วันพุธ, กันยายน 22, 2564

สถาบันจุฬาภรณ์ เห็นยัง... ผลวิจัยซิโนฟาร์มในเด็ก 3-17 ปี ที่จีน ไม่มีข้อมูลป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ - บีบีซีไทย


เด็กหญิงเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการฉีดในเด็กอายุ 10-18 ปี

ผลศึกษาความปลอดภัยและระดับภูมิคุ้มกันของซิโนฟาร์มในจีน

ท่ามกลางข้อมูลที่ยังจำกัดเกี่ยวกับผลการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็ก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ววารสารทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้างได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนซิโนฟาร์มในประเทศจีน ซึ่งเป็นการวิจัยระยะที่ 2 ในเด็กอายุ 3-17 ปี จำนวน 720 คน ผลการวิจัยพบว่ามีความปลอดภัย แต่ไม่มีข้อมูลต่อการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ผลการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนซิโนฟาร์ม ในวารสารทางการแพทย์โรคติดเชื้อที่ชื่อว่า "แลนเซ็ต" เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ระบุว่าเป็นการวิจัยในเด็กจีน อายุตั้งแต่ 3-17 ปี โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน

การวิจัยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 3-5 ปี, 6-12 ปี และ 13-17 ปี แต่ละกลุ่มจะมีการแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มย่อยซึ่งได้รับวัคซีนในปริมาณโดสที่ไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 2, 4 และ 8 ไมโครกรัม

การทดลองระยะที่ 1 มีผู้เข้าร่วมในทุกกลุ่มอายุจำนวน 288 คน ส่วนการทดลองในระยะที่ 2 มีผู้เข้าร่วม 720 คน

ผลสรุปโดยรวมของการวิจัยทางคลินิกที่มี 2 ระยะ ระบุว่าวัคซีนซิโนฟาร์มมีความปลอดภัยในเด็กที่เข้าร่วมวิจัยอายุ 3-17 ปี และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากฉีดแล้ว 2 โดส ซึ่งมีระดับของแอนติบอดีเหมือนกันกับผลวิจัยในผู้ใหญ่

ส่วนผลข้างเคียงส่วนมากอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ อาการปวดในบริเวณที่ฉีดวัคซีน และมีไข้ แต่เป็นอาการชั่วคราวที่หายได้ในไม่กี่วัน ในจำนวนนี้มี 1 ราย พบการแพ้อย่างหนัก โดยเด็กรายนี้มีประวัติแพ้อาหาร

ผลการศึกษายังสนับสนุนปริมาณการให้วัคซีนในการทดลองระยะที่ 3 ว่าควรใช้ 4 ไมโครกรัม จำนวน 2 โดส ในกลุ่มวิจัยอายุที่ต่ำกว่า 18 ปี เพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายสรุปผลวิจัยบอกว่า งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ ช่วงระยะเวลาในการติดตามผลที่สั้นแค่ 84 วัน ประวัติความปลอดภัยของวัคซีน และจำเป็นต้องมีการติดตามประเมินความคงที่ของแอนติบอดีที่ใช้เวลานานกว่านี้ ผู้เข้าร่วมทดลองที่มีความจำกัดด้านเชื้อชาติและความหลากหลายทางชาติพันธุ์

นอกจากนี้ยังไม่มีการประเมินภูมิต้านทางของร่างกายโดยวัคซีนชนิดนี้ โดยเฉพาะการกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดที-เซลล์ ซึ่งทำให้ไม่มีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันที่ต้านทานต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น B.1.1.7 (อัลฟา) และ B.1.617 (สายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อินเดีย)

ทั้งนี้การวิจัยในระยะที่ 3 จะมีการดำเนินการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ขณะนี้วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจาก อย. ให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียง 2 ยี่ห้อคือ วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา

ที่มา วัคซีนโควิด: ผลวิจัยซิโนฟาร์มในเด็ก 3-17 ปี ที่จีน ไม่มีข้อมูลป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่
บีบีซีไทย
ชวนอ่านบทความเต็มที่นี่