วันอังคาร, กันยายน 14, 2564
บทเรียนประวัติศาสตร์ สถาบันกษัตริย์ - ทำไมพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กษัตริย์พระองค์ใหม่ ถึงไม่สามารถรับมือกับระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศสที่รอวันพังทลาย
ประวัติศาสตร์ สถาบันกษัตริย์
10h ·
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กษัตริย์พระองค์ใหม่ กับการรับมือระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศสที่รอวันพังทลาย
.
เมื่อพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงแต่เพียงเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้นโปเลียน (Napoleon) ก้าวเข้ามามีอำนาจ ทั้งๆ ที่พระองค์มีอำนาจหลังจากนั้นหลายปี แต่มันมีความสำคัญในแง่ของการสิ้นสุดระบอบการเมืองแบบเก่า ที่เรียกว่า อองเซียงเรฌีม (ฝรั่งเศส: Ancien Régime) อำนาจระบอบเก่าอยู่บนพื้นฐานสามประการ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ นักบวช และชนชั้นขุนนาง ฐานันดรแห่งราชอาณาจักร (Estates of the realm) ก็แบ่งออกเป็นสามเช่นกัน คือ ฐานันดรที่หนึ่ง (First Estate) คือนักบวชโรมันคาทอลิก, ฐานันดรที่สอง (Second Estate) คือชนชั้นขุนนาง และ ฐานันดรที่สาม (Third Estate) คือสามัญชน ระบอบเก่ารักษาลักษณะหลายประการของระบบศักดินาสวามิภักดิ์ที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยเฉพาะในการใช้อภิสิทธิ์ของขุนนางและชนชั้นเจ้านายที่สนับสนุนโดยปรัชญาเทวสิทธิราชย์ การปฏิวัติเริ่มต้นในปีค.ศ. 1789 ชนชั้นแรงงานยังคงยากจนและหิวโหย ส่วนชนชั้นสูงยังคงร่ำรวยและได้รับการดูแลอย่างดีจากราชสำนัก จุดเด่นของระบอบศักดินานี้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตั้งแต่ในยุคกลาง พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จ และลิดรอนอำนาจทางการเมืองจากขุนนาง ส่วนประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ของฝรั่งเศสนั้นไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย
.
ราชอาณาจักรฝรั่งเศสล้มละลายจากสงครามและชนชั้นกระฎุมพี (ชนชั้นกลาง) มีอำนาจทางการเมืองน้อย พวกเขามีการศึกษาและได้รับอิทธิพลจากงานเขียนในยุคภูมิธรรม (Enlightenment) พวกเขาเบื่อหน่ายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ครองพื้นที่ทางการเมืองมาหลายศตวรรษ การลุกฮือเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงได้นำมาสู่การปฏิวัติ
.
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ครองราชย์ตั้งแต่ปี 1774 – 1792 ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส แม้ว่าจะพระบุคลิกที่อ่อนโยนและมีจิตใจดี แต่ความไม่เด็ดขาดของพระองค์ และการที่ทรงมีหัวแนวคิดอนุรักษ์นิยมกลายเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสมองว่าทรงเป็นทรราช และเป็นความกดขี่ของระบอบเก่า ความนิยมของพระองค์ลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วปัญหาทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจมันฝังรากลึกมานาน และรอวันปะทุ ซึ่งคนที่โชคร้ายคือ กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 นั่นเอง พระองค์เป็นเสมือนประมุขหุ่นเชิดของระบอบเก่าที่รอวันพังทลาย
.
ในรัชสมัยของพระองค์ ช่องว่างระหว่างสถาบันกษัตริย์และชนชั้นแรงงานขยายอย่างกว้างขวางโดยไม่มีทางบรรจบได้ ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์สนับสนุนการทำสงครามในต่างประเทศ คือ สงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา (American War of Independence) การมีส่วนร่วมในสงครามทำให้ฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมากขึ้น ประชาชนต้องจ่ายภาษีหนักในประเทศที่จมอยู่ในบ่อหนี้สิน แต่คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ยากจนและต้องดิ้นรนประทังชีพ ในยุคที่อาหารมีไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ถึงกระนั้นกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ก็ทรงใช้พระราชอำนาจที่เบ็ดเสร็จบริหารประเทศจากพระราชวังที่หรูหราอย่างแวร์ซาย ความเสื่อมโทรมและความเฉยเมยของพระบรมวงศานุวงศ์ฝรั่งเศสและขุนนาง เป็นสิ่งที่พลเมืองฝรั่งเศสยากที่จะทนได้
.
แม้ว่ากษัตริย์หลุยส์ที่ 16 จะมีพระราชปณิธานตั้งแต่ต้นรัชกาลว่าจะปฏิรูปทางการเมืองด้วยความพยายามในการล้มเลิกระบบมาเนอร์ (Manors) การจัดทำระบบตายย์ (ฝรั่งเศส: Taille; การจัดเก็บภาษีที่ดินคำนวณจากขนาดที่ดินที่ถือครอง) และสนับสนุนขันติธรรมไปในแนวทางที่ออกห่างจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก แต่ฝ่ายขุนนางฝรั่งเศสกลับแสดงท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปของพระองค์และประสบความสำเร็จในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อทรงถูกต่อต้าน พระองค์กลับเลือกที่จะพับเก็บโครงการ และเฉยเมยอย่างไม่ดิ้นรนใดๆ และวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมาจากสงคราม กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ทรงพยายามแก้ไขปัญหานี้แต่ด้วยความไม่เต็มใจเท่าไร แรงกดดันต่างๆ ทำให้ต้องทรงเรียกประชุมสภาฐานันดร (Estates-General) อันประกอบด้วยฐานันดรทั้งสามได้แก่ คณะบาทหลวงพระราชาคณะ ขุนนาง และสามัญชน ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 175 ปี การประชุมจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 และโต้เถียงกันอย่างดุเดือด แต่สุดท้ายในเดือนมิถุนายน ฐานันดรที่สามที่เป็นตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่ต้องผิดหวัง แม้ว่าจะมีสมาชิกมากที่สุดแต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้โหวตรับรองการปฏิรูปตามจำนวนสมาชิกในที่ประชุม (ทางสภาให้มีการออกเสียงเป็นฐานันดรละหนึ่งเสียง ผลสรุปคือ ฐานันดรที่หนึ่งและที่สองร่วมมือกันลงมติเป็นคะแนน 2 เสียง ต่อฐานันดรที่สามที่มี 1 เสียง ดังนั้นจึงไม่มีการปฏิรูปทางการคลัง) ผู้แทนฐานันดรที่สามไม่พอใจอย่างมากจึงถอนตัวจากการประชุมและไปตั้งสภาของตนเองแยกต่างหาก ต่อมาสภาของฐานันดรที่สามนี้เปลี่ยนชื่อเป็น สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งพยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนไม่ใช่ฐานันดร เนื่องจากไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลกษัตริย์หลุยส์ที่สนับสนุนแต่พระและขุนนาง สมัชชาแห่งชาติประกาศยกเว้นการเก็บภาษีเป็นการชั่วคราว เหล่านายทุนเกิดความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนสมัชชาแห่งชาติ
.
กษัตริย์หลุยส์สั่งทหารหลวงให้ปิดโถงเดตาต์ สถานที่ใช้ประชุมของสมัชชาแห่งชาติ และในเช้าวันที่ 20 มิถุนายน 1789 เหล่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติต่างตกตะลึงเมื่อพบว่าห้องโถงถูกลงกลอนและเฝ้ายามโดยทหารหลวง พวกเขาจึงพากันไปรวมตัวที่สนามเฌอเดอโปมและร่วมกันประกาศคำปฏิญาณสนามเทนนิส (Serment du Jeu de Paume) ว่า "จะไม่มีวันแตกแยก และจะรวมตัวกันไม่ว่าในที่แห่งหนหรือสถานการณ์ใดก็ตาม จนกว่าธรรมนูญแห่งอาณาจักรจะถูกตราขึ้น" ความพยายามของพระเจ้าหลุยส์ที่จะให้สภานี้เป็นโมฆะประสบความล้มเหลว พระองค์เริ่มยอมรับอำนาจของสมัชชาแห่งชาติในวันที่ 27 มิถุนายน สมัชชาแห่งชาติได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวปารีสและเมืองอื่นๆของฝรั่งเศส
.
กษัตริย์หลุยส์ยังทรงปลดฌัก แนแกร์ (Jacques Necker; ผู้เป็นดั่งสัญลักษณ์ของฐานันดรที่สาม) ลงจากตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ข่าวการปลดแนแกร์ไปถึงกรุงปารีสในบ่ายวันที่ 12 กรกฎาคม ชาวปารีสเดือดดาลมาก มองว่านี่คือการก่อรัฐประหารเงียบโดยกลุ่มอำนาจเก่า ชาวปารีสจึงออกมาชุมนุมที่พระราชวังหลวงในปารีส ในวันที่ 14 กรกฎาคม ชาวเมืองจึงรวมพลไปบุกทลายคุกบัสตีย์ (Bastile) เช้าวันที่ 15 กรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ทราบการทลายคุกจากดยุกเดอลาโรฌฟูโก ทรงถามดยุกว่า "เขาจะกบฏกันเหรอ?" ดยุกตอบว่า "มิได้พะยะค่ะ มิใช่การกบฏ แต่เป็นการปฏิวัติ" พระองค์สูญเสียอำนาจในการควบคุมปารีสไปเสียแล้ว
.
พระองค์ทรงพยายามประนีประนอม ด้วยการเสด็จกลับปารีส และยอมรับธงไตรรงค์ของฝ่ายปฏิวัติ แต่ก็เป็นการประนีประนอมเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากที่ประชาชนเดินทางไปกดดันให้พระองค์เสด็จกลับมาปารีส จากพระราชวังแวร์ซายที่สะดวกสบาย ต้องมาอยู่พระราชวังกลางเมืองปารีสอย่าง พระราชวังตุยเลอรี (Palais des Tuileries) ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พระราชวงศ์มองว่าไม่ต่างจากคุกที่พวกปฏิวัติคอยเฝ้าดู กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมารี อ็องตัวแนต ทรงมองว่า ถ้ายังอยู่ที่ตุยเลอรีต่อไป คงจะต้อง “ตุย” ตามชื่อพระราชวังแน่ พระองค์พยายามที่จะหาทางหลบหนีด้วยความร้อนรน ทั้งๆ ที่ฝ่ายปฏิวัติอาจจะไม่ได้เช็คบิลพระองค์แต่อย่างใด การเสด็จสู่วาแรน ( Flight to Varennes) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1791 จึงเกิดขึ้น พระองค์ตั้งใจจะเสด็จหนีไปพึ่งกองทัพออสเตรีย ที่นำโดยจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเชษฐาของพระราชินี เพื่อนำกองทัพต่างชาติมาช่วยทำการปฏิวัติซ้อน แต่สุดท้ายแผนการล้มเหลวที่วาแรน พระบรมวงศานุวงศ์ถูกเชิญกลับมายังตุยเลอรี ในครั้งนี้กระแสสาธารณชนเปลี่ยนไป จากที่เคยสงสารว่าเพราะระบอบเก่าทำให้พระองค์ทำอะไรไม่ได้ในการปฏิรูป กลายมาเป็นกษัตริย์ทรราชที่คิดจะใช้อำนาจต่างชาติมาเข่นฆ่าประชาชน
.
ขณะที่ภายในฝรั่งเศสกำลังวุ่นวาย เหล่าราชวงศ์ของยุโรปนำโดยพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย (Friedrich Wilhelm II of Prussia), จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Emperor Leopold II) ตลอดจนพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ร่วมมือกันออกคำประกาศของดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ (Duke of Brunswick) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้พระเจ้าหลุยส์มีอิสรภาพสมบูรณ์และให้ยุบสภา ถ้าหากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นก็จะส่งกองทัพโจมตีฝรั่งเศสเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่สนใจต่อคำประกาศดังกล่าวและเตรียมการต่อต้านอย่างแข็งขัน สภาเริ่มส่งทหารไปชายแดนและมีมติประกาศสงครามกับออสเตรียและบริเตนเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1792 การประกาศของต่างชาติยิ่งทำให้ราชวงศ์ฝรั่งเศสซวยมากยิ่งขึ้น พระองค์ถูกประกาศจับกุมอย่างเป็นทางการและถูกส่งตัวไปจองจำที่หอคอยต็องเปลอ (Square du Temple) ป้อมปราการเก่าในปารีส ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1792 สถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสจึงถูกยุบเลิกอย่างเป็นทางการ และมีการจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่ง
.
สภากงว็องซียงแห่งชาติ (National Convention) มีมติเอกฉันท์ในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1793 ว่าอดีตกษัตริย์มีความผิดจริงฐาน "สมคบประทุษร้ายต่อเสรีภาพปวงชนและความมั่นคงแห่งรัฐ" (conspiration contre la liberté publique et la sûreté générale de l'État) วันต่อมา ที่ประชุมชนะโหวตกำหนดบทลงโทษเป็นการประหารชีวิตในทันที อดีตกษัตริย์ขออุทธรณ์โทษประหารชีวิต แต่แพ้โหวตในสภา คำตัดสินดังกล่าวจึงเป็นอันสิ้นสุด อดีตกษัตริย์หลุยส์ถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยกิโยตีนที่ปลัสเดอลาเรวอลูว์ซียง (Place of the Revolution) ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ขณะที่ทรงถูกนำพระองค์ขึ้นไปบนนั่งร้าน ทรงมีท่าทีที่สง่างามแต่ปล่อยวาง ทรงมีพระดำรัสสั้น ๆ ถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ ("ข้าพเจ้าขออภัยท่านเหล่านั้น ผู้เป็นเหตุแห่งมรณกรรมของข้าพเจ้า....") ทรงประกาศว่าบริสุทธิ์จากอาชญกรรมทีทรงถูกกล่าวหา และภาวนาว่าพระโลหิตของพระองค์จะไม่ไหลหลั่งลงบนผืนแผ่นดินของฝรั่งเศส ศีรษะของพระองค์ถูกชูขึ้น ท่ามกลางความโห่ร้องยินดีของฝ่ายนิยมการปฏิวัติ
.
อ้างอิง
* https://www.historyextra.com/.../french-revolution.../
* Davies, Peter. The French Revolution: A Beginner's Guide (2009)
* Fremont-Barnes, Gregory. The French Revolutionary Wars (2013)
* Wahnich, Sophie (2016). In Defence of the Terror: Liberty or Death in the French Revolution (Reprint ed.). Verso.
.
https://www.facebook.com/historymonarchy/posts/6409176732440965