วันพุธ, พฤศจิกายน 12, 2557
ใจ อึ๊งภากรณ์ : การถกเถียงในวง เอ็นจีโอ เป็นเรื่องดี แต่การด่า “ประชานิยม” เป็นแค่การสนับสนุน “รัฐประหารเพื่อคนรวย”
ที่มา องค์กรเลี้ยวซ้าย
NOVEMBER 11, 2014
การถกเถียงในวง เอ็นจีโอ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเรื่องดี เพราะควรจะมีการทบทวนบทบาท เอ็นจีโอ ในเรื่องการร่วมทำลายประชาธิปไตยรัฐสภา และในเรื่องท่าทีต่อรัฐบาลทหาร รวมถึงการปฏิรูปจอมปลอมอีกด้วย บ่อยครั้งในอดีต รุ่นพี่ เอ็นจีโอ มักจะปิดกั้นการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางการเมืองด้วยระบบอาวุโส และบ่อยครั้งการถกเถียงมักจะออกมาในรูปแบบความขัดแย้งส่วนตัว แทนที่จะเป็นเรื่องหลักการ
แต่การถกเถียงที่เกิดขึ้นจะไร้ประโยชน์ถ้าไม่ก้าวพ้นการสร้างภาพว่า เอ็นจีโอ ปฏิเสธทฤษฏีการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ในขณะที่รับทฤษฏีเสรีนิยมของนายทุนมาใช้โดยไม่มีการวิจารณ์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ควรมีการทบทวนท่าทีต่อชาวบ้านจำนวนมากที่เป็นคนเสื้อแดง แทนที่จะดูถูกประชาชนว่าเลือกพรรคการเมืองของทักษิณ เพราะ “เข้าไม่ถึงข้อมูล”
นโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนสร้างงาน การพักหนี้ชาวบ้าน บ้านเอื้ออาทร หรือโครงการจำนำข้าว ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทยนานแล้ว และคนที่ด่านโยบายดังกล่าวว่าเป็นเพียง “ประชานิยม” ที่เลวร้าย เป็นแค่คนที่ท่องสูตรแนวเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรี หรือ “เสรีนิยมใหม่” ที่คัดค้านการใช้เงินรัฐเพื่อพัฒนาสภาพชีวิตพลเมืองส่วนใหญ่
พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะเงียบเฉยต่อการใช้เงินรัฐมหาศาลในทางทหาร หรือพิธีกรรมสำหรับอภิสิทธิ์ชน หรือสำหรับการลดภาษีให้คนรวยและกลุ่มทุน เพราะทฤษฏีกลไกตลาดเสรีเข้าข้างกลุ่มทุนและคนรวยเสมอ อีกด้านหนึ่งของแนวคิดแบบนี้คือการเสนอให้ขายรัฐวิสาหกิจให้กับทุนเอกชน การเสนอให้กดค่าแรง การเสนอให้ตัดอำนาจสหภาพแรงงานด้วยกฏหมายหลายชนิด และการเสนอให้คนจนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือแม้แต่การทำลายรัฐสวัสดิการในยุโรป
ดังนั้นการที่แกนนำ เอ็นจีโอ อย่าง กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เขียนจดหมายถึงเพื่อน เอ็นจีโอ เพื่อวิจารณ์การร่วมมือในโครงการ “ปฏิรูป” ของทหารนั้น ถึงแม้ว่าการวิจารณ์ดังกล่าวถูกต้อง 100% แต่การพ่วงคำวิจารณ์นี้กับการด่า “ประชานิยม” ของรัฐบาลทักษิณ แสดงว่าคนอย่าง กิ่งกร ยังยึดถือแนวคิดของฝ่ายขวาที่ปูทางไปให้ความชอบธรรมกับการทำลายประชาธิปไตยโดยเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหารของทหาร
มันยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อ คุณกิ่งกร เอ่ยถึง “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งเป็นคำศัพท์ไร้สาระของฝ่ายต้านประชาธิปไตย และเป็นการปูทางไปสู่ความคิดที่ถือว่าเผด็จการทหารไม่แย่ไปกว่า “เผด็จการรัฐสภา”
แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” เป็นแนวคิดที่ดูถูกวุฒิภาวะของพลเมืองธรรมดาที่ไปเลือกรัฐบาลทักษิณ และไม่ต่างจากการดูถูกนโยบายช่วยคนจน โดยการมองว่าคนจนเรียกร้องอะไรที่ทำให้ประเทศชาติ “เสียหาย” หรือการมองว่านโยบายดังกล่าวสร้างวัฒนธรรม “พึ่งพา” ในหมู่ชาวบ้าน
แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” เป็นข้ออ้างในการสร้างเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน เหนือคนส่วนใหญ่ และในประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยรัฐสภาทั่วโลก คนส่วนใหญ่มักยอมรับมติของคนส่วนใหญ่ ยิ่งกว่านั้นการมีผู้แทนเสียงข้างมากในสภาของพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
ในขณะเดียวกับที่มีการเผยแพร่จดหมายของ คุณกิ่งกร องค์กร “กป อพช.” ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารหยุดคุกคาม เอ็นจีโอ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ไม่ยอมเข้ากับกระบวนการ “ปฏิรูป” ของเผด็จการ ซึ่งก็ดีระดับหนึ่ง แต่แถลงการณ์นี้หมดความหมายเมื่อ กป อพช. ยังแสดงความหวังว่าทหารจะฟังเสียงประชาชนในกระบวนการปฏิรูปปลอมอันนี้ และทหารต้องการปรองดอง
เราโชคดีที่ กป อพช. ภาคอีสานออกมาเตือน กป อพช.ส่วนกลาง และล่าสุด วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมการ กป อพช. ก็ได้เขียนจดหมายลาออก เพราะไม่พอใจความไร้จุดยืนของ กป อพช. ในเรื่อง “ประชาธิปไตย” “ความเป็นธรรม” ” การมีส่วนร่วม”
คำถามคาใจเกี่ยวกับพฤติกรรม เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่คือ มันยากที่จะเข้าใจหรือ ว่าเผด็จการทหารมันเกี่ยวกับการทำลายประชาธิปไตย และตรงข้ามกับการฟังเสียงประชาชน? มันอยากที่จะเข้าใจแค่ไหน ว่าทหารไม่สนใจปรองดอง แต่ต้องการปราบปรามผู้ที่รักประชาธิปไตยและคิดต่างมากกว่า?
สำหรับแกนนำ เอ็นจีโอ หลายคน มันอาจยากที่จะเข้าใจหลายประเด็นทางการเมือง เพราะพวกนี้หันหลังให้กับการศึกษาทฤษฏีการเมืองตั้งแต่หลังป่าแตก ดังนั้นเขาจึงไปกอดแนวเสรีนิยมกลไกตลาดแบบง่ายๆ โดยไม่รู้เรื่อง หรือไม่สนใจ ว่ามันเข้าข้างคนรวยและกลุ่มทุน และการที่พวกนี้ปฏิเสธ “การเมือง” กับการสร้างพรรคการเมืองของคนจนและกรรมาชีพ พร้อมกับปฏิเสธ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ทำให้เขาไร้พลังมวลชนที่จะเคลื่อนไหวได้ และในที่สุดก็ไปเข้ากับชนชั้นกลางสลิ่ม และหลายส่วนก็ไปเชียร์รัฐประหารอีกด้วย
แล้วเสรีภาพกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยยังใช้กฏหมาย 112 ในการปราบคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ เมื่อไร เอ็นจีโอ จะออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอันนี้สักที?
ปัญหาที่แท้จริงของนโยบายรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือเป็นการช่วยคนจนในราคาถูก คือไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน เพื่อนำเงินนั้นมาบริการประชาชนที่สร้างมูลค่าทั้งหมดในสังคมแต่แรก พร้อมกันนั้นไม่ยอมลดงบประมาณพิธีกรรมและทหาร และมีการปฏิเสธการสร้างรัฐสวัสดิการครอบวงจรอีกด้วย แต่การไปด่านโยบายดังกล่าว ด้วยแนวคิดและวาจาของฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายสลิ่ม ไม่ใช่คำตอบ เราต้องสร้างสังคมที่ดีกว่าสังคมสมัยไทยรักไทย ไม่ใช่ถอยหลังไปสู่ยุคมืด
ถ้า เอ็นจีโอ ควรทบทวนตนเอง ฝ่ายเสื้อแดงก็ควรทบทวนตนเองด้วย เพราะการไม่สร้างพลังที่อิสระจาก นปช. และทักษิณ ในหมู่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ทำให้เราล้มเผด็จการและลบผลพวงทั้งหมดของการปฏิรูปจอมปลอมยากขึ้น
นี่คือสาเหตุที่กรรมาชีพคนทำงาน และเกษตรกรรายย่อย ต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของตนเอง และต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวที่อิสระจากนายทุนหรือคนใหญ่คนโตอีกด้วย