https://www.facebook.com/tri.udom/posts/pfbid0bvNhewkNA3guMx1hKbWK9aq9jXeQWcKGisRQu7NNZKhePq8JXwoduw95r7kMjjxul
มนตรี อุดมพงษ์
Yesterday
·
"เหลืออะไรให้สืบ หลังการตายของนายโอภาส บุญจันทร์ อาณาจักรโรงงานกำจัดกากฯ บ.วิน โพรเสส และเครือข่ายอีกหลายจังหวัด"
1. นายโอภาส วัย 67 ปี ไม่ได้เสียชีวิตทันทีในเรือนจำ แต่เขาถูกย้ายจากเรือนจำกลางระยอง มารักษาอาการป่วยที่รพ.บ้านค่าย ตั้งแต่เวลา 23.38 น.ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 68 โดยมี จนท.ราชทัณฑ์เฝ้าติดตาม และนายโอภาส เสียชีวิต เมื่อ 00.45 น. ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 68
2. หนังสือราชทัณฑ์ แจ้งให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ คืออัยการ แพทย์ ฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวน ร่วมชันสูตรพลิกศพ ระบุว่านายโอภาส "ขาดน้ำตาล" และการชันสูตรพลิกศพ โดยเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เป็นขั้นตอนปกติ กรณีที่ผู้เสียชีวิต ได้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่
3.เมื่อชันสูตรสาเหตุการตายแล้ว ศาลจะนัดไต่สวนและตัดสินสาเหตุการตายของนายโอภาส จากนั้น อัยการ หรือตำรวจ ที่รับผิดชอบคดี ที่มีนายโอภาส เกี่ยวข้อง ก็จะไปแถลงต่อศาลในคดีที่นายโอภาสเกี่ยวข้อง ว่า"เขาตายแล้ว" เพื่อให้คดีอาญาที่เกี่ยวกับเขา ยุติไป
4.หากคดีอาญานั้น นายโอภาส มีชื่อร่วมกับจำเลย หรือผู้ต้องหาคนอื่นๆ คดีคนอื่นๆ ก็จะเดินหน้าตามขั้นตอนปกติต่อไป
5.หากเป็นคดีแพ่ง คดีจะยังเดินหน้าต่อไป แต่แยกเป็น 2 กรณีคือ
5.1 กรณีทรัพย์สินส่วนตัวของนายโอภาส ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเงินสด ทองคำ หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆที่มี ที่เป็นของนายโอภาส และรวมถึงหนี้สิน หรือภาระรับผิดชอบอื่นๆ ของนายโอภาส ทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน นั้น จะตกเป็นของทายาทของนายโอภาส
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทรัพย์และหนี้สินนั้นตกเป็นของทายาท แต่ในกรณีที่นายโอภาส ถูกศาลพิพากษาว่าต้องชดใช้หนี้ หรือต้องร่วมกันชดใช้หนี้ ทรัพย์นั้นๆของนายโอภาส ก็จะถูกนำไปใช้หนี้ โดยทายาท เป็นผู้ดำเนินการแทน แต่หากทายาท ยักย้าย ถ่ายโอน ไม่ใช้หนี้ตามที่รับมรดกมา ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ ฟ้องดำเนินคดีได้
ขณะเดียวกัน ทายาท ที่รับมรดกมาแล้ว ก็จะใช้จ่ายให้เท่าที่รับมรดกมาเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบเกินกว่ามรดกที่ได้รับ
5.2 กรณีที่นายโอภาส ซึ่งเป็นผู้ร่วมตั้งบริษัท วินโพรเสส และเป็นกรรมการ บ.วินโพรเสส ซึ่ง บริษัท วินโพรเสส มีฐานะเป็นนิติบุคคลนั้น กรณีนี้ต่อให้นายโอภาส เสียชีวิตไปแล้ว บริษัทวินโพรเสส ในฐานะนิติบุคคล ก็ต้องดำเนินการชำระหนี้ ตามคำพิพากษา ในทุกคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว และในทุกคดีที่กำลังจะฟ้องเพิ่ม เพราะสถานะนิติบุคคล ของบริษัทวิน โพรเสส ยังมีอยู่
นอกจากนี้ ทรัพย์สินของบริษัท วินโพรเสส เช่นที่ดินโรงงาน อาคาร หรือทรัพย์สินอื่นใดที่มีในนาม บริษัทวิน โพรเสส ถือว่าแยกกันกับทรัพย์สินส่วนตัวของนายโอภาส
อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัท วินโพรเสส มีผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการ สลับกันไปมา หรือเรียกว่า "ไขว้กันไปมา" ระหว่าง บริษัทวิน โพรเสส กับบริษัท เอกอุทัย นั้น ปรากฎว่าระยะหลังๆ ไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง กับ บริษัท วินโพรเสส แล้ว
และหาก บริษัทวินโพรเสส มีนายโอภาส ที่เป็นกรรมการคนเดียวและเสียชีวิตลงไป แล้วใครจะทำหน้าที่ ตามคำพิพากษา ที่ให้บริษัทวินโพรเสส ต้องดำเนินการ
คำตอบคือ กรรมดารหรือหุ้นส่วนหรือผู้ร่วมจัดตั้งที่เหลือ ก็ต้องตั้ง กรรมการขึ้นมาใหม่ เมื่อได้กรรมการแล้ว ก็ต้องดำเนินการในคดีแพ่่งตามคำพิพากษานั้น โดยเฉพาะการชดใช้เยียวยา รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามคำพิพากษา
และแน่นอนว่า สิ่งที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายปี กังวลคือ "เมื่อผู้ก่อเหตุเสียชีวิต " บริษัทก็อาจยอมถูก "ฟ้องล้มละลาย" ซึ่งที่สุดก็จะไร้ผู้รับผิดชอบอยู่ดี เพราะขณะนี้ มีเจ้าหนี้หลายราย ฟ้องศาลและบังคับคดีเพื่อให้นำทรัพย์สินบริษัท วินโพรเสส ไปขายหาเงินมาใช้หนี้
6. อาจมีคนตั้งคำถามว่า "การตายของโอภาส เป็นการตัดตอนหรือไม่" ข้อมูลที่ผมมี และความเห็นส่วนตัวของผมคือ "การตายดังกล่าว ไม่ได้มีผู้อื่นกระทำให้ตายเพื่อหวังตัดตอน"
แต่ผมเชื่อว่า "การที่เขาตัดสินใจ รับสารภาพสิ้นทุกอย่าง แม้แต่ในชั้นสืบพยานนัดแรก" นั่นคือ "การตัดตอน" แต่จะเกิดจากการตัดสินใจของตัวเอง หรือ "ถูกบีบคั้นกดดันหรือไม่" อันนี้ยากที่จะตอบได้ในตอนนี้
7.โกดังเก็บกากสารเคมี บริษัทวิน โพรเสส จ.ระยอง ไฟไหม้เมื่อ 22 เมษายน 2567 และนายโอภาส ก็ถูกจับเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567 ที่บ้านพัก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ใกล้กับบริษัทอีกแห่งหนึ่ง ที่นายโอภาส เคยร่วมปลุกปั้น // หลังจากถูกจับมา นายโอภาส ถูกนำตัวไปดำเนินคดี ที่สภ.มาบตาพุด จ.ระยอง ข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย ซึ่งนายโอภาสให้การปฎิเสธ ศาลอนุญาตให้ประกันตัว
8. หลังจากนั้นตำรวจ สภ.ภาชี จ.อยุธยา ก็รับตัวนายโอภาส จากศาลระยอง ไป สภ.ภาชี แจ้งความข้อหา ถูกคนใกล้ชิดที่เคยเป็นลูกน้องนายโอภาสนั้นเอง แจ้งความว่า "ปลอมแปลงเอกสารหลักฐานของบริษัทอดีตลูกน้อง" เพื่อไปทำสัญญาเช่าโกดังเก็บสารเคมีในอำเภอภาชี จ.อยุธยา (โกดังที่เกิดเพลิงไหม้ 2 ครัง เมื่อกุมภาพันธ์ และพฤษภาคม 67)
9. ตำรวจ สภ.ภาชี ส่งตัวโอภาส ฝากขังที่ศาลพระนครศรีอยุธยา ศาลให้ประกันตัว จากนั้นนายโอภาส ก็ถูกส่งตัวไป สภ.บ้านค่าย จ.ระยอง อีก เพราะถูกแจ้งข้อกล่าวหาครอบครองวัตถุอันตราย
10. ระหว่างนั้น กรมโรงงานฯ งัดกฎหมายอาญามาตรา 228 และ 237 กรณีทิ้งสิ่งของมีพิษลงแหล่งน้ำสาธารณะ และทำให้แหล่งน้ำสาธารณะนั้นใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพื่อเอาผิดนายโอภาส จากเดิมในแต่ละท้องที่ มักจะฟ้องนายโอภาส ข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย คือกากสารเคมี โดยไม่ได้รับอนุญาต โทษสูงสุด ปรับ 2 แสน จำคุก 2 ปี หรือทั้งจำและปรับ แต่อาญา มาตรา 228 และ 237 นั้น โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 1 หมื่นถึง 2 แสนบาท
11. ศาลระยอง รับฝากขังในความผิดอาญา 228 และ237 โดยไม่ให้ประกันตัว ประกอบกับตำรวจคัดค้านการประกัน เพราะมีอีกหลายคดี หลายท้องที่ ที่อยู่ระหว่างรวบรวมสำนวนคดี เช่น คดีเก็บสารเคมีในโกดังภาชี /โกดังซันเทค อ.อุทัย /ทิ้งสารเคมีในนาข้าว ต.ข้าวเม่า อ.อุทัย และ ต.เสนา อ.อุทัย เป็นต้น
12.ก่อนหน้านี้ บ.วินโพรเสส และนายโอภาส แพ้คดีทางแพ่งมาแล้ว 3 คดี คือ 1. ชาวบ้านหนองพะวา ฟ้องชนะ ศาลสั่งให้ บ.วินโพรเสส และนายโอภาส พร้อมจำเลยอีก 1 รวมเป็น 3 ร่วมกันชดใช้ 20 ล้าน 2. กรมควบคุมมลพิษ ฟ้องชนะ ศาลสั่งให้ บ.วินโพรเสส นายโอภาส พร้อมจำเลยอีก 1 รวมเป็น 3 ร่วมกัน ชดใช้กว่า 1,700 ล้าน และ 3. อบต.บางบุตร ฟ้องชนะ ศาลให้บ.วินโพรเสส นายโอภาส และจำเลยอีก 1 รวมเป็น 3 ร่วมกันชดใช้ กว่า 39 ล้าน
13.สัญญาณการถอดใจ ของนายโอภาส เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อศาลจังหวัดระยอง นัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 17 ธันวาคม 2567 คดีครอบครองวัตถุอันตราย โดยไม่ได้รับอนุญาต ในบริษัทวิน โพรเสส สาขาโขดหิน ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง แต่ยังไม่ทันได้สืบพยานโจกท์ นายโอภาส ก็รับสารภาพทันที ทุกข้อกล่าวหา ทำให้ผู้พิพากษา มีคำพิพากษาในวันนั้นทันที จำคุกนายโอภาส 9 เดิอน ปรับ บริษัทวิน โพรเสส 1 แสน 5 หมื่นบาท โทษจำคุกให้นับตั้งแต่วันที่ถูกคุมขังและศาลไม่ได้ประกันตัว
14. กระทั่ง วันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลระยอง นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก คดีทิ้งสารพิษลงแหล่งน้ำ ในคดีอาญา 228 และ 237 ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าคดี้ นายโอภาสต้องปฎิเสธและสู้คดีเต็มที่ เพราะอัตราโทษหนักกว่า พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงเตรียมพยานทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปให้ไต่สวน แต่ยังไม่ทันได้สืบพยานเลย นายโอภาส ก็แจ้งว่า รับสารภาพทุกข้อกล่าวตามฟ้อง และศาลสั่งจำคุกเต็มอัตราโทษ แต่เนื่องจากสารภาพ จึงลดโทษให้เหลือจำคุก 5 ปี 15 เดือน ปรับบริษัทวินโพรเสส 3.5 แสน โดยคดีนี้ นายโอภาส ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ
15. และ 5 ก.พ. 68 หลังจากฟังคำตัดสินวันที่ 4 ก.พ. แล้ว นายโอภาส ก็ถูกส่งไป โรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการป่วยดังกล่าว
16.การเสียชีวิตของนายโอภาส ไม่ได้ทำให้เครือข่ายทั้งเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ที่เคยได้ประโยชน์ จากพฤติกรรมที่ร่วมกันทำลายสิ่งแวดล้อม และทำร้ายชุมชนนั้น ต้องได้รับโทษไปด้วย ดังนั้น "เครือข่ายที่เคยได้รับผลประโยชน์จากพฤติกรรมที่ทำร้ายชุมชนและสิ่งแวดล้อม" ยังต้องถูกเปิดโปงต่อสาธารณะต่อไป และต้องถูกดำเนินคดี พร้อมกับให้รับผิดชอบต่อไป ตามหลักการว่า "ปัญหาที่มีอยู่ยุติ และมีผู้รับผิดชอบแก้ไข ปัญหาใหม่ต้องไม่เกิด"
17.ข่าว 3 มิติ เคยนำเสนอบัญชีรายชื่อ และวงเงินของคนที่ได้เงินนอกระบบจาก กลุ่มบริษัทเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องขยายความต่อ เพราะยังมีภาระค่า กำจัด บำบัด ฟื้นฟู ที่ต้องรับผิดชอบ
18.การล่มสลายของเครือข่ายหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า "สังคมจะปลอดภัยจากพฤติกรรมของเครือข่ายนั้นๆ เพราะขณะนี้มี กลุ่มคนและเครือข่ายเดิมบางคน แปรสภาพ ไปหาผลประโยชน์จาก "เครือข่ายทุนสีเทา ทุนไม่โปร่งใส ที่เปลี่ยนรูปแบบ จากการทิ้ง ฝัง กลบ " กลายมาเป็นการประกอบการ "เถื่อน" แบบครบวงจรมากขึ้น
19.เครือข่ายใหม่ มีสายสัมพันธ์แนบแน่น เชื่อมโยงต่างชาติมากขึ้น เช่น "นำขยะอันตราย จากต่างประเทศ มาในรูปแบบสำแดงเท็จ > เมื่อนำมาแล้ว ก็นำไปให้โรงงานเถื่อนแปรสภาพ และหลอมจนได้วัตถุดิบ > ส่งวัตถุดิบนั้นป้อนโรงงานของเครือข่าย หรือไม่ก็ส่งกลับไปต่างประเทศ โดยเหลือกากของเสียทิ้งไว้ที่ในประเทศไทย > วัตถุดิบ ที่ได้จากโรงงานเถื่อนนั้น จะมีราคาถูกกว่า จึงผลิตสินค้าในราคาต้นทุนต่ำกว่า จากนั้นก็ผลิตในประเทศ หรือผลิตต่างประเทศแล้วนำมาดัมฟ์ราคาขายในราคาที่ถูกกว่า ทำให้อุตสาหกรรมไทย วอดวายตามไปด้วย
20. "การล่มสสายของสิ่งหนึ่ง มักจะเกิดสิ่งใหม่ขึ้น" การเร่งรัด เอาผิด จึงไม่ควรหยุดนิ่ง เช่นกัน