iLaw
10h ·
เปิดความเหมือน-ต่าง ระบบเลือกตั้ง 40 vs 64
.
10 กันยายน 2564 ที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันของทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีมติในวาระที่สาม เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “แก้ระบบเลือกตั้ง” ให้กลับไปใช้บัตร 2 ใบ ซึ่งมีความ “คล้ายคลึง” กับระบบเลือกตั้งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อย่างไรก็ตาม ทั้งสองระบบเลือกตั้งก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมดเสียทีเดียว แต่มีจุดต่างสำคัญอยู่ที่เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
.
ทั้งระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และระบบเลือกตั้งตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พึ่งผ่านไปนั้นมีหลักการหลักที่เหมือนกัน กล่าวคือ แทนที่จะใช้บัตรใบเดียวและคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จาก “ส.ส. ที่พึงมี” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ให้กลับไปใช้บัตรสองใบ และคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อโดยการนำคะแนนที่พรรคการเมืองได้จากในบัตรใบที่สองมาแบ่งตามสัดส่วน นอกจากนี้ยังมีการปรับจำนวน ส.ส. ให้ ส.ส. เขตเป็น 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน
.
ผลโดยตรงจากระบบเลือกตั้งข้างต้นคือพรรคที่มีขนาดใหญ่จะได้เปรียบมากขึ้นจากปริมาณของ ส.ส. เขตที่มากขึ้น ในขณะที่ พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อจากวิธีการคำนวณแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ชดเชยที่นั่งให้หากจำนวน ส.ส. ของพรรคนั้นน้อยกว่า ส.ส. ที่พึงมี ก็จะอาจจะต้องสูญเสียที่นั่งไป
.
อย่างไรก็ดี ความแตกต่างหลักที่ทำให้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และระบบเลือกตั้งที่ผ่านวาระสามไปนั้นไม่เหมือนกันทั้งหมดก็คือเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดว่าพรรคการเมืองที่จะเข้าเกณฑ์ได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้นจะต้องได้รับคะแนนรวมทั่วทั้งประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยกลไกนี้มีขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคขนาดเล็กได้ที่นั่งและรับประกันว่ารัฐบาลนั้นจะมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง ในทางกลับกัน ระบบเลือกตั้งที่ผ่านวาระสามไปนั้นกลับยังคงหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเอาไว้ หมายความว่า พรรคขนาดเล็กต่าง ๆ ถ้าได้คะแนนเสียงรวมทั่วประเทศอย่างน้อยร้อยละ 1 ก็ยังอาจจะได้รับที่นั่งอยู่
.
ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นระบบเลือกตั้งที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้ได้ผลที่ “ขัดแย้ง” กัน กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง การคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยใช้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมดเป็นตัวหารแทนที่จะหา ส.ส. ที่พึงมีนั้นจะกีดกันพรรคขนาดเล็กหรือขนาดกลางออกไปจากสภา โดยที่พรรคขนาดใหญ่ที่มีผู้สมัครเขตมากมายนั้นจะได้เปรียบขั้นมา แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ยังคงเห็นพรรคขนาดเล็กที่สามารถสอดแทรกขึ้นมาได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อได้จากการที่ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
.
อ่านสรุป "ระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ" ฉบับ กมธ.ร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ https://ilaw.or.th/node/5961
อ่านการเปรียบเทียบระบบเลือกตั้งตั้งแต่ 40 ถึงปัจจุบัน https://ilaw.or.th/node/5572
อ่านผลของการไม่มีเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ https://ilaw.or.th/node/5959