ที่มา เวปครูบ้านนอก
“กับดักรายได้ปานกลาง”…
หรือภาวะที่สังคมหนึ่งจากเดิมเคยมีรายได้จากอาชีพประเภท “ใช้แรงงานมาก” กระทั่งในยุคต่อมา ประชากรโดยรวมในสังคมนั้น มีการศึกษาที่ดีขึ้น พร้อมกับอัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทว่าศักยภาพประชากรยังไม่อาจก้าวไปสู่ขั้น “สังคมนวัตกรรม” ที่ใช้ความรู้และทักษะขั้นสูง ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถ “ลดตัว” ลงไปแข่งขันกับสังคมที่อยู่ระดับล่างที่ค่าแรงถูกได้อีกต่อไป
นี่คือสภาพที่ “ประเทศไทย” กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน!!!
ไม่นานนี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) จัดการประชุมนานาชาติ หัวข้อ “การยกระดับกำลังคนของไทย : ทางออกจากกับดักรายได้ปานกลาง” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ซึ่ง “น.ส.อกิโกะ ซากาโมโตะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะและการจ้างงาน องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) เปิดเผยผลการสำรวจผู้ประกอบการในอาเซียนจำนวน 4,076 ราย และนักศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆในอาเซียน จำนวน 2,747 ราย พบว่า ในอาเซียน “แรงงานหน้าใหม่” กลับมีทักษะไม่ต่างจาก “แรงงานใกล้เกษียณ”
ผู้เชี่ยวชาญจาก ILO กล่าวอีกว่า ในยุคการทำงานที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง กลุ่มแรงงานผู้หญิงและกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หากไม่มีการพัฒนาทักษะ นอกจากนี้ จากการสำรวจแรงงานรุ่นใหม่ อายุ 18-24 ปีของไทย มีความสนใจงานด้านข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร การจัดการการเงิน และด้านศิลปะบันเทิง
“โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะสร้างการเรียนรู้อย่างไรให้สอดรับกับทักษะที่ตลาดโลกต้องการ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง แต่ทักษะของบัณฑิตและผู้จบการศึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยและกัมพูชา กลับสวนทาง” น.ส.อกิโกะ กล่าว
แล้วอะไรคือ “ทักษะแรงงานที่โลกต้องการ” ในยุคอนาคต?...“นายแอนเดรียส ชไลเชอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) ระบุว่า แนวโน้มตลาดแรงงานโลกจะให้ความสำคัญกับแรงงานที่มี “ทักษะชีวิต” ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การรู้จักคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร และการประสานความร่วมมือ รวมถึงลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพ ได้แก่ ความไม่ย่อท้อ ความสามารถในการปรับตัว ความใคร่รู้ เป็นต้น
มากกว่าแค่ “วิชาการ” ที่ร่ำเรียนในสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว!!!
สอดคล้องกับที่ “ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงผลงานวิจัยที่ทำร่วมกับ สสค. ในการศึกษาตลาดแรงงานและผู้ประกอบการภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) นำร่องใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตราด และภูเก็ต พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของลูกจ้างเรียงตามลำดับ คือ “ทำงานเป็น” หรือมีทักษะทางอาชีพตรงกับที่นายจ้างต้องการ มาเป็นอันดับ 1 ตามด้วย “ความประพฤติดี” เช่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความซื่อสัตย์ เป็นอันดับ 2 ส่วน “วุฒิการศึกษา” จากสถาบันต่างๆ อยู่ในอันดับ 3
ด้าน “ม.ล.ปุณฑริก สมิติ” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการมีงานทำ ซึ่งสาระสำคัญ คือ นักเรียน ม.3 หรือ ม.6 ที่กำลังจะจบการศึกษา ต้องเข้ารับการ“ทดสอบความถนัด” เพื่อให้ทราบว่าแต่ละคนมีทักษะด้านใด เป็นแนวทางสำหรับนำไปเลือกศึกษาต่อหรือทำงานในอนาคตต่อไป รวมถึงให้ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม แจ้งความต้องการจ้างแรงงานมายังกระทรวงแรงงาน ทั้งจำนวนที่ต้องการ เพศ อายุ ระดับการศึกษา และทักษะที่ขาด ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำข้อมูลมาวางแผน “ผลิตกำลังคน” รองรับตลาดแรงงานต่อไป นอกจากนี้ปัจจุบันภาครัฐยังส่งเสริมการศึกษาแบบ “หลักสูตรทวิภาคี” ให้แรงงานรุ่นใหม่ที่ยังศึกษาอยู่เข้าฝึกงานเรียนรู้งานกับองค์กร โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจะได้...
“สิทธิประโยชน์ด้านภาษี” จากรัฐ!!!
นอกจากแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการแล้ว “ภาคเกษตร” ก็ต้องไม่ละเลย...“ดร.ไมค์ วาย เค กู” อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติผิงตุง ไต้หวัน ยกตัวอย่างไต้หวันที่ในอดีตเป็นประเทศเกษตรกรรมแบบเข้มข้น มาเป็นประเทศที่ทำเกษตรแบบ“ไฮเทค” ทั้งการควบคุมผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ ภายใต้กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาชนบท รวมถึงการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
“แม้จีดีพีภาคเกษตรจะลดลงจากร้อยละ 30 ในปี 2493 เป็นร้อยละ 2 ในปี 2558 และจำนวนเกษตรกรลดลงจากร้อยละ 50 ในปี 2493 เหลือร้อยละ 6-10 ในปี 2558 แต่ก็ทำให้เกษตรกรจำนวนดังกล่าวมีรายได้สูงขึ้นมาก เพราะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในงานเกษตรกรรม” ดร.ไมค์ วาย เค กู กล่าวทิ้งท้าย
ในอดีตเรามักสอนกันว่า “เรียนให้สูงๆ นะลูก โตขึ้นจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน” ส่งผลให้เกิดการดิ้นรนเพื่อส่งบุตรหลานไปเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพราะมองว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา แค่ “มีใบปริญญาประดับฝาบ้าน” ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว
ทว่า...ในปัจจุบันและอนาคตกระแสโลกได้เปลี่ยนไป เช่นที่ เครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21(Partnership For 21st Century Skills) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มธุรกิจชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและของโลก อาทิ แอปเปิ้ล(Apple), ไมโครซอฟท์(Microsoft) และดิสนีย์(Disney) เป็นต้น ร่วมกับองค์กรด้านการศึกษาอีกหลายแห่ง กล่าวถึงทักษะสำคัญของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ไว้ ดังนี้...
“3R” ได้แก่ การอ่าน (“R”eading), การเขียน(w“R”iting) และการคำนวณ(a“R”ithemetic) กับ “7C” ได้แก่ มีวิจารณญาณ(“C”ritical Thinking), คิดอย่างสร้างสรรค์(“C”reativity), เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม(“C”ross-cultural Understanding), ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ (“C”ollaboration), ใช้สื่อเป็นอย่างรู้เท่าทัน(“C”ommunications-Media Literacy), ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็น(“C”omputing and ICT Literacy) และมีทักษะทางวิชาชีพรวมถึงการเรียนรู้(“C”areer andLearning Skills)
ทักษะทั้งหมดนี้ มิใช่แค่การเรียนในรั้วสถาบันการศึกษา แต่ต้องสร้างให้เป็นวัฒนธรรม “เรียนรู้ตลอดชีวิต” ตั้งแต่เกิดจนตาย...ดังนั้นสังคมไทยทุกภาคส่วน พร้อมปรับตัวหรือยัง!?!?!
SCOOP@NAEWNA.COM
ขอบคุณที่มาภาพและบทความจาก แนวหน้า วันที่ 15 สิงหาคม 2559