Way Magazine
‘ทหารผ่านศึก’ คือคำที่เรามักใช้เรียกเหล่านักรบผู้กล้าที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและประชาชนของชาติ โดยเฉพาะในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา มีการเสียสละเลือดเนื้อของทหารไทยชั้นผู้น้อย ตั้งแต่สมรภูมิร่มเกล้า ความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหารกับกัมพูชา ไปจนถึงความขัดแย้งเรื้อรังในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทว่า ‘ศึกใหญ่’ ที่ทำให้ทหารระดับสูงหลายคนได้ดิบได้ดีจนถึงปัจจุบัน กลับเป็นศึกภายในเมืองหลวงของประเทศ ที่ศัตรูของกองทัพไม่ใช่อริราชศัตรูต่างชาติที่ไหน แต่คือประชาชนที่พวกเขาควรปกป้องเสียเอง
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2553 มีการชุมนุมครั้งใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ เนื่องจากกลุ่ม นปช. เห็นว่ารัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ขึ้นมาสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม และเป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มชนชั้นนำของไทย
ภายหลังกองทัพไทยเข้า ‘ทำศึก’ ปราบปรามผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงในปี 2553 ภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) หลายสำนักข่าวรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตนับร้อยราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับพัน บางส่วนยังคงกลายเป็นบุคคลสูญหายจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ข้อมูล ‘เชิงอรรถความตาย’ จากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 94 คน
https://waymagazine.org/deaths-and-violence-of-april-may-2010/
ท่ามกลางการต่อสู้ทางข้อกฎหมายที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่วันเสียงปืนเงียบจนถึงปัจจุบัน เหล่า ‘ทหารผ่านศึก’ ผู้อยู่เบื้องหลังและมีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการในครั้งนั้น หลายคนมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และอีกหลายคนยังคงอยู่ในศูนย์กลางอำนาจรัฐมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ท่ามกลางกระบวนการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดที่เงียบงัน
เขี้ยวเล็บที่เปื้อนเลือดของเหล่า ‘บูรพาพยัคฆ์’
ย้อนกลับไปในปี 2553 ระหว่างที่ความขัดแย้งมาถึงจุดเดือด รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เลือกวิธีในการรับมือกับกลุ่มขัดแย้งต่างๆ ด้วยการตั้ง ศอฉ. ขึ้นมาจัดการสถานการณ์ โดยในช่วงแรกตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. ตกเป็นของพลเรือนอย่างรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ ตามคำสั่งพิเศษของนายกรัฐมนตรี และต่อมาได้มอบหมายหน้าที่นี้ให้แก่ข้าราชการทหารคนสำคัญของกองทัพ พี่ใหญ่ของเหล่าบูรพาพยัคฆ์อย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. แทน
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
พลเอกประวิตรได้รับฉายาจากผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้นว่า ‘ป้อมทะลุเป้า’ เนื่องมาจากการยึดกุมอำนาจด้านความมั่นคง และการกระชับพื้นที่คืนจากกลุ่มคนเสื้อแดงได้สำเร็จ ไปจนถึงการดันเพดานเบิกงบต่างๆ ให้แก่กองทัพที่ทำให้พรรคเพื่อไทยในขณะนั้นออกมาตั้งข้อครหา โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2553 กองทัพบกเพียงกองทัพเดียวได้งบประมาณไปถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นงบลับภายใต้การดูแลของพลเอกประวิตรในฐานะ ผอ.ศอฉ. ที่ดำเนินการไปด้วยความคลุมเครือ
เมื่อมีพี่ใหญ่ก็ต้องมีน้องเล็ก ในศึกรบกับประชาชนกลางกรุงเทพฯ (และจังหวัดอื่นๆ) ครั้งนั้นพลเอกประวิตรได้พารุ่นน้องคนสนิทอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามามีส่วนร่วมกับ ศอฉ. ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการคนที่ 1 และมีผลงานสำคัญอย่างการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการห้ามบุคคลใดก็ตาม จำหน่าย จ่าย หรือแจกวัตถุทุกชนิดที่มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความแตกแยก หากฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ถัดจากพลเอกประยุทธ์แล้ว อีกหนึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในศึกกลางกรุง ปี 2553 คือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ ‘บิ๊กป๊อก’ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งด้วยคำสั่งที่ 19/2553 ของนายกรัฐมนตรี ให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบดูแลเขตท้องที่ที่ถูกประกาศในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยมีอำนาจในการป้องกัน แก้ไข ระงับ ไปจนถึงการปราบปรามการ ‘ก่อการร้าย’ ในพื้นที่ และนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2557 พลเอกอนุพงษ์ก็ได้ครองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
จากผู้มีอำนาจระดับสูงในการบริหาร ศอฉ. ปัจจุบันนี้เหล่าพลเอกทั้ง 3 คนที่แทบไม่ได้ตอบคำถามแก่สังคมหลังจากการทำศึกสงครามกับประชาชนเมื่อปี 2553 ในเรื่องของความเป็นธรรมในการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเลย กลับกันนั้นบรรดา ‘ทหารผ่านศึก’ ชราเหล่านี้ยังสามารถดำรงตำแหน่งระดับสูงในคณะรัฐบาล ไม่ว่าการต่อสู้ในสนามการเมืองจะมีการเปลี่ยนตัวละครไปเช่นไรก็ตาม
กลไกค้ำยันระบอบประยุทธ์ เมื่อ คสช. ดึงอดีต ศอฉ. เข้าร่วมวงโคจรอำนาจ
ส่วนประกอบสำคัญของระบอบประยุทธ์ในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่การมี ‘3 ป.’ อยู่ในรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสมาชิกทหารผู้ผ่านศึกกับประชาชนอยู่รายล้อมรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งหากสืบย้อนกลับไปจะพบว่ามีผู้ ‘ผ่านศึก 53’ เติบโตอยู่ในกลไกอุ้มชูระบอบประยุทธ์จำนวนไม่น้อย
ในรายชื่อของคณะกรรมการของ ศอฉ. มีรายชื่อบุคคลจำนวนมากที่ได้รับโอกาสในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในระบอบใหม่ที่มีประยุทธ์เป็นผู้นำ กลไกสำคัญที่เปิดรับกลุ่มผู้มีชุดอุดมการณ์เดียวกันเข้ามาในช่วงเริ่มต้นของการรัฐประหารปี 2557 คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ซึ่งพบว่ามี ‘ทหารผ่านศึก 53’ อยู่ถึง 5 คน
บุคคลเหล่านี้ล้วนได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยคณะรัฐประหารทั้งสิ้น ได้แก่ พลเอกพิรุณ แผ้วพลสง อดีตราชองครักษ์พิเศษและอดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลเอกทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลอากาศเอกอิทธพร ศุภวงศ์ อดีตราชองครักษ์พิเศษ, พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ อดีตรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตราชองครักษ์พิเศษ และ พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตราชองครักษ์พิเศษและนายทหารคนสนิทของพลเอกประวิตร ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ
นอกเหนือไปจากผู้ที่ได้กลับเข้าไปทำงานในสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ยังมีบุคคลของกองกำลังรักษาดินแดนที่ได้เข้าไปมีส่วนในการอุ้มชูระบอบประยุทธ์ อย่าง นายกองเอกวิเชียร ชวลิต ที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มคณะกรรมการ ศอฉ. ตามคำสั่ง 2/2553 และปัจจุบันได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนกองทัพและพลเอกประยุทธ์ให้ได้เป็นรัฐบาล
กลุ่มที่เหลือบางส่วนถูกแต่งตั้งให้ได้เข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาในช่วงสั้นๆ เช่นเดียวกัน แต่ต่อมาก็ทยอยหลุดออกจากกลไกอำนาจ
ไม่เพียงแค่การผลักดันเหล่าผู้ผ่านศึก 53 กลับเข้าสู่กลไกอำนาจรัฐโดยตรงเท่านั้น แต่หนึ่งในผู้ปฏิบัติการโฆษก ศอฉ. ในปี 2553 อย่าง พลตำรวจโทอำนวย นิ่มมะโน ยังได้ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลภายหลังการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ และต่อมายังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งของ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์เช่นเดียวกัน
ไต่บันไดการเมือง จากทหารแห่ง ศอฉ. สู่คณะองคมนตรี
การเติบโตของเหล่าทหารผู้กรำศึกกับประชาชนในปี 2553 ไม่ได้หยุดอยู่แค่การได้รับตำแหน่งสำคัญหรือบทบาทผู้นำระดับประเทศ ทว่าบางส่วนยังถูกอุ้มชูขึ้นไปเป็นถึงองคมนตรีที่เปี่ยมไปด้วยอำนาจและบารมีในสังคมไทย
ปี 2553 หนึ่งในกรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการของ ศอฉ. มีชื่อของ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รวมอยู่ด้วย จากประกาศที่ 2/2553 ซึ่งภายหลังจบศึก พลเอกดาว์พงษ์ในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการกองทัพบก ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
ต่อมาในปี 2559 ได้มีหนังสือประกาศแต่งตั้งพลเอกดาว์พงษ์ให้ขึ้นเป็นสมาชิกคณะองคมนตรีแทนที่คณะเดิมที่มีการถวายบังคมลาออกไป โดยหนังสือประกาศนี้มีประธานองคมนตรี ณ ขณะนั้นคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ
การพุ่งทะยานเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอย่างรวดเร็วหลังศึกปี 2553 และการรัฐประหารในปี 2557 นับได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจของสาธารณชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากพลเอกดาว์พงษ์เป็นนายทหารเพียงไม่กี่คนในเครือ ‘วงศ์เทวัญ’ ที่ได้รับความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งทั้งในระดับกองทัพ ระดับการเมือง ไปจนถึงการเป็นองคมนตรี ในยุคที่กองทัพสาย ‘บูรพาพยัคฆ์’ ของพลเอกประวิตรและพลเอกประยุทธ์กำลังเป็นใหญ่ อย่างไรก็ตาม พลเอกดาว์พงษ์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่มีความสนิทสนมกับพลเอกประยุทธ์อยู่พอสมควร
ไม่ใช่เพียงแค่พลเอกดาว์พงษ์ที่เติบโตก้าวหน้า แต่ผู้ควบคุมพื้นที่ตามประกาศของสถานการณ์ฉุกเฉินในปี 2553 อย่าง พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ ที่มีส่วนร่วมในการรัฐประหารปี 2557 ก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ก่อนจะขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และดำรงตำแหน่งสุดท้ายด้วยการเป็นหนึ่งในสมาชิกองคมนตรีเช่นกัน
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์
ผู้ผ่านศึกกับประชาชน อยู่ยั่งยืนยงในตำแหน่ง
ไม่ใช่ทุกคนที่มีส่วนรับผิดชอบในการกวาดล้างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 แล้วจะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองใหญ่โตเช่นคณะรัฐมนตรีหรือเป็นสมาชิกองคมนตรี แต่บางคนยังมีบทบาทโดดเด่นและเป็นที่นิยมในสังคม แม้จะไม่ได้มีการออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นก็ตาม
ในรายชื่อผู้ปฏิบัติงานของโฆษก ศอฉ. มีชื่อของ พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ ‘ไก่อู’ รวมอยู่ด้วย จากผลงานที่โดดเด่นเข้าตาผู้มีอำนาจตั้งแต่สมัยเป็นโฆษกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มาจากการรัฐประหารในปี 2549 นอกจากนี้ พลโทสรรเสริญยังสามารถสร้าง ‘ฐานแฟนคลับ’ ในหมู่ผู้นิยมความคิดทางการเมืองแบบเดียวกันจนเกิดเป็นกระแสในอินเทอร์เน็ตจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะโฆษก ศอฉ. ต่อหน้าสื่อมวลชนบ่อยครั้ง
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด
ภายหลังปี 2557 พลโทสรรเสริญยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ที่มีไว้สำหรับผู้กระทำความดีความชอบให้แก่ราชการหรือสาธารณชน ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ขึ้นในปีเดียวกัน และทำให้พลโทสรรเสริญได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะขยับไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จนถึงปัจจุบัน
ดูเหมือนว่าทักษะในการประชาสัมพันธ์และอธิบายความชอบธรรมของอำนาจรัฐ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลโทสรรเสริญสามารถดำรงฐานะสำคัญด้านการสื่อสารให้แก่รัฐบาลได้ ตั้งแต่กรณีการสังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 จนถึงการควบคุมการสื่อสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ภายหลังปี 2557 พลโทสรรเสริญยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ที่มีไว้สำหรับผู้กระทำความดีความชอบให้แก่ราชการหรือสาธารณชน ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ขึ้นในปีเดียวกัน และทำให้พลโทสรรเสริญได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะขยับไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จนถึงปัจจุบัน
ดูเหมือนว่าทักษะในการประชาสัมพันธ์และอธิบายความชอบธรรมของอำนาจรัฐ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลโทสรรเสริญสามารถดำรงฐานะสำคัญด้านการสื่อสารให้แก่รัฐบาลได้ ตั้งแต่กรณีการสังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 จนถึงการควบคุมการสื่อสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
พฤษภา’53 ยังไม่คลี่คลาย ผู้วายชนม์ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
แม้เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจะผ่านมาแล้วถึง 12 ปี แต่ความคืบหน้าของกระบวนการยุติธรรมที่ฝ่ายผู้ถูกกระทำพยายามดำเนินคดีกับบุคคลที่ต้องรับผิดชอบกลับหยุดชะงัก เนื่องจากการโยนเรื่องไปมาระหว่างศาลยุติธรรมและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในขณะที่กระบวนการอื่นๆ อย่างอัยการ กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็ไม่ได้มีความคืบหน้ามากนักนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ในปี 2557 เป็นต้นมา
การเผยภาพ ‘ชายชุดดำ’ ได้นำไปสู่ข้ออ้างที่ ศอฉ. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงกับประชาชน แม้ในคำสั่งจะกล่าวว่าให้ใช้กระสุนจริงก็ต่อเมื่อป้องกันตัวหรือปกป้องประชาชนก็ตาม แต่นั่นก็ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมากในปฏิบัติการกระชับพื้นที่
แม้กลิ่นคาวเลือดและควันปืนใจกลางกรุงเทพฯ จะจางลง แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคณะทำงาน ศอฉ. และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ย่อมมีส่วนในการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหล่าบรรดา ‘ทหารผ่านศึก’ ที่ออกมาสู้รบกับประชาชนกลางเมืองหลวง พวกเขาล้วนติดค้างคำตอบกับสังคมไทย รวมถึงติดค้างการรับผิดชอบต่อทุกชีวิตที่สูญเสียไปและความเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจประเมินค่าได้
ที่มา
รวมรายชื่อผู้เสียชีวิตเมษา-พฤษภา 53 และความคืบหน้าทางคดี
พท.จี้ประวิตร แจงปมงบลับ หลังนั่งผอ.ศอฉ.คนใหม่
ศอฉ.เฮี๊ยบ!ห้ามม็อบขายของยั่วยุ
ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (เพิ่มเติม)
ราชกิจจานุเบกษา 6 ธันวาคม 2559 ประกาศแต่งตั้ง องคมนตรี
‘กัมปนาท’ถกสำนักเลขาฯคสช.-กำชับช่วยปชช.
ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ
ราชกิจจานุเบกษา 24 ธันวาคม 2559 ประกาศแต่งตั้งองคมนตรี
ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
กรมประชาสัมพันธ
Author ภูภุช กนิษฐชาต
Way Magazine