วันพุธ, กันยายน 29, 2564

สรุปดราม่า #มหาลัยธรรมทาส เมื่อปีนี้งานครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค. อาจไม่ได้จัดในรั้วธรรมศาสตร์

 
The MATTER
15h ·

RECAP: สรุปดราม่า #มหาลัยธรรมทาส เมื่อปีนี้งานครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค. อาจไม่ได้จัดในรั้วธรรมศาสตร์
.
อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์นองเลือด 6 ต.ค. กลุ่มศิษย์เก่าและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บางส่วนจึงต้องการออกมาจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็มีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการจัดงาน เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดกระแสดราม่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
.
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง The MATTER จะมาเล่าให้ฟัง
.
1.เล่าคร่าวๆ ก่อนว่าเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ต.ค. 2519 มีจุดเริ่มต้นที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนบางส่วนออกมาประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ท้องสนามหลวง ก่อนจะย้ายมาภายในมหาวิทยาลัย เนื่องจากกังวลว่าการเดินทางกลับเข้าประเทศครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามคำอ้างที่บอกว่าเยี่ยมบิดา แต่มาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนรัฐประหาร
.
ในขณะเดียวกันที่จังหวัดนครปฐม ก็มีนักศึกษาจัดกิจกรรมล้อการก่อเหตุฆ่าคนงานของฝ่ายซ้าย ด้วยการนำหุ่นมาแขวนคอ ซึ่งภายหลังมีการประโคมข่าวว่า หุ่นนั้นมีใบหน้าคล้ายกับสมาชิกราชวงศ์ไทย ทำให้ประชาชนบางส่วนโกรธแค้นกลุ่มนักศึกษาอย่างมาก และรวมตัวกันมาประท้วงที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้มีการลงโทษกลุ่มนักศึกษา รวมทั้งมีวลีว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์คือพวกคอมมิวนิสต์
.
เหตุการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมวลชนบางกลุ่มเข้าล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเริ่มใช้อาวุธสงครามหลายชนิดทั้งปืน ระเบิด และรุมประชาทัณฑ์ เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยฯ
.
ในเหตุการณ์นี้ ทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย แต่บางแหล่งข่าวบอกว่าผู้เสียชีวิตจริงๆ อาจมีมากถึง 500 รายที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตัวตน และมีนักศึกษาและประชาชนถูกจับกุม 3,094 ราย แต่จนผ่านมาแล้ว 45 ปีกลับยังไม่มีการสืบสวนที่มา รวมถึงไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนได้รับโทษจากเหตุดังกล่าวเลย
.
2. กลับมาที่ดราม่า #มหาลัยธรรมทาส ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ประเด็นดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นหลังกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ทนายด่าง ทนายความสิทธิมนุษยชนและอดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 กันยายนว่า ยืนยันจะจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ต.ค.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังทีมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเสนอให้จัดงานในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19
.
ข้อเสนอดังกล่าวทำให้นักศึกษาบางส่วนไม่พอใจและตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยจงใจใช้ COVID-19 มาปิดกั้นการจัดงานหรือไม่
.
3. ประกอบกับเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ประจำปี 2564 ซึ่งเจ้าตัวไม่สามารถมารับรางวัลได้ เนื่องจากยังอยู่ในเรือนจำ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ผู้เป็นแม่จึงมารับรางวัลแทน แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ให้นักข่าวเข้าไปในงาน โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อควบคุมสถานการณ์ COVID-19 เช่นเดียวกัน ทำให้ยิ่งเกิดข้อกังขาถึงเหตุผลนี้
.
4. จากนั้น เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สภานักศึกษา มธ.)ร่วมกับ คณะกรรมการนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ คณะกรรมการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องอนุญาตจัดงาน 6 ต.ค.ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เหมือนที่ดำเนินการมาทุกปี เพราะถือเป็นวันสำคัญของประชาคมธรรมศาสตร์ (แต่ภายหลัง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมกับแถลงการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด)
.
5. ขณะที่ช่วงกลางดึกของวันเดียวกัน (27 กันยายน) คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 27 คณะ ก็ออกแถลงการณ์ถึงกรณีไม่เข้าร่วมแถลงการณ์ของสภานักศึกษา มธ. เรื่องการจัดงาน 6 ต.ค.
.
โดยชี้แจงว่า สภานักศึกษา มธ.ได้เชิญ อมธ.และคณะกรรมการนักศึกษาคณะต่างๆ ไปประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรำลึก 6 ต.ค.ในรูปแบบออนไซต์เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 25 กันยายน ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนเข้าใจจุดมุ่งหมายและเคารพจุดประสงค์ของการจัดงานเป็นอย่างดี
.
แต่สาเหตุที่ อมธ.และคณะกรรมการนักศึกษาอีก 27 คณะไม่เข้าร่วมในแถลงการณ์เนื่องจาก
- ผู้จัดงานไม่มีแผนการจัดกิจกรรมที่รัดกุมและเป็นรูปธรรมสำหรับช่วงการระบาด COVID-19
- การจัดงานยังขาดการอ้างอิงในส่วนของข้อกฎหมายที่แสดงถึงสิทธิและความสามารถในการจัดงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน
- เรื่องที่มีกระแสข่าวห้ามจัดงาน 6 ต.ค. เป็นข่าวที่มาจากสภานักศึกษา มธ. ยังไม่มีข้อมูลจากมหาวิทยาลัย อมธ.จึงขอประสานงานเพื่อตรวจสอบข้อมูลจากทุกฝ่ายก่อน
.
อมธ.ทิ้งท้ายไว้ว่า หากสภานักศึกษา มธ.สามารถแจกแจงแผนการจัดงานที่รัดกุมมากพอทั้งความเสี่ยงด้านสุขภาพและกฎหมาย อมธ.และคณะกรรมการนักศึกษาก็พร้อมจจะสนับสนุนการจัดงาน 6 ต.ค.ในรูปแบบออนไซต์
.
6. หลังมีประกาศนี้ออกมา ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก จนแฮชแท็ก #มหาลัยธรรมทาส ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ในชั่วข้ามคืน ทำให้หลายคณะกรรมการนักศึกษาหลายคณะ (ที่ร่วมกับ อมธ.ในตอนแรก) ออกแถลงการณ์ใหม่ โดยบางส่วนถอนตัวจากมติของ อมธ. ขณะที่บางส่วนเตรียมเปิดให้นักศึกษาในคณะลงประชามติเพื่อถามความเห็นอีกครั้งว่าสนับสนุนการจัดงาน 6 ต.ค.แบบออนไซต์หรือไม่
.
7. นอกจากนี้องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ยังออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการจัดกิจกรรม 6 ต.ค.ในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยระบุว่า งาน 6 ต.ค.ถูกจัดขึ้นทุกปี แต่ในปีนี้กลับยังไม่มีการอนุมัติให้จัดงานจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้งที่ ศบค.เห็นชอบให้คลายล็อกมาตรการต่างๆ แล้วในวันที่ 1 ต.ค.
.
ประกอบการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่ควรปล่อยให้เลือนหายไปตามเวลา อบจ.จึงขอแสดงจุดยืนสนับสนุนสภานักศึกษา มธ.
.
8. ส่วนกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนเห็นด้วยกับการจัดกิจกรรม 45 ปี 6 ต.ค. "หนี้เลือดที่ยังไม่ชดใช้” และยืนยันเข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบออนไซต์
.
9. นอกจากแถลงการณ์สนับสนุน ยังมีการจัดทำแคมเปญในเว็บไซต์ change ‘คัดค้านแถลงการณ์องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ กรณีมติไม่เข้าร่วมแถลงการณ์สภานักศึกษาธรรมศาสตร์’ โดยมีการเชิญชวนนักศึกษาและผู้ที่ไม่เห็นด้วยลงชื่อเพื่อคัดค้านแถลงการณ์กล่าว โดยกล่าวว่า มติของ อมธ.เป็นมติที่ขาดความชอบธรรม และตัดสินใจบนพื้นฐานของความหวาดกลัว ไม่ได้เกิดจากการพิจารณาอย่างรอบคอบมากพอ
.
10. อีกทั้งยังมีการรณรงค์แชร์โพสต์ที่มีข้อความร่วม “ร่วมส่งเสียงกดดันผู้บริหารให้อนุมัติจัดงาน 6 ต.ค.ภายในมหาวิทยาลัย” พร้อมติดแฮชแท็ก #6ตุลาจัดในมอ เพื่อสนับสนุนแนวทางของสภานักศึกษา มธ.และสนับสนุนให้มีการจัดงานในรูปแบบออนไซต์ตามเดิม
.
ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่า งานครบรอบ 45 ปีเหตุสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้จัดในรูปแบบไหน และทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่ได้ออกมาให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจอย่างมาก เพราะ 6 ต.ค. ไม่ใช่เพียงแค่บทเรียนหนึ่งในหนังสือ แต่มันคือการเสียสละชีวิตของประชาชนที่พยายามปกป้องประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ในเส้นทางที่เหมาะสม
.
.
อ้างอิงจาก
https://doct6.com/learn-about/how/chapter-4
https://web.facebook.com/TheReportersTH/posts/2778442295739486/
https://www.matichon.co.th/politics/news_2949790
https://web.facebook.com/.../a.1372413.../10159313923569544/
https://prachatai.com/journal/2021/09/95194
https://web.facebook.com/.../a.358575414.../4493688104046782
https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_469407
https://chng.it/yjn2HRBwCT
#RECAP #TheMATTER
.....