"แอมเนสตี้" เรียกคืนรางวัลสูงสุดที่เคยให้ "ออง ซาน ซู จี"
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ประกาศเรียกคืนรางวัลสูงสุดที่เคยให้กับนางออง ซาน ซู จี หรือรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) หลังจากพิจารณาแล้วเห็นถึงการทรยศต่อคุณค่าที่เธอเคยปกป้องของผู้นำเมียนมา
“ทุกวันนี้ เราผิดหวังอย่างยิ่งที่ท่านไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความกล้าหาญ และการยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป แม้จะเสียใจเป็นอย่างยิ่ง แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่อาจรับรองสถานะของท่านในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกอีกต่อไป เราจึงขอถอนรางวัลนี้ที่เคยมอบให้กับท่าน” นายคูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
ส่วนวานนี้ (11 พ.ย.) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เขียนจดหมายถึงนางออง ซาน ซู จี แจ้งให้ทราบว่าทางองค์การได้ยกเลิกรางวัลที่เคยมอบให้เมื่อปี 2552 โดยแสดงความผิดหวังที่เธอไม่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองและทางศีลธรรมที่มีอยู่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม หรือความเท่าเทียมในเมียนมา
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการที่เธอเพิกเฉยต่อการทารุณกรรมของกองทัพเมียนมา และการที่รัฐไม่อดทนอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เธอดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วครึ่งเทอม หรือแปดปีหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักบริเวณภายในบ้าน
นับแต่นางออง ซาน ซู จี ขึ้นเป็นผู้นำเมียนมาเมื่อเดือน เม.ย. 2559 รัฐบาลของเธอมีส่วนร่วมอย่างจริงจังต่อการปฏิบัติหรือสนับสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายครั้ง แต่เธอกลับปฏิเสธที่จะพูดถึงปฏิบัติการที่ทารุณโหดร้ายของกองทัพเมียนมาต่อประชากรชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก ถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติ บางส่วนถูกสังหาร ถูกทรมานรวมถึงเผาทำลายบ้านเรือนอีกหลายร้อยหลัง และทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คนต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศ
“การที่เธอปฏิเสธถึงระดับความรุนแรงของการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาหลายแสนคนซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ในบังกลาเทศหรืออีกหลายแสนคนซึ่งยังคงอยู่ในรัฐยะไข่ หากไม่มีการยอมรับว่าได้เกิดอาชญากรรมร้ายแรงต่อชุมชนเหล่านี้ เราย่อมไม่มีโอกาสเห็นรัฐบาลดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองพวกเขาจากความทารุณโหดร้ายในอนาคต” เขากล่าว
บีบีซีไทย - BBC Thai
..
2009: Amnesty International awards #Myanmar’s Aung San Suu Kyi its highest honour. “This courageous woman - the Ambassador of Conscience of each one of us.”— Nick Beake (@Beaking_News) November 12, 2018
2018: @amnesty withdraws award. “You no longer represent a symbol of hope, courage & the undying defence of human rights.” pic.twitter.com/4ASRdBfo8I
Amnesty awards Aung San Suu Kyi
https://www.youtube.com/watch?v=VH0u-8v76DY