วันอาทิตย์, กันยายน 26, 2564

เบื้องหลัง "ละครแขวนคอ!"



สุขุม สมหวัง ยังวัน
30m ·

12. แขวนคอ!
หลังจาก "พบกันใหม่เมื่อได้ชัยชนะ" ในงานวันกรรมกร ปี 2519 ผมไม่ได้เขียนละครเรื่องใหม่เลย สภาพร่างกายผมย่ำแย่ลงมาก การกินยานอนหลับ ทำให้สมองผมมึนงงแทบทั้งวัน นวนิยายสะท้อนสังคมวรรณะในอินเดียเรื่อง "คนขี่เสือ" ที่ผมคิดจะแปลงเป็นบทละคร ก็ค้างคาอยู่บนโต๊ะ เขียนออกมาได้แค่ฉากแรกฉากเดียว ครั้นกลับมานั่งอ่านทวน ก็ชักจับต้นชนปลายไม่ถูกเสียแล้ว
ระหว่างนั้น สถานการณ์การเมืองภายในประเทศก็สับสนมาก การยิงการฆ่าและปาระเบิด เป็นข่าวที่มีให้ได้ยินแทบทุกวัน จนถึงเดือนสิงหาคม ทรราชประภาส จารุเสถียร แอบกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง มีการนัดชุมนุมเพื่อขับไล่ประภาสที่สนามหลวงและธรรมศาสตร์ พวกกระทิงแดงปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมอีก จนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และยังมีการการปะทะกันระหว่างหน่วยรักษาความปลอดภัยของพวกเรา กับพวกกระทิงแดง คำขวัญที่ว่า "เลือดต้องล้างด้วยเลือด" ถูกเปล่งขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
ในหมู่นักศึกษาเริ่มเตรียมแผนการต้านรัฐประหาร มีการกำหนดจุดนัดพบภายในกลุ่มต่าง ๆ บ้างก็ไปไกลถึงขนาดเตรียมทางหนีทีไล่จะเข้าป่าจับปืนเพื่อสู้กับอำนาจรัฐ ดูเหมือนเส้นทางการต่อสู้ในเมืองของพวกเราจะตีบตันลงทุกที
ในม็อบต่อต้านประภาสครั้งนั้น หน่วยรักษาความปลอดภัยของเรา จับตัวกระทิงแดงที่แทรกซึมเข้ามาได้คนหนึ่ง จึงขอใช้ชุมนุมของเราเป็นที่สอบสวนโดยปิดประตูหน้าต่างมิดชิด เขาจะสอบสวนกันอย่างไรเราไม่มีโอกาสรู้ได้ รู้แต่ว่าในวันรุ่งขึ้น พวกเราต้องระดมกันหิ้วถังนั้นไปล้างเลือดเป็นลิ่ม ๆ ที่นองอยู่บนพื้นในชุมนุมกันจ้าละหวั่น เลือดต้องล้างด้วยเลือดดูเหมือนเป็นแค่คำขวัญ แต่พวกเราในชุมนุมฯ กลับต้องตักน้ำมาล้างเลือดอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ต่อจากการขับไล่ทรราชประภาส ผมก็ยังมึน ๆ งงๆ จนทำอะไรไม่ไหว วัน ๆ กลับมานั่งซึมกระทืออยู่หน้าชุมนุมบ้าง บนตึกอมธ.บ้าง มองดูเพื่อน ๆและน้อง ๆ ทำงานกันต่อไปอย่างเซ็งๆ ใครเรียกใช้ให้ทำอะไร ถ้าพอทำไหวก็ทำเท่าที่พอจะทำได้
การณ์เป็นอย่างนี้ต่อมาจนถึงเดือนกันยายน ศูนย์นิสิตฯมีกำหนดว่าจะจัดงานเฉลิมฉลอง 3 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ให้เป็นงานใหญ่กว่าทุกปี ในส่วนของงานดนตรี มีแผนจะจัดประกวดเพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาขึ้น แล้วบอกกล่าวไปในหมู่วงดนตรีเพื่อชีวิตต่าง ๆ ให้ส่งเพลงเข้าประกวด เพื่อนหลายคนก็เริ่มมาบอกให้ผมเขียนละครสำหรับแสดงในงานวันนั้นได้แล้ว ผมได้แต่รับปากไป สมองยังมึนตื้อจนคิดอะไรไม่ออกเอาเสียเลย
ย่างเข้าเดือนตุลาคมเพียงไม่กี่วัน เราก็ได้ข่าวว่าคราวนี้ทรราชถนอม กิตติขจร บวชเณรแล้วลักลอบเข้ามาในประเทศอีกครั้ง แน่นอนว่าขบวนการนักศึกษาออกโรงคัดค้านอย่างรุนแรง ที่ธรรมศาสตร์ก็มีการเตรียมการกันอย่างคึกคัก แต่ติดปัญหาว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงสอบประจำภาคของนักศึกษาส่วนใหญ่พอดี
วันที่ 4 ตุลาคม ผมเดินเข้ามาทางประตูท่าพระจันทร์ ชำเลืองดูพาดหัวหนังสือพิมพ์ที่วางขายอยู่เช่นทุกวัน ก็พบเข้ากับภาพของพนักงานการไฟฟ้าสองคน ถูกจับแขวนคออยู่ที่หน้าประตูเหล็กสีแดงที่ไหนสักแห่ง ในจังหวัดนครปฐม เห็นแล้วตกใจมาก นี่ดูเหมือนจะเป็นการสังหารที่โหดเหี้ยมป่าเถื่อนที่สุดเท่าที่เคยเจอมา
พอเดินมาถึงชุมนุมของเรา ก็พบกับเพื่อน ๆ น้อง ๆ กำลังเตรียมการแสดงเพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยงดการสอบพอดี ถามดูได้ความคร่าว ๆ ว่า จะจัดแสดงที่ลานโพธิ์ตอนเที่ยงวัน โดยแรกเริ่มเดิมทีมีคนเสนอว่า จะทำหุ่นผ้าแล้วจับแขวนคอ แสดงให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมของพวกมัน สร้างแรงสะเทือนใจให้นักศึกษา จะได้ช่วยกันเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยสั่งงดการสอบ
"ทำไมไม่แขวนคอคนจริง ๆ วะ ใช้หุ่นแขวนมันไม่ได้อารมณ์หรอก" ผมอดไม่ได้ที่จะโพล่งออกไปตามประสาคนเขียนบทและผู้กำกับละคร
"ทำยังไงพี่ขุม?" น้อง ๆ ถาม
ผมเคยดูหนังเรื่องปาปิญอง (เวอร์ชั่นที่สตีฟ แมคควีนแสดงคู่กับดัสติน ฮอฟแมน) ในเรื่องนี้ ปาปิญองแสร้งแขวนคอตัวเองหลอก ๆ ไว้กับขื่อในห้องขัง ผู้คุมผ่านมาเห็นเข้าก็ตกใจ จึงเปิดประตูห้องขังเข้ามา พระเอกจึงฉวยโอกาสเตะผู้คมจนสลบไป แล้วแหกคุกออกไปได้สำเร็จ
ดูแต่ในหนัง รู้เพียงว่าเขาใช้เงื่อนแขวนคอหลอก ๆ ไม่รู้หรอกว่าจะทำจริง ๆ ได้อย่างไร พวกเพื่อน ๆ น้อง ๆ ช่วยกันลองผิดลองถูกอยู่พักใหญ่ จนในที่สุดก็พบวิธี กล่าวคือ ใช้ผ้าโปสเตอร์เก่า ๆ มาคล้องใต้อกผ่านไปใต้รักแร้แล้วโยงขึ้นไปทางด้านหลัง ส่วนที่คอก็ทำเงื่อนแขวนคอหลอก ๆ ห้อยไว้ คิดได้แล้วก็ช่วยกันลงมือทำกันเลย ผลปรากฎว่าได้ภาพออกมาสมจริงสมจังมาก แต่ปัญหาก็ตามมาอีก ปัญหาแรกสุดก็คือ ทำอย่างไรจะกลบเกลื่อนร่องรอยผ้าโปสเตอร์ที่คล้องใต้รักแร้ได้ เราแก้โดยการใช้เสื้อทหารสีเขียวตัวใหญ่ๆที่น้องบางคนไปเรียนร.ด.กลับมาแล้วถอดทิ้งไว้ในชุมนุมมาสวมทับเข้าไป ก็ดูแนบเนียนดี อีกปัญหาใหญ่คือผมเดินผ่านลานโพธิ์ทุกวัน จำได้แม่นว่าตรงนั้นต้นไม้ที่จะใช้แสดงแขวนคอมันต้นเล็กนิดเดียว จะไปอาศัยกิ่งโพธิ์ก็ไม่ไหว มันสูงเกินไป ดังนั้น คนที่จะถูกแขวน ต้องเป็นคนตัวเล็กน้ำหนักเบาเท่านั้น คนตัวใหญ่น้ำหนักมาก ๆ ต้นไม้ต้นนั้นคงรับน้ำหนักไม่ไหวแน่
ในชุมนุมฯของเราตอนนั้น คนที่ตัวเล็กที่สุดเห็นมีแค่คนเดียว คือ อาเฮียวิโรจน์ อาเฮียจึงถูกเลือกให้มารับบทนี้เป็นคนแรก แต่ตามข่าวต้องมีคนถูกแขวนสองคน ก็พอดีเจ้าเจี๊ยบ (อภินันท์ บัวหภักดี) นักดนตรีของวงต้นกล้า เดินเข้ามา ตอนนั้น วงดนตรีไทยต้นกล้า มาขอเก็บเครื่องดนตรีไว้ในชุมนุมของเรา ทำให้พวกเราสนิทสนมกับสมาชิกในวงนี้มาก เจี๊ยบเป่าขลุ่ยอยู่ในวงต้นกล้า ทั้งยังเป็นนักรักบี้ แต่รูปร่างเขาเล็ก น้ำหนักตัวไม่มาก จึงคิดว่าเหมาะกับการแสดงชุดนี้
"เฮ้ยเจี๊ยบ มาเล่นบทนี้ให้หน่อย" ผมและเพื่อน ๆ รีบเรียกมัน
"ไม่ได้พี่ ไม่ได้จริง ๆ วันนี้ผมมีนัดกับเพื่อน" ไอ้เจี๊ยบรีบปฏิเสธ หยิบของที่มันต้องการได้แล้วรีบเดินออกจากชุมนุมฯไป
จังหวะนั้นเอง มีเด็กขายหนังสือพิมพ์วัยสัก 11-12 ปี ที่คุ้นหน้าคุ้นตาพวกเราคนหนึ่ง เคยเห็นมันขายหนังสือพิมพ์อยู่หน้าหอประชุมใหญ่บ่อย ๆ วันนี้มันมาติดตามดูพวกเราทดลองวิธีแขวนคอตั้งแต่เริ่ม คงนึกสนุกเลยรีบเสนอตัว
"พี่เอาผม ๆ ผมตัวเล็กแสดงได้" มันร้องบอกอย่างเร่าร้อน อยากมีส่วนร่วม
พวกเราเกือบจะตัดสินใจเอาไอ้เด็กคนนี้อยู่แล้วเชียว แต่ก็ยังติดที่ว่ามันยังเด็กไปหน่อย อาจจะทำเสียเรื่องได้ จังหวะนั้นเอง ไอ้เจี๊ยบก็เดินกลับเข้ามาในชุมนุมอีกครั้งพอดี มารู้ภายหลังว่า มันออกไปโทรหาเพื่อนที่นัดไว้ แล้วเพื่อนของมันคนนั้นไม่ว่าง ขอเลื่อนนัด
"น่าเจี๊ยบ ช่วยกันหน่อย แค่ขึ้นไปแขวนแป๊บเดียว มึงไม่ต้องทำอะไรเลย" พวกเราลองคะยั้นคะยอมันอีกครั้ง
"ก็ได้" มันตอบอย่างตัดใจ เท่านั้นแหละ พวกเราก็มะรุมมะตุ้มช่วยกันเอาผ้าโปสเตอร์คล้องตัว และทำเงื่อนหลอกคล้องที่คอมันทันที
ผมยืนดูๆอยู่ รู้สึกว่ายังขาดอะไรบางอย่างไป ยังไม่สมจริงเหมือนในข่าวที่อ่าน อ้อ นั่นไง ยังไม่มีร่องรอยการถูกซ้อมจนฟกช้ำดำเขียว และที่ข้อมือก็ยังไม่มีร่องรอยของการถูกสวมกุญแจมือเหมือนที่อ่านในข่าวเลย
เร็วเท่าความคิด ผมรีบไปค้นเอาเครื่องสำอางที่เราใช้แต่งหน้าที่มีติดอยู่ในชุมนุม ช่วยกันกับก้อยและต้อม ละเลงหน้าทั้งอาเฮียและเจ้าเจี๊ยบคนละไม้ละมือ ร่องรอยถูกซ้อมก็ใช้อายแชโดว์สีน้ำตาลทาๆโปะๆเข้าไป แล้วเอาลิปสติกสีแดงๆแต้ม ๆ ให้เหมือนรอยฟกช้ำดำเขียวห้อเลือด ที่ข้อมือก็ใช้ดินสอเขียนคิ้วสีน้ำตาล วาดร่องรอยของการถูกใส่กุญแจมือ แต่งหน้าเสร็จ ก็ได้เวลาแสดงพอดี
พวกเรายกขบวนกันมาที่ลานโพธิ์ก่อนเวลาพักเที่ยงของนักศึกษาเพียงเดี๋ยวเดียว ไอ้ชาติ (สุชาติ เสถียรธรรมมณี) น้องในชุมนุมฯที่รับผิดชอบเรื่องเทคนิค ใช้บันไดปีนขึ้นไปผูกเชือกบนต้นไม้เล็ก ๆ ที่เราหมายตาไว้ แล้วการแสดงก็เริ่มขึ้น
ดูเหมือนคนแรกที่ถูกเอาขึ้นแขวนคืออาเฮียวิโรจน์ (แขวนได้ทีละคน) อาเฮียก็แสดงท่าลิ้นจุกปากได้อย่างสมจริงสมจัง เจ้าต๊อด (อดิศร พวงชมพู หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ปัจจุบันทำเสื้อผ้าภายใต้แบรด์ แตงโม) ห่มจีวรสีแดง ใส่กระดาษหัวล้านกระดาษ แสดงเป็นทรราชถนอม เจ้าโมทย์ (ปราโมทย์ ..... สหายเทพ, เสียชีวิต) น้องในชุมนุมที่รูปร่างสูงใหญ่ แสดงเป็นทหารสมุนทรราช น้องๆอีกหลายคนในชุมนุม แสดงเป็นนักศึกษาประชาชนที่ถูกสังหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นอนกระจายตายเกลื่อนอยู่โดยรอบ นักศึกษาที่พักกลางวันเริ่มสนใจเข้ามามุงดูการแสดงของพวกเรา ฝ่ายไฮด์ปาร์คก็เริ่มพูดเชิญชวนให้เพื่อนนักศึกษาเรียกร้องให้งดสอบ เพื่อร่วมกันไล่ทรราช อาเฮียถูกแขวนได้สักพัก ก็เริ่มบ่นว่าเจ็บใต้รักแร้ พวกเราจึงรีบเอาอาเฮียลงมา แล้วจับเจ้าเจี๊ยบขึ้นแขวนแทน ตอนนี้ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และนักข่าวเริ่มเข้ามามุงดูกันมากขึ้น นักข่าวบางคนถึงกับเอากล้องเข้าไปจ่อถ่ายหน้าเจ้าเจี๊ยบในระยะประชิดเลย บางคนยังหันมาชมพวกเราว่าแสดงได้สมจริงสมจังมาก ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่รู้สึกว่าหน้าของเจี๊ยบเหมือนกับใคร
เราแสดงกันอยู่ที่ลานโพธิ์ประมาณชั่วโมงหนึ่ง ผลัดกันแขวนระหว่างอาเฮียกับเจี๊ยบสองสามครั้ง เพราะแขวนนานไม่ได้ ผ้าที่รั้งรักแร้อยู่ทำให้คนถูกแขวนเจ็บ เราสิ้นสุดการแสดงเอาราวบ่ายโมง ช่วยกันเก็บข้าวของกลับเข้าชุมนุมฯไปอย่างสบายใจในความสำเร็จ
วันรุ่งขึ้น 5 ตุลาคม ผมไปถึงธรรมศาสตร์เอาสาย ๆ เกือบเที่ยง เริ่มมีประชาชนและนักศึกษามาชุมนุมกันที่ลานโพธิ์แล้ว น้องคนหนึ่งในชุมนุมเห็นหน้าผมก็รีบมาบอกว่า เริ่มมีหนังสือพิมพ์ และสื่อบางแห่ง สร้างกระแสว่าการแสดงของเราเมื่อวานนี้ เป็นการหมิ่นฯ เพราะมีการแต่งหน้าให้เหมือนองค์รัชทายาท ผมได้ยินแล้วยังนึกขำ มันจะเหมือนได้ยังไงวะ
ครั้นเจอกับหน่อยที่ตอนนั้นเป็นประธานชุมนุมฯ หน่อยก็บอกว่าหนังสือพิมพ์ดาวสยามเริ่มโจมตีพวกเราในประเด็นนี้จริง เขาได้คุยกับเพื่อนบน อมธ.แล้ว อยากให้เราแสดงแบบเมื่อวานอีกครั้งหนึ่ง จะได้พิสูจน์กันให้เห็นชัดๆ เป็นการสยบข่าวป้ายสีของดาวสยาม
เราจึงจัดการแสดงแขวนคอขึ้นอีกครั้งที่ต้นไม้ต้นเดิม แต่วันนี้เผอิญเราหาตัวเจี๊ยบไม่เจอ ก็เลยแขวนได้แต่อาเฮียคนเดียว การแสดงวันนี้ ผมก็ขึ้นไปร่วมแสดงด้วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังรูปที่มาเห็นในภายหลัง ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก
การแสดงในวันที่ 5 นี้ แม้แต่ตัวผมเองก็ลืมเสียสนิท และดูเหมือนแทบจะไม่มีใครเคยพูดถึงมาก่อน จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ โทรไปสอบถามข้อมูลบางอย่างเพิ่มเติมจากหน่อย เขาจึงรื้อฟื้นให้ฟังค่อยนึกขึ้นมาได้ สรุปได้ว่า การแสดงแขวนคอที่ลานโพธิ์นั้น มีแสดงด้วยกันสองวัน คือวันที่ 4 ต.ค. แขวนทั้งสองคน (อาเฮียกับเจี๊ยบ) ส่วนวันที่ 5 ต.ค. แขวนอาเฮียวิโรจน์เพียงคนเดียว
เย็นนั้น เริ่มมีม็อบขับไล่ทรราชถนอมครั้งใหญ่ที่กลางท้องสนามหลวง ตึก อมธ. ทั้งหมดถูกกันไว้เป็นศูนย์บัญชาการ พวกอาเฮีย หน่อย และน้อง ๆ ในชุมนุม จึงลงมากางเต๊นท์ผ้าใบอยู่ระหว่างซอกตึกคณะนิติศาสตร์กับตึก อมธ. ผมเดินโต๋เต๋อยู่สักพัก กำลังจะกลับบ้าน คิดว่าคงจะชุมนุมกันยืดเยื้อเหมือนครั้งก่อน ๆ คิดจะกลับบ้านไปลองเขียนบทละครใหม่สักเรื่อง เผื่อให้พวกเราได้แสดงในคืนถัดไป พอผ่านมาทางเต๊นท์ของพวกเรา ก็แวะบอกน้อง ๆ ว่า คืนนี้ขอตัวก่อน จะกลับไปเขียนบทละคร แล้วก็เดินกลับบ้านไป
ไม่เฉลียวใจสักนิดว่าโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ทางการเมืองของไทยกำลังจะเกิดขึ้น.
ป.ล. รูปแรก คือการแสดงแขวนคอในวันที่ 4 ต.ค. 2519
ส่วนรูปที่สอง คือการแสดงในวันที่ 5 ต.ค. 2519 นับเป็นการแสดงครั้งสุดท้ายของชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร..
หมายเหตุ : ท่านที่สนใจอยากได้หนังสือ "คนละคร-ละครคน" ที่กำลังจัดพิมพ์อยู่ตอนนี้ สั่งจองได้ทางหลังไมค์ครับ

https://www.facebook.com/Youngone.Youngman/posts/10219385851705730