Sa-nguan Khumrungroj
16h ·
#คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
วันนี้ ครบรอบวันเกิดปีที่ 91 ของ จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ"สหายปรีชา" วงการวรรณกรรมในประเทศจีนให้ฉายาเขาว่า"หลู่ซวิ่นแห่งสยาม"(暹羅魯迅)
เขาเป็นนักต่อสู้ผู้ยื่นโคมไฟแห่งปัญญาแก่ประชาชน แต่โทษทัณฑ์ที่เขาได้รับจากผู้มีอำนาจคือโซ่ตรวน
เขาจับอาวุธขึ้นเป็นกบฎต่ออำนาจอธรรม
สิ่งที่เขาได้รับคือ ความตาย
จิตร ภูมิศักดิ์ ในวัยเพียง 36 ถูกตัวแทนเผด็จการคือ"กำนันแหลม" พวกอาสาสมัครฝั่งตรงข้าม กำลังทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิตที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะใน"บ้านหนองกุง" ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1966
"ภูพานปฏิวัติ" เป็นเพลงที่จิตร ภูมิศักดิ์แต่งขึ้นขณะร่วมอยู่กับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยอยู่ทางภาคอีสาน แถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร โดยใช้ชื่อจัดตั้งขณะนั้นว่า "สหายปรีชา" ต่อมาเพลงนี้กลายเป็นเพลงสำคัญเพลงหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
กรณี"โยนบก" เมื่อ 68 ปีที่แล้ว ทำให้ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักด์ เป็นที่รู้จักในสาธารณชนวงกว้างเป็นครั้งแรก ขณะที่เขาเป็น"สาราณียกร" ให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ "ซ้ำ ๆ ซาก ๆ" ของหนังสือประจำปี ด้วยการลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม รวมถึงรัฐบาลขณะนั้นด้วย
ผลที่ตามมาก็คือ ระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการสอบสวนเขาในหอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เหตุการณ์ครั้งนั้น
จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดย"สีหเดช บุนนาค" คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บ ต้องพักรักษาตัวอยู่หลายวัน
ต่อมา ทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษ ให้จิตร พักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี
ระหว่างถูกพักการเรียน เขาได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นานก็ถูกไล่ออก เพราุถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้าซ้ายจัด จึงเปลี่ยนไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่
ช่วงเวลานั้น เขาใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ "มูฟวี่แมน" สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการออกมาหลายเรื่อง ทั้งการวิจารณ์วรรณศิลป์ หนังสือ และภาพยนตร์ยุคนั้นอย่างเผ็ดร้อน ฯลฯ
"โฉมหน้าศักดินาไทย"โดยใช้วิธีวิเคราะห์แบบวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ในสำนักลัทธิมากซ์ของจิตร ถูกจัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทสารคดี
เขาเขียนขึ้นในยุคยังมีสภาพกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเสนอประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองที่แตกต่างไปจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ปฏิกิริยาต่อหนังสือนี้ ยังส่งผลให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเขียนหนังสือ "ฝรั่งศักดินา" โต้ตอบขึ้นมา ในเวลาต่อมา
เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ โดยใช้นามปากกาว่า "สุธรรม บุญรุ่ง" ขณะถูกขังในคุกลาดยาวช่วงปี 1960 --1962 กลายเป็นเพลงที่ใช้ปลุกพลัง ความหวัง และศรัทธาได้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่เหตุกาณ์ 14 ตุลาคม 1973 เป็นต้นมา
การเคลื่อนไหวของเยาวชนนักศึกษาตลอดกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา
"แสงดาวแห่งศรัทธา"ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง และนำประวัติการตู่สู้ของเขามาเผยแพร่ต่อเยาวชนรุ่นหลังในที่ชุมนุมอย่างกว้างขวาง
โอกาสนี้
มูลนิธิแฟมิลี่คลับ"วาดหวัง เติมพลังด้วยหนังสือดี" ได้จัดพิมพ์หนังสือเด็กมีภาพการ์ตูนประกอบ ชื่อ" จ จิตร"--ชีวิตอัจฉริยะไทย ผู้ใฝ่เรียนรู้จิตร ภูมิศักดิ์ เพื่อให้ชนรุ่นหลัง รู้ถึงเรื่องราวการต่อสู้ของเขา...
คน ยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย....
(สงวน คุ้มรุ่งโรจน์)
https://www.facebook.com/sanguan.khumrungroj/posts/4360993830652699