วันเสาร์, ตุลาคม 15, 2559

โฆษกกรมสุขภาพจิตชี้สังคมไทยอยู่ในภาวะโศกเศร้า เตือนคนใกล้ชิดเฝ้าสังเกตอาการคนสูงวัยและผู้ป่วยเรื้อรัง ส่วนหากมีเหตุทำให้ไม่สบายใจ ควรตั้งสติและแก้ปัญหาด้วยความละมุนละม่อม





ที่มา FB

บีบีซีไทย - BBC Thai

โฆษกกรมสุขภาพจิตชี้สังคมไทยอยู่ในภาวะโศกเศร้า เตือนคนใกล้ชิดเฝ้าสังเกตอาการคนสูงวัยและผู้ป่วยเรื้อรัง ส่วนหากมีเหตุทำให้ไม่สบายใจ ควรตั้งสติและแก้ปัญหาด้วยความละมุนละม่อม

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับบีบีซีไทยถึงสภาวะจิตใจของคนไทยในช่วงที่มีการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ชี้ว่าขณะนี้คนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะสูญเสียและโศกเศร้า เนื่องจากพวกเขามีความผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมาตั้งแต่จำความได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่ผ่านหลายเหตุการณ์มาตลอด 70 ปี ซึ่งปรากฎการณ์นี้อาจต้องใช้เวลาในการทำใจและรับมือกับความจริง ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติที่ไม่สามารถทำได้ในทันที

นพ.อภิชาติ ระบุด้วยว่า ในส่วนของผู้ที่มีปัญหาโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจหรือความดันโลหิต ภาวะซึมเศร้านี้อาจทำให้ผู้ป่วยละเลยการทานอาหารและยาซึ่งทำให้อาการป่วยกำเริบได้ โดยทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น ลูกหลานและผู้ใกล้ชิดควรให้การดูแลเป็นพิเศษ ควรเข้าไปอยู่เป็นเพื่อนเพื่อคอยรับฟัง แสดงความเห็นอกเห็นใจ แสดงให้เห็นว่าเป็นภาวะที่สูญเสียร่วมกัน หรือถ้ามีอาการรุนแรงและมีความไม่แน่ใจสามารถโทรปรึกษาที่ 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต หรือปรึกษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล

ในส่วนของเด็กเล็กที่อาจไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมสังคมมีความโศกเศร้าและสูญเสียถึงกับร้องไห้ และเป็นทุกข์กันขนาดนี้ นพ.อภิชาติ ระบุว่าผู้ใหญ่ก็ต้องค่อย ๆ อธิบายและให้เด็กรู้จักว่าสถานการณ์ตอนนี้คืออะไรเพื่อให้พวกเขาปรับตัวในการตอบสนองได้อย่างถูกต้อง

โฆษกกรมสุขภาพจิต ยังระบุถึงกรณีที่ประชาชนอาจเกิดความไม่สบายใจจากกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่มาจากบุคคลหรือปัจจัยอื่น ๆ ว่าหลักสำคัญที่สุดคือการตั้งสติก่อน และอาจใช้วิธีการเตือนกันด้วยความละมุนละม่อม มีความเอื้ออาทรต่อกัน เพราะอีกฝ่ายอาจจะกระทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ “ดูไม่โอเค มีความเสี่ยง” ก็ควรจะแจ้งกับหน่วยงานทางราชการให้เข้ามาดูแล เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือโรงพยาบาล เป็นต้น

นพ.อภิชาติ ระบุว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสังคมในเวลานี้คือการพยายามแปรความโศกเศร้าให้เป็นพลังในการทำกิจกรรมที่ดี หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น กิจกรรมทางศาสนา หรือเข้าร่วมในโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ “พระองค์ท่านคงจะรู้สึกมีความสุขถ้าคนไทยที่รักพระองค์ท่านคุมสติ ควบคุมตัวเองได้ และแปรพลังความเศร้าความโศกต่าง ๆ ออกมาเป็นพลังด้านบวก ออกมาเป็นกิจกรรมที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า” นพ.อภิชาติ กล่าว

.....

โลกสีหม่น มองไปทางไหนก็มีแต่ขาวดำ. คนบางคนเศร้าก็เดินตลาดนัด บางคนก็ดูทีวีรายการคลายเครียด บางคนเล่นเฟสก็เจอแต่สีขาวดำอีก. ขอขอบคุณ BBC ที่ทำให้ชีวิตไม่ขาดสีสัน
ปล.คนเราแสดงออกถึงความเศร้าต่างกัน

ความเห็นหนึ่งจาก FB