วันพฤหัสบดี, กันยายน 30, 2564

เมื่อที่ดินทหารขวาง (การพัฒนา) เมือง : กองทัพบกมีที่ดิน 4,558,481 ไร่ เทียบเท่าสนามฟุตบอล 9 แสนสนาม ... การคืนที่ดินให้ประชาชนเป็นหนทางที่เลี่ยงไม่ได้ หากจะปรับสมดุลประเทศให้ไปสู่ประชาธิปไตย



เมื่อที่ดินทหารขวาง (การพัฒนา) เมือง สู่จินตนาการถึงอำนาจประชาชนที่เหนือกองทัพ

26 ก.ย. 64
โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
Thairath Plus

Summary
  • กองทัพบกมีที่ดินมากถึง 4,558,481 ไร่ คิดเปรียบเทียบได้ง่ายๆ ว่า เทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 9 แสนสนามเลยทีเดียว
  • บริเวณใกล้โรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ มีที่ดินผืนงามของกองบังคับการกองบิน 41 กองทัพอากาศ ขวางกั้นการเดินทางจากย่านสวนดอกไปสนามบิน และมีระบบ “บัตรผ่านกองบิน 41” ที่ประชาชนต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีเพื่อผ่านทาง
  • เคยมีข้อเรียกร้องให้กองทัพอากาศคืนที่ดินให้กับราชพัสดุเพื่อใช้เป็นที่ดินสาธารณะ แต่คนในกองทัพออกมาตอบโต้ด้วยข้ออ้างต่างๆ เช่น ฐานบินนี้เป็นประตูเข้าเมืองทางอากาศ ควรสำรองไว้ใช้ในกรณี “เกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่และหรือเกิดความขัดแย้งขั้นวิกฤติ
กองทัพไทย นอกจากจะเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองผ่านการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า กองทัพยังเข้ามามีอิทธิพลเหนือพื้นที่ต่างๆ ในประเทศโดยที่เราไม่รู้ตัว

ปัญหาความมั่นคง มักเป็นข้ออ้างบนฐานคิดของรัฐแบบยุคสงครามเย็น ที่อ้างความอ่อนไหวแบบครอบจักรวาล ทหารยังข้ามห้วยมาทำงานที่ไม่ใช่ความถนัดของตน เพื่อแสดงให้เห็นความจำเป็นของการดำรงอยู่ และก็เป็นหน่วยงานที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะของประเทศในสัดส่วนที่มากมาย ทั้งงบประมาณใช้สอย การดูดกำลังคนวัยทำงานในนามของทหารเกณฑ์เข้าไปในระบบทุกปี รวมถึงการมีอำนาจเหนือที่ดินในประเทศอีกจำนวนมหาศา

กองทัพมีที่ดิน 4.5 ล้านไร่ เทียบเท่าสนามฟุตบอล 9 แสนสนาม

ข้อมูลในปี 2558 ระบุว่า เมื่อเทียบกับที่ดินทั่วประเทศ 321 ล้านไร่แล้ว กองทัพบกมีที่ดินในการครอบครองมากถึง 4,558,481 ไร่ นับเป็น 1.41% ของประเทศ อาจคิดเปรียบเทียบได้ง่ายๆ ว่าสนามฟุตบอล 11 คน ขนาดมาตรฐานที่ประมาณ 5 ไร่แล้ว กองทัพบกถือครองที่ดินเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 9 แสนสนามเลยทีเดียว

ในจำนวนนี้ยังแบ่งเป็นที่ราชพัสดุ 3.96 ล้านไร่ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ 525,685 ไร่ ที่สาธารณประโยชน์ 28,778 ไร่ ที่นิคม 23,128 ไร่ และที่ ส.ป.ก.16,814 ไร่

ตัวเลขนี้ ถ้าคำนวณเทียบกับที่ราชพัสดุทั้งประเทศ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐที่เอาไว้ใช้ประโยชน์ ที่มี 12.5 ล้านไร่แล้ว ที่ของกองทัพบกมีอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก นั่นคือ 31.68%

เฉพาะที่ดินของกองทัพบก แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดินสงวนไว้ในส่วนราชการ ที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา 12 ฉบับ ที่ดินที่กองทัพบกขอใช้จากส่วนราชการอื่น และที่ดินที่กองทัพบกเช่าใช้ประโยชน์ในกิจการของกองทัพบก

ทหารจำเป็นต้องถือครองที่ดิน แผ่อำนาจมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

กองทัพสมัยใหม่ในสังคมไทยเกิดขึ้นมาพร้อมกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหากไม่นับถึงการทำศึกกับชาติตะวันตกแล้ว กองทัพเป็นขุมกำลังสำคัญในการปราบจลาจลที่รัฐเรียกว่า 'กบฏ' ในทศวรรษ 2440 ที่เป็นแรงโต้ต่อการปฏิรูปการปกครองของรัฐบาลสยาม กองทัพได้ถูกจัดตั้งในพื้นที่สำคัญระดับท้องที่ ในนาม 'มณฑลทหารบก' และหน่วยทหารอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กองทัพก็เสื่อมลงไปพร้อมกับระบอบเก่าและสภาพเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ

จนกระทั่งการปฏิวัติสยาม 2475 กองทัพปรับเปลี่ยนรูปโฉมอีกครั้ง โดยเฉพาะทศวรรษ 2480 มีการเวนคืนที่ดินจำนวนมากเพื่อใช้ในราชการทหาร เริ่มด้วยที่มหึมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองลพบุรี ครอบคลุมไปถึง อ.หนองโดน จ.สระบุรี ในปี 2479 ด้วยเหตุว่าต้องการสร้างโรงทหารและสนามฝึกของทหาร เช่นเดียวกับส่วนภูมิภาคอื่นๆ เช่น ปี 2482 พื้นที่บริเวณปากน้ำ อ.เมือง สมุทรปราการ, พื้นที่ริมทะเลบริเวณ กิ่ง อ.สัตหีบ ชลบุรี ปี 2483 ที่ อ.แม่ริม เชียงใหม่, อ.หาดใหญ่ สงขลา ฯลฯ

หลังจบสงคราม ไทยเป็นผู้แพ้ร่วมกับฝ่ายอักษะ ความทะเยอทะยานที่จะเป็นประเทศมหาอำนาจได้จบลงไป อย่างไรก็ตาม เหล่าขุนศึกในกองทัพก็พยายามช่วงชิงอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร ปี 2490 กองทัพบกขึ้นมามีอำนาจเด็ดขาดหลังจากรัฐประหารของกองทัพเรือล้มเหลว เมื่อปี 2494

การขยายอำนาจของกองทัพเกิดขึ้นอีกในช่วงทศวรรษ 2500 หลังจากสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารและสามารถสร้างเอกภาพในกองทัพไว้ได้ ทำให้กองทัพบกมีอำนาจเหนือกองทัพต่างๆ อย่างจริงจัง กองทัพบกมีโครงสร้างกำลังระดับภาคที่เรียกว่า 'กองทัพภาค' รวมไปถึงการเกิดขึ้นของหน่วยทหารในจังหวัดต่างๆ เพิ่มเติม และที่ลืมไม่ได้คือ ฐานทัพอเมริกันที่มาพร้อมสงครามเวียดนาม และการสนับสนุนกองทัพและคณะรัฐประหารไทย

กองทัพอเมริกันได้สร้างความเจริญเติบโตของเมืองที่เป็นที่ตั้งฐานทัพออกไปด้วย ที่ดินทหารยังไปสัมพันธ์กับการจัดตั้งสถานีวิทยุและสถานีวิทยุโทรทัศน์ อันเนื่องมาจากข้ออ้างด้านความมั่นคง จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นสถานีดังกล่าวกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ บางข้อมูลชี้ว่า กองทัพบกมีสถานีวิทยุมากถึง 126 แห่งทั่วประเทศ หากเทียบกับสมัยนี้ โครงข่ายการสื่อสารก็ใช้เพื่อทำสงครามทางจิตวิทยากับฝ่ายตรงข้ามผ่านสื่อของรัฐนั่นเอง ที่ดินของกองทัพจึงมาพร้อมกับอำนาจทหารในยุคสงครามเย็นอย่างเต็มเปี่ยม

ในปี พ.ศ.2518 เพิ่งจะมีการตราพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุขึ้น พื้นที่ของกองทัพก็ตกอยู่ในนิยามนี้ แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐเริ่มให้ความสำคัญกับที่ดินของรัฐมากขึ้น หลังจากที่ประชากรขยายตัวขึ้น คนอพยพเข้ามาในเขตเมืองมากยิ่งขึ้น เกิดการลงทุนบนอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนมากขึ้น หมู่บ้านจัดสรรจึงขยายตัวขึ้นมากในช่วงนี้ หลังจบสงครามกับ พคท. กลางทศวรรษ 2520 ประเทศก็กลับสู่บรรยากาศที่ผ่อนคลายความตึงเครียด กองทัพค่อยๆ มีบทบาทลดน้อยลง

เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ที่คนเริ่มฝันถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การรัฐประหาร 2534 เป็นความพยายามแสดงอำนาจครั้งสุดท้ายที่ถูกต่อต้านอย่างมากในปี 2535 นับแต่นั้นมา สังคมไทยก็เดินหน้าไปสู่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และฝันเฟื่องว่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย เทียบชั้นกับญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน ก่อนจะฝันสลายเมื่อฟองสบู่ทางเศรษฐกิจระเบิดเมื่อต้นทศวรรษ 2540 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ คือ ประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับสิทธิ เสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

รัฐบาลไทยรักไทยได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการทางการเมืองและเชิงพื้นที่ในเมือง และเคยขอข้อมูลที่ดินแปลงว่างจากหน่วยราชการต่างๆ เพื่อมาจัดสรรให้ประชาชนทำกิน แน่นอนว่ามีไปถึงกระทรวงกลาโหมด้วย แต่ก็ไม่พบว่ามีการดำเนินการอะไร เนื่องจากมีรัฐประหาร 2549 เสียก่อน หลังจากนั้นมา ความพยายามจัดการที่ดินก็ไม่เห็นชัดนัก ยกเว้นแต่นโยบายการทวงคืนผืนป่าของคณะรัฐประหาร ปี 2557 ที่พยายามขับไล่ประชาชนและเอกชนออกจากที่ดินของรัฐ (หรือเข้าใจว่าเป็นของรัฐ)

ที่ดินทหารกระจายตัวในหลายใจกลางเมือง

กองทัพเข้าไปถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยึดครองพื้นที่สำคัญๆ ในเขตเมืองที่เคยเป็นยุทธศาสตร์ทางการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นเมื่อไม่นานมานี้เอง ที่ดินทหารอันน่าหวงแหนจึงเป็นสิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้นเท่านั้น

เพื่อให้เห็นภาพ ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างการครอบครองพื้นที่กลางเมืองขึ้นมา แบ่งตามการใช้สอยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดว่า ที่ดินทหารนั้นทรงอิทธิพลเพียงใด

กรณีเมืองเชียงใหม่ ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ บริเวณใกล้กับโรงพยาบาลสวนดอก สำนักงานทางหลวงที่ 1 เชียงใหม่ และโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ได้กลายเป็นที่ดินผืนงามของกองบังคับการกองบิน 41 กองทัพอากาศ ที่เคยมีบทบาทในช่วงสงครามเย็น

ที่ดินดังกล่าวขวางกั้นการเดินทางจากบริเวณย่านสวนดอกลงไปสู่สนามบิน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็มีระบบ 'บัตรผ่านกองบิน 41' ที่ประชาชนสามารถชำระค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้ผ่านทางดังกล่าว

เรื่องนี้เคยมีความพยายามของกรมทางหลวงที่จะตัดถนนผ่าน โดยเชื่อมโยงถนนนิมมานเหมินท์กับถนนมหิดล แต่ถนนดังกล่าวได้ผ่านกลางพื้นที่ของกองบังคับการกองบิน 41 แต่ด้วยข้ออ้างคลาสสิก นั่นคือ เพราะเหตุด้านความมั่นคง จึงมิได้รับอนุญาตให้สร้างทางเส้นนั้น

แต่ที่น่าสนใจไปกว่าถนนเส้นแคบๆ ดังกล่าวก็คือ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟพิมานทิพย์ กองบิน 41 (สนาม 9 หลุม ระยะ 3,350 หลา เปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00-22.00 น.) ที่ดินผืนนี้กินบริเวณอันกว้างขวาง เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ประโยชน์สำหรับคนหมู่มาก ไม่ใช่เพียงนายทหาร หรือผู้เป็นสมาชิกสโมสรดังกล่าว ที่ดินผืนดังกล่าวจึงเป็นตัวอย่างพื้นที่สำคัญกลางเมืองที่ถูกยึดครองไป


แนวสันนิษฐานของสนามกอล์ฟ กองบิน 41 เชียงใหม่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง สีแดงคือแนวสนามกอล์ฟ สีเขียวคือแนวถนนภายในกองบิน41 ที่จะเชื่อมกับถ.นิมมานเหมินท์ตอนบน และถ.มหิดลตอนล่างเพื่อไปยังสนามบินเชียงใหม่

ขณะที่ใน จ.เชียงราย สนามบินเก่าทางตอนใต้ของเมือง ก็เป็นกรรมสิทธิ์ที่กองทัพอากาศดูแลอยู่ในนามฝูงบิน 416 สนามบินนี้เคยถูกใช้งานสำหรับเมืองเชียงราย ก่อนที่จะย้ายไปสร้างใหม่ในนามท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง เมื่อปี 2562 คล้ายกับกองบิน 41 ตรงที่มีการสร้างสนามกอล์ฟขึ้นในทางทิศตะวันออกของที่ดิน


แนวสันนิษฐานของสนามกอล์ฟ ฝูงบิน 416 เชียงราย ทางทิศใต้ของเมือง (ภาพจาก google map)

เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) เคยเรียกร้องให้กองทัพอากาศคืนที่ดินให้กับราชพัสดุเพื่อใช้เป็นที่ดินสาธารณะ ทำให้คนในกองทัพออกมาตอบโต้ด้วยข้ออ้างต่างๆ โดยเฉพาะเหตุที่ว่า ฐานบินนี้สำคัญตรงที่เป็นประตูเข้าเมืองทางอากาศ และควรสำรองไว้ใช้ในกรณี 'เกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่และหรือเกิดความขัดแย้งขั้นวิกฤติ' โชคยังดีที่สนามบินเก่าเชียงรายไม่ได้ล้อมรั้วหรือเก็บค่าผ่านทางแบบกองบิน 41 จึงยังพบเห็นการสัญจรผ่านและการเข้าไปใช้พื้นที่ชั่วคราวในการออกกำลังกายและกิจกรรมต่างๆ อยู่บ้าง ส่วนสนามบินของกองทัพที่ยังหลงเหลือร่องรอยอยู่ในเมืองอื่นๆ อีกนั้น ยังไม่มีข้อมูลว่าได้ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองมากน้อยเพียงใด

เมื่อกล่าวถึงสนามกอล์ฟของหน่วยทหาร ข้อมูลจากเดอะ แมทเทอร์ ชี้ว่า เฉพาะกองทัพบกมีมากถึง 37 แห่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาค จังหวัดที่มีมากกว่า 2 แห่งคือ ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช เมื่อเจาะไปแต่ละแห่งจะเห็นว่า ที่นครราชสีมาตั้งอยู่ที่ค่ายสุรนารี และค่ายสุรธรรมพิทักษ์ตอนใต้ของเมืองที่ไม่ได้ไกลกันเลย ขณะที่ประจวบคีรีขันธ์ สนามกอล์ฟสวนสนบนภูมิประเทศติดริมทะเลอันงดงามในตำแหน่งที่อยู่ตรงข้ามอุทยานราชภักดิ์อันโด่งดัง ที่ขอนแก่น สนามกอล์ฟของค่ายสีหราชเดโชชัยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองและสนามบิน ส่วนที่นครศรีธรรมราช สนามกอล์ฟของทหารบกนั้นอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบินกองทัพบกตอนเหนือของเมืองริมถนนราชดำเนิน และที่รู้จักกันดีก็คือ สนามกอล์ฟกองทัพบก หลังกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ กรุงเทพฯ พื้นที่นี้คือเป็นพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่กินพื้นที่กว่า 700 ไร่ เป็นพื้นที่มหึมาที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ที่ควรทบทวนว่าผลประโยชน์ของท้องถิ่นและประเทศได้อะไรจากที่ดินมหาศาลผืนนี้


แนวสันนิษฐานของสนามกอล์ฟของกองทัพบก 2 แห่ง ตอนใต้ของเมืองนครราชสีมา


แนวสันนิษฐานของสนามกอล์ฟของกองทัพบก แถบบางเขนที่อยู่ติดกับถนนรามอินทรา มีขนาดใกล้เคียงกับที่ดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (ภาพจาก google map)


แนวสันนิษฐานของสนามกอล์ฟของกองทัพบก บริเวณสวนสน ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ตรงข้ามกับอุทยานราชภักดิ์ (ภาพจาก google map)

ทหารยังได้ก้าวข้ามไปทำในสิ่งที่ไม่น่าจะอยู่ในความเชี่ยวชาญของตัวเอง อย่างเรื่องการท่องเที่ยวอีกด้วย อดีตค่ายรามสูรที่อุดรธานีก็ถูกแปลงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่แหล่งภาพเขียนสีประตูผา จ.ลำปาง ก็เป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของกองพันฝึกรบพิเศษที่ 3 ค่ายประตูผา หรือที่คนเชียงใหม่รู้จักกันดีอย่างห้วยตึงเฒ่า ทางตอนเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ฯลฯ

ทั้งการเกณฑ์ทหาร และการครอบครองที่ดินที่บริหารจัดการโดยกองทัพ เมื่อประเมินด้วยระบบเศรษฐกิจปัจจุบันแล้วถือว่าทำได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับทั้งตัวกองทัพเองและประชาชนเลย เกราะป้องกันตัวอย่างดีของทหารคือ ข้ออ้างความมั่นคงนั้น ควรจะถูกท้าทายด้วยการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น เช่นเดียวกับการประเมินผลทางด้านเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

การคืนที่ดินนั้นให้กับประชาชนเป็นหนทางที่เลี่ยงไม่ได้ หากจะปรับสมดุลประเทศให้ไปสู่ประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนระบบการคัดเลือกทหาร ที่ดินจำนวนมากของประเทศสามารถนำไปสู่การสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกของประชาชน เช่นเดียวกับการสร้างพื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ และการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรของรัฐ หรือของเมืองนั้นๆ ในนามของเทศบาลหรือ อบจ.

อ้างอิง:

[1] ธนพัฒน์ โชคดารา, แนวทางการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกองทัพบก (ม.ป.ท. : กองอสังหาริมทรัพย์ กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก, 2558), หน้า 2 http://dlogs.rta.mi.th/wives/download/manual1.pdf

[2] สำนักบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์, การประชุมซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุของส่วนราชการในเขตกรุงเทพมหานคร 27 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร 72 ปี กรมธนารักษ์

[3] “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พุทธศักราช 2482”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 56, 27 พฤศจิกายน 2482, หน้า 1863-1865

[4] “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พุทธศักราช 2482”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 56, 1 พฤษภาคม 2482, หน้า 528-530

[5] “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2483”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 57, 16 กรกฎาคม 2483, หน้า 233-235

[6] “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พุทธศักราช 2483”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 57, 22 ตุลาคม 2483, หน้า 578-580

[7] ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. “ปลดเขี้ยวเล็บ “กองทัพเรือ” ผลกระทบจากกบฏแมนฮัตตัน”. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_62702 (29 มิถุนายน 2564)

[8] กานดา นาคน้อย. “กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2)”. ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2564 จาก https://prachatai.com/journal/2012/04/40226 (25 เมษายน 2555)

[9] “พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92 ตอนที่ 54, 5 มีนาคม 2518, ฉบับพิเศษ หน้า 1-6 และ กานดา นาคน้อย. “กานดา นาคน้อย ทุนกองทัพไทย (3) : ที่ดินกองทัพบก”. ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2564 จาก https://prachatai.com/journal/2015/06/59565 (1 มิถุนายน 2558)

[10] กานดา นาคน้อย. “กานดา นาคน้อย ทุนกองทัพไทย (3) : ที่ดินกองทัพบก”. ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2564 จาก https://prachatai.com/journal/2015/06/59565 (1 มิถุนายน 2558)

[11] เชียงใหม่นิวส์. “พิธีเปิดกิจการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟพิมานทิพย์ กองบิน 41”. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2564 จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1451755/ (9 กันยายน 2563)

[12] ลับลวงพรางแชนแนล. “เมื่อ สส.Futurista รุก ยึดสนามบินทหาร เชียงราย”. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2564 จาก https://www.llpch.news/2019/11/22/34043/ (22 พฤศจิกายน 2562)

[13] Pongpiphat Banchanont. “Army’s Wonderland แดนมหัศจรรย์ในกองทัพบก สุขสันต์ไปกับสนามมวย-ม้า-กอล์ฟ และโรงแรม”. The Matter. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2564 จาก https://www.llpch.news/2019/11/22/34043/ (22 พฤศจิกายน 2562)