข็งกร้าว โดยอ้างว่าป่วยและขอยอมตายในประเทศไทย
เที่ยงครึ่ง ประธานสั่งพักการประชุมชั่วคราว แต่คณะของนายกไม่ยอมอยู่ประชุมต่อ รีบกลับทำเนียบเพื่อประชุมครม.ด่วน การประชุมครม.ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง หลังจากประชุมครม.ไม่มีการให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด แต่แหล่งข่าวกล่าวว่า พลโทยศ เทพหัสดิน แม่ทัพภาคหนึ่งเสนอให้นำตัวจอมพลประภาสมาดำเนินคดีในประเทศไทย ตามที่จอมพลประภาสเรียกร้อง แต่ที่ประชุมไม่ยอม ครม.มีมติให้นำตัวออกนอกประเทศ แต่แม่ทัพภาคหนึ่งแจ้งว่าเรื่องนี้ต้องปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ในกองทัพก่อน
ขณะที่มีการประชุมครม. พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผบ.สูงสุดก็ประชุมนายทหารระดับสูงของสามเหล่าทัพเช่นกัน
16.00น. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
กรรมการพรรคสัจจธรรมยังนั่งประชุมกันอยู่ บางส่วนออกเดินทางไปพร้อมนักศึกษา บางส่วนก็ออกไปก่อนหน้านั้นแล้ว
“ก่อนจะแยกย้ายกันไปผมมีข้อมูลที่ศนท.แจ้งมาล่าสุดว่า จอมพลประภาสไม่ยอมกลับออกไป บอกว่าจะยอมตายในประเทศไทย ตอนนี้มีทหารบางส่วนหนุนหลังอยู่ ผลักดันให้รัฐบาลดำเนินคดีในประเทศ แต่รัฐบาลก็รู้ทัน พยายามผลักดันออกไปทันที ตอนนี้รัฐบาลส่งคนไปเจรจากับทหารที่บก.สูงสุด สนามเสือป่า คนที่ไปคือรัฐมนตรีที่เคยเป็นทหาร เช่นพลตรีประมาณ พลอากาศเอกทวี พลตรีชาติชาย พลเอกทวิช ฝ่ายทหารก็มีพลเรือเอกสงัด ผบ.สูงสุด ตอนนี้รักษาการณ์ผบ.ทร.ด้วย พลเอกบุญชัย ผบ.ทบ. พลอากาศเอกกมล ผบ.ทอ.และแม่ทัพภาคของกองทัพบก”
ข่าวนี้ทำให้การประชุมสภากร่อย ส.สหลายคนคิดว่าจะมีการปฏิวัติแน่ บางคนกลับบ้านไปเก็บของเลย บอกกับนักข่าวว่า ‘พบกันอีกสามสี่ปีข้างหน้า’ เมื่อสักครู่นี้ตัวแทนครม.และทหารประชุมกันเสร็จ ก็ส่งคนไปเจรจากับจอมพลประภาสที่บ้านสวนพุดตาน มีรถของโรงพยาบาลพระมงกุฎ แพทย์และพยาบาลเข้าไปดูแลอาการของจอมพลประภาสด้วย คิดว่าตอนค่ำ ๆรัฐบาลคงมีอะไรแถลงออกมา แต่ผมเดาได้ว่าเขาไม่ยอมออกไปหรอก พวกคุณเตรียมตัวชุมนุมยืดเยื้อได้แล้ว เราไม่มีกำลังอาวุธอะไรที่จะไปขับไล่เขา นอกจากใช้การชุมนุมคนจำนวนมาก ต้องใช้ปริมาณคนกดขวัญทางการเมืองของพวกมันให้ฝ่อลงไป วันนี้ถ้ามีคนมาชุมนุมมากเท่าไหร่ ก็จะเพิ่มแรงกดดัน ไปที่รัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้เชียงใหม่กับสงขลาก็เปิดการชุมนุมแล้ว อย่าไปกังวลเรื่องการรักษาความปลอดภัย ยังไงกลางสนามหลวงคนหลาย ๆหมื่นก็ดูไม่ทั่วอยู่แล้ว”
“ถ้าชุมนุมยืดเยื้อเราจะประชุมกันยังไง”
“ตอนกลางวันเราต้องมาทำงานที่รามกันอยู่แล้ว เราจะประชุมกันทุกวัน ตอนเย็นเราก็จะใช้รถขนคนไปทุกวัน ถ้ามีปัญหาฉุกเฉินก็จะเรียกประชุมณ.สถานที่ที่ชุมนุมกัน วันนี้จบแค่นี้” ชิงชัยปิดการประชุม
ที่ประชุมสลายวับไปทันที รถด่วนรามชุดสุดท้ายกำลังจะออกไป ทุกคนต้องรีบไปขึ้นรถ
ห้าโมงเย็น ขบวนรถของรามซึ่งคราวนี้มากถึงห้าสิบคัน แม้ไม่ตั้งใจว่าจะระดมพล แต่กลับมีขบวนยาวกว่าครั้งก่อน ทันทีที่วิ่งผ่านหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์เพื่อไปวนรอบสนามหลวง นักศึกษาที่นั่งอยู่ในรถทั้งห้าสิบคันก็ต้องตกตะลึงกับเสียงโห่ร้องต้อนรับที่ดังสนั่นหวั่นไหว จากมวลชนในสนามหลวงที่มีมากถึงสามหมื่นคนแล้ว
คำท้าทายที่ว่าจะขออยู่สู้คดีในประเทศไทยของจอมพลประภาส มีคนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นเดินทางมารับคำท้าแล้ว
(ต่อตอน 2)
.....
ตอนนี้เขียนถึงตอนที่ 9 แล้ว
ตามอ่านที่ FB
ภาณุมาศ ภูมิถาวร
https://www.facebook.com/profile.php?id=100000787233798
...
โควตข้างบนจากนักเขียนและนักแอคทิวิสผิวดำ James Baldwin