วันอาทิตย์, ตุลาคม 09, 2559

ดาร์กไซด์ ของคำว่า “คนดี”





ดาร์กไซด์ ของคำว่า “คนดี”

วันนี้ หลังจากเสร็จงาน 6 ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ ผมก็พากระติ๊บกับแดนไปทานข้าวที่ร้านไดอะล็อค แล้วกระติ๊บก็ถามขึ้นว่า

“คุณครูสังคม ถามก่อนปิดเทอมว่า ระหว่าง “คนดีที่บริหารประเทศประเทศไม่ค่อยเป็น” กับ “คนโกงที่มีผลงาน” เราจะเลือกใคร?”

ผมจึงตอบว่า “เอายังงี้ พ่อรู้ว่า เราไม่เลือกคนโกงแน่ แต่ก่อนจะตอบข้อนี้ เราลองมาดูดาร์กไซด์ของคำว่า “คนดี” กันบ้าง”

ก่อนอื่น ติ๊บและแดนจำไว้นะลูก พ่ออยากลูกทำสิ่งที่ดี อยากให้ลูกทำความดี แต่พ่อขอให้ลูก “อย่าคิดว่าตนเองเป็นคนดี” หรืออยากจะเป็นคนดี โดยเด็ดขาด นะลูก

ทำไม? คำถามจากเด็กทั้งสองคน

เพราะคำว่า “คนดี” มีอันตรายอย่างยิ่ง 2 ประการ ทั้งสำหรับตัวเราเอง และคนอื่น

ประการแรก เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเผลอคิดว่า “เราเป็นคนดี” เรามักจะมีอคติลำเอียงเข้าข้างความคิดของตัวเราเอง เราจะคิดว่า ความคิดของเรานั่นดี นั่นถูก แล้วเราจะฟังคนอื่นน้อยลง

เพราะแทนที่เราจะคิดว่า นั่นเป็นความคิดของเรา เฉยๆ เรากลับเผลอคิดว่านั่นเป็นความคิดของ “คนดี” มันจึงน่าจะถูกต้องกว่าความคิดของคนทั่วๆ ไป

ประการที่สอง คำว่า “คนดี” มักนำไปสู่การมี “อภิสิทธิ์” เหนือคนอื่นๆ

“ยังไงอ่ะ พ่อ?” ติ๊บงง

เอาง่ายๆ หนูลองตัดคำว่า “คนดี” ออกจากประโยคที่ว่า “คนดีที่บริหารประเทศประเทศไม่ค่อยเป็น” ดูซิ มันจะเหลือแค่คำว่า ““คนที่บริหารประเทศประเทศไม่ค่อยเป็น” เฉยๆ แล้วเป็นไงอ่ะลูก?

“อืมม์ มันดูแย่ ไม่แพ้ คนโกงเลย” ติ๊บตอบ

“ใช่แล้วลูก ตรงประเด็นเลย มันแย่ไม่แพ้กัน แต่มันดูดีขึ้นเลยเมื่อเติมคำว่า “คนดี” เข้ามา 5555” ผมตอบ

“อืมม์ แล้วจริงๆ มันดีหรือแย่กันแน่? อ่ะพ่อ” ติ๊บถามต่อ

“แล้วคนดี “จริงๆ” ที่พบว่าตัวเขาเองบริหารประเทศไม่เป็น เขาควรทำอย่างไรล่ะลูก?” ผมถามบ้าง

“ถ้าเขาเป็นคนดีจริง เขาควรลาออก แล้วให้คนอื่นบริหารประเทศแทน” ติ๊บตอบ

“ถูกต้องแล้วลูก คำว่า “คนดีที่บริหารประเทศไม่เป็น” ไม่มีอยู่จริง หรอกลูก เพราะถ้าเขาดีจริง เขาจะไม่อยู่สร้างภาระให้กับประเทศหรอกจ๊ะ” ผมตอบ

“เข้าใจแล้วค่ะ/ครับ” เด็กๆ ตอบรับ

เพราะฉะนั้น พ่อขอเตือนลูกๆ ว่า ขอให้ลูกๆ ตั้งใจทำสิ่งที่ดี “แต่ลูกอย่าได้เผลอคิดว่าตนเองเป็นคนดีหรืออยากเป็นคนดีเป็นอันขาด”

เพราะคุณประโยชน์อันแท้จริงอยู่ที่คำว่า “ความดี” ไม่ใช่ “คนดี”

ปล. โพสต์นี้เป็นโพสต์ที่สะท้อนความคิดของครอบครัวเราเท่านั้น ไม่กล่าวล่วงหรือพาดพิงผู้อื่นที่คิดว่าตนเป็น “คนดี” เพราะเขาอาจมีเหตุผลอื่นที่แตกต่างไปจากเรา


Decharut Sukkumnoed