วันอังคาร, พฤศจิกายน 25, 2557

การปรากฏตัวของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกวันนี้ตรงชัด แหลมคม สร้างสรรค์ แสบทรวง และใกล้ชิดประชาชน + ชำแหละกลุ่ม 'นิสิต-นักศึกษา' ไฉนจึงเคลื่อนไหวการเมือง?

ดอกไม้แด่ประชาธิปไตย (ในคืนที่มืดมน)
ภาพจาก กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

ยุกติ มุกดาวิจิตร: การเมืองสมัยนิยมของนักศึกษา

ที่มา ประชาไท Blogazine
20 พฤศจิกายน, 2014 - 13:52

หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด

แต่หลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน ที่นักศึกษาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งด้านอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม คงยังจำ "ยังแพด" กลุ่มเด็กโข่งที่นำโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสถาบันหนึ่งได้ ตามมาด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยแถวบางกะปิ ที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันในการชุมนุมคนเสื้อแดงแถวบางกะปิเมื่อปีกลาย 

หลังการรัฐประหาร นักศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างกลุ่มต่างก็เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก พวกเขาล้วนเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมนักศึกษากันมาก่อน เดิมทีพวกเขาอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก ทุกวันนี้พวกเขาจำนวนหนึ่งถูกจองจำ เพราะพวกเขาจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ยอมจำนนกับระบอบเผด็จการ 

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในทศวรรษ 2550 มีข้อน่าสังเกตบางประการดังนี้ 

หนึ่ง ไม่เป็นขบวนการใหญ่โต เท่าที่ผ่านมา พวกเขายังไม่ได้รวมตัวกันอย่างเป็นเครือข่ายใหญ่โต แม้จะมีความพยายามบ้างในระยะเวลาแคบๆ อย่าง "ยังแพด" หรือมีการอาศัยองค์กรเดิมที่เคยแสดงออกในนาม "นิสิต" หรือ "นักศึกษา" แต่การรวมตัวในลักษณะนั้นก็กลับไม่มีพลังรับใช้พวกเขาได้อีกต่อไป พวกเขาจึงไม่ได้ใช้กลยุทธแบบที่นักศึกษารุ่นพ่อรุ่นแม่เขาเคยใช้มา หรือไม่อย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ได้สนใจที่จะสร้างองค์กรใหญ่โตเทอะทะเพื่อทำกิจกรรมแต่อย่างใด สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากลักษณะเด่นของนักศึกษาปัจจุบันที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า 

สอง กระจายตัวในหลายๆ จังหวัด ไม่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันไม่ได้มีธรรมศาสตร์ จุฬา มหิดล รามคำแหง เป็นหัวหอก เป็นศูนย์กลางดังแต่ก่อนในทศวรรษ 2510 นี่แสดงให้เห็นว่า การศึกษากระจายตัวจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดแล้วอย่างเป็นผลสำคัญ จนทำให้นอกเหนือจากการมีสถานศึกษาแล้ว ยังมี "ผู้มีการศึกษา" ผู้ใช้ความรู้ความคิดในการทำกิจกรรมทางสังคมในสถานศึกษาเหล่านั้น นอกจากจังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นต้นแล้ว นอกเชียงใหม่ ที่โดดเด่นขณะนี้มีนักศึกษาที่ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี หรือแม้กระทั่งที่ชลบุรีและปัตตานี จังหวัดเหล่านี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 

การกระจายตัวนี้สอดคล้องกับการกระจายตัวทางการเมือง การกระจายตัวของกิจกรรมนักศึกษาแสดงว่าการเมืองกระจายตัวออกจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ต่างจังหวัดในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นชนบท เพราะมหาวิทยาลัยส่วนมากล้วนตั้งอยู่ในเขตเมือง หากแต่ที่สำคัญคือ นี่แสดงให้เห็นถึงดอกผลของการกระจายอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเมืองของนักศึกษาเองก็ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่เช่นเดิมอีกต่อไป 

สาม ประเด็นเคลื่อนไหวหลากหลาย มีทั้งประเด็นเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติและประเด็นสิทธิเฉพาะด้าน ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากประเด็นคลาสสิคคือการที่นักศึกษาเป็นปากเป็นเสียงให้ "ชาวบ้าน" ให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เรื่องที่ทำกิน เรื่องสิทธิทางกฎหมายต่างๆ แล้ว นักศึกษายังเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น เช่นการต่อสู้แสดงสิทธิ์ในด้านอัตลักษณ์ทางเพศ เรื่องสิทธิการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี ไม่ควรมองข้ามว่า นักศึกษาจะเลิกสืบทอดการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิเสรีภาพต่อเนื่องจากคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่อง "ส่วนตัว" มาก่อน หรือต่อสู้เพื่อ "ประเด็นปัญหาเฉพาะ" จำนวนมากในขณะนี้ ได้แปลงการรวมตัวของพวกเขามาต่อสู้เพื่อประเด็นสิทธิเสรีภาพ นี่แสดงว่าพวกเขาคงเล็งเห็นว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเป็นการต่อสู้ในประเด็นพื้นฐานของสิทธิอื่นๆ 

สี่ การแปลงวัฒนธรรมบริโภคนิยมเป็นสื่อการเมือง นี่เป็นแง่มุมที่แหลมคมของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน นั่นก็คือการอาศัยสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย และพื้นที่การแสดงออกของคนรุ่นเขาเองในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งอาหารฟาสฟูด ฉากจากภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ย่านช้อปปิ้ง วัตถุทางวัฒนธรรมสมัยนิยมเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เป็นภาษาการเมืองของนักศึกษารุ่นปัจจุบัน 

การที่พวกเขาดึงเอาการเมืองออกมาจากพื้นที่สัญลักษณ์เดิมๆ ที่เคยจำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หรือนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปเป็นพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะพื้นที่ทางการเมืองดั้งเดิมอย่างมหาวิทยาลัยและอนุสาวรีย์ กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทำให้ปลอดประชาธิปไตย ถูกควบคุมจนหมดพลังประชาธิปไตยไปเนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ที่ไม่แสดงบทบาทปกป้องประชาธิปไตยไม่พอและกลับยังเข้าไปร่วมมือกับคณะรัฐประหาร แต่อีกส่วนหนึ่ง การเคลื่อนไหวแบบใหม่ๆ ของนักศึกษาก็ได้นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของพวกเขามากขึ้น นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น 

ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะยุยงใคร เพียงแต่จะตอบย้ำข้อสังเกตโดยตลอดต่อเนื่องมาของผมว่า บทบาทของนักศึกษาไม่เคยห่างหายจากการเมืองไทย การปรากฏตัวของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกวันนี้ตรงชัด แหลมคม สร้างสรรค์ แสบทรวง และใกล้ชิดประชาชน ในแบบฉบับของคนรุ่นปัจจุบันเอง


24 พ.ย. 2557 05:30
ศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร
เมื่อ 5 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามกลุ่มดาวดิน จุดชนวนชูสามนิ้วสวมเสื้อดำยืนหน้าเวที พร้อมตัวอักษรสีขาวยืนเรียงกันว่า "ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร" ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเปิดงานบนเวที จ.ขอนแก่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกระทั่งล่าสุดได้ปล่อยตัวพร้อมไม่เอาผิดนักศึกษากลุ่มนั้น

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯเอง ก็มีกลุ่มนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ออกมาชูสามนิ้วกันพัลวัน รวมถึงที่ผ่านมาก็มีกระแสต้านออกมาเป็นระยะทั้งกลุ่มคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ตนมองปฏิกิริยาของกลุ่มนักศึกษาว่า คงเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างในเรื่องหลักการว่าประชาธิปไตยจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ตนคิดว่าคงไม่ได้มีปัญหาอะไร อีก 6 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้า เราก็คงต้องฟังความเห็นต่างของประชาชนมากขึ้น เพราะทุกคนก็คงเป็นกังวลว่า ประเทศจะเดินไปอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติอะไรที่คนจะไปกังวล หากคนไม่กังวลก็จะไม่ปกติมาก เพราะฉะนั้น การเป็นกังวล น่าจะเป็นเรื่องปกติคือความเห็นต่างและทิศทางว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

สุดท้ายเห็นต่างหรือสอดคล้องกันอย่างไร ก็ไม่ถึงขั้นต้องมีความรุนแรงอันนี้เป็นเรื่องที่อนาคตต้องระมัดระวัง แต่ว่าใน ครม. มีการปล่อยนักศึกษาหมดทุกคน แม้แต่ไม่ได้ลงชื่ออีก 3 คนก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีแนวทางยืดหยุ่นและเข้าใจเยาวชน ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับอะไรกันบ้างว่า ความเห็นต่างไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ทว่าการพยายามขัดขวางไม่ให้ท่านนายกฯพูด จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายหรือไม่ เพราะว่าเห็นต่างได้ แต่ว่าต้องมีช่องทางอื่นๆ สื่อสารกัน แทนที่จะหันกลับไปใช้วิธีการประท้วง หรือวิธีการขัดแย้งไม่ให้นายกฯหรือ คนอื่นๆ ทำงาน

จุดเทียน
จากนี้ไปจะรับมือนิสิต-นักศึกษาอย่างไร รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ตนคิดว่า เจ้าหน้าที่คงดำเนินการอธิบายว่า 1. นักศึกษามีสิทธิ์ที่จะคิดและแสดงความเห็น ในกรอบที่มีกติกาภายใต้กฎอัยการศึก ส่วนแรกทหารคงต้องยืนยันไปว่า นักศึกษา ถ้าอยู่ในกรอบกติกา เราทำได้ 2. ถึงจะทำได้อย่างไรก็ต้องมีกติกาปัจจุบันอยู่ คือต้องไม่ไปขัดขวางการทำงานของนายกฯ ข้าราชการ ซึ่งขณะนี้พยายามผลักดันกลับเข้าไปสู่การสภาวะปกติโดยเร็ว ร่าง รธน. และเลือกตั้ง หากไปขัดขวาง ชุมนุมประท้วง ปิดล้อมอีก ก็จะกลับไปเป็นเช่นเดิม ซึ่งทางรัฐบาลคงจะไม่ยอม อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่จะเข้ามา
รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อย่างไรก็ตามจะใช้วิธีการอะลุ่มอล่วย ยืดหยุ่นอย่างที่เห็น 5 นักศึกษากลุ่มดาวดิน ไม่ได้มีการดำเนินการที่รุนแรงอะไร แต่ว่าการซักซ้อมทำความเข้าใจหลายอย่าง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อาจจะต้องทำมากขึ้น ทั้งนี้ หากเกิดความรุนแรงกลับมาอีก แต่คงจะยอมมีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย คงจะยืดหยุ่นและไม่ไปทำอะไรที่รุนแรง ทหารคงไม่อยากเป็นชนวนให้เกิดปัญหากลับมาอีก คงจะพยายามจะพูดคุย 


"
ในเรื่องของข้อกังวลของกลุ่มต้านนั้น ก็ต้องฟังเสียงเขา แต่ก็ต้องพูดคุยและขอร้องว่าต้องดูอีกมุมหนึ่งว่าจะมีคนฉวยโอกาสและสร้างความขัดแย้งรุนแรงขึ้นหรือไม่ หากไม่มีก็ถือว่าไม่น่าเป็นปัญหา เวลาเคลื่อนไหวมีจุดยืน คือ 1. หลีกเลี่ยงห้ามทำให้เขารู้สึกกลับไปเผชิญหน้ากันอีก 2. คงมองไปข้างหน้า เราต้องการประเทศแบบไหนเป็นอย่างไรไปให้ชัดเจน ปฏิรูปการศึกษาในสถานศึกษาของตัวเองให้ดีขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งหมดก็ทำเป็นประเด็นและผลักดันให้เต็มที่ไม่น่ามีปัญหาอะไร ถ้าไปบอกว่าชอบใครไม่ชอบใคร ต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วทำให้เกิดขุ่นข้องหมองใจขึ้นมาอีก มองอนาคต และ 3. ควรปรึกษาหารือกับรัฐบาล ทหาร ที่เปิดโอกาส 5 คนก็ไม่ได้มีอะไรเห็นว่าเยาวชนไม่ได้มีประสงค์ร้าย ไม่น่าเป็นนํ้าผึ้งหยดเดียว และกังวลมากนัก" รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว
ด้าน รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงปฏิกิริยาของกลุ่มนักศึกษาต้านรัฐประหารว่า ประเด็นนี้ คสช.ต้องไปคิดดูว่าทำไมเขาจึงกล้าออกมา เรากดเขามากไปหรือไม่ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า เราควรจะเปิดให้เขาจัดเวทีไม่ดีกว่าหรือ วันนี้ คสช. ต้องมานั่งพิจารณาแล้วว่า สิ่งที่ควรจะผ่อนคลายคืออะไร อย่าไปคิดเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ในลักษณะทัศนคติทางการเมืองในประเทศไทยนั้นไม่รุนแรงรบราฆ่าฟันกันแบบลิเบีย ปากีสถาน และอเมริกาใต้ ลักษณะของคนไทยเรียบง่าย เชื่อผู้ปกครอง เพราะฉะนั้น อยู่ที่ว่า คสช. ที่ยึดอำนาจมาแล้วทำเป็นเรื่องดีหรือไม่ เป็นประโยชน์กับราษฎรหรือไม่ หากพิจารณาตนเองว่าทำได้ ก็ไม่มีใครไม่ชอบ ต้องมองตัวเองให้ลึกซึ้งว่า สิ่งที่ทำนั้นตอบโจทย์ให้ประชาชนทราบ เข้าใจ และรักหรือไม่

"เพราะฉะนั้นต้องมาพิจารณาตัวเองว่าทำดีที่สุด เกิดประโยชน์จริง มีปฏิกิริยาตอบกลับว่าดี ทำไป ไม่มีใครเกลียด แต่อาจจะมีต่อต้านรัฐประหารบ้าง คสช.ก็ต้องผ่อนปรนให้สิทธิเขาไป เช่น ตอนนี้อนุญาตให้จัดชุมนุม จัดสัมมนาตามเวทีได้ แต่ให้ขออนุญาตก่อน จะพูดอะไรก็ไม่ต้องไปเบรก คุณก็มาวิเคราะห์ดูว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นอย่างไร แล้วก็รายงานให้เจ้านายไป" รศ.อัษฎางค์ กล่าว

ขณะนี้ รัฐบาลควรจะระมัดระวังอะไรบ้าง รศ.อัษฎางค์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องระมัดระวังอะไรเลย รัฐบาลอย่าพูดเยอะ แต่ต้องทำเยอะ แก้ปัญหาให้ประชาชนเห็นเลย คุณอย่าบอกว่าไม่ใช่การเมือง แต่มันเป็นการเมืองทุกเรื่อง

นายปกรณ์ อารีกุล
ส่องที่มา 'กลุ่มนิสิต-นักศึกษา'

ด้านนายปกรณ์ อารีกุล อดีตนักศึกษาค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า กลุ่มนิสิต นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ทำค่ายอาสา ค่ายแบบทั่วไป เป็นประเภทอาสาพัฒนา และอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ไม่ได้รวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนทางการเมืองภายใน ซึ่งกลุ่มนี้เวลาลงพื้นที่อาสาพัฒนาจะเห็นภาพความเหลื่อมลํ้าชัดเจน พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่มีจิตใจที่รักความเป็นธรรม เช่น โรงเรียนในกรุงเทพฯ กับตัวเมืองว่ามีความเพียบพร้อม แต่โรงเรียนในต่างจังหวัดลำบาก จึงเกิดการเปรียบเทียบขึ้นมา แต่ทั้งนี้กลุ่มแรกจะไม่มีกระบวนการต่อ

2. กลุ่มกึ่งค่ายกึ่งการเมือง เป็นประเภททำค่ายลงพื้นที่อนุรักษ์ และอาสา ซึ่งกลุ่มนี้จะลงไปก็เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ โดยกระบวนการภายในกลุ่มจะมีการพูดคุยว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร พอเริ่มคุยแล้วจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม แล้วพูดคุยกันไปจนเรื่องการเมือง เช่นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการจัดการของรัฐที่ไม่ดี มาจากโครงสร้างทางสังคมเลื่อมลํ้า ไม่กระจายอำนาจ เช่น ลูกชาวบ้าน ม.บูรพา กลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น และกลุ่ม ม.เกษตรฯ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีกระบวนการไปต่อ

3. กลุ่มกิจกรรมการเมือง สิทธิมนุษยชน เสรีภาพประชาชน ความไม่เป็นประชาธิปไตย มีเป้าหมายหลักพูดคุยทำความแลกเปลี่ยนกันทางการเมือง และออกแอ็กชั่นทางการเมือง ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะลงพื้นที่บ้าง แต่ไม่ใช่กิจกรรมหลัก เช่น LTTD CCP สมัชชาเสรีเพื่อประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีกระบวนการไปต่อเช่นเดียวกัน

รวมพลหน้าหอศิลป์ฯ
นายปกรณ์ เล่าต่อว่า กลุ่ม 2 - 3 มีบทบาทในการเคลื่อนไหว ส่วนกลุ่ม 1 เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่ง 2 - 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีจุดเปลี่ยน เพราะนิสิต นักศึกษาเริ่มกล้ามากขึ้น ซึ่งเขาอาจรู้สึกว่า คสช. ไม่ใช่ตัวเลือกที่ชอบ โดยกลุ่ม 1 กลุ่ม 2 เกิดจากชุดประสบการณ์จากการลงไปเห็นภาพของความเหลื่อมลํ้า ปัญหาชาวบ้าน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ นายทุนรังแกตลอดมา ทำให้เขารู้สึกว่า การรัฐประหารก็ไม่ทำให้แก้ไขอะไร ความสุขที่คืนมาคือความสุขที่เงียบสงบแบบเหมือนนํ้านิ่ง ใต้ทะเลผันผวน แต่กลุ่มคนพวกนี้เห็นมาตลอด พอนํ้านิ่งคนรู้สึกว่าสงบ แต่กลุ่มนิสิต-นักศึกษาพยายามจะส่งสัญญาณว่าไม่สงบ เพราะฉะนั้น ส่วนตัวมองว่าที่กลุ่มนักศึกษาออกมาขณะนี้มีนํ้าหนัก

"ทุกกลุ่มคุยกัน มีพื้นที่คุยกันตลอด รู้จักกันหมด การออกมารอบนี้คือการมีภาพนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นความตั้งใจออกมาพร้อมกัน คือไม่ได้มีการจัดตั้งมาสู้กับรัฐบาล คสช. แต่ทว่ามาจากความรู้สึกร่วมพร้อมๆกัน ประเด็นต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มทำอยู่ถูก คสช. กดดันแทรกแซงในช่วงนี้พอดี เลยต้องมีแอ็กชั่นกลับไป ซึ่งกลุ่มพวกนี้มีเคลื่อนไหวตลอด"

5 นักศึกษาโผลเวทีขอแก่น ขณะ นายกฯ กล่าวบนเวที
กลุ่มนิสิต-นักศึกษา
สำหรับกรณีกลุ่มดาวดินออกมาเคลื่อนไหวนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวรู้จักกับกลุ่มดาวดินตั้งแต่ตอนทำกิจกรรม เรื่องค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งกลุ่มดาวดินยังคงอยู่บนอุดมการณ์เดิม คือ การอยู่-เรียนรู้-ต่อสู้ ร่วมกับชาวบ้าน ดังนั้น ตนจึงไม่แปลกใจที่กลุ่มดาวดิน แสดงออกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่ว่าจะรัฐบาลใด หากสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านก็ต้องออกมาต่อสู้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า การรัฐประหารสร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน

ด้านนิสิต ม.เกษตร ค้านเขื่อนแม่วงก์ก็คล้ายกัน แต่ทว่ากลุ่ม ม.เกษตรไม่ได้ค้านรัฐประหาร แต่ผลพวงจากการรัฐประหาร เช่น กฎอัยการศึกทำให้เกิดผลกระทบกับพวกเขา ซึ่งรัฐบาลได้เข้าไปห้าม และนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำผิดพลาดเป็นอย่างมาก

สำหรับกระแสชู 3 นิ้วของนักศึกษากลุ่ม LLTD ธรรมศาสตร์ มีความคิดต่างจากกลุ่มดาวดิน และ ม.เกษตร แต่ความคิดทางการเมืองไม่ต่างกัน ซึ่งตนเชื่อว่านักศึกษาที่ออกมาช่วงนี้มีจิตใจรักเสรีภาพ และรักความเป็นธรรม แต่กลุ่ม LLTD เขาจะใช้วิธีการสื่อสาร แสดงแอ็กชั่นแบบใหม่ๆ และใช้โซเชียลมีเดียเก่ง จึงทำให้เขามีแนวร่วมมหาศาล

ทั้งหมดคือกลุ่มตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมา ซึ่งเราเห็นกลุ่มนักศึกษาอีกหลายกลุ่มทั้งที่แสดงออกในพื้นที่ออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งทั้งสองอย่างมีความเชื่อมโยงกัน พื้นที่ออฟไลน์ คือ การเตรียมเนื้อหารณรงค์เจ๋งๆ ส่วนออนไลน์คือการปล่อยเนื้อหาเหล่านั้นออกมา ดังนั้น จุดเด่นของกลุ่มนักศึกษาขณะนี้คือ หากพวกเขามีเนื้อหาเจ๋ง พวกเขาสามารถรณรงค์ได้ง่าย ซึ่งตนมองว่าลักษณะนี้มีอยู่ทั่วไป เช่นเดียวกับเรื่องรักความเป็นธรรม รักเสรีภาพ และตนไม่ค่อยเชื่อเรื่องนักศึกษาถูกจ้างมา หรือรับเงินเพื่อมาก่อกวนรัฐบาล

"บางครั้งผู้ใหญ่ ต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ ทำความเข้าใจกับนักศึกษาใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว..." นายปกรณ์ กล่าว
แม้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต-นักศึกษาไทยเดินหน้ารุกอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าในส่วนฟากฝั่งของนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ติดใจเอาความแต่อย่างใด พร้อมปล่อยตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง จากนี้ไปต้องมาจับชีพจรของกลุ่มนักศึกษาและฝ่ายความมั่นคงว่าจะรับมือกันอย่างไร...เพราะเหตุต้องระวังไม่ให้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว.