วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 06, 2559

ปาฐกถา ธงชัย วินิจจะกูล: คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย (6 ตุลาคม 2559 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีคลิป





ปาฐกถา ธงชัย วินิจจะกูล: คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

Thu, 2016-10-06 21:06

ที่มา ประชาไท

6 ตุลาคม 2559 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

40 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ไม่เคยมีแม้แต่วันเดียวที่ผมไม่นึกถึง 6 ตุลา หกตุลาแวะเวียนมาในห้วงคิดคำนึง บางครั้งเป็นภาพ เสียง ชื่อ หน้าตาคน บางครั้งเป็นชีวิตในคุก บ่อยครั้งเป็นแค่ตัวอักษร 6 ตุลาปรากฏภายในใจเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าผมหมกมุ่นหัวปักหัวปำ จ่อมจมความโกรธเกลียดกลัวต้องการแก้แค้น เคยมีผู้ใหญ่กล่าวต่อหน้าสาธารณชน 40-50 คนว่า เพราะผมมัวหมกมุ่นเรื่อง 6 ตุลาจึงเอาดีในชีวิตไม่ได้ ผมจึงได้แต่ตอบว่าเพราะ 6 ตุลาผมจึงเอาดีในชีวิตได้

คนเราจัดการกับอดีตที่เจ็บปวดไปต่างๆ กัน เชื่อได้ว่าคนเป็นร้อยเป็นพันก็มีวิธีเป็นร้อยเป็นพันอย่าง แต่ผมพอกล่าวแทนเพื่อนที่ผ่านเหตุการณ์ด้วยกันได้ว่า เราทิ้งความโกรธ เกลียด ไปตั้งนานแล้ว ถ้าเรายังมัวหมกมุ่นความคิดแก้แค้นเราไม่มีทางยืนอยู่อย่างทุกวันนี้ได้ สำหรับผมมันนานมากจนลืมไปแล้ว แต่แรงบันดาลใจจาก 6 ตุลายังมีอยู่ ผมขออภัย ผมไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ได้โดยไม่มีอะไรมาจุกในคอ ไม่ใช่เพราะหมกมุ่น โกรธเกลียดใดๆ แต่แรงบันดาลใจต่างหากที่ทำให้เป็นตัวเราทุกวันนี้

เมื่อ 20 ปีก่อนได้พบคนหลายคนที่บอกว่าเขาดีใจมากที่เรามีโอกาสในงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาได้พูดกันอย่างเปิดเผยแม้ยังไม่เต็มปากเต็มคำ แต่ก็ยังพอพูดได้ว่าก็เราเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วทำไมล่ะ ไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องฆ่ากันขนาดนั้นเลย เช้าวันนี้ได้พบเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งอย่างน้อย 2 คนบอกว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่เขากลับมาธรรมศาสตร์อีกครั้งเพื่อมารำลึกถึงเหตุการณ์ การรำลึกถึงเหตุการณ์ที่คนมักถากถางว่าเป็นงานเชงเม้ง ผมกลับเห็นว่าสังคมไทยควรทำให้มากขึ้น เพราะเป็นการมาให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง บอกกับตัวเองว่าเราต้องการเก็บรักษาแรงบันดาลใจนั้นให้อยู่กับเราตลอดไป คงไม่จำเป็นต้องพูดอีกแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นวันนั้น ความทรงจำและความหมายของ 6 ตุลากลับมีได้หลายแบบพร้อมกัน ที่ผมเขียน พูด ก็ไม่จำเป็นที่ท่านต้องจดจำให้ความหมายเหมือนกัน แม้ผมเองก็มีความทรงจำ 6 ตุลามากกว่าหนึ่งแบบพร้อมๆ กัน ผมคิดว่าปกติ ไม่แปลกประหลาด

เราเป็นซ้าย เป็นแรดิคอล (radical) ในตอนนั้น ตอนนั้นซึ่งอายุเพียงยี่สิบ มันเป็นความปรารถนาของคนอายุยี่สิบ ไม่มีใครปฏิเสธเหตุกาณณ์เหล่านั้น แต่ก็มีความหมายอีกมากมายต้องเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมมี 2 ลักษณะ 2 ประเด็นที่สังคมจดจำ 6 ตุลา สังคมไทยพูดมากขึ้นในสองลักษณะนี้ แม้มีออีกมากที่ไม่พูดถึง 2 ลักษณะดังกล่าว คือ ความโหดร้าย และ ความเงียบ

นับแต่ปี 2539 เรื่องของเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่เงียบอีกต่อไป มีการกล่าวขานกันกว้างขวางว่าเป็นความรุนแรงโหดเหี้ยมไม่ควรให้เกิดอีก ความรับรู้แค่นี้มีประโยชน์ มีคุณต่อสังคมไทย แต่น่าเสียดายที่สังคมไม่สามารถพูดได้เลยไปกว่าเรื่องนี้ สภาพการณ์แม้ไม่เงียบแต่เป็นได้แค่เสียงเพียงแผ่วๆ ที่หลอกหลอนสังคมเป็นนระยะว่ามีเรื่องอีกมากที่ต้องสะสาง เรายังไม่กล้าพูดว่าใครทำ ทำเพราะอะไร เพราะทุกสถาบันไม่มีการยกเว้นล้วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หฤโหดนั้นทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ 6 ตุลาจึงยังคงเป็นเรื่องที่ “ละเอียดอ่อน” ผมคิดว่าหลัง 20 ปี 6 ตุลา มันไม่เงียบอีกต่อไป แต่อยู่ในภาวะพูดได้จำกัด ภาวะเช่นนี้จึงเรียกว่า “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” อิหลักอิเหลื่อ กึ่งเงียบกึ่งออกเสียง “โหดร้าย อย่าให้เกิดขึ้นอีก ๆๆ” มากกว่านี้ห้ามพูด

มันสะท้อนถึงสังคมไทย คนไทย รัฐไทย นิติธรรมของไทยอย่างไรบ้าง

“ความโหดร้าย” บอกระดับความสามารถและวุฒิภาวะของสังคมไทยในการจัดการความขัดแย้งทางความคิดและการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชน เมื่อไม่ยอมเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อย่างจริงจัง การใช้อำนาจอย่างผิด อุ้ม สูญหาย ให้กำลังปราบปรามจึงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ความสามารถจำกัดในการจัดการความขัดแย้งยังรวมถึงประชาชนด้วยกันเองด้วย ผมขอนอกเรื่องนิดหน่อยว่า รายการต่อจากนี้เป็นการแสดงของวงคาราวาน เป็นแบบฝึกหัดเล็กๆ ของพวกเราว่า เราจะมีอารยธรรม มีความเป็นผู้ใหญ่พอหรือยัง จะจัดการกับความขัดแย้งของคนที่คิดต่างได้ดีหรือเลวขนาดไหน ผมทราบความจริงว่าเพื่อนฝูงหลายคนคิดต่างจากผมมากในช่วง 10 ปีหลัง เพื่อนเหล่านั้นจำเป็นต้องโห่ฮามากระทืบผมไหม จำเป็นต้องปะทะกับผมซึ่งหน้าตรงนี้ไหม เขาไม่ทำ เราก็ควรมีวุฒิภาวะจัดการความขัดแย้ง ความไม่พอใจอย่างอารยะ มีวุฒิภาวะหน่อย คุณไม่อยากฟังก็ลุกออกไป ใครอยากฟังก็นั่งฟังกันต่อไป ไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้วิธีการป่าเถื่อน เด็กๆ ไร้วุฒิภาวะ มีวิธีจัดการมากมาย บางคนอาจไม่เห็นด้วยแต่นั่งฟังด้วยก็ได้

สำหรับ “ความเงียบ” บอกถึงวัฒนธรรมสังคมไทยในการรับมือและเผชิญหน้ากับความผิดพลาดและอัปลักษณ์ที่เกิดขึ้น โดยหมกและเก็บความผิดพลาดที่ผ่านมาเอาไว้ ภาษาฝรั่งมีสำนวนว่า “กวาดไว้ใต้พรม” 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ใหญ่โต เป็น “ช้างตัวเบ่อเริ่มที่เอาไปซุกไว้ใต้พรมแล้วทำเป็นมองไม่เห็น”

ความโหดร้ายไม่ใช่หมายถึงเพียงอาวุธที่ใช้สังหารเพื่อนเรา แต่ที่มันอาจเสียดแทงหัวใจมากที่สุดคือ เสียงหัวเราะเยาะเย้ยถากถางขอวิทยุยานเกราะ และคนที่ปรีดาปราโมทย์ดูการแขวนคอที่สนามหลวง มันบอกถึงความสำนึกของคนที่มีต่อคนด้วยกัน วัฒนธรรมไทยเห็นผู้อื่นเป็นคนมากน้อยตามสถานะเป็นชั้นๆ ชั้นต่ำที่สุดคือศัตรู ไม่เหลือความเป็นคนอยู่เลย เราจึงมองไม่เห็นว่าคนเหล่านั้นก็เป็นมนุษย์เช่นกับเรา เพราะมันอยู่ต่ำสุด เป็นปีศาจ เป็นญวณ

ความเงียบ ความโหดร้าย และความเงียบอีกครั้ง มันหมายถึงความยุติธรรมที่ไม่ทำงาน งดใช้สำหรับอาชญากรรมสำหรับคนมีอำนาจ ยิ่งสูงยิ่งมี “อภิสิทธิ์ปลอดความผิด” ความเงียบสะท้อนอภิสิทธิ์ปลอดความผิดซึ่งมีทั่วไปในสังคมไทย ที่แย่ยิ่งกว่าคือ อภิสิทธิ์ปลอดความผิด เป็นสิ่งปกติในสังคมไทย (ผมจะอธิบายในการพูดวันที่ 8 ต.ค.นี้) ประเด็นสำคัญคือ นิติรัฐและนิติธรรมแบบไทยๆ ไม่เคยอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคของบุคคลในทางกฎหมายเลย เพราะไม่เคยมองคนเสมอภาคกันเลย ต่อให้เขียนอย่างนี้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางวัฒนธรรมไม่เคยเห็นแบบนั้นแม้จะอยู่ในกฎหมายเดียวกัน rule of law เป็นแบบอุปถัมภ์ ช่วงชั้นสูงต่ำทางสังคมซึ่งปกติจะสะท้อนช่วงชั้นสูงต่ำของอำนาจ ย่อมหมายถึงชั้นของอภิสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งๆ ที่ได้รับทางกฎหมายด้วยเช่นกัน เช่น ปลอดควาผิดเมื่อผิดกฎจราจร , ปลอดความผิดเมื่อทุจริต หรือกระทั่งปลอดความผิดเมื่อประกอบอาชญากรรม หากมีสถานะสูงมีอำนาจพอ อันนี้ไม่ใช่ข้อกล่าวหาสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ใช่ความเห็น นี่เป็นการวิเคราะห์ตีความและมีหลักฐานยืนยัน วันที่ 8 ต.ค.นี้ค่อยว่ากัน

อภิสิทธิ์ปลอดความผิดไม่ใช่ภาวะยกเว้นแต่เป็นภาวะปกติในกฎหมายของไทย เป็นส่วนหนึ่งของการก่อร่างสร้างตัวของรัฐและการสร้างชาติไทยสมัยใหม่ในร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าไม่มีอภิสิทธิ์ปลอดความผิด รัฐหรือการสร้างชาติไทยก็ไม่เป็นอย่างปัจจุบัน แม้กระทั่งรัชสมัยปัจจุบัน อภิสิทธิ์ปลอดความผิดหรือการลอยนวลพ้นผิดก็เป็นองค์ประกอบสำคัญตั้งแต่เริ่มรัชสมัย กลางรัชสมัย และปลายรัชสมัย คิดเอาเองว่าคือเหตุการณ์อะไรบ้าง

ประเด็นต่อมา ความเป็นมนุษย์ จำนวนผู้เสียชีวิต 6 ตุลาอาจไม่มากนักเทียบกับเหตุการณ์ 14 ต.ค.16, พ.ค.35 หรือ เม.ย.-พ.ค.53 แต่ความโหดร้ายหลายต่อหลายชั้นที่กระทำต่อเหยื่อสะท้อนความอำมหิตอย่างเหลือเชื่อ มันจึงเป็นบาดแผลที่จะติดกับสังคมไทยไปจนกว่าจะชำระสะสาง แม้จะพยายามปิดไว้ก็ไม่มีทางสำเร็จ ความโหดร้ายหลายชั้นเหลือเชื่อว่ามนุษย์จะกระทำต่อกันขนาดนั้นเกิดขึ้นเพราะสำหรับคนไทยตอนนั้น ศัตรูไม่ใช่คนแต่เป็นอมนุษย์ การสังหารด้วยอาวุธปืนจึงไม่เพียงพอ ต้องมีการตอกอก แขวนคอ ลากร่างไปทั่ว เผา หรือกระทั่งฉี่รดมันซะ การกระทำอุจาดต่อร่างผู้เสียชีวิตเช่นนี้ แสดงว่าพวกเขาจินตนาการว่าพวกเราเป็นอมุนษย์ที่สมควรโดนความโหดร้ายชั้นที่สอง ท่ามกลางความโหดเหี้ยมชั้นที่สาม คือ เสียงหัวเราะยินดีต่อการกระทำเหล่านั้น ถูกยิงตายเพียงเท่านั้นก็โหดพอแล้ว

ความโหดร้ายเกิดขึ้นกับ “พวกเผาบ้านเผาเมือง” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ด้วย มันไม่ควรเป็นเหตุ ต่อให้เขาเผาจริง ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อทึกทึกใส่ร้ายอย่างไร้มนุษยธรรมก็เถอะ ไม่ควรเป็นเหตุให้เขาถูกทำลายชีวิตราวกับไม่เป็นมุนษย์ มันอาจไม่มีการหัวเราะเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ความโหดร้ายซ้ำสองคือ ผู้คนในสังคมจำนวนมากเห็นดีเห็นงามกับการกระทำเหล่านั้น แต่ผู้กระทำเหล่านั้นหารู้ไม่ว่า การกระทำของเขา การหัวเราะ การสะใจ การเห็นดีเห็นงาม กับการฆ่าคนอื่นเพียงเพราะถูกกล่าวหาว่าเผาบ้านเผาเมือง นอกจากจะทำลายความเป็นมนุษย์ของเหยื่อแล้วยังเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม สังคมไทย เพื่อนรุ่นผมรวมถึงตัวผมด้วย เราใจร้ายใจดำ ผ่านเวลาถึง 20 ปีถึงไปบอกพ่อแม่ของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ว่าลูกเขาตายแล้ว หลายท่านคงได้อ่านสิ่งที่ผมเขียน ผมกล้าเขียนต่อเมื่อคุณพ่อคุณจารุพงษ์เสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่ผมพร่ำพูดว่า ความจริงเป็นสิ่งสำคัญ ความเงียบเป็นเรื่องต้องสู้ แต่ลึกๆ ในใจบางกรณีบางมุมความจริงโหดร้าย ความเงียบคือความหวัง เราควรมีวุฒิภาวะตัดสินใจให้ถูกว่าเรื่องแบบไหนต้องการความยุติธรรม ทำลายความเงียบ เราเห็นใจปัจเจกชนซึ่งมีวิธีอยู่กับอดีตไปต่างๆ นานาสารพัดแบบ คนรุ่นผมใจดำที่ปล่อยให้ 25 ปีผ่านไปถึงบอกพ่อจารุพงศ์ว่าศพอยู่ไหน จบลงอย่างไร และเกือบ 40 ปีเราเพิ่งถึงรู้ว่าคนถูกแขวนคอมีมากกว่าคนเดียว รูปที่เราคุ้นว่ามีคนถูกเก้าอี้ฟาดนั่นก็ไม่ใช่วิชิตชัย คนมักเข้าใจผิด ผมรู้นานแล้วแต่ผมไม่รู้มาก่อนว่ามีคนถูกแขวนคอมากกว่า 2 คน แต่เมื่อไม่ถึงปีที่ผ่านมามีการค้นคว้าหาข้อมูล ขอบคุณคุณภัทรภร ภู่ทอง อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธ์ และอีกหลายคนที่ทำให้ทราบว่า มี 4 คนแน่ๆ ที่ถูกแขวนคอ มี 5 คนค่อนข้างแน่ ผมไม่อยากพูดถึงคนที่ 6 คนที่ 7 เพราะมีสิทธิจะไม่ใช่ อย่างน้อยมี 2 ใน 5 คนที่เราไม่รู้เลยว่าเขาคือใคร ศพอยู่ไหน รวมทั้งคนที่เป็นเหยื่อในภาพรูปเก้าอี้ฟาด เขาไม่ใช่นายปรีชา แซ่เฮีย เรายังไม่ทราบว่าคนนั้นคือใคร ศพอยู่ไหน แล้วแบบนี้เราใจดำไหม

ทำไมเราจึงต้องพยายามรู้จักผู้ถูกทำร้าย ไม่ใช่เพราะว่าการรู้รายละเอียดจะทำให้การวิเคราะห์การเมืองเปลี่ยนไป ภาพใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ความสำคัญของรายละเอียดอยู่ที่ ในเมื่อพวกเขาถูกกระทำย่ำยีขนาดนั้นได้เพราะทำให้ต่ำกว่ามนุษย์ เป็นอมนุษย์ การแสดงความเคารพต่อคนเหล่านั้นอย่างดีที่สุด ให้เกียรติต่อเขาอย่างมากที่สุดคือ การคืนความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขา การคืนความเป็นมนุษย์ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ การหาความยุติธรรม ต่อสู้ให้อภิสิทธิ์ปลอดความผิดยุติเสียที แต่การต่อสู้นี้ยากลำบาก พวกเราก็รู้ดี อาจกินเวลาเกินอายุของพวกเรา ที่สำคัญการต่อสู้ในเรื่องนั้นก็ควรต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้สังคมรู้จักเคารพและอย่าทำลายความเป็นมนุษย์เช่นนั้นอีก วิธีดีที่สุดคือ คืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ถูกทำร้ายในวันนั้นทีละคน เราจะทำได้อย่างไร เราท่านอยู่ในโลกปัจจุบัน เราอยากให้คนอื่นเคารพตัวเราอย่างไร เราก็คืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้เสียชีวิตแบบนั้นแหละ เรามีชื่อ มีสกุล มีครอบครัว มีพ่อแม่พี่น้อง มีหน้ามีตา เราต้องการให้คนอื่นเคารพเราอย่างปัจเจกชนคนหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร เช่นนั้นก็ควรคืนชื่อ สกุล หน้าตา ครอบครัว เรื่องราวของเขาเท่าที่เราจะสามารถหาได้เกี่ยวกับเขา คืนความเป็นปัจเจกชนให้กับเขา




(ฉายสไลด์และอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตทุกคน)

เราได้เริ่มโครงการสืบค้นแหล่งข้อมูล 6 ตุลาขึ้น จะสืบค้นข้อมูลใหม่ๆ เป้าหมายปีแรกคือทำข้อมูลเกี่ยวกับคนเสียชีวิตและครอบครัวของเขา จากนั้นจะมีการทำทะเบียนแหล่งข้อมูลรูปภาพว่าค้นคว้าได้ที่ไหนบ้าง, ทำเป็น digital archive บนอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนวิจัยแก่นักศึกษาที่ทำวิจัยเรื่องนี้ คนหลักที่ทำ คือ ภัทรภร ภู่ทอง, พวงทอง ภวัครพันธ์ โดยมี สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นหัวหน้าทีม ส่วนผมเป็นผู้ติดตามและปรึกษาทางไกล เข้าดูได้ที่เว็บไซต์ 6oct-photo.com อีเมล์ 6oct1976@gmail.com

อยากฝากถึงเพื่อนๆ รุ่นใกล้เกษียณหรือเพิ่งเกษียณ ถ้าใครอยากช่วยและพอมีเวลา เราต้องการอาสาสมัครตระเวนสืบสวนทีละราย เพื่อนฝูงถ้าเกษียณแล้วมีเวลาก็ขอติดต่อคุณภัทรภรและรับ assignment ยังเหลืออีกราว 30 คนที่ยังต้องตามหาครอบครัวเขา ปีที่ผ่านมาจากเดิมที่มี 2 ครอบครัวที่มาพูดในงานเป็นประจำ ตอนนี้เราได้เพิ่มเป็นประมาณ 10 ราย พวกเขาบอกตรงกันหมดว่า ไม่ต้องการแสดงตัวเพราะกลัวเดือดร้อน ปรากฎการณ์นี้ยืนยันว่า 6 ตุลาอยู่ในภาวะมืดมน พูดได้อย่างจำกัด ยังไม่ได้ช่วยให้เขาเกิดความสบายใจที่จะพูดถึงลูกหลานพี่น้องได้อย่างภาคภูมิใจ สังคมยอมรับว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะทุกคนรู้และแทบจะกล่าวด้วยคำเดียวกันว่า 6 ตุลาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ว่าความเข้าใจพวกเขาจะถูกต้อง ตรงกันไหม แต่เขารู้ว่ามีปัจจัยบางอย่างที่จะทำให้เขาเดือดร้อนได้ ไม่เคยมีคณะกรรมการญาติ 6 ตุลาและอาจไม่มีวันเกิดขึ้น

หลัก 6 ตุลามีเพียงช่วงสั้นๆ ที่ผมหวังว่าชัยชนะจะมาถึง ไม่กี่ปี เพื่อนเราหลายคนประสบความเจ็บปวดซ้ำสองหลังฝันของวัยหนุ่มสาวสลายในครั้งนั้น ถึงวันนี้ผมมั่นใจว่าส่วนใหญ่ที่ผ่านเหตุการณ์ฝันสลายครั้งใหญ่ๆ สองสามครั้งในวัยหนุ่มสาว เราไม่ได้มองอดีตอย่างสิ้นหวังอีกแล้ว ไม่ได้จมปลักกับความเกลียดเครียดแค้น เราเติบโตอย่างมีวุฒิภาวะ มั่นใจในสิ่งที่เราเป็น หลายคนยังใช้ชีวิตแบบที่ “40 ปียังไม่เข็ด” ถ้าเราปรารถนาจะอยู่บนเส้นทางชีวิตที่สมัครใจจะเป็นผู้กระทำในการทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ว่าในแบบสังคมนิยม ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบซ้าย ประชาธิปไตยแบบขวา หรืออื่นใด เราต้องมีความมุ่งมั่น ผมภูมิใจมากที่เพื่อนฝูงหลายคนยังยืนหยัดอยู่จนทุกวันนี้ ภูมิใจกับคนรุ่นนั้นที่ยังปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่มีความเสี่ยง มีความภาระ แต่ก็ยังมุ่งมั่นกล้าหาญที่ต้องการจะเป็นผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลังจำนวนมากในที่นี้ ก็กำลังสมัครใจที่จะเลือกชีวิตเช่นนี้แม้กระทั่งในบรรยากาศแบบเผด็จการที่เป็นอยู่ น้องๆ ทั้งหลายโปรดตระหนัก เราไม่มีการหลอกลวงขายฝันให้ความหวังสุ่มสี่สุ่มห้า ชีวิตชนิดนี้เสี่ยง ความขัดแย้งแหลมคมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคงบอกพวกเราพอแล้ว ให้พวกเรารู้อย่างเต็มอกว่ามันต้องมีความมุ่งมั่น ผมไม่รู้รุ่นผมหลายคนมาความมุ่งมั่นชนิดนั้นมาจากไหน มันเป็นเรื่องพิเศษของคนบางคนจำนวนหนึ่งที่สร้างมันขึ้นมาในใจของตัวเองด้วยวิธีการของคุณเอง ในการที่จะผลักดันให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ แต่ที่แน่ๆ คุณต้องมีความหวัง ผมขอพูดอะไรที่อาจดูเป็นศาสนา เป็นจิตนิยมหน่อยว่า คุณต้องมีศรัทธา ผมไม่มีศรัทธาในศาสนาสักอย่างแต่ผมมีศรัทธาในแบบของผม ศรัทธาเชื่อมั่นว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ โลกเปลี่ยนแปลงได้

10 ปีที่ผ่านมคงให้บทเรียนว่าความฝันต้องมาคู่กับความอดทน ความดื้อรั้นที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ถ้าสมัครใจใช้ชีวิตเช่นนี้ต้องรู้จัก สองอย่าง หนึ่ง เยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ สอง ต้องมีศัทรธาและความหวัง แม้ว่าในระยะสั้นหวังไม่ได้ หวังไม่ได้กระทั่งว่ารัฐบาลชุดนี้เมื่อไหร่จะหมดๆ ไปสักที แต่เราก็มีความหวังในเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมไทย มองด้านดีว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงได้และเปลี่ยนมาพอสมควร

เคยคิดไหมว่า เพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค.เขาคิดอะไรอยู่ในระหว่างที่ถูกล้อม ในระหว่างที่เขาช่วยตรึงไม่ให้ฝ่ายขวาบุกเข้ามา จำนวนมากเขาใช้ชีวิตอยู่หลายนาทีหรือเกือบชั่วโมงตรงนั้น เขาคิดอะไรอยู่ ผมไม่มีทางรู้ คนอื่นก็ด้วย เป็นการเดาเข้าข้างตัวเอง เคยคิดไหมว่าพวกเขาต้องมีความหวัง เขาต้องหวังว่าการตรึงอย่างนั้นคงช่วยเพื่อนๆ ที่อยู่ข้างหลังมีชีวิตรอด อาจซื้อเวลาพอให้เจรจากับหม่อมเสนีย์ได้ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าหม่อมหมดอำนาจไปแล้ว เราไม่เคยเจอเลย เขาต้องมีความหวังต่อสังคมไทย ต่อเพื่อนมนุษย์ว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ เขาหวังกับคนที่อยู่ข้างหลังทั้งระยะสั้นและยาวว่าจะต่อสู้ต่อไป เคยคิดไหมว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อาจาย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) ทุ่มเทชีวิตของคนอายุ 60 ปี ตะลอนๆ พูดเรื่อง 6 ตุลาสู้กับรัฐบาลทหารขณะนั้น คนสถานะแบบท่านไม่ต้องทำอะไรแบบนั้นก็ได้ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และหลายที่ยินดีรับท่านไปสอน แต่ท่านไปตะลอนพูดเรื่อง 6 ตุลา ผมเชื่อว่าท่านต้องมีความหวัง คนที่ไม่มีความหวัง ไม่มีศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ไม่ทำแบบนั้นหรอก มันทำไมได้ คนอย่างป๋วยและคนทั้งหลาย คนที่เสียชีวิตในวันนั้น คนเหล่านั้นยังยืนเด่นโดยท้าทายแม้กระทั่งนาทีสุดท้าย

เรื่องเหล่านี้คือเรื่องความยุติธรรม การจัดการกับอภิสิทธิ์ปลอดควมผิด การจัดการกับความขัดแย้งอย่างมีวุฒิภาวะ การมองคนอื่นเป็นมุนษย์และเคารพความเท่าเทียมคนอื่น เรื่องเหล่านี้เป็นภาระของคนทุกรุ่น ไม่ใช่ภาระของคนที่มาเช็งเม้งรำลึกตุลาเท่านั้น เราจัดงานนี้ไม่ได้มารวมญาติหรือมาแสดงความเศร้ารวมหมู่ เรามารำลึกเพื่อให้สังคมไทยตระหนักกับเรื่องเหล่านี้ที่กล่าวไป แม้คนรุ่นหลังไม่รู้จักเลยกับคนเสียชีวิต ไม่ได้ลิ้มรสความทุกข์ยากแบบนั้น แต่ภารกิจที่กล่าวมาเหล่านั้นต้องการคนรุ่นหลังทุกคน และหากยังมีความมุ่งมั่นเดี๋ยวคุณก็มีโอกาสได้เจอภาวะอย่างนั้น

ปีนี้น่ายินดีที่มีการจัดงานต่างๆ มากมาย มีคนกล่าวว่า คนรุ่นนี้ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน ผมหวังแต่ว่าเก้าอี้และสัญลักษณ์อะไรก็ตามจะไม่ทิ้งความหมายและสาระสำคัญดังที่กล่าวมา อย่าให้เป็นสัญลักษณ์ที่ว่างเปล่า คนรุ่นผมมีกรรม คิดถึง 6 ตุลาทีไรผมไม่เห็นเก้าอี้ แต่เห็นเหยื่อของเก้าอี้ เรารู้ว่าคนเหล่านั้นยังไม่ได้รับความุยติธรรม ขอได้โปรดคนรุ่นหลัง สัญลักษณ์อะไรก็ได้ เก้าอี้ก็ได้ อย่าหยุดต่อสู้จนกว่าสังคมไทยจะหมดอภิสิทธิ์ปลอดความผิด มีความยุติธรรม ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันจะลงหลักปักฐาน

เคยคิดไหมว่าเราทุกรุ่นมาพบปะในที่นี้ ไม่ได้มาโศกเศร้าเพียงเท่านั้น แต่เราสื่อสารกับสังคมไทยว่า เราปรารถนาดีมีความหวังกับคนทุกรุ่น เราอยากบอกคนรุ่นหลังว่า เราเชื่อมั่นว่า คนที่มีความมุ่งมั่นผลักดันสังคมไทยก้าวไปข้างหน้ามีทุกรุ่น ไม่มีทางหายไป การรำลึก 6 ตุลาจึงมีความหมายพิเศษที่เรียกร้องให้ตัวเราเองถามตัวเราเองว่า เรายินดีเผชิญกับความทุกข์ยาก เช่น แพ้ประชามติ ถูกรัฐประหาร ได้หรือไม่ ถ้าหากเหนื่อยก็พัก แต่หากต้องการให้การต่อสู้ให้ภารกิจเหล่านั้นลงหลักเป็นเรื่องเป็นราว เราต้องยืนท้าทายกับความทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ เราต้องไม่ยอมให้มีการพรากความเป็นมนุษย์จากเพื่อนเราเกิดขึ้นอีก เรียนรู้ ตระหนักและอยู่กับศรัทธาปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ที่กว้างออกไป แม้ที่เห็นตำตาเป็นตลกที่อยากจะอ้วก เป็นความอึดอัดขนาดไหน เราข้ามมันได้

40 ปีพวกเขาไม่ได้จากไปเลย ไม่ได้จากพวกคุณแม้กระทั่งคุณที่อายุ 20 ต้นๆ เพราะคนที่จากไปทุกชีวิตล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราแต่ละคน ไม่ใช่แค่อยู่ในความทรงจำ แต่เราเป็นเราทุกวันนี้ได้ เพราะมีคนที่เสียสละเหล่านั้น ทำให้เกิดและเป็นอยู่ทุกวันนี้ พวกเขาให้โอกาสแก่ผมที่จะมีชีวิตอยู่ เขาผลักดันให้สังคมไทยได้เป็นอย่างที่เป็น ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเขาอยู่อยู่ในชีวิตของทุกคน แม้คนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ เราทุกคนเป็นเราได้เพราะคนที่เสียสละชีวิตในเช้านั้นทุกคนและอีกหลายคนที่มุ่งมั่นกระทำการด้วยความหวังและความศรัทธาที่ต้องการให้สังคมไทยดีขึ้น เขาเหล่านั้นถามเราและเตือนเราอยู่เสมอว่า ถ้าสมัครใจจะใช้ชีวิตทำนองนี้ ดื้อ รั้น เสี่ยง ต้องกล้าเผชิญความทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ เราจึงจะยืนเด่นโดยท้าทาย

(คนฟังลุกขึ้นปรบมือยาวนาน)

.....

40 ปี 6 ตุลา 19: ธงชัย วินิจจะกูล ปาฐกถา "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย"



https://www.youtube.com/watch?v=QSbs_oYN03E

40 ปี 6 ตุลา 19: ธงชัย วินิจจะกูล ปาฐกถา "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย"

prachatai

Published on Oct 7, 2016

ปาฐกถา ธงชัย วินิจจะกูล: คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย 6 ตุลาคม 2559 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เคยคิดไหมว่าเราทุกรุ่นมาพบปะในที่นี้ ไม่ได้มาโศกเศร้าเพียงเท่านั้น แต่เราสื่อสารกับสังคมไทยว่า เราปรารถนาดีมีความหวังกับคนทุกรุ่น เราอยากบอกคนรุ่นหลังว่า เราเชื่อมั่นว่า คนที่มีความมุ่งมั่นผลักดันสังคมไทยก้าวไปข้างหน้ามีทุกรุ่น ไม่มีทางหายไป การรำลึก 6 ตุลาจึงมีความหมายพิเศษที่เรียกร้องให้ตัวเราเองถามตัวเราเองว่า เรายินดีเผชิญกับความทุกข์ยาก เช่น แพ้ประชามติ ถูกรัฐประหาร ได้หรือไม่ ถ้าหากเหนื่อยก็พัก แต่หากต้องการให้การต่อสู้ให้ภารกิจเหล่านั้นลงหลักเป็นเรื่องเป็นราว เราต้องยืนท้าทายกับความทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ เราต้องไม่ยอมให้มีการพรากความเป็นมนุษย์จากเพื่อนเราเกิดขึ้นอีก เรียนรู้ ตระหนักและอยู่กับศรัทธาปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ที่กว้างออกไป แม้ที่เห็นตำตาเป็นตลกที่อยากจะอ้วก เป็นความอึดอัดขนาดไหน เราข้ามมันได้

40 ปีพวกเขาไม่ได้จากไปเลย ไม่ได้จากพวกคุณแม้กระทั่งคุณที่อายุ 20 ต้นๆ เพราะคนที่จากไปทุกชีวิตล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราแต่ละคน ไม่ใช่แค่อยู่ในความทรงจำ แต่เราเป็นเราทุกวันนี้ได้ เพราะมีคนที่เสียสละเหล่านั้น ทำให้เกิดและเป็นอยู่ทุกวันนี้ พวกเขาให้โอกาสแก่ผมที่จะมีชีวิตอยู่ เขาผลักดันให้สังคมไทยได้เป็นอย่างที่เป็น ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเขาอยู่ในชีวิตของทุกคน แม้คนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ เราทุกคนเป็นเราได้เพราะคนที่เสียสละชีวิตในเช้านั้นทุกคนและอีกหลายคนที่มุ่งมั่นกระทำการด้วยความหวังและความศรัทธาที่ต้องการให้สังคมไทยดีขึ้น

เขาเหล่านั้นถามเราและเตือนเราอยู่เสมอว่า ถ้าสมัครใจจะใช้ชีวิตทำนองนี้ ดื้อ รั้น เสี่ยง ต้องกล้าเผชิญความทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ เราจึงจะยืนเด่นโดยท้าทาย อ่านต่อที่ http://prachatai.org/journal/2016/10/...