วันศุกร์, พฤศจิกายน 09, 2561

เตรียมตัวเลือกตั้ง นายวิษณุ เครืองาม แถลงสด!! การเตรียมการของรัฐบาลในการเลือกตั้ง 2562




https://www.facebook.com/tnamcot/videos/344985689601867/

...

8 พ.ย. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงการเตรียมการของคณะรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า ยังคงยืนยันว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่ในทางปฏิบัตินั้นวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ กกต. จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้หลังจากที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) มีผลบังคับในวันที่ 11 ธ.ค. นี้ ซึ่งหลังจากจะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง และเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีการแล้ว กกต. จะต้องออกประกาศวันเลือกตั้ง วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง และประกาศรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งทุกอย่างได้เตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว

วิษณุ กล่าวต่อว่า การปลดล็อกทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 ล็อกคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และล็อกต่างๆ ภายในกฎหมายการเลือกตั้ง จะถูกปลดในช่วงเวลาหลังจากที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง

ช่วงเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ยังมีอำนาจเต็มไม่จำเป็นต้องกลายสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการณ์

วิษณุ ระบุด้วยว่า มีการคาดการณ์ว่า สถานภาพของรัฐบาลต่อจากนี้จะกลายเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการณ์นั้น ถือเป็นการเข้าใจผิด เพราะการเป็นรัฐบาลรักษาการณ์จะเกิดขึ้นได้ด้วย 4 เหตุผลตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้คือ 1.เมื่อนายกรัฐมนตรีสิ้นสภาพลง เช่น เสียชีวิต ลาออก หรือถูกถอดถอน ในทางกฎหมายเมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากอำนาจหน้าที่ คณะรัฐมนตรีก็พ้นจากอำนาจหน้าที่ตามไปด้วย 2.คณะรัฐมนตรีพร้อมใจกันลาออก 3.กรณีที่มีการยุบสภา 4.กรณีรัฐบาลอยู่มาจนครบวาระ 4 ปี คณะรัฐมนตรีก็จะสิ้นสุดลง

“แต่ในกรณีของรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเข้าสู่โหมด หรือช่วงเวลาเลือกตั้ง จนแม้เลือกตั้งเสร็จผ่านพ้นไปแล้ว คณะรัฐมนตรีนี้ก็ยังไม่ใช่คณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ ตรงกันข้ามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล กลับเขียนไว้ด้วยซ้ำว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงเป็นรัฐมนตรีต่อไปจนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณรับหน้าที่ ซึ่งหมายความว่าจะต้องอยู่ยาวไป และไม่ใช่ยาวแบบรักษาการณ์ แต่ยาวแบบมีอำนาจเต็ม เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังเลือกตั้ง เข้าถวายสัตย์ปฎิญาณ ครม.ชุดนี้ และ คสช. ก็จะสิ้นสุดลงพร้อมกันในวันเดียวกันกับที่ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่” วิษณุ กล่าว

ในช่วงตอบคำถามสื่อมวลชนมีผู้สื่อข่าวรายหนึ่งถามว่า ขออนุญาตถามเรื่องพิธีบรมราชาภิเษกได้หรือไม่ วิษณุ ตอบว่า ไม่ได้ เพราะไม่รู้ และทุกวันนี้ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้แล้ว นายกรัฐมนตรีเคยเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแต่ก็ไม่ได้พูดอีกแล้ว

ขณะที่ผู้สื่อข่าวอีกรายถามว่า ในกรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรค พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า การถูกเสนอชื่อไม่ได้แปลว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางการเมือง ในการเลือกตั้ง แต่หากมีการเสนอชื่อขึ้นมาจริงๆ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องว่างตัวเป็นกลาง ไม่ใช่อำนาจหน้าที่เอื้อให้เกิดประโยชน์ในทางการเมือง


ทามไลน์การเลือกตั้ง ส.ส. 62 เริ่มต้น ธ.ค. 61 สิ้นสุด มิ.ย. 62

11 ธ.ค. 2561 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้

-จากนั้น ครม. ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้า

-เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว กกต. จะออกประกาศวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และจำนวน ส.ส. เขต ภายใน 5 วันนับจากประกาศ พ.ร.ฏให้มีการเลือกตั้ง (คาดว่า กระบวนการนี้จะแล้วเสร็จวันที่ 5 ม.ค. 2562) และหลังจากมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง คสช. จะปลดล็อกทางการเมืองให้พรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

16- 27 ธ.ค. ช่วงเวลาในการคัดเลือก ส.ว. ในส่วนของ กกต.

28 ธ.ค. เป็นวันสุดท้ายที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะรับร่าง พ.ร.บ. ต่างๆ เข้าสู่การพิจารณา

2 ม.ค. 2562 วันสุดท้ายที่ กกต. จะต้องส่งรายชื่อ 200 รายชื่อ ให้ คสช. คัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ส.ว. ให้เหลือ 50 คน และอีก 50 คน เป็นรายชื่อสำรอง

ช่วงเดือน ม.ค. จะมีการเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ พรรคการเมืองจะต้องยื่นรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับ กกต.

9 ก.พ. เป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ตั้งขึ้นโดย คสช. สามารถส่งรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบมีสิทธิเป็น ส.ว. ทั้งหมด 400 รายชื่อ ให้ คสช. คัดให้เหลือ 194 คน สำรอง 50

15 ก.พ. วันสุดท้ายที่ สนช. จะหยุดพิจารณากฎหมาย แต่ยังคงปฎิบัติหน้าที่อื่นๆ ต่อไป

24 ก.พ. เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นหน้าที่ และการเลือกตั้งในต่างประเทศ กกต. จะเป็นผู้กำหนด

ช่วงเดือน มี.ค. จะเป็นช่วงเวลาที่ กกต. ดำเนินการนับคะแนนตรวจสอบการเลือกตั้ง ตรวจสอบข้อร้องเรียกต่าง หากจะต้องมีการเลือกใหม่ เลือกตั้งซ่อมก็จะดำเนินการในเดือนนี้

24 เม.ย. จะเป็นวันสุดท้ายที่ กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ (60 วันนับจากการเลือกตั้ง)

27 เม.ย. วันสุดท้ายที่ คสช. จะพิจารณารายชื่อ ส.ว. ให้ครบ 250 คน และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

ช่วงเดือน พ.ค. ภายใน 15 วันนับจากมีการประกาศรายชื่อ ส.ส. และมีการโปรดเกล้า ส.ว. แล้ว รัฐบาลชุดปัจุบันจะกราบบังคับทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมการรัฐสภาครั้งแรก โดย สนช. จะสิ้นสุดลง 1 วันก่อนวันเสด็จเปิดประชุมรัฐสภา

-หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเปิดารประชุมรัฐสภา ส.ส. จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ว. จะเลือกประธานวุฒิสภา จากนั้นจะมีการโปรดเกล้าแต่งตั้ง จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่จะนัดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

-เมื่อเลือกได้แล้วจะมีการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อมีนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเลือกทีมคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 36 คน รวมตัวนายกรัฐมนตรีด้วย จากนั้นให้มีการทูลเกล้าถวายรายชื่อ

-เมื่อทรงโปรดเกล้าแล้ว ถือว่ามีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งในวันที่ถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบัน และ คสช. จะสิ้นสุดลง

ช่วงเดือน มิ.ย. ภายใน 15 นับแต่วันถวายสัตย์ปฏิญาณคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถือว่ามีอำนาจเต็มในการบริหารราชการเเผ่นดิน

ที่มา ประชาไท

โรดแมปเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 วิษณุปัดตอบเรื่องพีธีบรมราชาภิเษก ย้ำไม่มีใครพูดเรื่องนี้แล้ว